วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2555

ตั้งแล้ว! “ระบบตรวจจับ บุกรุก คุกคามเน็ต” หวังขจัดภัยร้าย

 

ตั้งแล้ว! "ระบบตรวจจับ บุกรุก คุกคามเน็ต" หวังขจัดภัยร้าย

ไทยเซิร์ต สพธอ.จับมือ ไซแมนเทค สหรัฐฯ จัดตั้งระบบระวังภัยและวิเคราะห์ข้อมูลภัยคุกคามทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หลังไซเมนเทคเผยพบภัยคุกคามแบบใหม่ 286 ล้านรายการ เมื่อปีที่ผ่านมา...

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่าการลงนามความร่วมมือในการจัดตั้งระบบระวังภัย และวิเคราะห์ข้อมูลภัยคุกคามทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระหว่าง ศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ ไทยเซิร์ต สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และ บริษัท ไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น จากประเทศสหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดศูนย์รวบรวมและตรวจจับพฤติกรรมการบุกรุกและภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งรายงานสถิติภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย โดยเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง  สพธอ. และ บริษัทไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น จากประเทศสหรัฐฯ ในการช่วยป้องกัน ปราบปราม และลดอัตราการเกิดภัยคุกคามที่เกิดจากการทำธุรกรรมทางออนไลน์ได้ โดยจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ที่ดำเนินธุรกรรมผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าจะได้รับความมั่นคงและปลอดภัยอย่างแน่นอน

ขณะที่ สพธอ. มีส่วนช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงไอซีที ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยการเปิดตัวหน่วยงานเพื่อปฏิบัติภารกิจดังกล่าวโดยตรง คือ ศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย หรือ "ไทยเซิร์ต" มิติใหม่ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2554 ที่ผ่านมา 

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า สพธอ. มั่นใจว่าความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้สามารถควบคุมสถานการณ์ภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ได้ดีขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และฐานความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามบนอินเทอร์เน็ตของไซแมนเทคมาช่วยเสริมความพร้อมให้ ไทยเซิร์ต สพธอ. ในการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ รวมถึงอาชญากรรมบนอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนมากขึ้น

นายอิเลียต ซานโตสซ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกิจการภาครัฐประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกา และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และญี่ปุ่น ของไซแมนเทค คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การโจมตีทางไซเบอร์ทั่วโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมาพบว่ามีภัยคุกคามใหม่ๆ กว่า 286 ล้านรายการ ไซแมนเทค เชื่อว่าประสบการณ์และฐานความรู้เกี่ยวกับการเติบโตของภัยคุกคาม ที่มีความซับซ้อน ตลอดจนข้อมูลผลกระทบที่บริษัทมีอยู่ จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อ ไทยเซิร์ต สพธอ. ในการช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถ การปกป้องดูแลเครือข่ายในประเทศไทย และความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยปรับปรุงความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามบนอินเทอร์เน็ต รวมถึงแนวทางลดความเสี่ยง ตลอดจนช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการพัฒนาโลกดิจิตอลอย่างเหมาะสม

การลงนามความร่วมมือระหว่าง ไทยเซิร์ต สพธอ. และ ไซแมนเทค ดังกล่าว นับเป็นการพัฒนาความสามารถของประเทศไทยในการรับมือภัยคุกคามที่มาจากอินเทอร์เน็ต รวมทั้งป้องกันและสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัยสำหรับคนไทย โดยไซแมนเทค จะให้ความช่วยเหลือในการจัดการภัยคุกคามไซเบอร์ ด้วยการจัดตั้งและบริหารจัดการระบบเฝ้าระวังภัยคุกคามอิเล็กทรอนิกส์ ที่ครอบคลุมถึงการจัดหาเครื่องมือเพื่อใช้ตรวจสอบและวิเคราะห์ภัยคุกคามภายในเครือข่าย โดยจะเปิดโอกาสให้ ไทยเซิร์ต สพธอ.ใช้ประโยชน์จากโปรแกรม Attack Quarantine System (AQS) ซึ่งเป็นเครือข่าย Honeypot (ฮันนีพอท) แบบอัตโนมัติที่ออกแบบเป็นพิเศษเพื่อตรวจจับและรวบรวมข้อมูลภัยคุกคามออนไลน์ โดย ไซแมนเทค จะจัดส่งรายงานเป็นรายสัปดาห์ให้แก่ ไทยเซิร์ต สพธอ. พร้อมระบุถึงจำนวนมัลแวร์ที่ตรวจพบ ข้อมูลคุณลักษณะของมัลแวร์ รวมถึงวิธีการและคำแนะนำสำหรับการกำจัดภัยคุกคามดังกล่าวด้วย

โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์

29 เมษายน 2555, 16:00 น.

วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

เคาะขึ้นไฟ 30 สตางค์/หน่วย "สองแถว-มินิบัส"ขึ้นพรวด 1.50บาท ทัวร์ ตจว.จ่ายเพิ่มกม.ละ 4 ส.ต.

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:42:31 น.

เคาะขึ้นไฟ 30 สตางค์/หน่วย "สองแถว-มินิบัส"ขึ้นพรวด 1.50บาท 

ทัวร์ ตจว.จ่ายเพิ่มกม.ละ 4 ส.ต.

กกพ.เคาะขึ้นค่าเอฟที 30 ส.ต./ หน่วย ดันค่าไฟรอบ พ.ค.-ส.ค. เพิ่มขึ้นอีก 8% 
ปธ.เรกูเลเตอร์แจงช่วยลดภาระแล้ว จากที่เพิ่มจริง 57.45 ส.ต. 
เผย 25 เม.ย.ใช้ไฟพีคทำสถิติอีกครั้ง 
ก.แรงงานพร้อมให้′เอสเอ็มอี′กู้

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยภายหลังการประชุมการประมาณการไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าเอฟที สำหรับการเรียกเก็บในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2555 เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมาว่า กกพ.มีมติให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือเอฟทีอีก 30 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟที่เพิ่มขึ้นประมาณ 7-8% จากค่าไฟปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 3.23 บาทต่อหน่วย 

นายดิเรกกล่าวว่า ทั้งนี้ เอฟทีที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มบางส่วน เพราะเอฟทีที่คำนวณจริงของงวดนี้เพิ่มขึ้นถึง 57.45 สตางค์หน่วย แบ่งเป็นต้นทุนค่าผลิตไฟฟ้า 38.40 สตางค์ต่อหน่วย ค่าเชื้อเพลิงรวมกับค่ารับซื้อไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระชั่วคราวอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่งวดที่ผ่านมา (มกราคม-เมษายน 2555) 19.05 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นวงเงิน 10,200 ล้านบาท

"แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน เรกูเลเตอร์จึงนำเงินจากการลงทุนที่ต่ำกว่าแผนของ 3 การไฟฟ้าระหว่างปี 2551-2553 จำนวน 3,100 ล้านบาท มาอุดหนุนค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นสามารถลดลง 5.76 สตางค์ต่อหน่วย และนำส่วนลดจากการที่ประชาชนลดการใช้พลังงานระหว่างวันที่ 8-18 เมษายนที่ผ่านมา 2.64 สตางค์ต่อหน่วย มาหักลบ รวมทั้งขอให้ กฟผ.รับภาระค่าเชื้อเพลิงและค่ารับซื้อไฟฟ้า 19.05 สตางค์ต่อหน่วยอีกครั้ง เบ็ดเสร็จแล้วทำให้เอฟทีที่เพิ่มขึ้นเหลืออยู่ที่ 30 สตางค์ต่อหน่วย" นายดิเรกกล่าว

นายดิเรกกล่าวว่า สำหรับต้นทุนเอฟทีที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนคิดเป็น 23% ของทั้งระบบช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2555 เพิ่มขึ้น 11.32% หรืออยู่ที่ 58,000 ล้านหน่วยจากเดือนกันยายน-ธันวาคม 2555 อยู่ที่ 51,955 ล้านหน่วย ขณะเดียวกันได้คำนวณประมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 4% คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเท่ากับ 30.92 บาทต่อเหรียญสหรัฐ คำนวณจากราคาก๊าซธรรมชาติที่คิดเป็น 70% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าปรับขึ้น 8.63 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 301.28 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 2.95% คำนวณจากราคาน้ำมันเตาที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.08 บาทต่อลิตร เป็น 25.87 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 4.36% และคำนวณจากราคาน้ำมันดีเซล ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.92 บาทต่อลิตร เป็น 28.19 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 3.37%

นายดิเรกกล่าวว่า เรกูเลเตอร์จะนำรายละเอียดทั้งหมดเผยแพร่ผ่าน www.erc.or.th เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน-4 พฤษภาคม 2555 จากนั้นจะนำผลการรับฟังมาพิจารณาและประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป สำหรับเอฟทีรอบต่อไปคือกันยายน-ธันวาคม 2555 แม้จะยังเก็บแบบขั้นบันไดตามสูตรการคำนวณ แต่พบว่าแนวโน้มราคาพลังงานลดลง ดังนั้น คาดว่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นจะลดลงตามไปด้วย

"ส่วนนโยบายไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย จะได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟ แต่จะมีผลถึงเดือนพฤษภาคมนี้เท่านั้น เพราะตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป การยกเว้นค่าไฟจะคำนวณที่ปริมาณใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยเท่านั้น" นายดิเรกกล่าว

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน เวลาประมาณ 14.30 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ได้พุ่งสูงสุดเป็นครั้งที่ 6 อยู่ที่ 25,682 เมกะวัตต์ ทำลายสถิติวันที่ 24 เมษายน ซึ่งอยู่ที่ 25,551 เมกะวัตต์ สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว มีอุณหภูมิสูงถึง 38.4 องศาเซลเซียส ทำให้ปริมาณการใช้ไฟเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีขยายตัวประมาณ 8% จากปกติการขยายตัวจะอยู่ที่ 4-5% 

"เดิมปริมาณไฟฟ้าพีคปีนี้ กฟผ.คาดว่าจะอยู่ประมาณ 25,000 เมกะวัตต์ แต่เมื่อมีการทำลายสถิติบ่อยครั้งและพีคขึ้นไปกว่า 25,000 เมกะวัตต์ กฟผ.คงต้องนำตัวเลขมาวางแผนเพื่อปรับให้เป็นไปตามสถานการณ์มากขึ้น แต่ยืนยันว่าปริมาณสำรองที่มีอยู่เพียงพอแน่นอน" นายสุทัศน์กล่าว และว่า ปริมาณสำรองที่ กฟผ.วางแผนไว้ คำนวณจากปริมาณไฟฟ้าที่ กฟผ.ผลิตเอง รับซื้อจากเอกชนในไทยและต่างประเทศ รวม 31,000 เมกะวัตต์ สำรองอยู่ที่ประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ แต่สถานการณ์จริงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไม่ได้เกิดขึ้น 100% ขณะที่โรงไฟฟ้าต้องหยุดซ่อมบำรุงตามปกติ ปริมาณสำรองจริงที่สามารถเรียกเข้าระบบจึงอยู่ที่ 1,000-2,000 เมกะวัตต์ แต่ถือว่าเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน

วันเดียวกัน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) เพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ว่ามาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานมี 2 โครงการได้แก่ 
1.โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานผ่านกองทุนประกันสังคมวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ผู้กู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จะคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 คงที่ 3 ปี ถ้าไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดอกเบี้ยร้อยละ 5 คงที่ 3 ปี โดยสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปล่อยกู้ธนาคาร 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย, ธนาคารแลนด์แอนเฮ้าส์ และธนาคารเกียรตินาคิน โดยสถานประกอบการที่จะกู้ต้องเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 
1.สถานประกอบการที่มีลูกจ้างไม่เกิน 50 คน กู้ได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท 
2.มีลูกจ้าง 51-200 คน กู้ได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท และ 
3.มีลูกจ้างตั้งแต่ 201 คนขึ้นไปกู้ได้ไม่เกิน 4 ล้านบาท


2.โครงการกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ให้เอสเอ็มอีกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 4 ปี ปัจจุบันกองทุนมีเงิน 570 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการนี้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อ สปส.และ กพร.ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ 

"ในอนาคตจะต้องจัดทำโครงสร้างค่าจ้างรายปีแต่ละกลุ่มธุรกิจ เพื่อขยับค่าจ้างให้แก่แรงงานที่ทำงาน 2-3 ปีขึ้นไป ส่วนแรงงานที่เข้าใหม่ ซึ่งได้รับค่าจ้างขั้นต่ำก็ต้องเปลี่ยนจากการรับค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างแรกเข้า เพราะเมื่อขยับค่าจ้างขั้นต่ำให้แก่แรงงานเข้าใหม่ แรงงานเดิมก็ควรได้รับการขยับขึ้นค่าจ้างที่เหมาะสมเพื่อความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาว ต้องหารือกับหลายฝ่าย เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน กระทรวงแรงงานจะเสนอคณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณาต่อไป" นพ.สมเกียรติกล่าว

วันเดียวกัน นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทย" ในงาน 60 ปีไทยโทรทัศน์ 35 ปี อสมท ว่าในระยะ 15 ปีที่ผ่านมาไทยเสียโอกาสทางด้านการลงทุนไปมาก เนื่องจากยังฝังใจกับวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพที่เรามี รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หากต้องลงทุนทั้งหมดจะใช้เงินกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่เบื้องต้นจะเน้นด้านระบบรางและระบบชลประทานก่อน โดยเฉพาะระบบรางนั้นน่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท

นายวีรพงษ์กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเบื้องต้นจะผลักดันให้ก่อสร้างโดยเร็ว โดย
เส้นทางเหนือน่าจะเริ่มได้จากกรุงเทพฯถึงพิษณุโลก เพราะหากรอถึงเชียงใหม่อาจไม่ได้เริ่ม สายตะวันออกเริ่มที่กรุงเทพฯถึงพัทยาก่อนจะขยายต่อไปถึงระยอง สายอีสานกรุงเทพฯถึงนครราชสีมา ก่อนขยายไปถึงหนองคาย และสายใต้เริ่มที่กรุงเทพฯถึงหัวหินก่อนจะขยายไปถึงสุไหงโก-ลกและมาเลเซีย

