วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จาก 'โศกนาฏกรรมเคเดอร์' ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพ-ความปลอดภัยในการทำงาน

จาก 'โศกนาฏกรรมเคเดอร์' ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพ-ความปลอดภัยในการทำงาน

Thu, 2013-05-09 19:37

บทความเพื่อร่วมรำลึก 20 ปี โศกนาฏกรรมโรงงานเคเดอร์
โดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา

 


ภาพประกอบจาก m4r00n3d (CC BY-NC-ND 2.0)

 

 

10 พฤษภาคม 2536
คือรอยด่างของประวัติศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย


จันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2536 เวลาประมาณ 16.00 น. ที่โรงงานผลิตตุ๊กตาและของเด็กเล่นของ บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ไทยจิว ฟู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อันเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายการผลิตทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน และไทย มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายหลายแห่งทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ทำให้คนงานของ บริษัท เคเดอร์ฯ เสียชีวิต 188 ราย แยกเป็นคนงานชาย 14 ราย และคนงานหญิง 174 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 469 คน นับเป็นอุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมโลก โรงงานแห่งนี้เคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้ว 3 ครั้งก่อนหน้านี้


สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536
จากการสืบสวนสอบสวนของกรมตำรวจพบต้นเพลิงอยู่บริเวณห้องชั้นล่างของอาคารที่ 1  พบร่องรอยที่พื้นปูนมีรอยไหม้เป็นสีน้ำตาล และมีพยานยืนยันว่ามีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ของพนักงานคนหนึ่งในที่เกิดเหตุ ซึ่งต่อมาได้ถูกดำเนินคดีไป


สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก

  1. โครงสร้างเหล็ก เช่น เสาและคานเหล็กรูปพรรณ มิได้มีการออกแบบให้มีวัสดุหุ้มเพื่อป้องกันไฟไว้เลย ทำให้โครงสร้างพังทลายอย่างรวดเร็ว บันได ขนาดกว้าง 1.60 เมตร จำนวน 2 แห่ง ออกแบบไว้สำหรับใช้งานตามปกติเท่านั้น จึงมีขนาดเล็กเกินไปที่จะให้คนงานจากชั้นละประมาณ 500 คนหลบหนีจากอาคารได้ นอกจากนี้ ตำแหน่งของบันไดทั้งสองอยู่ฟากเดียวกันของอาคาร ทำให้คนงานถูกบล็อคด้วยไฟและควันไว้ทั้งหมด  ลักษณะของบันไดที่เป็นห้องโถงมีประตูกระจกกั้นแยกออกจากห้องทำงาน ทำให้ห้องโถงบันไดซึ่งไม่มีระบบอัดอากาศ กลายเป็นปล่องดูดควันและไฟให้ขึ้นชั้นบนอย่างรวดเร็ว
  2.  ประตูทางเข้าออกจากอาคาร มีขนาดกว้าง 1.6 เมตรจำนวน 2 แห่ง ไม่เพียงพอที่จะให้คนงานประมาณ 2,000 คน หลบหนีออกจากอาคารได้ทันท่วงที ไม่มีระบบเตือนภัย ประกอบกับเสียงเย็บจักรทำให้คนงานไม่ทราบเหตุการณ์ จนกว่าจะเห็นควันไฟแล้วเท่านั้น แม้ว่าโรงงานจะติดตั้งท่อฉีดน้ำดับเพลิงไว้ชั้นละ 2 หัว แต่ไม่มีการซักซ้อมหรือเตรียมพร้อม การต่อต้านไฟไหม้จึงไร้ผล ไม่มีแผนหลบหนีภัยและไม่มีการซักซ้อมการหนีไฟ ลักษณะของลิฟท์ส่งของที่มีประตูเป็นชนิดประตูเหล็กยึดทำให้ช่องลิฟท์กลายเป็นปล่องควันไฟ ดึงดูดทั้งควัน และไฟให้ลุกลามข้ามจากชั้นล่างขึ้นชั้นบนเข้าสู่ห้องทำงานทุกๆ ชั้นโดยตรง
  3. ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารมีการกองเก็บวัสดุไว้ข้างๆ ทางเดิน ทำให้ไฟลุกลามจากอาคาร 1 ไปอาคาร 2 และอาคาร 3 อย่างรวดเร็ว ชั้นล่างของโรงงานถูกใช้เป็นโกดังเก็บวัสดุทำให้โรงงานเต็มไปด้วยเชื้อไฟที่ลุกลามต่อเนื่องได้ตลอด แม้กระทั่งลุกลามข้ามระหว่างอาคารได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะของอาคารโรงงานที่ไม่มีกันสาด ทำให้คนงานไม่สามารถปีนหนีออกไปจากห้องเพื่อหลบควันไฟชั่วคราว และรอรับความช่วยเหลือได้ จึงต้องปืนหน้าต่างกระโดดลงไปทันที


คนงานคือเหยื่อของการพัฒนาที่ไม่สมดุลและระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ
กรณีเคเดอร์ไม่ได้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่คนงานไทยต้องตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา แต่หลายทศวรรษของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มิได้คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและละเลยการพัฒนามาตรการด้านสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุล ผลก็คือชีวิตของผู้ใช้แรงงานต้องสังเวยให้กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า


ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

  1. กรณีของเคเดอร์ทุกฝ่ายคือผู้สูญเสีย ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้เช่นนี้เกิดขึ้นอีก แต่ก็ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ยังคงตอกย้ำซ้ำรอยว่าประเทศไทยยังไร้ซึ่งระบบและมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดีพอ เพราะอีกเพียงไม่กี่เดือนถัดมา 157 ชีวิตต้องสังเวยให้กับเหตุการณ์ตึกถล่มที่โรงแรมรอยัลพลาซ่าจังหวัดนครราชสีมา
  2. จากนั้น 11 กรกฎาคม 2540 ก็ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นอีกที่โรงแรมรอยัล จอมเทียน พัทยาทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องตายไปอีก 91 คน 
  3. กรณีเครื่องบินตกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีปลายปี 2542  ซึ่งทำให้เราต้องสูญเสียบุคลากรดีเด่นของประเทศไปหลายท่าน รวมทั้งอาจารย์ธีรนารถ กาญจนอักษร นักวิชาการผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการเรียกร้องและผลักดันให้มีการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
  4. กรณีโรงงานผลิตลำไยกระป๋องที่เชียงใหม่ระเบิดทำให้มีคนตายบาดเจ็บ...
  5. โรงงานเดลต้าถล่ม.....

การล้มป่วยของคนงานด้วยโรคอันเกิดจากการทำงานที่มีจำนวนมากขึ้นและโศกนาฏกรรมหลายครั้งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ฝ่ายต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่าระบบและมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานมีความบกพร่องจำเป็นต้องปรับปรุงขนานใหญ่


อะไรคือความบกพร่องของระบบที่เป็นอยู่?

  1. ระบบที่เป็นอยู่มุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกล่าวคือไปเน้นที่การจ่ายเงินทดแทนเมื่อเกิดปัญหา ไม่ได้เน้นและทุ่มเททรัพยากรไปที่การหามาตรการป้องกันปัญหา
  2. มีลักษณะที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของข้าราชการประจำซึ่งเข้าไม่ถึงปัญหาและมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา
  3. ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์เพียงพอ
  4. มีความซ้ำซ้อน ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดการประสานงานและเกี่ยงกันรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐที่อยู่ต่างกรมต่างกระทรวง
  5. ระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้เอื้อให้ผู้ใช้แรงงานและนายจ้างผู้เป็นเจ้าของปัญหาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
  6. รัฐทำตัวเป็นเจ้าของกองทุน บริหารกองทุนเงินทดแทนอย่างไม่มีประสิทธิผล เข้าใจว่าการทำให้กองทุนใหญ่คือความสำเร็จ แต่ขณะที่คนงานที่ได้รับความเดือดร้อนมักจะไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที หลายกรณีต้องฟ้องร้องใช้เวลานาน
  7. การวินิจฉัยตีความโรคอันเกิดจากการทำงานไม่มีความชัดเจนและไม่ได้มาตรฐานสากล


กำเนิดของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน
คนงานผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงานซึ่งมีจำนวนมากขึ้นได้รวมตัวกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2535 และในที่สุดก็ได้จัดตั้งเป็นสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยในปี 2537 โดยความร่วมมือกับสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พวกเขาได้ต่อสู้และพิสูจน์เพื่อให้มีการยอมรับว่าคนงานป่วยด้วยโรคจากการทำงานจริง เพื่อคนงานเหล่านั้นได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในการรักษาพยาบาลและรับเงินทดแทนและยังเห็นว่าการวินิจฉัยโรคอันเนื่องจากการทำงานเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นการเฉพาะ พวกเขาได้เรียกร้องให้มีการผลิตแพทย์สาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอต่อความจำเป็น และยังเสนอให้มีการจัดตั้งกรมอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้มีการขยายหน่วยงานด้านนี้ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วทุกเขตที่มีโรงงานอุตสาหกรรม


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยฯ ต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของคนงาน
ในส่วนของขบวนการแรงงาน เอ็นจีโอ และนักวิชาการที่ได้ลงไปช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ในปี 2536 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนงานที่กลายเป็นแกนหลักในการเรียกร้องและผลักดันให้มีการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้รัฐประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ


รัฐก็ขยับจะแก้ปัญหาแต่เป็นไปอย่างจำกัด
ในส่วนของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงานซึ่งรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงก็ได้มองเห็นและยอมรับในข้อบกพร่องต่างๆ ที่มีอยู่ และได้มีการดำเนินการหลายประการเพื่อปรับปรุง อาทิ มีการเร่งรัดเจ้าหน้าที่เพิ่มปริมาณการตรวจความปลอดภัยมากขึ้น มีโครงการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพิ่มการจัดฝึกอบรม และออกมาตรการต่างๆ อีกมากมาย

