วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ผู้บริโภคฟ้องให้บทเรียนสองบริษัทเน็ตเก็บหนี้ซ้ำ




 


ผู้บริโภคฟ้องให้บทเรียนสองบริษัทเน็ตเก็บหนี้ซ้ำ

Author by admin 13/02/12


ผู้บริโภคชนะคดีศาลชั้นต้น หลังถูกบริษัทเน็ตเก็บหนี้ซ้ำ  สารี อ๋องสมหวัง ระบุเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภครายอื่น ๆ รวมทั้งบริษัทจะได้รอบคอบในการดำเนินการเก็บค่าใช้บริการกับลูกค้า ด้าน กสทช. ประวิทย์ ระบุผู้บริโภคควรตรวจสอบและเก็บบิลทุกครั้ง ป้องกันภัยหนี้งอก

นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง   ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมได้รับเรื่องร้องเรียน จากนายณัฐพงศ์ เอกะโรหิต ชาวจังหวัดประจวบคีรีขันต์ โดยผู้ร้องแจ้งว่า เป็นผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของ บริษัท ทีที แอนด์ ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส แต่ต่อมาในปี 2552 บริษัทได้ควบรวมกิจการกับบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด   แล้วส่งผลกระทบกับผู้ร้อง เนื่องจากในช่วงที่มีการควบรวมกิจการผู้ร้องได้แจ้งยกเลิกการใช้บริการอินเทอร์เนต็ตH9็ตและชำระค่าบริการครบถ้วนแล้ว แต่ต่อมาผู้ร้องกลับถูกบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด คิดค่าบริการผิดพลาดและซ้ำซ้อน โดยบริษัทยังคงติดตามทวงถามและข่มขู่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนรำคาญและหวาดกลัว จนในที่สุดผู้ร้องรายนี้ได้ตัดสินใจฟ้องดำเนินคดีกับผู้ให้บริการต่อศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วว่า ผู้ร้องได้เลิกสัญญากับบริษัทฯและชำระค่าบริการกับบริษัทครบถ้วนไม่มีหนี้ต่อกัน การที่พนักงานของบริษัทยังโทรศัพท์ทวงถามให้ผู้ร้องชำระค่าบริการอีกหลายครั้งและมีหนังสือทวงถามจะดำเนินคดีกับผู้ร้อง ถือได้ว่า บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ทำการตรวจสอบว่า ผู้ร้องได้เลิกสัญญาและชำระหนี้ให้บริษัทฯครบถ้วนแล้ว พฤติการณ์ของบริษัทจึงถือได้ว่า กระทำการละเมิดต่อผู้ร้อง และพิจารณาให้บริษัททั้งสองคือ บริษัททีที แอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส และบริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด รับผิดต่อผู้ร้อง

"คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าเกิดจากการที่บริษัททั้งสองเป็นผู้ประกอบการธุรกิจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค จึงมีคำพิพากษาเชิงลงโทษให้บริษัททั้งสองจ่ายเงินค่าเสียหายเพิ่มขึ้น จากค่าเสียหายที่แท้จริงรวมเป็นเงิน 23,300 บาท ซึ่งกรณีนี้ผู้ร้องฟ้องว่าบริษัทได้เรียกเก็บหนี้ซ้ำซ้อนเป็นจำนวนเงินเก้าร้อยกว่าบาท " นางสาวสารีกล่าว

ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม  กล่าวต่อไปว่า กรณีนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่ผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้กระบวนการศาลด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามเนื่องจากกรณีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล กรรมการจึงไม่อาจไปก้าวล่วงได้ แต่อยากจะประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบถึงสิทธิของตนเองที่สามารถนำเรื่องไปดำเนินคดีได้โดยตรง รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนทำให้เกิดความรอบคอบและพึงระวังของบริษัทในการเก็บเงินค่าบริการจากผู้บริโภค และจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของบริษัทเดียวกันนี้ ตลอดปี 2554 พบว่า ไม่มีกรณีเรื่องร้องเรียนเช่นเดียวกันนี้

"ต้องขอบคุณ คุณณัฐพงศ์ เอกะโรหิต ที่เดินหน้าพิสูจน์ความถูกต้อง และหากผู้บริโภครายใดประสบปัญหาถูกคิดค่าบริการผิดพลาดซ้ำซ้อนเช่นนี้ สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกับคุณณัฐพงศ์ หรือสามารถร้องเรียนได้ที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงาน กสทช. " นางสาวสารีกล่าว

ด้านนายประวิทย์   ลี่สถาพรวงศา   กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กรณีนี้เกิดปัญหาจากการเปลี่ยนบริษัทผู้ให้บริการ ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา การเปลี่ยนผู้ให้บริการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือความยินยอมจากผู้บริโภคถือว่าผิดกฎหมาย

"การที่บริษัทชอบตั้งบริษัทในเครือข่ายและเปลี่ยนบริษัทผู้ให้บริการโดยที่บางทีผู้บริโภคไม่รู้ จะรู้ก็ต่อเมื่อดูที่หัวใบแจ้งหนี้หรือใบบิล แต่ไม่เคยมีการเปลี่ยนสัญญาจริงๆ ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนบริษัทผู้ให้บริการโดยที่เราไม่เคยเซ็นสัญญากับบริษัทใหม่ ถ้าเช่นนั้นจริง เราไม่ต้องจ่ายหนี้ซักบาทเดียวกับบริษัทใหม่เลยเพราะไม่เคยเป็นคู่สัญญากัน  ส่วนกรณีที่ผู้บริโภคยอมเปลี่ยนแล้วเก็บค่าบริการ ทั้งบริษัทเดิมหรือบริษัทใหม่ย่อมไม่มีสิทธิเรียกเก็บหนี้ซ้ำแน่นอน แต่ประเด็นของผู้บริโภคคือ ต้องตรวจสอบใบแจ้งค่าบริการและเก็บหลักฐานใบแจ้งหนี้และใบเสร็จไว้ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้งอกเช่นกรณีนี้"กสทช. ประวิทย์กล่าว

……………………………………………………………………………………………………………………….

Tags: 



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น