"โครงการลงทุนในเมืองไทยยากตรงจุดเริ่มต้น หากเริ่มต้นได้การก่อสร้างส่วนต่อขยายไม่ใช่เรื่องยาก ในระยะ 5-6 ปีนี้ผมอยากเห็นโครงการลงทุนระบบรางทันสมัย หากสิ่งที่ตั้งเป้าไว้สำเร็จได้ 50-60% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว" นายวีรพงษ์กล่าว

วันเดียวกัน นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กล่าวภายหลังประชุมพิจารณาปรับอัตราค่ารถโดยสารสาธารณะ ว่า ที่ประชุมมีมติดังนี้ 
รถหมวด 1 คือ รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการ ขสมก. ยังไม่ให้ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในขณะนี้ แต่จะให้ปรับขึ้นได้ 1 บาท เมื่อราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นไปอยู่ในอัตรา 9.50 บาทต่อกิโลกรัม จากปัจจุบัน 8.50 บาทต่อกิโลกรัม

"เมื่อต้นทุนจากก๊าซเอ็นจีวีที่ 9.50 บาท สามารถปรับขึ้นราคาได้ทันที โดยรถธรรมดา (รถร้อน) ปัจจุบันเก็บค่าโดยสาร 8 บาท ก็ขึ้นไปเป็น 9 บาท ได้ทันที ส่วนรถปรับอากาศ ก็ขึ้นระยะละ 1 บาท จากที่เก็บอยู่ในตอนนี้"

ส่วนรถหมวด 2 คือ รถโดยสารที่วิ่งระหว่างกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด และรถหมวด 3 คือ รถโดยสารที่วิ่งระหว่างจังหวัด ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารอีก 0.04 บาทต่อกิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าโดยสารใหม่ คือ ในช่วง 40 กิโลเมตรแรก จะคิดค่าโดยสารรวม 0.55 บาท ระยะ 40-100 กิโลเมตร คิดค่าโดยสารรวม 0.50 บาท ระยะ 100-200 กิโลเมตร คิดค่าโดยสารรวม 0.46 บาท และระยะตั้งแต่ 200 กิโลเมตรขึ้นไป คิดค่าโดยสาร 42 กิโลเมตร เช่น ในเส้นทางชลบุรี-คลองด่าน ปัจจุบันเก็บค่าโดยสาร 19 บาท ก็เพิ่มเป็น 20 บาท เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ปัจจุบัน 280 บาท ก็เพิ่มเป็น 313 บาท เป็นต้น

นายศรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับรถหมวด 4 คือ รถสองแถวที่วิ่งในซอย ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารจาก 5.50 บาท เป็น 7 บาท และให้เก็บเพิ่มเป็น 9 บาท ในช่วงเวลา 22.00-05.00 น. จากปัจจุบันที่เก็บค่าโดยสารเพิ่มในช่วงเวลาดังกล่าว 1.50 บาท ส่วนรถมินิบัสเดิมเป็นรถสองแถว และได้มีการปรับเป็นรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาเป็น 8 บาท จากปัจจุบันคิดค่าโดยสาร 6.50 บาท โดยให้มีผลในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้เช่นเดียวกัน 

นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว นายกสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสาร กล่าวว่า เบื้องต้นจะขอยอมรับอัตราที่คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางปรับให้ก่อน แต่ยังไม่พอใจเพราะทางสมาคมได้ขอปรับขึ้นในอัตรา 0.06 บาทต่อกิโลเมตร ดังนั้นจะทำหนังสือไปยังคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง เพื่อขอปรับขึ้นราคาตามที่สมาคมได้ยื่นขอไปก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่อง

นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน (รถร่วม ขสมก.) กล่าวว่า ขณะนี้ราคาเอ็นจีวีอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ทางผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ 2 บาท ราคาจึงอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ ภาครัฐจะยุติการช่วยเหลือแล้ว ดังนั้นราคาเอ็นจีวีจะขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 11-11.50 บาทต่อกิโลกรัม จึงต้องการเรียกร้องให้คณะกรรมการขนส่งทางบกกลางอนุมัติให้ปรับขึ้นราคารถโดยสาร 
ขสมก.ในช่วงนี้ เพราะตามระเบียบ เมื่อพิจารณาให้ปรับขึ้นจะต้องใช้ระยะเวลา 15 วัน จึงจะสามารถปรับราคาขึ้นได้ หากในวันที่ 16 พฤษภาคม ยังไม่มีมติให้รถร่วม ขสมก.ปรับขึ้นค่าโดยสาร ผู้ประกอบการจะหยุดให้บริการทันที

(ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2555) 

 

กทม.สร้างสะพานผ่าที่หมื่นล้าน "เตชะอุบล"เจอดีคอมเพล็กซ์ ริมเจ้าพระยาสะดุด

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:44:41 น.

กทม.สร้างสะพานผ่าที่หมื่นล้าน "เตชะอุบล"เจอดีคอมเพล็กซ์ริมเจ้าพระยาสะดุด


 



กทม.เวนคืน 300 หลังคาเรือนสร้างสะพานข้ามเจ้าพระยาเชื่อม "ถนนจันทน์-เจริญนคร" 1.3 กม. มูลค่า 4,000 ล้าน กระทบชิ่งโปรเจ็กต์ 1.2 หมื่นล้าน "แลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟร้อนท์" ของ "สดาวุธ เตชะอุบล" เจอแจ็กพอต ที่ดินถูกเฉือนหายไปกว่า 4 ไร่ ผู้บริหารคันทรี่กรุ๊ปแจงไม่หวั่นถูกเวนคืน ยันเดินหน้าทำโครงการต่อ ล่าสุดปรับรูปแบบโครงการใหม่ แนวสะพานส่งผลกระทบต่อแบบก่อสร้าง เลื่อนเปิดตัวปี"56



แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กทม.ได้ข้อสรุปแนวเส้นทางที่จะใช้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนครแล้ว โดยแนวเส้นทางที่บริษัทที่ปรึกษาคัดเลือกจะมีจุดเริ่มจากถนนจันทน์บริเวณซอย 42 พาดผ่านถนนเจริญกรุง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมาบรรจบกับถนนเจริญนครบริเวณซอย 24 รวมระยะทางประมาณ 1.3 กม. 