ที่สำคัญก็คือการออกประกาศกระทรวงเรื่องคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในเดือนตุลาคม 2539 ซึ่งได้เปิดโอกาสให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันดูแลและจัดการปัญหาร่วมกัน รวมทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอันเป็นคณะกรรมการระดับชาติขึ้น


ความคิดใหม่ยกเครื่องทั้งระบบโดยตั้งสถาบันอิสระ
หลังเหตุการณ์เคเดอร์ ผู้ใช้แรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปของปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน หลายฝ่ายเห็นพร้องต้องกันว่าจะต้องปฏิรูปใหญ่ระบบการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานในประเทศไทยอย่างจริงจัง มีความพยายามที่จะคิดค้นหารูปแบบขององค์กรที่จะมารับผิดชอบดูแลงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่อย่างจริงจัง มีการศึกษารูปแบบที่ประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทมีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดการศึกษาดูงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของประเทศเยอรมนีซึ่งถือว่ามีพัฒนาการยาวนานที่สุด มีประสิทธิภาพและประหยัดที่สุด สถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งเยอรมนีหรือที่เรียกว่า BG ได้เป็นตัวแบบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดการปฏิรูปความปลอดภัยของขบวนการแรงงาน นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย

จากการศึกษาของฝ่ายต่างๆ ทำให้เกิดข้อสรุปที่ตรงกันประการหนึ่งว่าควรจะมีการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคลขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้

ในขณะที่ฝ่ายผู้ใช้แรงงานที่นำโดยคณะกรรมการรณรงค์ฯ และสภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ ซึ่งเคยมีข้อเสนอที่แตกต่างกันได้หันมาร่วมมือกันเสนอต่อรัฐบาลเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่มีนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันดูแลเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบครบวงจร โดยข้อเสนอนี้ได้ถูกใส่ไว้เป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานต่อรัฐบาลในวันกรรมกรสากลทุกปีนับแต่ปี 2538 เป็นต้นมา จนถึงวันกรรมกรสากลปี 2556 ข้อเรียกร้องของทั้ง 13 สภาองค์การลูกจ้าง และข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจต่างก็มีข้อเสนอนี้ต่อรัฐบาล


เข้าร่วมกับสมัชชาคนจนเสนอจัดตั้งองค์การอิสระ
สภาเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับมอบหมายจากขบวนการแรงงานให้เป็นหัวขบวนในการนำต่อสู้เรียกร้องเพื่อการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในประเทศไทยได้เข้าร่วมกับสมัชชาคนจนเรียกร้องต่อรัฐบาลในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปี 2539 ได้มีการนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาล จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 22 เมษายน และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับไปดำเนินการศึกษา นายเอกพร รักความสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานได้มีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างทำการศึกษาร่วมกัน โดยได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน

อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเสนอนี้จะถูกยกร่างโดยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีนายจ้าง ลูกจ้าง ตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ แต่เมื่อมีข้อสรุปออกมาจากคณะกรรมการดังกล่าว กลับปรากฏว่าบางฝ่ายไม่ยอมรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่ยอมรับการบริหารงานแบบใหม่ที่จะเป็นแบบมีส่วนร่วมของ 5 ฝ่าย รัฐไม่ไว้วางใจคนอื่น และเกรงว่าตนจะสูญเสียอำนาจ และที่สำคัญกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีเงินมหาศาลจะหลุดไปจากการกำกับดูแลของตน กระทรวงแรงงานโดยฝ่ายข้าราชการประจำมีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน กระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎหมายความปลอดภัยของตนขึ้นมาซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นการปฏิรูปแบบจำกัด สงวนอำนาจไว้กับราชการต่อไป ให้มีการตั้งสถาบันความปลอดภัยที่มีบทบาทด้านการป้องกันและวิชาการเท่านั้น ฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวตั้งตัวตีในช่วงแรก เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจก็ไม่กล้าที่จะยืนยันในร่างกฎหมายที่มาจากคณะกรรมการร่วม จนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองร่างกฎหมายจากคณะกรรมการร่วมก็เลยถูกโยนลงถังขยะไป

สถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน
ลักษณะสำคัญขององค์กรที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามร่างกฎหมายคือ

  1. เป็นองค์กรอิสระแต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงแรงงาน
  2. มีภารกิจในการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานแบบครบวงจรคือ ป้องกัน รักษาพยาบาล ฟื้นฟู และการทดแทนโดยโอนกองทุนเงินทดแทนมาสู่หน่วยงานใหม่นี้
  3. มีการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 5 ฝ่าย ผู้แทนรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ป่วยจากการทำงานและผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ


การเผชิญหน้ารัฐกับแรงงาน
แม้จะได้ข้อสรุปร่วมกันและมีร่างกฎหมายที่ชัดเจนออกมาแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายรัฐโดยทางกระทรวงแรงงานกลับพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะนำเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยอ้างว่าในชั้นต้นองค์กรอิสระที่จะตั้งขึ้นใหม่ควรทำหน้าที่เฉพาะทางด้านวิชาการและการป้องกันเท่านั้น ไม่ควรโอนกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีเงินจำนวนมหาศาลมาบริหารในทันที อำนาจการตรวจและบังคับใช้กฎหมายควรเป็นของกระทรวง และไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดเรื่องเบญจภาคี

ทำให้ร่างกฎหมายที่ออกมาจากคณะกรรมการยกร่างไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามที่ตกลงกัน ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายผู้ใช้แรงงานกับกระทรวงแรงงาน


รวบรวมลายมือชื่อ50,000 ชื่อเสนอกฎหมายจัดตั้งสถาบันเอง
ฝ่ายผู้ใช้แรงงานซึ่งต้องการผลักดันให้ร่างกฎหมายที่ร่างโดยคณะกรรมการยกร่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ จึงได้หันไปใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 โดยการรวบรวมลายมือชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 50,000 คน เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่สภา แต่แม้จะสามารถรวบรวมลายมือชื่อได้ครบถ้วน 50,000 ชื่อ แต่ก็ไม่สามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาได้เนื่องจากเงื่อนไขของการรวบรวมลายมือชื่อเพื่อการเสนอกฎหมายที่ได้ถูกตราออกมาในภายหลังมีข้อจำกัดมากเสียจนทำให้การรวบรวมลายมือชื่อดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากทางรัฐสภา


นักการเมืองไม่รักษาคำพูด ไม่สนใจความเดือดร้อนของคนงาน
การเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานบ่อยครั้งทำให้ไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องชัดเจน หลายครั้งหลายหนต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี รัฐบาลปัจจุบันที่ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยให้คำมั่นสัญญากับผู้ใช้แรงงานก่อนหน้าการเลือกตั้งว่าเมื่อเข้าเป็นรัฐบาลจะดำเนินการให้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน แต่ผ่านมาสองปีกว่าก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะแต่ท้ายสุดก็เป็นเพียงการซื้อเวลา ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข  ปล่อยให้คนงานต้องมีชีวิตที่เสี่ยงต่อความตายต่อไป


คำถามจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
จะต้องให้ตายอีกกี่ศพรัฐถึงจะยอมรับข้อเสนอของคนงาน?

นับแต่ปี 2544 ขบวนการแรงงานไทยได้รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกาศจะต่อสู้เรียกร้องเพื่อมวลผู้ใช้แรงงานไทย และได้ถือเอาเรื่องการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ เป็นประเด็นปัญหาหลักของการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง

ตราบเท่าที่ยังไม่มีการปฏิรูประบบการดูแลด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างแท้จริง ก็ยังไม่มีอะไรเป็นเครื่องค้ำประกันว่าโศกนาฏกรรมอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับโรงงานเคเดอร์  จะไม่เกิดขึ้นอีก คงไม่มีใครอยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คงไม่มีใครอยากเห็นคนที่เรารักต้องประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า คงไม่มีใครอยากเห็นสินค้าของเราถูกกีดกันด้วยข้ออ้างว่าเรามีระบบความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานสากล และคงไม่มีใครอยากเห็นประเทศไทยถูกประจานด้วยข่าวที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลกกับโศกนาฏกรรมครั้งใหม่

หรือจะต้องให้พี่น้องคนงานของเราต้องตายอีกสักกี่ศพรัฐถึงจะยอมรับฟังและหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
 

คนงานเคเดอร์ต้องไม่ตายเปล่า
มารวมพลังต่อสู้อุทิศแด่ 188 ดวงวิญญาณ

แม้จะมีการร่างกฎหมายซึ่งร่วมกันพิจารณาจากหลายฝ่ายออกมา แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกหักหลังครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ เนื่องจากความไม่จริงใจของฝ่ายรัฐที่กลัวการเปลี่ยนแปลง พวกเขายังคงหวงอำนาจและกองทุนเงินทดแทน ทั้งๆ ที่รู้ว่าระบบที่เป็นอยู่ล้มเหลว ไม่สามารถที่จะคุ้มครองชีวิตผู้คนและอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่เพื่อนคนงานของเราเจ็บป่วยล้มตายกันไปต่อหน้าพวกเขาคนแล้วคนเล่า

ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ที่เพื่อนคนงาน 188 คนของเราต้องเสียชีวิต อีกหลายร้อยคนบาดเจ็บพิการ เราจะมารวมพลังกันอีกครั้ง เพื่อต่อสู้เพื่อให้สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการปรากฏเป็นจริง  เพื่ออุทิศสิ่งนี้ให้กับดวงวิญญาณของเพื่อนเราที่จากไปเมื่อ 20 ปีก่อน

 

 

หมายเหตุ:
ชื่อบทความเดิม: จากโศกนาฏกรรมที่โรงงานเคเดอร์ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน

กสทช.หาโมเดลกำกับสื่อ-นักวิชาการสื่อแนะต้องยอมให้มีเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ

กสทช.หาโมเดลกำกับสื่อ-นักวิชาการสื่อแนะต้องยอมให้มีเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ

Fri, 2013-05-10 18:31

ปิยวรรณ์ อ้วนตรงต้น รายงาน

 

(9 พ.ค.56) สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "กลไก Self-Censorship/Self-Regulation" จัดโดย กสทช.ที่ โรงแรมเดอะสุโกศล ว่า  กฎหมายออกแบบให้ กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ ด้านการกำกับดูแลในกฎหมายแบ่งเป็นสองส่วนสำคัญ คือ การกำกับดูแลในส่วนที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 37 มีเนื้อหาบอกกว้างๆ ว่า ถ้าเห็นอะไรที่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่างๆ ให้ กสทช. สามารถยุติการออกอากาศด้วยวาจาได้เลย แต่จนบัดนี้ กสทช. ยังไม่เคยใช้อำนาจดังกล่าว ใช้เพียงการปรับทางปกครองไป คือรายการ ไทยแลนด์ ก็อต ทาเล้นท์ โดยที่ยังไม่ได้มีเกณฑ์กติกาอะไร แต่ใช้ดุลพินิจของกรรมการ 5 คน ในการตัดสินใจ  นอกจากนี้ กสทช.มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลขององค์กรวิชาชีพ  โดยขณะนี้ กสทช.กำลังหาต้นแบบหรือโมเดลที่เหมาะสมกับการกำกับดูแลทั้งแบบผ่านองค์กรวิชาชีพ หรือรวมกันกำกับดูแลโดยมีกรรมการจรรยาบรรณที่เป็นข้อถกเถียงว่าจะมาจากไหน โดยจะต้องผ่านออกมาเป็นประกาศฯเพื่อบังคับใช้

สุภิญญา ระบุว่า สิ่งที่กำลังทำตอนนี้อยู่คือ ฝ่ายกำกับด้านผังรายการกำลังร่างเกณฑ์ตามมาตรา 37 ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพสื่อแน่นอน ไม่มากก็น้อย แต่ขณะนี้ที่ร่างเกณฑ์ตามมาตรา 37 ยังไม่ออกมา ถ้ามีเรื่องร้องเรียนเนื้อหาที่ออกอากาศขึ้นมายังคงเป็นกรรมการ 5 คน ยกมือตัดสินว่าผิดไม่ผิดและค่อนข้างจะมีปัญหามาก

สุภิญญา กล่าวต่อว่า การเซ็นเซอร์ตัวเองอาจเป็นกระบวนการหนึ่งในการกำกับดูแลในภาพรวมทั้งหมด แต่ว่าโดยตัวของมันเอง การกำกับดูแลตัวเอง (self-regulation) ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) เพราะว่า ทุกคนพยายามพูดให้ชัดอยู่แล้วว่ากระบวนการกำกับดูแลกันเองเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเลือกเรื่อง จะทำไม่ทำ ถ้ามีกระบวนการกลั่นกรองอะไรมา แต่ว่าการเซ็นเซอร์คือการตัดสินใจเพราะความกลัว ซึ่งมันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค ดังนั้น เวทีเสวนาในครั้งนี้ต้องการบอกว่ามันไม่ใช่ส่วนเดียวกัน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือ กสทช. เองไม่ควรจะทำเรื่องนี้ให้สับสน เพราะหลายครั้งสื่อก็กลัวเกินไปและอ้างว่าเป็นการกำกับกันเอง

พิรงรอง รามสูตร ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ค่านิยมพื้นฐานของการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นความกลัวที่ผูกพันกับความอยู่รอดจากบางเรื่องผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อความอยู่รอด โดยเลือกที่จะไม่ทำบางเรื่องตั้งแต่ต้น รู้สึกว่ามีความอ่อนไหวอาจจะไม่ผ่านเซ็นเซอร์

พิรงรอง กล่าวอีกว่า ส่วนการกำกับดูแลตนเอง ท้ายที่สุดจะใช้สำนึกของผู้ประกอบการสาธารณะเป็นพื้นฐานว่าถ้าทำเรื่องนี้ออกไปมันจะเกิดผลอะไร ซึ่งบางเรื่องเป็นอะไรที่ดูลำบาก ตัวอย่างเช่น กรณี BBC ทำสารคดี พูดถึงกรณีของการวางระเบิดในลอนดอนปี 2005 ทำอย่างดีมาก มีแหล่งข้อมูลต่างๆ ในกรณีนั้นผู้ที่วางระเบิดเป็นเด็กมุสลิม ท้ายที่สุด BBC ไม่เอาออกอากาศ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้านำเสนอความจริง แต่อีกด้านหนึ่งมองว่าเป็นการกำกับดูแลตัวเอง มองว่าถ้าเกิดออกอากาศไปแล้วอาจเกิดอคติได้

"self-censorship มันค่อนข้างจะเป็นลูกศรไปทางเดียว มีพวกปัจจัยที่เข้ามา มาจากเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย นักวิชาชีพสื่อเป็นตัวกลางไปสู่ผู้รับคือ ผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง ในฐานะที่เป็นพลเมืองและผู้บริโภค ส่วน self- regulation นักวิชาชีพสื่อเป็นตัวกลาง แต่จะมีอีกกรอบหนึ่งคือ องค์กรวิชาชีพที่ดูแลกันเองมารวมตัวกัน และมีการร่วมมือสอดส่องดูแลจากผู้บริโภคและพลเมือง เพราะเรามองว่าคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนองค์กรวิชาชีพ ถ้าไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจากผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง มันก็ไม่เกิดกระบวนการร้องเรียนนี้ เพราะเขาเห็นว่าไม่มีอะไรเดือดร้อน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องส่งเรื่องเข้ามา ในทำนองเดียวกัน องค์กรอิสระต้องดูด้วยว่า self-regulation ดีหรือไม่ดี" พิรงรอง กล่าว

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า จุดยืนของตนเองไม่เชื่อเรื่องเซ็นเซอร์ แต่ว่าเชื่อในเรื่องรสนิยม เชื่อเรื่องการพยายามอยากจะจัดอะไรที่ดี คนทุกคนมีความตั้งใจดี ไม่มีใครอยากทำสื่อที่เลว เพราะฉะนั้นเราจึงอยากเห็นคนที่สามารถทำเนื้อหาสาระในลักษณะที่เป็นอิสระ ไม่ติดอยู่ภายใต้กรอบที่เป็นอิทธิพลมืด ดังนั้น เรื่องของการสื่อสารจึงควรจะมีความหลากหลาย

จีรนุช กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกลัวว่าสิ่งที่นำเสนอออกไปจะทำให้เกิดความเสียหายนั้น ตั้งคำถามว่าการสื่อสารใดๆ จะทำให้เกิดความเสียหายจริงหรือไม่ และถึงแม้อาจเกิดความเสียหายจริง ก็ไม่ควรเหมารวมว่าทุกอย่างเป็นความเดือดร้อนรุนแรง เป็นภัยต่อศีลธรรมอันดีต่อชาติทั้งหมด จนไม่สามารถพูดอะไรได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะต้องตกอยู่ภายใต้การสื่อสารในบรรยากาศของความกลัว ซึ่งก็น่าเป็นห่วงถ้าต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศที่โลกแคบลง

"การกำกับเนื้อหาข่าวกับตัวรายการเนื้อหาสาระอาจจะต้องแยกจากกัน โดยเฉพาะในเรื่องของข่าว การตรวจสอบก่อนเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำเลย เป็นเรื่องที่ควรให้อิสระในการทำงาน" จีรนุช กล่าว

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นักแสดง ผู้เขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า เส้นแบ่งของการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์และทีวีควรจะกำหนดให้แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความยุ่งยากที่ทุกคนอยากแก้ปัญหา ในกระบวนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ไม่มีการเปิดให้แสดงความเห็น เพราะภาพยนตร์เป็นสมบัติของรัฐไม่เหมือนทีวีที่ยังสามารถมาเจรจา ต่อรองกันได้ ทั้งๆ ที่หนังฉายในโรงและต้องเสียเงินไปดู ช่องทางในการดูไม่ใช่เรื่องง่าย

ธัญญ์วาริน กล่าวอีกว่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้วงการภาพยนตร์เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าการทำหนังเรื่องหนึ่งต้องลงทุนสูง ทุกคนต่างเกรงกลัวว่าทำไปแล้ว หนังจะถูกห้ามฉาย ทำให้หนังในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่แบบ ไม่กี่แนว เพราะคนทำหนังพยายามจะเซ็นเซอร์ตัวเองตั้งแต่แรก ไม่คิดจะสร้างเรื่องที่จะโดนแบนแน่นอน พอมี พ.ร.บ.เรตติ้งขึ้นมา เราคิดว่าสิ่งที่เราทำน่าจะอยู่ใน ฉ 20+ เราก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อสังคม แต่สุดท้ายยังโดนแบน ซึ่งตนเองไม่มีสิทธิ์พูดด้วยซ้ำ คนดูเองก็ไม่มีสิทธิได้ดู เพราะฉะนั้น เชื่อว่าการกำกับดูแลกันตามกฎหมายควรมี แต่ความเข้มแข็งทางความคิดของทุกคนต้องมีไปพร้อมกับการเรียนรู้และเท่าทัน เพื่อทำให้สังคมเติบโต

ศาสวัต บุญศรี อาจารย์คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องการกำกับดูแลกันเอง เนื่องจากโตมากับอินเทอร์เน็ตที่มีอิสระในการสื่อสาร โดยยกตัวอย่างรายการ "ครัวกากๆ" ของตัวเองที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเต็มไปด้วยคำหยาบคาย ที่คงไม่สามารถออกอากาศทางช่องปกติได้ ทั้งนี้ เชื่อในเรื่องการเปิดพื้นที่มากกว่า คือควรมีช่องทางให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น  

