วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

“คลื่นวิทยุ-ทีวี”ทหาร สู่ยุค “ดิจิตอล” ถอดรหัส“ปฏิวัติ”ทำได้แต่ไม่ง่ายนัก!

  • เขียนโดย Thaireform
  • วันพุธที่ 25 มกราคม 2012 เวลา 16:14 น.

    แผนการปฏิวัติรัฐประหารที่คณะก่อการทุกชุดต้องดำเนินการเป็นลำดับต้นเหมือนเป็นสูตรสำเร็จของการยึดอำนาจ    ก็คือการควบคุมตัวนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรี และ เข้ายึดกุมสื่อที่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายถืออำนาจรัฐใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้

     

              กรมประชาสัมพันธ์  ช่อง 11  ช่อง 9  ช่อง 7 ช่อง 5 ช่อง 3 ไอทีวี  รวมถึงสถานีดาวเทียมไทยคม  จึงจัดอยู่ในเป้าหมายที่หัวหน้าคณะผู้ปฏิบัติการต้องวางกำลังไปยังจุดศูนย์ดุลเหล่านั้น   โดยการดำเนินการต้องรวดเร็วเบ็ดเสร็จก่อนที่คณะผู้ก่อการจะออกแถลงการณ์ยืนยันการใช้อำนาจของคณะปฏิวัติ  เพื่อคุมสภาพไม่ให้อีกฝ่ายปฏิบัติการต่อต้าน

              คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ  หรือ คมช. ได้จัดวางการปฏิบัติไว้ในแผนปฐพี 143 แบ่งหน่วยในการเข้ายึดพื้นที่ของสื่อโทรทัศน์ไว้โดยรอบ   ในขณะเดียวกัน โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ หรือ ทีวีพูล ได้สั่งการให้สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 เป็นแม่ข่ายในการถ่ายทอดการอ่านแถลงการณ์คณะปฏิวัติ   พร้อมให้นำรถถ่ายทอดสดมาสแตนด์บายที่กองบัญชาการกองทัพบก

              ระหว่างนั้น ช่อง 5 ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงรายการบนหน้าจอสี่เหลี่ยม จากรายการปกติ เป็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พระบรมวงศานุวงศ์    นอกจากนั้น ยังมีการเปิดเพลงมาชร์กองทัพบก ตามขั้นตอนที่คณะปฏิวัติได้ทำมาตั้งแต่อดีต เช่นเดียวกับวิทยุของทหาร ที่ถ่ายทอดเสียงเพลงมาชร์กองทัพบกอย่างพร้อมเพรียง

              โดยระหว่างนั้นผู้บริหารของ ทีวีพูล ต้องยกหูโทรศัพท์โดยด่วนเพื่อให้แต่ละช่องเชื่อมสัญญาณของทีวีพูล  ทว่าในเหตุการณ์ครั้งนั้น   ช่อง 9 อสมท. ไม่ยอมเชื่อมสัญญาณ เนื่องจาก นายมิ่งขวัญ  แสงสุวรรณ  ผอ.อสมท. ได้สั่งการให้ถ่ายทอดคำแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร   อดีตนายกรัฐมนตรี จากสหรัฐอเมริกา  ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ

              แต่ไม่นาน   ช่อง9 ก็ต้องยอมรับการเชื่อมสัญญาณจากทีวีพูล เนื่องจากหน่วยทหารที่เข้าไปคุมพื้นที่ซึ่งก็คือ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์    ได้ใช้กำลังเข้าล้อมสถานี และ ขอให้ผู้บริหารสถานีเชื่อมต่อสัญญาณจากคณะปฏิวัติในที่สุด

              ส่งผลให้การอ่านคำแถลงการณ์สมบูรณ์   คำแถลงปลด พล.อ.สนธิ  บุญยรัตกลิน ออกจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหาร  ที่ข้ามประเทศมาก่อนหน้านั้น  จึงไม่เป็นผล 

              จะเห็นได้ว่า   สื่อโทรทัศน์  และ วิทยุ  ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการยึดอำนาจ  เพราะการคุมพื้นที่ของสื่อที่เข้าถึงประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ทว่าปัญหาหลักในขณะนั้น คือการก่อเกิดของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมบางสถานี ที่คณะปฏิวัติเองก็ยังเอื้อมมือไปไม่ถึงและไม่เห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญ  เพราะปริมาณของโทรทัศน์ดาวเทียมเหล่านั้นไม่ได้มากขึ้นเช่นปัจจุบัน