ค่าเวนคืนพุ่ง...วาละ 2 แสน

รูปแบบโครงการจะก่อสร้างเป็นสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างสะพาน 600-700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งโครงการนี้จะใช้เงิน

ค่าเวนคืนสูงมากเนื่องจากตัดผ่านที่ดินในย่านกลางเมือง ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส ราคาที่ดินทำเลนี้จะค่อนข้างแพง ปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ ตร.ว.ละกว่า 2 แสนบาท ทำให้ต้นทุนที่ดินจะสูงกว่าค่าก่อสร้าง 

ทั้งนี้ จากการสำรวจแนวเส้นทางเบื้องต้น จะมีเวนคืนที่ดินประมาณ 200-300 หลังคาเรือน จุดใหญ่อยู่บริเวณถนนเจริญกรุง และตัดผ่านที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวนกว่า 4 ไร่ บริเวณด้านหลังโรงแรมชาเทรียม จากทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 38 ไร่ ขณะที่แปลงที่ดินของโรงแรมชาเทรียมที่อยู่ติดกันอาจจะมีเวนคืนประมาณ 1 ไร่บริเวณริมรั้ว

อีกจุดเป็นฝั่งถนนเจริญนคร ที่ดินแปลงใหญ่ที่จะเวนคืนคือบริเวณที่ดินโรงเลื่อยไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณ 10 ไร่ จากทั้งแปลงมี 15-20 ไร่ 

เนื่องจากการก่อสร้างโครงการนี้ นอกจากจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว จะต้องสร้างจุดขึ้น-ลงเพื่อรองรับการเดินทางสำหรับคนในบริเวณนี้ให้เข้ามาใช้สะพานได้ง่ายด้วย โดยจะสร้างที่บริเวณถนนจันทน์ซอย 46 และ 69 ถนนเจริญกรุงซอย 69 ถนนเจริญนครซอย 22, 23 และ 24 ส่วนจุดอื่น ๆ จะกระจายไปตามเส้นทาง ส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัย 

เฉือนโปรเจ็กต์หมื่น ล. เตชะอุบล

"ที่น่าสนใจคือ แปลงที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯอยู่ในแนวเวนคืน รูปแปลงเป็นรูปตัวแอล จะถูกเวนคืนไปกว่า 4 ไร่ จากทั้งหมด 38 ไร่ เดิมตรงนี้เป็นที่ตั้งขององค์การสะพานปลา แต่ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินฯยกเลิกสัญญาเช่า และให้บริษัท แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้เช่าต่อเพื่อพัฒนาโครงการ และจัดหาผลประโยชน์ในระยะเวลาเช่า 75 ปี ตอนนี้ทางเอกชนก็ได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ไม่รู้ว่ารอความชัดเจนเรื่องสะพานนี้อยู่หรือไม่ เพราะสะพานอาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการได้"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบ ที่ดินแปลงนี้ทางบริษัทแลนด์มาร์คฯต้องการจะพัฒนาเป็นโครงการในลักษณะผสมผสาน (มิกซ์ยูส) มีทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม และศูนย์การค้า มูลค่าโครงการเป็น 10,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตามเมื่อ กทม.ก่อสร้างสะพานนี้ จากการคำนวณเบื้องต้นที่ดิน 4 ไร่ที่จะต้องถูกเวนคืน กทม.จะต้องจ่ายค่าชดเชยร่วม 300 ล้านบาท เพราะปัจจุบันราคาที่ดินสูงเฉลี่ยกว่า 2 แสนบาท/ตร.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัท แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มนายสดาวุธ เตชะอุบล ที่เข้าเทกโอเวอร์ไปเมื่อหลายปีก่อน เดิมใช้ชื่อว่า บริษัท แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ กรุ๊ป เมื่อปีที่แล้วกลุ่มคันทรี่กรุ๊ปประกาศจะหวนคืนวงการอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง โดยส่งไม้ต่อให้ลูกชาย 2 คนคือ นายบีและนายเบน เตชะอุบล เป็นผู้สืบทอดธุรกิจแทน ก่อนหน้านี้ประมาณเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา นายเบน เตชะอุบล ลูกชายของนายสดาวุธ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการนี้ว่า จะพัฒนาโครงการภายใต้ชื่อ "แลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟร้อนท์" เป็นโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วยโรงแรม คอนโดมิเนียมหรู ราคาขายกว่า 2 แสนบาท/ตร.ม. มูลค่าโครงการ 12,000 ล้านบาท ที่ดินเป็นสัญญาเช่า 75 ปี จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยจะเริ่มนับสัญญานับจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 

อนึ่ง สำหรับรูปแบบโครงการแลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟร้อนท์ ที่กลุ่มนายสดาวุธออกแบบไว้ก่อนหน้านี้ มีมูลค่า 12,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 38 ไร่ ภายในประกอบด้วยโรงแรม Capella ระดับ 5 ดาว 101 ห้อง คอนโดฯ Capella Residences สูง 75 ชั้น 352 ยูนิต และโรงแรม 5 ดาว Jumeirah 305 ห้อง 

คันทรี่กรุ๊ปยันเดินหน้าโครงการ

นายธิติพัทธ์ อดิลักษณ์ธราดล กรรมการผู้จัดการสายงานโครงการ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้ทราบข่าว กทม.จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
แห่งใหม่เชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุง-เจริญนคร แต่เข้าใจว่า กทม.ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ชัดเจน
จะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อไหร่ 

ส่วนกรณีที่แนวก่อสร้างสะพานจะพาดผ่านที่ดินของบริษัทบางส่วนติดกับโรงแรมชาเทรียม ที่บริษัทได้กรรมสิทธิ์การเช่าระยะยาว 75 ปี (นับจากวันก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ) จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และอาจจะต้องเวนคืนที่ดินแปลงนี้บางส่วนจากเนื้อที่ทั้งหมด 38 ไร่ บริษัทไม่ได้กังวลและพร้อมจะเดินหน้าพัฒนาโครงการนี้ต่อไป 

แต่ยอมรับว่าแผนพัฒนาที่ดินผืนนี้ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา จากเดิมวางแผนจะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมและโรงแรม 2 อาคาร แต่ละอาคารสูงกว่า 40 ชั้น และมีพื้นที่ค้าปลีกด้วย มูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้กำลังปรับแบบและวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ โดยเฉพาะส่วนการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก 

เนื่องจากมีกลุ่มสยามพิวรรธน์และซีพีประกาศแผนธุรกิจโครงการช็อปปิ้งแหล่งใหม่บนถนนเจริญนครติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกลุ่มทีซีซี แลนด์ของเจ้าสัว "เจริญ สิริวัฒนภักดี" ได้เปิดตัวโครงการโอเพนมอลล์บนถนนเจริญกรุง แต่ไม่ได้ล่าช้าเพราะรอความชัดเจนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่แต่อย่างใด

"เรากำลังปรับแบบโครงการใหม่ คาดว่าคงไม่ทันเปิดตัวโครงการปีนี้ เพราะต้องการศึกษาคู่แข่งให้รอบคอบ บวกกับโครงการนี้จะเริ่มนับอายุสัญญาเช่า 75 ปีเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงยังมีเวลา" 

ศึกหนัก บังวิว-คุมสร้างตึกสูง 

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด เปิดเผยว่า ถ้าหากมีสะพานก่อสร้างหรือพาดผ่านในพื้นที่โครงการ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการแน่นอน เพราะตามกฎหมายควบคุมอาคาร ในระยะ 50 เมตรจากเชิงลาดสะพานห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ นอกจากอาคารขนาด 5 ชั้น หรือไม่เกิน 2,000 ตร.ม. อีกทั้งจะทำให้มูลค่าที่ดินลดลง และบดบังทัศนียภาพด้วยเช่นกัน 

"กรณีของที่ดินแปลงนี้อาจจะมีผลกระทบบ้างต่อการพัฒนาโครงการ และผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของที่ดินอาจจะต้องปรับรูปแบบใหม่ทั้งโครงการ หลังพื้นที่ก่อสร้างลดลงจากเดิมเพราะถูกเวนคืนที่ดินไป" นายวสันต์กล่าวทิ้งท้าย

กทม.ทุ่มแสนล้านแก้รถติดเมืองกรุง เร่งสำรวจเส้นทาง-เวนคืน ที่ดิน-ตัดถนนใหม่ 15 สาย

  
วันที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:09:12 น.