นอกจากนี้ ศาสวัต กล่าวถึงการเซ็นเซอร์รายการทีวีกับภาพยนตร์ด้วยว่า กรณีทีวีนั้นยังโชคดีที่แม้จะใช้การจัดเรตแต่ก็ยังสามารถดูได้ ขณะที่ภาพยนตร์นั้น เมื่อจัดเรตแล้ว คนบางกลุ่มก็หมดโอกาสดู

ศาสวัต กล่าวอีกว่า การเซ็นเซอร์ตัวเองมาจากสองทาง คือ เรื่องการเป็นเจ้าของคลื่น ทำให้ไม่สามารถวิจารณ์อะไรที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของคลื่นได้ ปัญหาด้านที่สองเรื่องของสปอนเซอร์ ต้องยอมว่าองค์กรสื่อทุกองค์กรคือการทำธุรกิจ ไม่มีใครทำองค์กรสื่อโดยไม่หวังกำไร จะต้องมีโฆษณาเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น ถ้าอยากให้ประเทศไทยอยู่ต่อไปได้ ทุกคนต้องยอมให้เกิดการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ ต้องกล้านำเสนอสิ่งที่คนทั่วไปไม่เชื่อ

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ดำเนินรายการพื้นที่ชีวิต ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า อยู่ไทยพีบีเอสรู้สึกคล่องตัวมากกว่าช่องอื่น เพราะไม่มีโมเดลด้านธุรกิจ ไม่ต้องมีโมเดลโครงสร้างการเมืองมาเสริมเพื่อให้อยู่รอด ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ที่เจอมักเป็นมือที่มองไม่เห็นในลักษณะ "ผู้ใหญ่บอกว่า……" แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นคือใคร

วรรณสิงห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวพูดได้เลยว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองแทบไม่มี เพราะว่าตัดความกลัวออกไปหมดแล้ว หลังจากถูกด่าบ่อยจากหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นในอินเทอร์เน็ตหรือต่อหน้า และที่สุดก็ยังมีช่องคอยกำกับดูแล สมมติว่าสิ่งที่ทางช่องติงมาเป็นสิ่งที่ตนเองเห็นด้วย เช่น แต่งตัวไม่สุภาพเกินไปออกรายการ ก็จะทำให้กระบวนการเซ็นเซอร์ตัวเองกับการกำกับดูแลตัวเองไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าสิ่งที่ทางช่องเซ็นเซอร์ไปเป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แต่ตนเองยอม นั่นก็กลายเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองไป เพราะว่าเราทำสิ่งที่เราไม่เชื่อแต่ว่าเรายอมเพราะความกลัว

โชว์มาตรฐานจรรยาบรรณ ช่อง 3 5 7 9 11 ไทยพีบีเอส ร่วมถก กสทช.กำกับกันเอง

โชว์มาตรฐานจรรยาบรรณ ช่อง 3 5 7 9 11 ไทยพีบีเอส ร่วมถก กสทช.กำกับกันเอง

Thu, 2013-05-09 14:14

 

 

(9 พ.ค.56) ในการประชุมเสวนาเพื่อนำเสนอจรรยาบรรณในกิจการโทรทัศน์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องกลไก Self Censorship / Self Regulation  จัดโดย กสทช.ที่ โรงแรมเดอะสุโกศล


สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช. อยู่ระหว่างหาโมเดลสำหรับการกำกับดูแลสื่อ ที่ผ่านมา กสทช.ได้จัดเวทีไตรภาคี โดยเชิญผู้ประกอบการและผู้บริโภคมาพูดคุยกัน โดยที่ผ่านมายังมีคำถามว่า การกำกับดูแลกันเองเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองหรือไม่ ก็มีทั้งผู้ที่บอกว่าเป็นการกลั่นกรองด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ กฎหมาย และแรงกดดันทางสังคม อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กสทช.ไม่อยากบังคับ อยากให้เป็นกระบวนการปรึกษาหารือมากกว่า โดยสาเหตุที่เริ่มจากฟรีทีวีเพราะมองว่า ฟรีทีวีมีกรอบกำกับดูแลกันเองมาระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่เคเบิลดาวเทียมท้องถิ่นกำลังจะขอใบอนุญาตฯ จึงอยากจะเอาบทเรียนถ่ายทอดไปสู่เคเบิล วิทยุ

อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องยากในการหาเส้นแบ่งที่จะไม่เซ็นเซอร์มากเกินไป และไม่ปล่อยปละมากเกินไป เพราะสื่อทีวีนั้นเข้าถึงครัวเรือนมากกว่า 90% มีกลุ่มคนดูหลากหลาย ยากจะหารสนิยมคนดู ว่าเรื่องไหนเหมาะไม่เหมาะ

นิมะ ราซิดี  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า เมื่อยี่สิบปีก่อนมี กบว. ซึ่งมาจากอัยการ ผู้พิพากษา ทนาย แต่ละวันเวียนไปตรวจสอบรายการแต่ละช่อง ผู้ประกอบการแต่ละช่องก็สบายมาก เพราะยกให้ กบว.รับผิดชอบ  จากนั้นเมื่อมีการปรับให้แต่ละช่องรับผิดชอบตัวเอง ทางช่องก็ต้องเข้มขึ้น เพราะความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่ กบว.แล้ว

"ตอนมี กบว.มีความคิดต่างกัน มาจากทั้งตำรวจ กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้มีปัญหาทะเลาะกันบ่อยๆ ขณะที่เมื่อต้องดูแลเอง แต่ละช่องแม้มีกรรมการเยอะ ช่อง 3 มีเกือบ 10 คน แต่ก็ไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะเป็นพวกเดียวกัน" นิมะ กล่าวพร้อมยกกรณีไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์ว่า  ตอนนั้นใช้เกณฑ์ว่าถ้าไม่เห็นหัวนมก็ออกอากาศได้ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลบอกว่าไม่เห็น จึงปล่อยผ่าน แต่เมื่อกระแสสังคมไม่ยอมรับก็ปล่อยผ่านไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีเซ้นส์ด้วย ไม่ใช่ดูแค่เกณฑ์

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เรื่องร้องเรียนเยอะมาก เช่น มีบททนายความในละครเป็นคนไม่ดี กลุ่มทนายก็ไม่ยอม แต่ช่องเห็นว่าไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใคร และทนายก็มีทั้งที่ดีและไม่ดี แต่ก็เกิดการฟ้องร้องกันในศาล  ส่วนเรื่องโฆษณาที่มีผู้ร้องเรียนว่าเยอะไปนั้น ชี้แจงว่า เอเจนซีทำมาแค่ชิ้นละ 15 วินาที เพราะฉะนั้นออกอากาศได้ 4 ชิ้นต่อ 1 นาที ทำให้คนดูรู้สึกว่าเยอะ

ทวินันท์ คงคราญ  เลขานุการ  สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 มองว่าการกำกับดูแลกันเองกับการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นเรื่องเดียวกัน คือการที่สื่อรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควร ทั้งนี้ ช่อง 5 มียุทธศาสตร์ว่า สื่อต้องดูแลตัวเองให้ครบวงจร ตั้งแต่กำกับดูแลร่วมกับผู้ผลิต การคัดสรรผู้ร่วมผลิตรายการ ดูศักยภาพการผลิต และตรวจรายการ จัดเจ้าหน้าที่คุมเวร 24 ชั่วโมง ฝึกอบรมบุคลากรด้านจริยธรรม มีการตรวจสอบ ประเมินอย่างต่อเนื่อง ส่วนยุทธศาสตร์ภายนอก มีการจ้างสถานศึกษาให้วิจัยประเมินช่อง เรื่องคุณภาพรายการ มีการสรุปเสียงสะท้อนจากสื่อ รับเรื่องจากสภาวิชาชีพ กสทช.

ทั้งนี้ ช่องความมั่นคง ไม่ใช่แค่เรื่องของการทหาร การเมือง ปกป้องประเทศชาติยามสงครามเท่านั้น แต่ความมั่นคงที่น่าเป็นห่วงคือ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมด้วย
 
ตัวแทนจากช่อง 5 กล่าวว่า ทางช่องมีหลักว่าจะไม่ทำลายศีลธรรม จริยธรรม กรณีรายการคนอวดผี จัดว่าเป็นสีเทา ต้องยอมรับว่าบทบาทสื่อเป็นทั้งผู้สะท้อนและชี้นำสังคม เป็นกระจกและตะแกรง คนไทยจำนวนมากก็เชื่อเรื่องผี อย่างไรก็ตาม ก็มีการจัดเรตติ้งให้อยู่ในกลุ่ม น 18 ให้มีผู้ใหญ่กลั่นกรอง และยังเชื่อมโยงกับคำสอนทางศาสนาชี้นำให้คนเข้าใจหลักธรรมผ่านกรณีศึกษาเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นการปรับรูปแบบตามการพูดคุยกับ กสทช.

