วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ต้อกระจก

 

สาเหตุและอาการของต้อกระจก

PDFพิมพ์อีเมล

เขียนโดย : นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์

           การเกิดต้อกระจกต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่อาการผิดปกติในการมองเห็นจะ ปรากฏขึ้น โดยในระยะแรกๆ อาจจะเห็นเป็นจุด และขยายวงมากขึ้นจนเป็นทั้งแก้วตา ทำให้เลนส์แก้วตามีลักษณะขุ่นมัว และฝ้าฟาง ทำให้แสงไม่สามารถผ่านไปยังจอประสาทตาได้ตามปกติ จึงเกิดอาการตามัวมองเห็นสิ่งต่างๆได้ไม่ชัด

 

อาการของต้อกระจกนี้ ส่วนมากแล้วมักจะเป็นได้ทั้งสองข้าง โดยที่ข้างหนึ่งอาจเป็นเร็วกว่าอีกข้างหนึ่ง ขณะเดียวกันตาข้างหนึ่งก็อาจเป็นมากกว่าอีกข้างหนึ่ง เมื่ออายุมากขึ้น ความขุ่นมัวก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้ตามปกติ ยิ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้ต้อสุกโดยไม่มีการรักษา จะทำให้เกิดการอักเสบ หรืออาจกลายเป็นต้อหิน และทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

          การเกิดต้อกระจกนี้ ยังพบได้ในเด็กแรกเกิดที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ การกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ลูกตา หรือถูกของมีคม นอกจากนี้โรคทางร่างกายของผู้ป่วย เช่น โรคเบาหวาน โรคระบบประสาทบางชนิด การได้รับพิษจากสารเคมี จากยา หรือแสงกัมมันตภาพรังสี ก็สามารถทำให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน

วิวัฒนาการการรักษาต้อกระจก

PDFพิมพ์อีเมล

เขียนโดย : นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์

          ที่ผ่านมาการรักษาต้อกระจกมีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือ การผ่าตัดเอาต้อกระจกออก การใช้ยาหยอดตา และการกินยาที่ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาให้อาการต้อกระจกหายได้ เพราะต้อกระจกเป็นการเปลี่ยนภายในแก้วตา ไม่ใช่เป็นเยื่อบางๆ หรือเนื้องอกหุ้มที่แก้วตา จึงไม่สามารถล้างออกหรือใช้เข็มเขี่ยออกได้

 

เมื่อผ่าตัดเอาต้อกระจกออกไปแล้วจะทำให้แสงสามารถผ่านเข้าไปในตาได้ตามปกติ เพียงแต่ผู้ป่วยจะไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนเหมือนคนปกติเนื่องจากไม่มีแก้ว ตา วิธีการหนึ่งที่จะช่วยผู้ป่วยมองเห็นได้อย่างชัดเจนและปลอดภัยหลังการผ่าตัด ก็คือ การใช้แว่นตาต้อกระจกที่ทำด้วยเลนส์นูน เพื่อทำการหักเหแสงแทนเลนส์แก้วตาธรรมชาติที่ถูกผ่าตัดออกไป

         แว่นตา ต้อกระจกที่ทำด้วยเลนส์นูนนี้มีราคาถูก แต่ก็มีข้อเสีย คือ จะทำให้ภาพที่มองเห็นใหญ่กว่าของจริง และถ้ามองด้านข้างก็จะมองเห็นได้ไม่ชัด สำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดต้อกระจกข้างเดียว และตาอีกข้างหนึ่งยังดีอยู่จะใช้แว่นตาเพียงข้างเดียว เพราะถ้าใช้ 2 ตาพร้อมกันจะเกิดปัญหาในการมองเห็น คือ ทำให้เห็นภาพเป็น 2 ชั้น ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