กทม.ทุ่มแสนล้านแก้รถติดเมืองกรุง เร่งสำรวจเส้นทาง-เวนคืน

ที่ดิน-ตัดถนนใหม่ 15 สาย

Share20



 


กทม.ทุ่มกว่า 500 ล้าน ศึกษา 15 โครงการใหม่ แก้จราจรทำเลกลางเมืองและรอบนอก ย่านฝั่งธนฯ-ตะวันออก-ใต้-ด้านเหนือของกรุงเทพฯ ตัดถนนใหม่เพิ่ม 4 สาย สร้างทางยกระดับ-ต่างระดับ อุโมงค์ทางลอด แก้รถติดถนนอโศกมนตรี-รามคำแหง-ลาดพร้าว-นวมินทร์-เสรีไทย-ศรีนครินทร์-นิมิตใหม่-เพชรเกษม-พระราม 8 คาดใช้งบฯเวนคืนและก่อสร้างเฉียด 1 แสนล้านบาท ปี"57 เตรียมขอจัดสรรงบฯก่อสร้าง แล้วเสร็จใน 3 ปี



นายวัชรินทร์ บรรพต ผู้อำนวยการกองออกแบบ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปัจจุบัน กทม.มีโครงการตัดถนนสายใหม่และโครงการแก้ปัญหาการจราจรพื้นที่ใจกลางเมืองและรอบนอกกรุงเทพฯอยู่ 15 โครงการ ล่าสุดอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบและเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เพื่อดำหนดแนวเส้นทางและเวนคืนที่ดิน โดยใช้วงเงินประมาณ 500-600 ล้าน จ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการ 

"เริ่มทยอยรับฟังความคิดเห็น ใน 2 ปีจะเสร็จทั้งหมด แล้วจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ เพื่อของบฯก่อสร้างจากผู้บริหาร กทม. จะขอจัดสรรในปี 2557 ใช้เวลาสร้าง3 ปี หากมีเงินจะสร้างได้เร็วขึ้น"

ลงทุน 15 โครงการ เฉียดแสน ล.

โดยเงินลงทุนทั้ง 15 โครงการ คาดว่าจะถึง 100,000 ล้านบาท เพราะมีโครงการใหญ่ 2 โครงการ คือ 
ถนนสาย ง.3 เชื่อมถนนสุขสวัสดิ์-พระรามที่ 2-ถนนสามแยกตากสิน-ถนนเพชรเกษม-
ถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ และ
สาย ช.2 จากนวมินทร์-สุขุมวิท 103 ที่แต่ละโครงการใช้เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท 
ส่วนที่เหลือจะอยู่ที่ระดับ 1,000 พันล้านบาทขึ้นไป 

ยังไม่นับรวมสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง วงเงิน 18,837 ล้านบาท ที่สำรวจและออกแบบไปก่อนหน้านี้ คือ สะพานเกียกกาย 9,100 ล้านบาท 
สะพานจันทน์-เจริญนคร 4,000 ล้านบาท 
สะพานลาดหญ้า-มหาพฤฒาราม 4,764 ล้านบาท และ
สะพานราชวงศ์-ท่าดินแดง 837 ล้านบาท 

"โครงการที่หยิบมาศึกษานี้จะช่วยเพิ่มโครงข่ายการเดินทางพื้นที่รอบนอก เปิดพื้นที่ใหม่ และแก้ไขรถติดขัดย่านกลางเมือง โดยพื้นที่กลางเมือง จะแก้โดยสร้างทางยกระดับ เพราะพื้นที่จำกัดและมีต้องเวนคืนบ้าง อย่างพระราม 9-สุขุมวิท จะยกระดับบนถนนอโศกมนตรีขึ้นอีกชั้น จะเวนคืนบริเวณ 2 ข้างทางบ้าง"

ผุดถนนสองชั้นย่านกลางเมือง

สำหรับ 15 โครงการ คือ 
 1) แก้ไขปัญหาจราจรถนนอโศกมนตรี จากพระราม 9-บริเวณถนนสุขุมวิท (แยกอโศก) 
สร้างทางยกระดับตลอดเส้นทาง 3-4 กิโลเมตร 
 2) แก้ปัญหาจราจรบริเวณจุดเชื่อมต่อถนนรามคำแหง ถนนนิมิตรใหม่ ถนนสีหบุรานุกิจ ถนนร่มเกล้า 
ถนนสุวินทวงศ์ในพื้นที่เขตมีนบุรี เป็นการก่อสร้างถนนใหม่ ทางต่างระดับหรืออุโมงค์ทางลอด 
เชื่อมต่อถนนร่มเกล้ากับถนนนิมิตใหม่ 
 3) แก้ปัญหาการจราจรบริเวณจุดตัดระหว่างถนนลาดพร้าว ถนนนวมินทร์ ถนนเสรีไทย ถนนรามคำแหง 
และถนนศรีนครินทร์ เขตบางกะปิ จะสร้างถนนใหม่เชื่อมระหว่างถนนศรีบูรพา-กรุงเทพกรีฑา 
สร้างทางต่างระดับหรืออุโมงค์ทางลอด บริเวณแยกนิด้า แยกบ้านม้า และแยก อื่น ๆ 
เสริมโครงข่ายแถบชานเมือง
 4) เพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนนสายหลักกับถนนวงแหวน 
 5) ก่อสร้างถนนตามผังเมืองสาย ค.3 เชื่อมต่อถนนรามอินทรา-ถนนบางนา-ตราด 
เป็นถนนตัดใหม่ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 9 กิโลเมตร จะเพิ่มโครงข่ายถนนเชื่อมเขตมีนบุรี-ลาดกระบัง 
 6) ก่อสร้างถนนแนวผังเมือง สาย ค.1 เชื่อมต่อถนนรามอินทรา-ถนนพหลโยธิน-ถนนรัตนโกสินทร์สมโภช 
เป็นถนนใหม่ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 2 กิโลเมตร 
 7) ต่อเชื่อมถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 กับถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ และถนนกรุงเทพกรีฑา 
จะสร้างถนนหรือทางยกระดับหรือทางลอดเพื่อต่อกับถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 กับถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรี 
 8) แก้ไขปัญหาการจราจรถนนเพชรเกษมจากแยกท่าพระถึงสุดเขตกรุงเทพฯ จะสร้างเป็นทางยกระดับหรือสะพานข้ามทางแยกหรือทางต่างระดับ บริเวณจุดตัดถนนเพชรเกษม เช่น จุดตัดถนนพุทธมณฑลสาย 1 ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ถนนทวีวัฒนา ถนนพุทธมณฑลสาย 3 ปรับปรุงกายภาพถนนบริเวณจุดตัดถนนเพชรเกษม เช่น จุดตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนราชพฤกษ์ ถนนกาญจนาภิเษก ถนนพุทธมณฑลสาย 4 