ตัวแทนจากช่อง 5 พูดถึงกรณีเรื่องสัดส่วนรายการสาระ-บันเทิงที่ถูกวิจารณ์ว่า ไม่เป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดว่า จะต้องมีการพูดคุยกัน ถามว่าข่าวสาร จะมีฟอร์แมทอย่างไร ต้องเป็นการอ่านข่าวอย่างเดียวไหม ละคร อาจไม่ใช่บันเทิงก็ได้ เพราะ "อยู่กับก๋ง" ก็ถือเป็นละครเพื่อสังคม ดังนั้น ก่อนจะประเมินคุณภาพ ขอให้มาคุยกัน ไม่ใช่สุ่มข้อมูลมา

สุบัณฑิต สุวรรณนพ  ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ  สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า ฟรีทีวีถือเป็นช่องออกอากาศบนทางสว่าง คนดูได้ทั่วไป ตรวจสอบได้ชัดเจน แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคืออินเทอร์เน็ต เด็กสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าเวลาไหน โดยเฉพาะเมื่อมีสมาร์ทโฟนก็ยิ่งเข้าถึงได้ตลอดเวลา สิ่งที่สังคมควรห่วงใยมากกว่าคือสื่อที่มากับเทคโนโลยีเหล่านี้

สำหรับช่อง 7 นั้นเช่าคลื่นความถี่กองทัพบกดำเนินการ จึงต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคง สถาบัน ประเทศชาติ ศาสนา ศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณี  อย่างที่ช่อง 3 บอกว่าความสบายจากการมี กบว.นั้นหมดไปนานแล้ว ต้องดูแลตัวเองมาตลอด ที่กสทช. อยากให้ดูแลตัวเองนั้นก็เป็นสิ่งที่ช่องทำกันมาอยู่แล้ว โดยในการดูแลกันเอง แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ รายการข่าว/ ละคร /รายการทั่วไป -ผู้เช่ารายการ ภาพยนตร์

ตัวแทนช่อง 7 กล่าวถึงรายละเอียดการดูแลส่วนต่างๆ ว่า รายการข่าว ยึดจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ หลีกเลี่ยงความไม่เป็นกลาง ช่อง 7 มีจรรยาบรรณของตัวเอง ปกป้องแหล่งข่าวให้ความเป็นธรรมกับผู้ตกเป็นข่าว เน้นความสมดุลสิทธิเสรีภาพ-ความรับผิดชอบต่อสังคม  ส่วนละครโทรทัศน์ ช่อง 7 มีคณะกรรมการพิจารณาการผลิต กลั่นกรองตั้งแต่เลือกบทประพันธ์ การเลือกว่าผู้ผลิตรายใด และตรวจบทก่อนถ่ายทำ  ด้วยการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก ทำให้ไม่มีการร้องเรียนละครช่อง 7 เลย นอกจากนี้ต้องพูดเรื่องสังคมด้วย การสอนเยาวชน ควรเสนอขาว ดำ เทา เพื่อที่เด็กจะได้เข้าไปเรียนรู้ โดยไม่ต้องเรียนรู้ถูกผิดด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม บางกรณีที่เข้มงวดไป อาจทำให้เสียโอกาสของผู้ชมในการชมละครดี เช่น กรณีจัดเรต น 13 ห้ามออกอากาศ 5.00-20.30 น. จากที่เดิมออกอากาศได้ทั้งวันแต่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ไม่ เหมาะสม  ถ้าเป็นแบบนี้ จะทำให้ผู้ชมขาดโอกาสชมละครดีๆ ยกตัวอย่าง ถ้าย้อนไปจัดเรตละคร "ข้ามสีทันดร" ซึ่งพูดเรื่องยาเสพติด ถามว่าจะจัดเรตเป็น ท ได้ไหม เพื่อให้เห็นถึงโทษยาเสพติด เพราะเป็นหน้าที่สื่อที่ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม

ตัวแทนช่อง 7 กล่าวต่อว่า ด้านรายการโทรทัศน์ ผู้ผลิตจะต้องเสนอ proposal ว่าน่าสนใจยังไง ต้องมีเอกลักษณ์จุดขาย คุณค่าสาระของตัวเอง  ส่วนเรื่องร้องเรียน ปีที่แล้วไม่เจอเลย ปีนี้มีบ้าง อย่างไรก็ตาม ช่องก็มีการตรวจสอบตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องรอร้องเรียน โดยมีการตัดคลิปปิ้งข่าว ข่าวจากอินเทอร์เน็ต

สนธิ อิชยาวิโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สำนักกฎหมายโมเดิร์นไนท์ทีวี ช่อง 9 กล่าวว่า การกำกับดูแลมาจากรากฐานกำกับของราชการก็ยังยึดถือมาแม้ว่าไม่มี กบว. แล้ว ทั้งนี้เมื่อเทคโนโลยีไปไกล มีฟรีทีวี มีอินเทอร์เน็ต ทำให้การกำกับดูแลไม่ทั่วถึง เพราะกฎหมายไม่สามารถรองรับได้ แต่ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เชื่อว่าความมีจรรยาบรรณในวิชาชีพยังมีกันอยู่ เพราะการเสนอข่าว จัดรายการ กระทบถึงประชาชนผู้บริโภค ดังนั้น ขณะที่เทคโนโลยีก้าวไป แต่กฎหมายตามไม่ทัน จึงต้องมีจรรยาบรรณ ซึ่งแต่ละช่องอาจกำหนดขึ้นแตกต่างกันไป แต่โดยพื้นฐานก็คล้ายกัน ตามวัตถุประสงค์

ช่อง 9 เกิดจากข่าว สารคดี จากที่เคยเป็นหน่วยงานของรัฐ มาเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเป็นรัฐวิสาหกิจ  เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ต้องเพิ่มจรรยาบรรณเข้ามาด้วย โดยมีทั้งขององค์กร การนำเสนอข่าวและของผู้ปฏิบัติงานข่าว คณะกรรรมการผู้บริหาร และยังต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ เหมือนช่อง 7 คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมกิจกรรมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม  จริยธรรรมของประชาชน

ด้านภาษา การสื่อข้อความ ต้องชัดเจน เมื่อก่อนกว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าวได้ ต้องสอบ แม้จะมีอยู่ช่วงที่หายไป แต่ยังดีที่กลับมาใหม่ เห็นว่าควรมีการกลั่นกรอง ยิ่งในยุคสื่อสารฉับไว ประชาชนรับข่าวมีความลึกซึ้งในการวิเคราะห์ สื่อทุกวันนี้จึงต้องเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง ช่อง 9 เอง อย่างน้อยเดือนหนึ่งต้องมี 1-2 ครั้งไปชี้แจง กสทช.หรือกมธ.

กรณีที่มีการร้องเรียน เป็นเรื่องโฆษณา เพราะกฎเกณฑ์ยังไม่ชัดเจน มีการปฏิบัติที่ลักลั่น  ผู้ประกอบการต้องการผลกำไร จึงโฆษณาทุกช่องทาง แต่เมื่อปรากฏต่อสาธารณชน ผู้บริโภคบอกว่าเป็นการเอาเปรียบ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วก็เห็นใจทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ 

พรอัปสร นิลจินดา  ผู้อำนวยการส่วนจัดและควบคุมรายการ  สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) กล่าวว่า เนื้อหา ช่อง 11 แตกต่างจากช่องธุรกิจ บันเทิง เป็นการสนทนา ให้ข้อมูล เชิญผู้ให้ข้อมูล ครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ก็มีฟีดแบกกลับมาบ่อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมือง

ตัวแทนช่อง 11 กล่าวว่า การตรวจสอบรายการ กรณีรายการสด ป้องกันโดยให้ผู้จัดรายการส่งประเด็น ชื่อวิทยากร เนื้อหาคร่าวๆ ให้ทราบก่อน รวมถึงดูภาพอินเสิร์ช ซึ่งหลายครั้งพบว่าพิจารณายาก บางครั้งต้องโทรปรึกษา ผอ. ว่าจะให้ออกไหม บางรายการที่เป็นเทป ก็ต้องตรวจสอบก่อน เราพิจารณาแม้แต่ฉากหลัง ว่าเสี่ยงต่อการวิจารณ์ไหม ส่วนเรื่องล่อแหลม พยายามขอไม่ถ่ายทอดสด ที่ผ่านมา เมื่อมีเรื่องเร่งด่วน ช่อง 11 มักถูกขอให้ถ่ายทอดสด และขณะออกอากาศ ก็จะมีคนโทรศัพท์มาวิจารณ์ทันที เช่น บางทีสัญญาณหายก็ถูกวิจารณ์ว่าเอียง ทั้งที่เป็นปัญหาทางเทคนิค ก็ต้องตามข้อมูลจากสถานีไทยคม ส่งแฟกซ์ชี้แจงผู้โทรมา

จิตติมา บ้านสร้าง  บรรณาธิการแผนและยุทธศาสตร์ข่าว สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS  กล่าวว่า ในส่วนของไทยพีบีเอส ถูกกำหนดตั้งแต่กระบวนการสรรหาผู้บริหาร ที่มารายได้ กำหนดให้ต้องจัดทำข้อบังคับด้านวิชาชีพ มีสภาผู้ชม และมีกลไกรับเรื่องร้องเรียน  ไทยพีบีเอสมีสัดส่วนรายการชัดเจน สำหรับรายการต่างๆ นั้น มีคณะกรรมการจัดการและควบคุมคุณภาพรายการ เหมือนช่องอื่นๆ  ในส่วนของข่าว มีกอง บก. ประชุมวันละ 2 ครั้ง มีการจัดทำสไตล์บุ๊ก กำหนดรายละเอียด เช่น การทำข่าวเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง จะเสนอภาพ ใช้คำเรียกเด็กอย่างไร ปรับปรุงอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะสังคมมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น ต้องสรรหาคำที่ให้เกียรติ เคารพคนที่อยู่ในข่าว

ส่วนการตรวจสอบจากภายนอก มีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ทำหน้าที่ส่งฟีดแบ็กให้ ซึ่งมีมาทุกวัน  การรับเรื่องร้องเรียน มีการกำหนดวิธีรับเรื่อง-พิจารณาอย่างละเอียด ในพ.ร.บ. มีการเยียวยา บุคคล มีหนังสือว่ากล่าวตักเตือน มีการพิจารณาลงโทษรายการโดยการทบทวนระงับการออกอากาศ หากพบว่ามีการละเลยจริยธรรม - ผิดวินัย ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน

http://www.prachatai3.info/journal/2013/05/46647

รำลึก 20 ปีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ ชี้ยังขาดการชดเชย-ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

รำลึก 20 ปีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ ชี้ยังขาดการชดเชย-ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ

Fri, 2013-05-10 21:39

(10 พ.ค.56) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 11 องค์กรพันธมิตร จัดเวทีสาธารณะเรื่อง  บทเรียน 20 ปี โศกนาฎกรรมเคเดอร์: กับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ภายในงาน มีการยืนไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม และตึกถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536


 