              เช่นเดียวกับ การขยายตัวของคลื่นสถานีวิทยุ  ที่ไม่ได้มีเฉพาะแต่ภาพวิทยุทหารแหล่งขุมทรัพย์เช่นในอดีต  คลื่นวิทยุ ที่ออกกระจายเสียงทั้งในระบบเอฟเอ็ม หรือเอเอ็ม ซึ่งเป็นของหน่วยงานรัฐ กองทัพบก จำนวน 126 สถานี ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 24 สถานี ซึ่งแบ่งเป็น เอฟเอ็ม 12 สถานี เอเอ็ม   12 สถานี ส่วนต่างจังหวัดมีรวมทั้งสิ้น 102 สถานี แบ่งเป็นเอฟเอ็ม 37 สถานี เอเอ็ม 65 สถานี   กองทัพอากาศ ที่มีกรมสื่อสารทหารอากาศ เป็นผู้ดูแล จำนวน 35 สถานี แบ่งเป็น เอเอ็ม  17 สถานี และ เอฟเอ็ม  18 สถานี  กองทัพเรือ จำนวน 17 สถานี และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีสถานีวิทยุในเครือข่ายทั้งหมด 44 สถานี  

              จากการที่เอกชนผู้ประกอบการวิทยุชุมชนสำแดงไว้  กับ คณะกรรมการกิจการวิทยุโทรทัศน์ และ วิทยุกระจายเสียง  หรือ  กสทช. รวมแล้ว 6,001 สถานี   ไม่นับรวมของหน่วยงานรัฐที่มีการจดทะเบียนไว้รวม 525 สถานี  เป็นงานหนักที่ กสทช.  ต้องเข้าไปออกใบอนุญาตเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย  การทำงานของ กสทช. จึงมีความยากลำบาก  นับแต่แผนแม่บทที่จะดำเนินการออกมาในไม่ช้านี้  นอกจากกรอบกฎหมายในการพิจารณาแล้ว กสทช. เองก็ต้องใช้ดุลยพินิจ ในการลงมติว่าจะออกใบอนุญาตให้ใครดำเนินการประเภทใดได้บ้างใน  3 ประเภท คือ 1.เพื่อสาธารณะ 2. ธุรกิจ 3. ชุมชน   

              นส.สุภิญญา กลางณรงค์  หนึ่งใน กสทช. ระบุว่า เป็นเรื่องที่ท้าทาย กสทช .เพราะนอกจะมีกฎหมายกำกับแล้ว ตัวบุคคลใน  กสทช. ยังต้องใช้ดุลยพินิจว่า การที่หน่วยงานรัฐ และ เอกชนจะขอใบอนุญาตต่างๆ นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้จดแจ้งหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เป้าหมายในการทยอยออกใบอนุญาตช่วง 1-2 ปี ต่อจากนี้ ก็อาจจะเกิดความโกลาหลบ้าง และ หน่วยงาน  เอกชน  กองทัพ ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตก็อาจจะต้องมีการไปร้องศาลปกครองเพื่อศาลตัดสินในขั้นสุดท้าย  กว่าจะออกมาได้ว่าใครบ้างที่ได้รับอนุญาตก็คงต้องใช้เวลา

              "เหมือนกับการย้ายบ้านขึ้นไปอยู่คอนโด  โดยเราก็จะออกโฉนดให้ใหม่  โดยไม่ใช่ที่ดินเดิมของตัวเอง  อย่างกรณีของคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ ที่จะได้รับการจัดสรรก็จะเปลี่ยนไปด้วย  เป็นธรรมดาที่จะมีความโกลาหล  เหมือนตอน 3 จี  ก็มีปัญหาระบบล่มบ้าง  ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนผ่าน กว่าจะเข้าที่หรือได้ข้อยุติคงอีกหลายปี  ไม่นับรวมถึงการที่ กสทช. กำหนดให้มีการปรับเปลี่ยนระบบของคลื่นวิทยุ โทรทัศน์ใหม่เป็น ดิจิตอล ตามที่อาเซียนตกลงกันไว้ในอนาคต ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาในการทำเรื่องนี้ถึง 5 ปี  ซึ่งการเปลี่ยนระบบจากอนาล็อค  มาเป็นดิจิตอล  ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันในการทำธุรกิจมากขึ้น " นส.สุภิญญา กล่าว

               ในอนาคตจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า คลื่นวิทยุทหารที่มีอยู่อาจต้อง "หนีตาย" เพราะการจะใช้รูปแบบเดิมในการ ขายเวลาเช่าช่วง เพื่อหารายได้ให้หน่วยเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะ กสทช. จะทำหน้าที่ในการดูแลให้การดำเนินการไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอไว้ ซึ่งหากได้รับใบอนุญาตเพื่อใช้ในงานเพื่อสาธารณะก็จะต้องคงเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับ ความมั่นคง  สังคม เป็นหลัก แต่หากเป็นการประกอบธุรกิจต้องมีการประมูล

               ความหนักใจของกองทัพจึงไม่ได้อยู่ที่การถูกยึดคลื่นวิทยุ  หากแต่เป็นการปรับตัวในเรื่องเนื้อหาเพื่อรักษาคลื่นที่ กสทช.จะจัดสรรให้

               ส่วนสถานีโทรทัศน์ในปัจจุบันนอกจาก ฟรีทีวีแล้ว ยังมีทีวีเคเบิ้ลและทีวีดาวเทียม  ที่มาแจ้งการดำเนินการกับ กสทช. ทั้งหมด 200 ราย  เนื้อหาของการนำเสนอแต่ละสถานี มีความหลากหลาย และ ยากที่จะกำหนดกรอบเนื้อหาให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีวีที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เป็นเรื่องไม่ง่ายที่ กสทช.จะเข้าไปดูเรื่องความสมดุลให้เกิดขึ้น

              ในปัจจุบันการเพิ่มช่องทีวีจากปรากฎการณ์ดังกล่าว  ส่งผลต่อค่าออกอากาศตามเวลาของสถานีที่ลดลงในบางช่อง  ไม่เหมือนในอดีตก ที่โฆษณา และ การประชาสัมพันธ์ ไม่ได้ฝืดเคืองหรือหายากเหมือนเช่นปัจจุบัน  รายได้ที่กองทัพจะได้รับอย่างเดิมคงเปลี่ยนแปลงไปด้วย  แต่ทว่า กองทัพเองก็ไม่อาจฝืนกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้

              ความหลากหลาย และ เสรี ของสื่อจากตัวกฎหมาย และ กระแสของสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป  โดยเฉพาะสื่อกระแสรองที่เกิดขึ้นจากก่อกำเนิดของโซเชี่ยลมีเดีย  เว็บไซด์ ในโลกออนไลน์ต่างๆ  ส่งผลอย่างมากต่อการคุมสภาพทางด้านความมั่นคง และ เป็นภาวะที่กองทัพเองก็เริ่มตระหนักว่า  การจะกระทำการนอกกฎหมาย เพื่อเข้าจัดระเบียบสังคม โดยใช้การยึดอำนาจ อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

              การปรับวิธีคิดในเรื่องการรัฐประหารตามแรงต้านของสังคม ยังเกิดไปพร้อมกับความยากลำบากในกระบวนการยึดอำนาจ เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่า  แผนลำดับต้นๆ ที่ต้องวางกำลังเข้ายึดสื่อโทรทัศน์  เพื่อตัดช่องทางสำคัญในการต่อต้านจากฝ่ายที่ถูกรัฐประหารแล้วไม่สามารถเป็นไปได้ง่ายดายเหมือนเดิมแล้ว

              "ต่อให้นำกำลังเข้ายึดสื่อฟรีทีวี และไล่ไปปิดตามสถานีเคเบิ้ลทีวี หรือ ทีวีดาวเทียม หมดก็ปิดช่องทางสื่อสารของมวลชนที่ต้านไม่ได้  เพราะการเกิดขึ้นของสื่อกระแสรองในอินเตอร์เน็ต ทำให้การก่อตัวที่จะต้านคณะยึดอำนาจมีพลังมากขึ้น ตอนรัฐประหารปี  49 ตอนนั้นแค่เริ่มๆ การปลุกระดมต้านกองทัพยังสามารถก่อม็อบเล็กๆ ม็อบย่อยๆ ออกมาได้เหมือนกัน นี่ยังไม่นับการที่ กสทช.จะซอยช่องความถี่ จากการปรับระบบเทคโนโลยีด้านสื่อเป็น ดิจิตอล ในอนาคต  ถึงตอนนั้น ยิ่งไม่มีทางที่จะคุมได้"  นายทหารนายหนึ่ง ซึ่งคุมสื่อในช่วงรัฐประหารปี 2549 เล่าให้ฟัง