 9) ต่อเชื่อมถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 กับสะพานพระราม 8 จะสร้างถนนหรือทางยกระดับหรือทางลอด 
10) แผนแม่บทแก้ไขปัญหาจราจรพื้นที่เขตลาดกระบัง เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร บริเวณซอยเปรมฤทัย ข้ามทางแยกเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ไปตามแนวถนนอ่อนนุชข้ามคลองหนองปรือ คลองหัวตะเข้ ระยะทาง 2 กิโลเมตร สร้างทางแยกต่างระดับระหว่างถนนฉลองกรุงกับถนนเจ้าคุณทหาร และสร้างทางแยกต่างระดับระหว่างถนนฉลองกรุงกับซอยสุวรรณ 5 

เวนคืน 3 พันหลังตัดสาย ง.3

11) ก่อสร้างถนนสาย ง.3 เชื่อมถนนสุขสวัสดิ์-พระรามที่ 2-ถนนสามแยกตากสิน-ถนนเพชรเกษม-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้ ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 21 กิโลเมตร เงินลงทุน 25,000 ล้านบาท เวนคืน 3,000 หลังคาเรือน วงเงิน 13,000 ล้านบาท และค่าก่อสร้าง12,000 ล้านบาท ผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

ทะลวงพื้นที่ตาบอดโซนตะวันออก

12) ก่อสร้างถนนสาย ช.2 เชื่อมถนนนวมินทร์กับถนนสุขุมวิท 103 ขนาด 4-6 ช่องจราจร จุดเริ่มต้นอยู่ระหว่างถนนนวมินทร์ตัดกับถนนประเสริฐมนูกิจ (แยกนวมินทร์) มาทางด้านทิศใต้ จะตัดผ่านถนนเสรีไทย ถนนรามคำแหง ถนนศรีนครินทร์-ร่มเกล้า ถนนกรุงเทพกรีฑา ถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรี ถนนอ่อนนุช และมาสิ้นสุดโครงการที่บริเวณถนนสุขุมวิท 103 (ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9) และเชื่อมต่อไปถึงถนนบางนา-บางปะกงระยะทาง 19 กิโลเมตร เงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท จะช่วยเปิดพื้นที่ตาบอดและการพัฒนาโซนนี้ 
13) แก้ไขปัญหาจราจรโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช 
14) แก้ปัญหารอบศาลาว่าการ กทม. 2 ย่านดินแดง และ 
15) อุโมงค์คนเดินบริเวณแยกวงเวียนใหญ่

ลาซาล-ศรีนครินทร์ รถไฟฟ้าพลิกโฉม ไพรมแอเรีย...ชานเมือง







วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 10:15:30 น.

ลาซาล-ศรีนครินทร์ รถไฟฟ้าพลิกโฉมไพรมแอเรีย...ชานเมือง


คอลัมน์ เล็งทำเล
นับจากเดือนสิงหาคม 2554 ที่รถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง เปิดหวูดวิ่งให้บริการประชาชน 
จนถึงวันนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้า "ซอยลาซาล" หรือซอยสุขุมวิท 105 กลายเป็นโซนศักยภาพสูงติดทำเนียบ 
ทำเลเด่นเกาะแนวรถไฟฟ้าเพียงชั่วข้ามคืน

"มิสเซอร์เวย์" ลงพื้นที่สำรวจความคืบหน้าโครงการอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่ซอยลาซาล-ถนนศรีนครินทร์ 
(ถึงซีคอนสแควร์) ที่อนาคตรัฐบาลได้วางแนวเส้นทางก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 
ไว้ด้วย พบว่ามีโครงการคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นแล้วประมาณ 7 โครงการ ราคาเฉลี่ย ตร.ม.ละกว่า 4-6 หมื่นบาท 
อัตราการขายถือว่าดีพอสมควร มีห้องชุดรวมกันกว่า 7,300 ยูนิต ปัจจุบันมีซัพพลายเหลือขายประมาณ 30% 
หรือประมาณ 2,200 ยูนิต ถือว่ายังไม่สุ่มเสี่ยง...ล้นตลาด

ส่วนบ้านจัดสรรพบว่ามีประมาณ 4-5 โครงการเท่านั้น ได้แก่ พฤกษ์ภิรมย์ รีเจ้นท์ พิชญาลาซาล 
ศุภาลัย วิลล์ บ้านสิทธารมย์ และบ้านกลางเมืองศรีนครินทร์ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เปิดขายมาระยะหนึ่ง

จากแยกบางนามาตามแนวเส้นทางถนนสุขุมวิท ผ่านโครงการคอนโดฯ The Coast Bangkok 
ของบริษัท บีเคเค แกรนด์ เอสเตท จำกัด ที่อยู่ระหว่างเปิดขายอาคารทาวเวอร์บี เลี้ยวเข้าสู่ซอยลาซาล
ที่ตั้งอยู่ตรงกับทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าแบริ่ง

พบว่าถนนภายในซอยใหม่มากถึงมากที่สุด ! รถวิ่งสวนกันได้ฝั่งละ 1 เลน

เลี้ยวเข้าไปไม่กี่ร้อยเมตร ซ้ายมือมีโครงการ "Centerpoint Entertainment" เป็นสตูดิโอสำหรับ
ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ อยู่ใกล้กับหมู่บ้านพรไพลิน ของตระกูล "ชวนไชยสิทธิ์" กลุ่มทุนอสังหาฯเก่าแก่ในพื้นที่

เลี้ยวรถไปตามถนนในซอย ผ่านอพาร์ตเมนต์พีเค แมนชั่น และบริษัทรับเหมาก่อสร้างคริสเตียนีฯ ตั้งแต่จุดนี้
ถนนถูกขยายเป็นฝั่งละ 3 เลน เลยไปไม่ไกลมีโรงเรียนนานาชาติชั้นนำ "บางกอกพัฒนา" และคอนโดฯ "ลุมพินีวิลล์ 
ลาซาล-แบริ่ง" ราคาล้านเศษ ของเจ้าตลาดคอนโดฯระดับกลาง บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์


อัพเดตข้อมูลจาก แอล.พี.เอ็น.พบว่าเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งโครงการมี 1,028 ยูนิต มียอดขายแล้วเกือบ 100% 
คงเหลือ 10 ยูนิตสุดท้าย แบ่งเป็นห้องชุด 22.5 ตร.ม. 1 ห้อง ราคา 1.03 ล้านบาท และ 26.5 ตร.ม. 9 ห้อง 
ยูนิตละ 1.2-1.24 ล้านบาท