รัศมี ศุภเอม อดีตคนงานเคเดอร์ ซึ่งปัจจุบันรับราชการนิติกรเทศบาล เล่าว่า ขณะเกิดเหตุ ยังเรียนอยู่นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ปี 2 ตอนนั้นหนีด้วยการกระโดดลงมา ส่งผลให้กระดูกสันหลังหัก ขาทั้งสองข้างขยับไม่ได้ หลังกายภาพบำบัดประมาณ 1 ปี จึงเริ่มเดินได้บ้าง ช่วงนั้นก็หยุดเรียนไปหลายปี เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ก่อนจะกลับไปเรียนอีกครั้งในปี 43

รัศมี เล่าว่า ในช่วงสิบปีแรก มีการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล แต่ค่ารถต้องหาเอง ส่วนประกันสังคม มีการจ่ายให้ปีเดียว ทั้งนี้ เธอถูกวินิจฉัยว่าพิการระดับ 4 ไม่ได้ทุพพลภาพ จึงไม่มีเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เธอรับราชการ จึงมีสิทธิเบิกค่ารักษาได้ แต่ถามว่า ในรายที่ไม่ได้ทำงาน จะมีประกันสังคมหรือค่ารักษาพยาบาลจากไหน จึงอยากให้มีการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการการรักษาต่อเนื่องด้วย

ด้านวรวิทย์ เจริญเลิศ ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กล่าวว่า แม้หลังเกิดโศกนาฏกรรมเคเดอร์ จะมีการต่อสู้จนเกิดเครือข่ายในระดับภูมิภาคและสากลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ซึ่งได้มาบางส่วน เช่น ค่าชดเชยนอกเหนือกฎหมาย และค่าเลี้ยงดูบุตรระหว่างศึกษา เช่น กรณีเคเดอร์ โรงงานลำไยระเบิด แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือ กฎหมายอาชญากรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่จะสามารถนำตัวนายทุนที่กระทำผิดมารับโทษในประเทศ การแก้กฎหมายกองทุนเงินทดแทนโดยเฉพาะบทลงโทษผู้กระทำการละเมิดที่มีโทษหนักขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่าง การชดเชยการสูญเสียรายได้ตลอดชีวิตเพื่อความมั่นคงของครอบครัวคนงานที่เสียชีวิต ให้กองทุนเงินทดแทนมีบทบาทมากขึ้นในการทำงานเชิงป้องกัน รวมทั้งรัฐบาลต้องมีนโยบายระยะยาวในการจัดสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูคนงานและครอบครัวผู้ถูกกระทบให้มีความมั่นคงในชีวิต

นอกจากนี้ วรวิทย์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน แต่ยังมีช่องว่างระหว่างกฎหมายกับความเป็นจริงในสังคม เช่น ในสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานภายใต้กองทุนเงินทดแทน สิ่งที่ไม่ปรากฏคือ จำนวนคนที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงานโดยเฉพาะการทำงานที่สัมผัสสารเคมี ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นหิน ฯลฯ ปีหนึ่งๆ ไม่ถึง 50 คน บางปีไม่มีเลย ทั้งที่ไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมเคมีมา 30 ปีแล้ว น่าสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีคนป่วยปรากฏ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนงานไม่ทราบว่าตัวเองป่วย คนงานมีอาการเจ็บป่วยแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน และถูกส่งไปใช้สิทธิประกันสังคม หรือหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน แต่กลับไม่ได้รับการรับรองการเจ็บป่วยจากคณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น

และแม้จะมีความพยายามในส่วนของภาคราชการเพื่อให้เกิดโครงสร้างของการทำงานเชิงป้องกัน เช่น มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) และคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ในโรงงาน แต่ก็ไม่ให้อำนาจที่จะเข้าไปจัดการกับความปลอดภัยในโรงงานอย่างแท้จริง โดยในส่วนของ คปอ. ยังเปิดโอกาสให้นายจ้างเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลสูงในการกำหนดการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานด้วย

วรวิทย์ กล่าวถึงการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย ซึ่งจะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยว่า ผู้ใช้แรงงานยังตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระในการทำงานของสถาบันดังกล่าว โดยเฉพาะโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารที่ไม่ได้มาจากการสรรหา การไม่ให้อำนาจสถาบันฯ ในการเข้าไปทำการศึกษา หาข้อมูลความไม่ปลอดภัยในการทำงานในโรงงาน ไม่มีการรับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ผู้ใช้แรงงาน องค์กรผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบ ควรรวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานให้มากขึ้น

http://www.prachatai3.info/journal/2013/05/46674

สุรพศ ทวีศักดิ์ : บทพิสูจน์ ‘ธรรมราชา’

 

สุรพศ ทวีศักดิ์ : บทพิสูจน์ 'ธรรมราชา'

Sun, 2013-05-05 14:39

 

สุรพศ ทวีศักดิ์

พุทธศาสนาถือว่าผู้ปกครองที่ดีคือ "ธรรมราชา" นักวิชาการสมัยใหม่มักโจมตีว่านี่เป็นความคิดทางการเมืองที่เน้น "ตัวบุคคล" เท่านั้น
 
แต่ที่จริงหากพิจารณาความหมายว่า ธรรมราชาคือ "ผู้ปกครองโดยธรรม" และถ้าเข้าใจความหมายของ "ธรรม" ตามนัยอัคคัญญสูตรที่เราอภิปรายกันมาในตอนที่แล้วว่า พุทธะไม่เห็นด้วยกับความหมายของธรรมแบบพราหมณ์ที่ถือว่า "ธรรมคือหลักเกณฑ์การแบ่งชนชั้นตามระบบวรรณะสี่" จึงเสนอธรรมแบบพุทธที่มีความหมายใหม่ว่า "ธรรมคือหลักเกณฑ์ความเสมอภาคในความเป็นคน" เราย่อมเข้าใจได้ว่า ปกครองโดยธรรมมีนัยสำคัญสนับสนุนการจัดระบบสังคมการเมืองที่มีความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ด้วย นอกเหนือจากการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎรอย่างเป็นธรรม ตามนัยจักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ และทศพิธราชธรรม
           
ในหนังสือ "ความเข้าใจในเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาน" (2552) สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชี้ให้เห็นว่า ที่พระเจ้าอโศกได้รับยกย่องว่าเป็นธรรมราชา  ก็เพราะพระองค์เปลี่ยนปฏิปทาของกษัตริย์ตามทฤษฎีเทวโองการที่ยึด "ราชธรรม" ในคัมภีร์อรรถศาสตร์ของเกาฏิลยะที่คล้ายกับ The Prince ของมาเคียเวลลี ซึ่งถือว่าชนชั้นปกครองมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำอะไรๆอย่างโหดร้ายทารุณก็ได้เพื่อรัฐและเศรษฐทรัพย์ หากพระเจ้าอโศกเปลี่ยนมาปกครองโดยธรรมตามนัยพุทธพจน์แห่งอังคุตตรนิกายที่ว่า
           
พระราชาผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และธรรมิกราชาย่อมพึ่งพระธรรม ยกย่องพระธรรม และถือเอาพระธรรมเป็นคำตัดสิน ถือเอาพระธรรมเป็นดังธง ถือเอาพระธรรมเป็นมาตรฐาน ถือเอาพระธรรมเป็นนาย เพื่อปกป้องและดูแลรักษาผู้คนในพระราชอาณา
 
"ธรรม" ที่ธรรมราชายึดถือเป็น "หน้าที่" ที่ต้องปฏิบัติก็คือ "จักรวรรดิวัตร" ได้แก่ 1) ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่  ยึดความถูกต้องเป็นธรรมเป็นหลักในการปกครอง 2) ธรรมิการักขา จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมแก่คนทุกหมู่เหล่า  3) อธรรมการนิเสธนา จัดการป้องกันและแก้ไขการกระทำความผิดต่างๆในบ้านเมือง  4) ธนานุประทาน เฉลี่ยทรัพย์ให้แก่คนยากไร้ มิให้ราษฎรขัดสน 5) ปริปุจฉา ปรึกษาสอบถามปัญหาต่างๆ กับสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ รวมถึงนักปราชญ์ ผู้รู้ เพื่อให้รู้ชัดแจ้งการควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรหรือไม่
 
นอกจากนี้ธรรมราชายังมีหน้าที่รับใช้ราษฎรตามหลัก "ราชสังคหวัตถุ" คือ 1) สัสสเมธะ การบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ความกินดีอยู่ดี 2) ปุริสเมธะ การบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ 3) สัมมาปาสะ ผูกผสานรวมใจราษฎรด้วยการส่งเสริมอาชีพเป็นต้น 4) วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ รู้จักพูดดี มีเหตุผล มีประโยชน์ ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ
           
และต้องยึด "ทศพิธราชธรรม" คือ  1) ทาน สละทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือราษฎร 2) ศีล ประพฤติดีงาม ประกอบแต่การสุจริต 3) ปริจจาคะ เสียสละความสุขส่วนตน ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 4) อาชชวะ ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริตซื่อตรง ไม่หลอกลวงราษฎร 5) มัททวะ อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่งถือตัว 6) ตปะ ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ มีความเป็นอยู่อย่างสามัญ 7). อักโกธะ ไม่ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียความเป็นธรรม 8) อวิหิงสา ไม่เบียดเบียนกดขี่ราษฎร 9) ขันติ มีความอดทนต่องานที่ตรากตรำ ต่อถ้อยคำเสียดสีถากถาง ทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ 10) อวิโรธนะ ไม่คลาดธรรม มีความยุติธรรม เที่ยงธรรมตามนิติธรรม และระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
 
แต่จะอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าทฤษฎีธรรมราชาเป็นทฤษฎีที่พุทธะเสนอเพื่อโต้แย้งทฤษฎีเทวโองการของพราหฒณ์อันเป็นรากฐานของระบอบ "ราชาธิปไตย" ที่มีอยู่ก่อนสมัยพุทธกาลมาแล้วหลายพันปี โดยราชาธิปไตยเช่นนั้นถือว่ากษัตริย์ไม่ใช่คนธรรมดา หากเป็น "เทวราช" ที่อวตารมาจากเทพเจ้า กษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามเทวโองการ
 
