วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วัดใจเก็บภาษีหน่วยงานรัฐ -วัด- วัง

 

วัดใจเก็บภาษีหน่วยงานรัฐ -วัด- วัง

อีเมลพิมพ์PDF

altนางจรูญศรี  ชายหาด ผู้อำนวยการส่วนนโยบายภาษีท้องถิ่นและรายได้อื่น  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ว่า ทาง สศค. เตรียมเสนอให้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ.นี้ อีกครั้งโดยเร็วที่สุด เพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
 ก่อนหน้านี้ นายธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล  อดีต รมว.คลัง ได้ยืนยันร่างทั้ง 4 ฉบับไปแล้ว และผ่านการพิจารณาเพียง 2 ฉบับ ทำให้ พ.ร.บ ยังไม่เข้า ครม. และเกิดการเปลี่ยนแปลง รมว.คลัง ทำให้ต้องมีการทบทวนใหม่
 ทั้งนี้  สำหรับการพิจารณาทบทวน ร่าง พ.ร.บ. ครั้งนี้ ทาง สศค. จะเสนอให้ทบทวนปรับเฉพาะเรื่อง การยกเว้นการจัดเก็บภาษีและลดหย่อนยกเว้นภาษี เพราะเห็นว่ายังมีการลักลั่น ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือไม่ควรให้การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี เป็นเรื่องถาวร ซึ่งเห็นว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของหน่วยงานรัฐ วัด หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ควรถูกจัดเก็บภาษีนี้ด้วย เพื่อไม่เอาเปรียบประชาชน และควรให้การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเป็นแบบชั่วคราว กรณี น้ำท่วมหรือภัยพิบัติ
 นางจรูญศรี กล่าวต่อไปอีกว่า สุดท้าย รมว.คลัง จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงร่างพ.ร.บ.นี้ หรือไม่อย่างไรและนำเสนอ ครม. รับหลักการและเสนอผ่านกฤษฎีกาพิจารณาประกาศใช้ต่อไป  โดยเบื้องต้น มองว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะภาษีที่ดินฯ จะทำให้ระบบภาษีเกิดความเป็นธรรม ,มีการตรวจสอบท้องถิ่นมากขึ้นและท้องถิ่นต้องรับผิดชอบต่อประชาชนมากขึ้น ,ทำให้การกักตุนที่ดินไว้เก็งกำไรลดลง และช่วยเพิ่มรายได้จัดเก็บให้กับท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ต่ำกว่าที่เก็บแบบเดิม จากการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น จากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทุกคนต้องเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ภายใต้เพดานอัตราภาษี 3 อัตราเห็นว่า แม้จะต่ำกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่ถือว่า เหมาะสมแล้วที่ประชาชนยอมรับได้และผลักดันเกิดขึ้นจริงแบบค่อยเป็นค่อยไป 
 อย่างไรก็ตามยอมรับว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.มีความจำเป็นเร่งด่วน และเป็นเรื่องที่ผลักดันกันมากว่า 30 ปี  แต่หากไม่ได้อยู่ในนโยบายเร่งด่วน 1 ปี ของรัฐบาลนี้ ที่ รมว. คลัง จะต้องเร่งพิจารณา เช่น โครงการประชานิยม ฟื้นฟูน้ำท่วมหรือสร้างความเชื่อมั่น อาจทำให้การผลักดัน ร่างพ.ร.บ. ในช่วงนี้ ต้องล่าช้าออกไป แต่ก็ยังพอมีความหวัง 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,711   5-8  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น