          วิธีต่อมาที่พัฒนามาจากการใส่แว่นตา เลนส์นูนและวิธีเป็นที่นิยมทำกันมากตามโรงพยาบาลในปัจจุบัน คือ การผ่าตัดแบบเย็บแผล โดยการใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งทำจากสารพวกพลาสติกแข็งที่ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้านจากร่างกายเข้าไปเพื่อ ทำหน้าที่แทนแก้วตาธรรมชาติที่เกิดต้อกระจก เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่เข้าไปนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใส่แว่นตาที่ทำด้วย เลนส์นูนอีกต่อไป การใส่เลนส์แก้วตาเทียมนี้ใช้ได้กับผู้ป่วยทุกรายที่ไม่มีข้อห้ามและผู้ป่วย ที่ไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะการใช้เลนส์แก้วตาเทียมเป็นวิธีการแก้ไขสายตายาวหลังการผ่าตัดต้อกระจก ได้ดีที่สุด ทั้งยังให้ความสะดวกสบายกว่ามาก เพราะเป็นการใส่แบบถาวรโดยไม่ต้องเปลี่ยนและไม่ต้องดูแลรักษา เพียงแต่ต้องระวังเรื่องแผลผ่าตัดสักระยะหนึ่ง ควรหมั่นเช็ดตาและหยอดตาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

           ส่วนในผู้ป่วย ที่สายตาสั้นมากๆ หรือพวกที่เคยผ่าตัดแบบไม่ใส่เลนส์เทียมไปแล้วข้างหนึ่ง ก็จะไม่ใส่เลนส์แก้วตาเทียมในอีกข้างหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้สายตาสามารถใส่แว่นตาได้ทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันวิวัฒนาการของการผ่าตัดต้อกระจกได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ได้พัฒนามาเป็นการผ่าตัดต้อกระจกโดยไม่ต้องเป็นแผล หรือที่เรียกว่า "เฟโคอีมัลซิฟิเคชั่น" การผ่าตัดต้อกระจกแบบใหม่นี้ เป็นการนำคลื่นเสียงความถี่สูงอัลตราซาวนด์มาใช้ในการสลายต้อกระจกแล้วดูด ออกมา จากนั้นจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน ในปัจจุบันวิธีการดังกล่าวเป็นที่นิยมกันมากในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยยังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าไรนัก ทั้งนี้เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่ายของเครื่องมือซึ่งมีราคาแพง และความชำนาญของจักษุแพทย์ที่จะต้องใช้เวลาฝึกฝนเป็นกรณีพิเศษ แต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาได้มีโรงพยาบาลหลายแห่งพยายามที่จะนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ แต่เพราะข้อจำกัดดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลยางแห่งต้องล้มเลิกไป เท่าที่ทราบว่ายังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันมี 2-3 แห่ง ทั้งโรงพยาบาลของรัฐฯและเอกชน

          ในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วย วิธีใหม่นี้ แม้จะสูงกว่าการรักษาแบบเก่า แต่เนื่องจากผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลและไม่ต้องใช้ไหมเย็บแผล ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้ และเมื่อเทียบกันแล้ว ค่าใช้จ่ายในการรักษาแบบใหม่จึงสูงกว่าวิธีเก่าประมาณร้อยละ 30-40 ผู้ป่วยบางคนอาจสงสัยว่า การผ่าตัดจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งในความจริงแล้วการผ่าตัดต้อกระจกเป็นการผ่าตัดตาที่จักษุแพทย์ทำกัน อย่างคุ้นเคยมาก เหมือนกับการที่ศัลยแพทย์ทำการผ่าตัดไส้ติ่ง โรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัดก็อาจมีได้แต่น้อย ที่ต้องระวังมากที่สุด ก็คือ เรื่องการติดเชื่อ ต้อหิน เลือดออกในลูกตา จอประสาทตาลอกหรือบวม ซึ่งไม่พบบ่อยนัก

          สิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังจากการผ่าตัดเป็น เวลานาน คือ ถุงเยื่อหุ้มหลังเลนส์ขุ่น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการตามัวได้อีก แต่ในครั้งนี้จะไม่รักษาด้วยการผ่าตัด แต่จะใช้แสงเลเซอร์ยิงเจาะเยื่อหุ้มเลนส์ที่ขุ่น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยกลับมองเห็นได้อย่างชัดเจนโดยจะไม่มัวลงอีก

http://mettaeyecare.org/th/cataract/2010-08-24-05-55-20.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น