แต่ธรรมราชา คือ "สมมุติราช" หรือคนธรรมดาที่ได้อำนาจปกครองมาจากความยินยอมของราษฎร (ตามนัยอัคคัญญสูตร) อิงความชอบธรรมจาก "การรับใช้ราษฎร" (ตามนัยจักรวรรดิวัตร, ราชสังคหวัตถุ, ทศพิธราชธรรม) ฉะนั้น เมื่อว่าโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ "ธรรมราชา" เช่นที่ว่านี้ ก็ดูจะคล้าย "ราชาปราชญ์" ของเพลโต (แม้รายละเอียดจะต่างกัน) คืออาจจะมีอยู่แต่ในทางทฤษฎี
 
ส่วนในทางปฏิบัติ กษัตริย์ชาวพุทธในยุคต่างๆ ที่ยกย่องกันว่าเป็นธรรมราชานั้น ที่จริงแล้วก็คือกษัตริย์ที่มีสถานะเหนือคนธรรมดา และมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ตามเทวโองการแบบพราหมณ์นั่นเอง (แม้แต่พระเจ้าอโศกก็มีสถานะกษัตริย์ตามเทวโองการในจารีตราชาธิปไตยแบบพราหมณ์ เพียงแต่ปรากฏหลักฐานใน "จารึกอโศก" ว่าในทางปฏิบัติ พระองค์ทรงดำเนินราชกิจตามทฤษฎีธรรมราชามากเป็นพิเศษ) ไม่ใช่กษัตริย์ที่เป็นคนธรรมดาเสมอกันกับราษฎรตามนัยอัคคัญสูตรแต่อย่างใด
 
ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมการเมืองยุคนครรัฐโบราณ ส่วนใหญ่แล้วเป็น "รัฐศาสนา" ที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองคือ "กษัตริย์ ขุนนาง พราหมณ์ และพระ" คนส่วนใหญ่คือไพร่ ทาส หาได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในทางการเมืองไม่
 
ในบรรดาผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น พวกพราหมณ์มีสถานะเป็นขุนนาง เป็นปุโรหิตหรือที่ปรึกษาของกษัตริย์ มีบทบาทในการกำหนดอุดมการณ์รัฐ วางระเบียบการปกครอง แบบแผนขนบธรรมเนียมของสังคม สอนศาสนา  ความรู้ และพิธีกรรมต่างๆ เพื่อรักษาอุดมการณ์รัฐ รูปแบบการปกครอง และขนบจารีตของสังคม
 
ฉะนั้น พวกพราหมณ์จึงมีอำนาจถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ เพราะพวกเขาวางจารีตการปกครองว่า กษัตริย์ต้องปกครองโดยราชธรรมตามเทวโองการ แต่ผู้ที่จะตัดสินว่ากษัตริย์ปกครองอย่างชอบธรรมตามราชธรรมหรือไม่นั้น คือพวกพราหมณ์ปุโรหิตผู้แตกฉานคัมภีร์พระเวท และพระธรรมศาสตร์อันเป็นกฎหมายปกครองบ้านเมือง ถึงขนาดออกกฎว่า "พระราชาจะทรงลงทัณฑ์แก่พวกพราหมณ์ไม่ได้"
 
ส่วนพระซึ่งได้แก่พุทธะ คณะสงฆ์ และบรรพชิตในศาสนาอื่นๆ มิได้มีตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด มีบทบาทเพียงเสนอแนวคิดทางปรัชญาการเมืองและคุณธรรมของผู้ปกครองแก่กษัตริย์ที่หันมานับถือพุทธ และแก่ชาวบ้านทั่วไป
 
สุลักษณ์เรียกบทบาทเช่นนี้ว่าเป็น "เสียงแห่งมโนธรรมสำนึก" แก่ชนชั้นปกครองแทนราษฎรทั้งหลาย ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง เขาเองก็เคยพูดว่า ทฤษฎีธรรมราชาที่นำมาประยุกต์ใช้นั้น ต้องยอมรับความจริงว่า "ล้มเหลวมากว่าสำเร็จ" เพราะมักถูกชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือรักษาสถานะ อำนาจ (ตามเทวโองการ) ของพวกตนมากกว่า
           
ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงที่มาของคำว่า "ธรรมราชา" ด้วยแล้ว จะเห็นว่าเดิมทีคำนี้เป็น "สมญานามของพุทธะ" โดยความเป็นธรรมราชาของพุทธะนั้นไม่ใช้อำนาจ ไม่ใช้อาชญา
 
แม้พุทธะจะบัญญัติวินัยสงฆ์ก็บัญญัติขึ้นจากการ "ฟังเสียง" ของคณะสงฆ์และชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่ "คิดแทน" แล้วบัญญัติวินัยสงฆ์ไว้ล่วงหน้า หากแต่บัญญัติขึ้นเมื่อสงฆ์และชาวบ้านชี้ให้เห็นปัญหาภายในคณะสงฆ์และการหาทางป้องกัน อีกทั้งยังบัญญัติขึ้นท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ พร้อมกับให้สงฆ์ปกครองกันเองโดยยึดธรรมวินัยเป็นหลักแห่งมโนธรรมสำนึก
           
ในฐานะธรรมราชานอกจากจะไม่ใช้อำนาจ อาชญา หรือกฎหมายปกครองสงฆ์แล้ว พุทธะยังไม่เคยเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองตัวท่านเอง และคณะสงฆ์ (หรือธรรมราชาที่เป็นกษัตริย์) จากการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ แม้กระทั่งจากการด่า การดูหมิ่นเหยียดหยามใดๆ
           
ธรรมราชาอย่างพุทธะดำเนินชีวิติย่าง "คนเหมือนกัน" กับสามัญชน ฉะนั้น สำหรับพุทธะแล้ว บทพิสูจน์ความเป็น "ธรรมราชาที่แท้" อยู่ที่ "ทองแท้ไม่กลัวไฟ" ด้วยประการฉะนี้แล
 
 
 
หมายเหตุ: จากบทความเดิม พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (6): บทพิสูจน์ 'ธรรมราชา' เผยแพร่ใน "โลกวันนี้วันสุข" (ฉบับวันที่ 4-10 พฤษภาคม 2556)

วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี / http://smilefeeling.com/index.php?topic=1655.0

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (นามเดิม: ประยุทธ์ อารยางกูร) หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา "ป.อ.ปยุตฺโต" 
เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี 
เมื่อ ปีพ.ศ. 2494 และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค 
ขณะยังเป็นสามเณร และได้รับการอุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 
ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระนักวิชาการนักคิดนักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชาการพระพุทธศาสนา
เป็นจำนวนมาก ผลงานของท่านที่เป็นที่รู้จักเช่นหนังสือ พุทธธรรม เป็นต้น ท่านได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก 
ด้วยผลงานของท่านทำให้ท่านได้รับรางวัลและดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การที่ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)  
นอกจากนี้ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ท่านได้รับรวมมีมากกว่า 15 สถาบัน ซึ่งนับว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่อง
ให้ได้รับดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษา
อยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ชาติภูมิ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เกิดวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ณ บ้านใกล้ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) 
ฝั่งตะวันออก บริเวณตลาดศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี นามเดิมว่า ประยุทธ์ อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 5 
จากบุตรเก้าคน ของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร ทางครอบครัวประกอบกิจการค้าขายผ้าแพร ผ้าไหม ขายของชำ และโรงสีไฟ


บ้านเกิดท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์  อ.ศรีประจันต์

เมื่ออายุได้ 6 ขวบเข้าเรียนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลครูเฉลียวที่ตลาดศรีประจันต์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาล
ชัยศรีประชาราษฎร์ จากนั้นบิดาได้พาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา โดยพักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ 
เด็กชายประยุทธ์เป็นเด็กเรียนเก่ง จึงได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความใส่ใจในการเรียนมาก 
ช่วงเวลาปิดเทอมกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็สามารถสอนภาษาอังกฤษแก่น้อง ๆ ได้

การบรรพชา



เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์ของท่านจะควบคู่ไปกับ
การเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ท้องเสีย ท้องอืด ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวกอักเสบเข้าไปในกระดูก
พรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อแขนอักเสบ ไวรัสเข้าตา สายเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยง
สมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 
ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ใน
เพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้ 
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่ 
วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ 
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับเป็น นาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาจนกระทั่งได้รับ
ปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จาก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

งาน

หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม. ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง 10 ปี 
มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย 
ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ. 2516 และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้น
ในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย 
ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ หนังสือพุทธธรรม ได้รับการยกย่องว่า
เป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนา ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 กว่าแห่ง 
และได้รับรางวัล "การศึกษาเพื่อสันติภาพ" จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งท่านได้มอบเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ 
เพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษาพระธรรมปิฎกเพื่อสันติภาพ พระ ป.อ. ปยุตโต ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เป็นพระเทพเวที พระธรรมปิฎก 
และพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน



ปัจจุบันพระพรหมคุณภรณ์เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และดูแลสำนักสงฆ์สายใจธรรม 
บนเทือกเขาสำโรงดงยาง ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

สมณศักดิ์

พ.ศ. 2512 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
พ.ศ. 2516 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี
พ.ศ. 2530 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที
พ.ศ. 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร 
มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ในมหาวโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547



