วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กสทช. ตั้งอนุฯ คุ้มครองผู้บริโภคกำกับสื่อ มั่นใจระเบียบทีวีดาวเทียมคลอดทันปี 55

กสทช. ตั้งอนุฯ คุ้มครองผู้บริโภคกำกับสื่อ 

มั่นใจระเบียบทีวีดาวเทียมคลอดทันปี 55

วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2012 เวลา 22:15 น. เขียนโดย ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา

กสทช.ตั้งอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำกับจริยธรรมสื่อวิทยุ-ทีวี เผยแผนควบคุมระยะสั้น -ตักเตือน ระยะยาว -ระงับใบอนุญาต คาดระเบียบทีวีดาวเทียมเสร็จทันส.ค.55ด้านเลขาฯ สคบ.แนะกระจายอำนาจตรวจสอบสู่ท้องถิ่น จี้เอาผิดพรีเซนเตอร์สินค้า


วันที่ 25 ก.พ. 55 สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดสัมมนา "ทีวีดาวเทียมพันช่อง : ตลาด จริยธรรมและการกำกับดูแล ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ

พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ กรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวปาฐกถา "นโยบายกสทช.ต่อธุรกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ดาวเทียม และเคเบิลทีวี" ว่า โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของประเทศไทยมีประมาณ 300 ช่อง ซึ่งนับว่าเป็นกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ในการจัดการ เพราะเป็นทรัพยากรไม่จำกัด แต่จำเป็นต้องสร้างกฎระเบียบการออกอากาศเหมาะสม ผ่านใบอนุญาตประกอบกิจการที่กำหนดตามแผนแม่บท 1 ปี หลังจากนั้นจะมีการต่อใบที่ 2 ระยะ 5 ปี หรือ 10 ปี โดยขณะนี้ระเบียบยังไม่ชัดเจน แต่มั่นใจว่าปี 2555 จะเกิดความพร้อมในการกำกับดูแลมากขึ้น

ส่วนการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในรายการช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนั้น ระยะสั้นกสทช.และคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะตักเตือนและขอความร่วมมือ ระยะยาวจะพิจารณาไม่ออกใบอนุญาต ซึ่งเนื้อหาที่พบเข้าข่ายผิดจริยธรรมบ่อยครั้ง ได้แก่ การโฆษณาเกินจริง ใช้วาจาไม่สุภาพ

 "การดำเนินงานของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะสำเร็จต้องได้รับความร่วมมือภาคประชาชนเพราะลำพังเพียงแต่เจ้าหน้าที่คงไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ดังนั้นหากผู้ใดพบเห็นรายการที่ผิดจริยธรรมและเป็นภัยต่อผู้บริโภคสามารถร้องเรียนที่เบอร์โทร 1200"

 ในงานยังมีการเสวนา "กลไกการกำกับเนื้อหา สินค้าที่ล่อแหลม ไร้การควบคุมในทีวี" โดยน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกสทช.กล่าวว่า การโฆษณาเกินจริงและผิดจริยธรรมในสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเกิดขึ้นในสังคมไทยมานาน ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงที่กสทช.ต้องตั้งหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแล แต่จำเป็นต้องรอกฎหมายเสร็จก่อน จึงสามารถดำเนินการได้ 

 "ขณะนี้กสทช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และคณะกรรมการชุดนี้จะร่างระเบียบการขออนุญาตและใช้คลื่นความถี่ โดยเฉพาะวิทยุชุมชน รวมถึงร่างเกณฑ์ประเมินเนื้อหาและกำกับรายการ คาดว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในส.ค. 55"

 น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่าคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯจะเป็นผู้ดูแลกำกับจริยธรรมการนำเสนอเนื้อหาร่วมกับกสทช. ผ่านขั้นตอนรับเรื่องร้องเรียน หากผู้ประกอบการคนใดดำเนินกิจการตามหลักเกณฑ์จะได้รับใบอนุญาตเร็วขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวเข้าหากฎกติกาที่วางไว้ แต่คงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อจัดระเบียบองค์กรทุกฝ่าย ทั้งการแยกแยะบทบาทหน้าที่องค์กรภายในกสทช. ให้ชัดเจน และกำหนดกติกาควบคุมเนื้อหาส่วนผลิตรายการของผู้ประกอบการ
 
ขณะที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีสินค้าด้านสุขภาพร้อยละ 70 ขายผ่านสื่อโทรทัศน์และกระจายเสียง ซึ่งสคบ.ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)ในการเฝ้าระวังสินค้าที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคตามกรอบกฎหมาย อีกทั้งกระจายอำนาจการตรวจสอบผ่านเครือข่ายสคบ.ตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยอนาคตต้องทบทวนกติกาควบคุมจริยธรรมโฆษณาสินค้าเกินจริงใหม่ นอกจากจะกำกับดูแลผู้ประกอบการและผู้บริโภคแล้ว ควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาดกับพรีเซนเตอร์สินค้าด้วย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น