ขับรถไปตามทางจะเจอกับสามแยก เลี้ยวขวามุ่งหน้าไปตามถนนที่เป็นเส้นทางทะลุซอยแบริ่ง (ซอยสุขุมวิท 107) 
เพื่อไปดูบ้านหรู "พฤกษ์ภิรมย์ รีเจนท์ ลาซาล" ราคาหลังละ 40-80 ล้านบาท จากนั้นเลี้ยวรถกลับมาตาม
เส้นทางเดิมเพื่อมุ่งหน้าตามซอยลาซาล ไปทางแยก "ศรีนครินทร์" ตัด "ลาซาล" อีกครั้ง

ซ้ายมือมีโครงการ "ไอคอนโด ลาซาล" ของค่ายพร็อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค มีทั้งหมด 6 ตึก (A-F) 1,386 ยูนิต 
บนเนื้อที่กว่า 14 ไร่ มีห้องแบบ 1-2 ห้องนอน พื้นที่ใช้สอย 30 และ 47 ตร.ม. เริ่มต้น 1.36-2.1 
ล้านบาท (แถมเฟอร์นิเจอร์) 

ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดขาย 4 ตึกคือ ตึก A B C D มียอดขายแล้วเกือบ 70% ตอนนี้กำลังจัดแคมเปญฟรีเงินจอง 
ทำสัญญา จ่ายดาวน์ 2 งวด งวดละ 10,000 บาท สำหรับแบบ 1 ห้องนอน และงวดละ 20,000 บาท 
สำหรับแบบ 2 ห้องนอน

จากนั้นมุ่งหน้าไปเจอแยกศรีนครินทร์ตัดลาซาล ขับผ่านไฟแดงตรงไปทางโรงพยาบาลศิครินทร์ ถือว่าน่าสนใจ 
เพราะแค่ช่วงถนนสั้น ๆ ไม่ถึง 1 กม. แม้เป็นซอยตัน แต่มีคอนโดฯ+บ้านจัดสรรปักหลักถึง 5 โครงการ

เริ่มจากคอนโดฯ "เดอะพาร์คแลนด์ ศรีนครินทร์" บนเนื้อที่กว่า 90 ไร่ ตั้งตรงข้ามกับหมู่บ้านจัดสรร "พิชญา ลาซาล" 
เมื่อ 2 เดือนก่อน "เจนต์ชัย ลิ้มวัฒนะกูร" ผู้บริหารนารายณ์พร็อพเพอตี้ เปิดตัวคอนโดฯตึกที่ 2 (สร้างเสร็จก่อนขาย) 
สูง 19 ชั้น 1 ห้องนอน 35-60 ตร.ม. 394 ยูนิต และ 2 ห้องนอน 51 ตร.ม. ยูนิตละ 1.43-2.49 ล้านบาท

ส่วนตึกแรกเปิดตัวก่อนหน้าประมาณ 1 ปี มี 484 ยูนิต ปัจจุบันทั้งตึก 1 และตึก 2 มียอดขายรวมกันแล้วประมาณ 80%

สังเกตว่าที่ดินโดยรอบบริเวณนี้ยังพอมีที่ดินให้พัฒนาเหลืออยู่บ้าง สังเกตเห็นป้ายแนะนำโครงการใหม่...เตรียมพบ 
"เดอะริชโฮม" เดือนพฤษภาคมนี้ เช็กข้อมูลเป็นของบริษัท ริชี่เพลซ (2002) จำกัด

ถัดไปนิดเดียวมีโครงการ "ซิตี้โฮม ศรีนครินทร์" ตึกสูง 12 ชั้น 6 อาคาร 1,320 ยูนิต ของ "ศุภาลัย" 
กำลังก่อสร้างตัวตึก เปิดตัวด้วยราคาเซอร์ไพรส์ ถูกกว่าโครงการละแวกนี้ เริ่มต้น

ยูนิตละ 899,000 บาท ราคานี้ยังมีเหลือ 3 ห้อง พื้นที่ใช้สอย 30-32 ตร.ม. อยู่ชั้น 2

อัพเดตมียอดขายแล้ว 70% พร้อมโอน พ.ย.นี้ ส่วนห้องราคาปกติ เริ่มต้นชั้น 2-12 
ราคายูนิตละ 9.59 แสน-1.16 ล้านบาท พร้อมรับเฟอร์ฯ หรือเลือกรับส่วนลด 60,000 บาท

ที่แน่ ๆ ท้ายซอยยังมีโครงการ "ศุภาลัย วิลล์" หมู่บ้านจัดสรรรุ่นบุกเบิกประจำซอยของศุภาลัย

จากนั้นเลี้ยวรถกลับ ถึงสี่แยกเลี้ยวขวาไปตามถนนศรีนครินทร์มุ่งหน้าศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค และซีคอนสแควร์ 
ที่เปลี่ยนถนนสายนี้ให้คึกคัก พบว่ามีคอนโดฯเกิดขึ้นหลายแท่ง

เริ่มจาก "ศุภาลัย ปาร์ค ศรีนครินทร์" ตึกสูง 25 ชั้น 2 อาคาร 1,618 ยูนิต ของค่ายศุภาลัยอีกเช่นกัน 
ตัวตึกก่อสร้างแล้วเสร็จมีลูกค้าเข้าอยู่แล้ว มียอดขาย 90% หรือประมาณ 1,450 ยูนิต

ส่วนยูนิตที่เหลือขายมีทั้งห้องสตูดิโอ 37 ตร.ม. เริ่มต้น 1.29 ล้านบาท แบบ 1 ห้องนอน 51-52 ตร.ม. 
ราคา 2.3-2.4 ล้านบาท และ 2 ห้องนอน 81 ตร.ม. ราคา 3.3-3.9 ล้านบาท

เดินหน้าไปตามถนนศรีนครินทร์ ผ่านอุโมงค์ทางแยกศรีอุดมที่เพิ่งเปิดใช้ไม่กี่เดือน สังเกตว่ารถติดเพราะ กทม.
กำลังปรับปรุงผิวถนนใหม่ ในอนาคตจะให้รถวิ่งตรงยาวไปตลอดแยกพัฒนาการแบบไม่มีจุดกลับรถตามเกาะกลางถนน 
ด้านซ้ายมือสังเกตเห็นป้ายทางเข้าโครงการบ้านจัดสรร "บ้านกลางเมือง ศรีนครินทร์" อยู่ถัดเข้าไปในซอยของ
ค่ายเอเชี่ยนฯ เยื้องกันฝั่งขวามือมี 2 ห้างใหญ่คือ "พาราไดซ์ พาร์ค" ธุรกิจร่วมทุนของกลุ่มสยามดิสคัฟเวอรี่
กับเอ็มบีเค และ "ซีคอนสแควร์" ของตระกูลซอโสตถิกุล ด้านหลังมีตลาดนัด "สวนศรี" แหล่งช็อปปิ้งชิว ๆ แห่งใหม่

ฝั่งตรงข้ามมีคอนโดฯ 2 แท่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน โครงการแรกคือ The Ninth Place ของกลุ่มทุนสิ่งทอที่แตกไลน์
ทำอสังหาฯในนามบริษัท ศรีรุ่งสุขจินดากรุ๊ป จำกัด อยู่ถัดเข้ามาในซอยเฉลยสุข