เกียรติคุณของพระพรหมคุณาภรณ์

ตลอดชีวิตของพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้ใช้ความรู้พระไตรปิฎกแท้ๆ เพื่อช่วยปกป้องสังฆมณฑลในประเทศไทยหลายกรณี 
ไม่ว่า กรณีสันติอโศกหรือกรณีวัดพระธรรมกาย ท่านได้ช่วยชี้แจงให้คนไทยได้รับทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับพระไตรปิฎกที่ถูกต้องเอาไว้หลายครั้ง 
ในขณะเดียวกัน ท่านยังมีบทบาทในการชี้แนะสังคมไทยในด้านการบริหารประเทศหลายครั้ง เช่น ในหนังสือ มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย 
ได้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของระบบทุนนิยมเสรีในประเทศไทย และยังได้ชี้ให้เห็นว่าสังคมตะวันตก หรืออเมริกา มีแง่มุมที่ไม่ควรเป็นแบบอย่าง
ในการพัฒนาประเทศไทย ที่จะทำให้เน้นแต่พัฒนาวัตถุ ทำให้นักคิดไทยหลายคนตื่นตัวมาหาหลักพุทธธรรมเป็นแนวในการพัฒนา

แรงบันดาลใจให้อยู่เป็นพระสืบอายุพระศาสนา



พระพรหมคุณาภรณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่เป็นระยะเวลานานจนมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
มาตลอดเป็นเพราะได้อ่านนวนิยายอิงธรรมะของอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ทำให้รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ในกองทัพธรรม เช่น

ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
กองทัพธรรม
อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก

ประสบการณ์ในการสอน

อาจารย์ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บรรยายเรื่อง Buddhism and Thai Culture ที่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย University of Pennsylvania
บรรยายพิเศษด้านพระพุทธศาสนาที่ Swarthmore College University of Pennsylvania
อาคันตุกาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Harvard University

ผลงานทางวิชาการพุทธศาสนา

พุทธธรรม
พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
พจนานุกรมฉบับประมวลธรรม
สถาบันสงฆ์กับสังคมไทยในปัจจุบัน
พจนานุกรมพุทธศาสตร์
จารึกอโศก
ธรรมนูญชีวิต
มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย
พระพุทธศาสนากับสังคมไทย

ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาทางวิชาการ ประจำ มูลนิธิแผ่นดินธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์
เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน พุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม

ประวัติย่อ

ชื่อ-นามสกุลจริง ประยุทธ อารยางกูร
สำเร็จเปรียญ 9 ประโยค ขณะเป็นสามเณรและเป็น นาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระแก้ว ในพระบรมราชานุเคราะห์ เมื่อพ.ศ. 2504
ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร
ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



อ้างอิง

หนังสือชีวประวัติ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) สนพ.ธรรมสภา
1. รายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ .เว็บไซต์องค์การยูเนสโก
2. "Wat Nyanavesakavan". Wat Nyanavesakavan.http://www.watnyanaves.net/papayutto/index.htm?#prawat. เรียกข้อมูลเมื่อ Feb. 12, 2008.

--------------------------------------------------

เสียงธรรมบรรยาย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)
วัดญานเวศกวัน ตำบลบางระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

http://www.dhammajak.net/audio/dhamma/files/payutto.php

---------------------------------------------------

ป.อ.ปยุตโตสอน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด



http://www.youtube.com/watch?v=tfWz7n_GHG4&noredirect=1

------------------------------------------------------------------

หลักเศรษฐกิจพอเพียง ท่าน ปอ.ปยุตโต



http://www.youtube.com/watch?v=qaVuIEHZa7A&feature=related

================================================================
จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันที่ ๒๘ - ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาผลงานวิชาการพิพิธภัณฑ์ 28 - 29 มีนาคม 2556 เสนอผลงานการศึกษาวิจัยของภัณฑารักษ์ นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก นักวิชาการช่างศิลป์หลายท่านมานำเสนอ เช่น

"ภาพสันนิษฐานการแต่งกายของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย : บทวิเคราะห์ใหม่จากหลักฐานโบราณคดีและมานุษยวิทยา" โดย นายสมชาย ณ นครพนม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์,

"สางขยะ-สังขยา ในฮินดูและพุทธประติมาน" โดย นางอมรา ศรีสุชาติ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ,

"ความลับใต้ฐานศิวลึงค์" โดย นางสาวศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ พิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร,

"รอยพระพุทธบาทที่พบในภาคใต้ของไทย" โดย นายกิตติ ชินเจริญธรรม หน.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา,

"การเรียนรู้ในนิทรรศการ : ศาสตร์แห่งการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑสถาน" โดย นางกชพร ธรรมจริยา นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ,

"narrative design บอกเล่า และ รับฟัง" โดย นางสาวชาริณี อรรถจินดา สถาปนิกชำนาญการ

"การควบคุมสภาพแวดล้อมในตู้จัดแสดง" โดย นายเสน่ห์ มหาผล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ,

"การประเมินค่าและราคาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ สิ่งทำเทียม" โดย นางสาวพัชรินทร์ ศุขประมูล ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ,

"องค์ความรู้ด้านชาติพันธุ์วิทยาในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ" โดย นางสาวนิชนันท์ กลางวิชัย ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ
"เมืองโบราณไตรตรึงส์ ชุมชนยุคต้นประวัติศาสตร์ในกำแพงเพชร" โดย นางสาวธัชสร ตันติวงศ์ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ,

" จีน อาหรับ สยาม ; ต้นธารความงาม กรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะอยุธยา" โดย นางสาวศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ชำนาญการ,

"พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์" โดย นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ,

"พระพิมพ์ที่ได้จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ :รูปแบบศิลปกรรมและการกำหนดอายุสมัย" โดย นางเสริมกิจ ชัยมงคล ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ ,

"การศึกษารูปแบบและจัดหมวดหมู่พระพุทธรูปไม้ ศิลปะพม่า ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (คลังกลาง)" โดย นางสาวอุษา ง้วนเพียรภาค ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ

* ไม่เสียค่าใช้จ่าย
* ฟรี เอกสารประกอบการสัมมนา , อาหารกลางวัน, อาหารว่าง
* สำรองที่นั่งได้ที่กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
02 6285660
http://www.facebook.com/events/513206582056559/


กำหนดการ
โครงการสัมมนาผลงานวิชาการพิพิธภัณฑ์
วันที่ ๒๘ - ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
*********************
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖
๐๘.๓๐ - ๐๙.๐๐ น. ลงทะเบียน รับเอกสาร

๐๙.๐๐ - ๐๙.๑๕ น. พิธีเปิดการสัมมนาผลงานวิชาการ
พิพิธภัณฑ์ โดยอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน

๐๙.๑๕ - ๑๐.๑๕ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "สางขยะ-สังขยา ในฮินดูและพุทธประติมาน"
โดย นางอมรา ศรีสุชาติ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
(รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการสัมมนา)

๑๐.๑๕ - ๑๑.๑๕ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "ความลับใต้ฐานศิวลึงค์" โดย นางสาวศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

๑๑.๑๕ -๑๒.๑๕ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "หลักฐานใหม่ : พระพุทธรูป สกุลช่างบ้านดอน ?"
โดย นายกิตติ ชินเจริญธรรม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา

๑๒.๑๕ – ๑๓.๐๐ น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "การประเมินค่าและราคาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ สิ่งทำเทียม"
โดย นางสาวพัชรินทร์ ศุขประมูล หัวหน้ากลุ่มทะเบียน
คลังพิพิธภัณฑ์ และสารสนเทศ

๑๔.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "narrative design บอกเล่า และ รับฟัง"
โดย นางสาวชาริณี อรรถจินดา สถาปนิกชำนาญการ
สำนักสถาปัตยกรรม

๑๕.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "การเรียนรู้ในนิทรรศการ : ศาสตร์แห่งการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑสถาน" โดย นางกชพร ธรรมจริยา นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ กลุ่มเทคนิคและศิลปกรรมและการจัดแสดงนิทรรศการ
(รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการสัมมนา)

๑๖.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "การควบคุมสภาพแวดล้อมในตู้จัดแสดง"
โดย นายเสน่ห์ มหาผล หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์


วันศุกร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖

๐๙.๐๐ – ๐๙.๓๐ น. บรรยายพิเศษเรื่อง "พิพิธภัณฑ์ช้างต้น สวนจิตรลดา" โดย นายอนันต์ ชูโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

๐๙.๓๐ – ๑๐.๓๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "ภาพสันนิษฐานการแต่งกายของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย : บทวิเคราะห์ใหม่จากหลักฐานโบราณคดีและมานุษยวิทยา" โดย นายสมชาย ณ นครพนม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ รักษาการในตำแหน่งนักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์))

(รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการสัมมนา)

๑๐.๓๐ – ๑๑.๓๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "เมืองโบราณไตรตรึงส์ ชุมชนยุคต้นประวัติศาสตร์ในกำแพงเพชร"
โดย นางสาวธัชสร ตันติวงศ์ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

๑๑.๓๐ – ๑๒.๓๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "องค์ความรู้ด้านชาติพันธุ์วิทยาในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ"
โดย นางสาวนิชนันท์ กลางวิชัย ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก

๑๒.๓๐ – ๑๓.๐๐ น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "จีน อาหรับ สยาม : ต้นธารความงาม กรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะอยุธยา" โดย นางสาวศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ชำนาญการ
กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์

๑๔.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์"
โดย นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการสัมมนา)

๑๕.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "พระพิมพ์ที่ได้จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ :รูปแบบศิลปกรรมและการกำหนดอายุสมัย" โดย นางเสริมกิจ ชัยมงคล
ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัย

๑๖.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "การศึกษารูปแบบและจัดหมวดหมู่พระพุทธรูปไม้ ศิลปะพม่า ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (คลังกลาง)"
โดย นางสาวอุษา ง้วนเพียรภาค ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัย

๑๗.๐๐ – ๑๗.๑๕ น. ตอบข้อซักถาม และ ปิดการสัมมนา

*************

หมายเหตุ กำหนดการนี้อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

* ไม่เสียค่าใช้จ่าย
* ฟรี เอกสารประกอบการสัมมนา , อาหารกลางวัน, อาหารว่าง
* สำรองที่นั่งได้ที่กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
02 6285660