              แต่ในมุมมองของ นส.สุภิญญา มองว่า แม้จะเป็นเรื่องยากแต่ก็ใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น หากกองทัพ หรือแม้กระทั่งกลุ่มการเมืองในสีต่างขั้ว จะลุกขึ้นมาเป็นมวลชนปฏิวัติเสียเอง  ก็ต้องยึดสื่อเหมือนกัน  และ กสทช.เองที่จะเป็นเป้าใหญ่ ที่เขาต้องเข้ามาควบคุม    สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ต่อไปการตัดช่องสัญญาณสื่อสารทางโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต จะเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า เพราะคนส่วนใหญ่กระจายข่าวสารผ่าน ข้อความมือถือ  เฟซบุ้ค  หรือ ทวิตเตอร์  ซึ่งหากไม่มีคลื่นโทรศัพท์ หรือ สัญญาณอินเตอร์เน็ต การสื่อสารก็จะถูกตัดขาด

               "ดิฉันไม่ได้มองเจาะจง แต่มองว่าในแรงปะทะทางการเมืองที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น  กลุ่มมวลชนต่างฝ่าย ต่างก็มีสื่อของตัวเอง การเคลื่อนตัวเพื่อกระทำการปฏิวัติโดยการยึดสื่อฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หรือแม้กระทั่งการเข้าควบคุมกสทช. ก็มีความเป็นไปได้สูง  เช่นเดียวกับกองทัพ ถ้าเขาจะทำ ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้  เพราะกองทัพก็เป็นองค์กรที่มีเครื่องมือ กำลังพล อาวุธ ยุทโธปกรณ์ สามารถที่จะใช้กำลังเข้าไปยึดสถานี หรือ บริษัท แคท เทเลคอม หรือ ทีโอที เพื่อตัดช่องสัญญาณ  แล้วค่อยส่งกำลังเข้าไปปิดสถานีโทรทัศน์ ทั้งเคเบิ้ลทีวี หรือ ทีวีดาวเทียมในภายหลังก็ได้  " นส. สุภิญญา กล่าวให้ความเห็น

               ในสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านที่กองทัพต้องปรับตัวเพื่อรองรับธุรกิจด้านสื่อ และ ดำรงไว้ซึ่งมรดกตอกทอดของบรรพบุรุษให้ได้  เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจสูงสุดเองคงต้องตระหนัก และ ค้นหาวิธีการบริหารจัดการที่เกิดผลประโยชน์มากที่สุดโดยไม่ขัดต่อกระแสที่เปลี่ยนแปลงและกฎหมายที่เปลี่ยนไป 

              แต่สภาวะของกองทัพที่ยังต้องทำภารกิจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความมั่นคงให้เกิดแก่คนในชาติ  รักษาสถาบันสูงสุดของประเทศไว้   ไม่มีหลักประกันว่า การปฎิวัติรัฐประหาร จะถูกกลืนหายไปจากสังคมไทย เพียงแต่ว่ากองทัพเองก็ต้องรู้ตัวว่าไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และ คนที่จะยึดสื่อได้ในอนาคตไม่ใช่มีแค่ทหาร เพราะเมื่อสื่อคือเครื่องมือทางการเมืองของขั้วสี   มวลชนของฝ่ายการเมืองย่อมต้องเข้าไปกำกับดูแลในเหตุการณ์ไม่ปกติได้เช่นกัน 

              นี่ยังแค่ตอนปลายของกองทัพยุค "อนาล็อค"  ยังไม่ได้ก้าวย่างสู่เทคโนโลยี ดิจิตอล ที่มีความสลับซับซ้อน และ มากล้นด้วยอิทธิพล และ ผลประโยชน์ใหม่ ที่มากเกินคณานับ   น่าจะโจทย์ที่ผู้นำเหล่าทัพต้องคิดหนักอีกเรื่องหนึ่ง

    http://www.thaireform.in.th/drilling-band-reformed/item/7014-2012-01-25-09-15-13.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น