ประมาณ 100 เมตร ปัจจุบันตัวตึก 7 ชั้นก่อสร้างเสร็จ มีห้องเหลือขาย 40% หรือ 100 ยูนิตเศษ 
จากทั้งหมด 275 ยูนิต มีทั้งแบบ 1 ห้องนอน 34 ตร.ม. ราคา 2.15 ล้านบาท และ 2 ห้องนอน 85 ตร.ม. 
ราคา 5 ล้านบาท พร้อมเฟอร์ฯ

ถัดไปนิดเดียวมีป้ายประกาศขายที่ดินเปล่าติดถนนทำเลสวย มี "คอลลิเออร์ส" เป็นตัวแทนขาย 
ถามความเห็นคนในวงการอสังหาฯบอกว่าทำเลดี แต่ถ้าอยากได้ต้องจ่ายตารางวาละกว่า 1 แสนบาท

โครงการสุดท้ายก่อนจบการเล็งทำเลคือ คอนโดฯบรรยากาศสวน "อิลีเม้นท์ ศรีนครินทร์" ของ บมจ.คันทรี่กรุ๊ป 
ดีเวลลอปเม้นท์ของ "สดาวุธ เตชะอุบล" อยู่ถัดเข้ามาในซอยศรีนครินทร์ 40 ตรงข้ามห้างซีคอนฯ เป็นคอนโดฯ 8 ชั้น 
7 ตึก 1,058 ยูนิต บนเนื้อที่ 13 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดขายตึก 1 และ 2 จำนวน 278 ยูนิต แบ่งเป็น 1 ห้องนอน 
30-43 ตร.ม. ตั้งราคายูนิตละ 1.6-2.1 ล้านบาท (รวมเฟอร์ฯ+แอร์) และ 2 ห้องนอน 43-65 ตร.ม. 
ราคายูนิตละ 2.2-3.3 ล้านบาท มียอดขายแล้วประมาณ 80% จะก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนมกราคมปีหน้า

จากการเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการในทำเล "ซอยลาซาล-ศรีนครินทร์" ได้ยกระดับเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีศักยภาพ 
ขาดเพียงรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-บางกะปิ-สำโรง) ที่วางแนวไว้แล้ว 



"ศิริราชใหม่" เปิดบริการ วันแรก







 
วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:43:19 น.

"ศิริราชใหม่" เปิดบริการ วันแรก

Share91


ดังที่ทราบกันดีว่าหน่วยงานของรัฐได้ออกนอกระบบราชการมาเกือบ 10 ปีแล้ว ฉะนั้นเพื่อความอยู่รอดในการดำรงอยู่ของหน่วยงานต่าง ๆ จึงต้อง "เลี้ยงตัวเอง" มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาวิจัยและให้บริการทางการแพทย์ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้อง เลี้ยงดูตัวเอง 

ครั้นจะเพิ่มค่าหน่วยกิต หรือขึ้นค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลศิริราชก็เป็นไปไม่ได้ 

ด้วย เหตุนี้ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์" (หรือ SiPH) หวังจะนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ที่รักษาในโรงพยาบาลศิริราชและคณะ แพทยศาสตร์

วัตถุประสงค์อีกประการคือ อยากสร้างให้เป็นโรงพยาบาลนำร่องในความเป็นเลิศในบริการทางการแพทย์ สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน เพื่อธำรงไว้ซึ่งคณะแพทย์ชั้นนำของประเทศที่เชี่ยวชาญและน่าเชื่อถือที่สุด 

ทั้งนี้ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จะเน้นบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและอัพเกรดการบริการให้เทียบเท่าโรง พยาบาลเอกชน ซึ่งหมายถึงค่าบริการที่เพิ่มขึ้นด้วย รวมไปถึงโรคที่รักษาจะเน้นไปที่โรคซับซ้อนและยุ่งยากเป็นหลัก และคนไข้ที่ถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลอื่น ๆ อีกด้วย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า ด้านการบริการเน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว บริการด้วยความใส่ใจและอบอุ่นเหมือนครอบครัวเดียวกัน และที่สำคัญ คุณค่าที่ผู้รับบริการจะได้รับเพิ่มนอกเหนือจากการบริการคือ การที่ได้เป็นทั้ง "ผู้รับและผู้ให้" 

"แม้จะมีการบริหารแบบเอกชน แต่จะไม่มีผู้ถือหุ้น กำไรที่ได้จะนำกลับไปสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลย้ำถึงประสิทธิภาพที่เหนือกว่าโรงพยาบาลทั่วไป นอกจากจะมีอาจารย์แพทย์ชั้นนำของคณะแพทยศาสตร์มาประจำอยู่ที่โรงพยาบาล ยังมีอาคารใหม่ และอุปกรณ์ล้ำสมัยครบครัน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและบริการ และที่สำคัญยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีภูมิทัศน์ที่งดงาม ผู้ป่วยจะได้พักฟื้นอย่างปลอดโปร่ง 

อาคารโรงพยาบาลออกแบบอย่างทัน สมัย เน้นประโยชน์การใช้งาน มีพื้นที่จอดรถมากกว่า 1,000 คัน ภายในอาคารประกอบด้วยห้องบริการผู้ป่วยนอก 177 ห้อง ห้องผ่าตัด 17 ห้อง ห้องผู้ป่วย 284 ห้อง หอผู้ป่วยวิกฤต 61 ห้อง พร้อมด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เครี่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เครื่องเร่งอนุภาค (LINAC) คือเครื่องฉายรังสีเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในปัจจุบัน มีความแม่นยำสูง และสามารถรักษาได้ทุกส่วนของร่างกายแม้อวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก โดยที่มีผลแทรกซ้อนจากปริมาณรังสีน้อยมาก ถึงในปัจจุบันมีอยู่ 3 เครื่องในประเทศ

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จะสามารถเปิดให้บริการแก่ผู้ป่วยได้ในพื้นที่ประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่อาคารทั้งหมดในปีแรก คือวันที่ 26 เมษายน 2555 เปิดให้บริการเป็นร้อยละ 50 ในปีที่สอง และครบทั้งหมดในปีที่สาม 

ปี แรกนี้จะเริ่มให้บริการในสาขาอายุรกรรมทั่วไป ศัลยกรรมทั่วไป และแพทย์เฉพาะทางในกลุ่มโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจ ประสาทและสมอง เบาหวาน ไต กระดูกและข้อ ทางเดินอาหารและตับ ทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น 

สำหรับ ค่าบริการทางการแพทย์ นายแพทย์ประดิษฐ์ชี้แจงว่า ค่าแพทย์คิดที่ 500 บาท ค่าห้องพักผู้ป่วยพิเศษ 2,500-3,500 บาท บวกกับค่าบริการอื่น ๆ อีก 2,000 บาท ส่วนค่าอุปกรณ์การแพทย์อื่นก็ถูกกว่าเอกชน

นอกจากนี้ หากใครสนใจอยากทราบถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยซับซ้อนเป็นอย่างไร สามารถหาคำตอบได้ในงานเสวนาน่ารู้ "คนไทยกับโรคซับซ้อน" โดยศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน 2555 เวลา 13.30-15.30 น. ณ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ถนนพรานนก
 


http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1335505528&grpid=09&catid=00