วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สยามบน "ทางสองแพร่ง" : ๑ ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ (จบ)





 

สยามบน "ทางสองแพร่ง" : ๑ ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ (จบ)

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 21:30:30 น.





โดย ณัฐพล ใจจริง

การปะทะกันของความคิดทางการเมืองบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงสยาม


ไม่แต่เพียงความเข้าใจการตีความหมายที่แตกต่างกันของผู้มีโลกทรรศน์แบบ "พวกหัวเก่า" และ "พวกหัวใหม่" ครั้งนั้นผ่าน "ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ" ของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" กับพระราชนิพนธ์หลายชิ้นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เปิดฉากการวิวาทะจนทำให้เราสามารถเข้าใจความคิดที่อยู่เบื้องหลังแรงผลักดันกับแรงเหนี่ยวรั้งสยามบนคลื่นของความเป็นสมัยใหม่เท่านั้น แต่เรายังสามารถเข้าใจความขัดแย้งของความคิดทางการเมืองระหว่างความคิดเสรีนิยม (Liberalism) กับอนุรักษนิยม(Conservative) ที่ปรากฏบนแผ่นดินสยามเมื่อ ๑ ศตวรรษที่แล้วได้ด้วยเช่นกัน


ความคิดทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ใน "ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ" ของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" นั้นได้วิจารณ์การปกครองแบบ "แอ็บโซลู๊ด มอนากี้"ว่าเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าของสยาม เนื่องจากกษัตริย์มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย "กระษัตริย์จะทำชั่วร้ายอย่างใดก็ทำได้" จะกดขี่แลเบียดเบียนราษฎรให้ได้รับความทุกข์ได้ทุกประการ เงินภาษีอากรจะถูกนำมาบำรุงความสุขให้ส่วนตัว พระราชวงศ์และบ่าวไพร่ เงินบำรุงบ้านเมืองจึง "ไม่เหลือหรอ" ด้วยเหตุที่สยามปกครองในระบอบดังกล่าว และมีพวกที่คอย "ล้างผลาญ" ภาษีอากรที่เข้ามา "กัดกันกินเลือดเนื้อของประเทศ" จะทำให้สยามทรุดโทรมและถึงแก่กาลวินาศ ความคิดทางการเมืองเช่นนี้สะท้อนออกมาในคำให้การของสมาชิกคนหนึ่งที่กล่าวว่า "พระเจ้าแผ่นดินหาง่าย บ้านเมืองหายาก"


อย่างไรก็ตามในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นประมุขของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามได้ทรงเห็นความพยายามปฏิวัติของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" นั้น พระองค์ทรงได้มีพระราชวิจารณ์ความคิดทางการเมืองเหล่านักปฏิวัติว่าเป็นผู้มี "ความคิดฤศยาหยุมหยิม" ความว่า  "...คนยังมีความคิดฤศยาหยุมหยิมอยู่ฉนี้ฤาจะเป็นผู้ที่จัดการปกครองบ้านเมืองอย่างรีปับลิคได้ อย่าว่าแต่ริปับลิคเลย ถึงแม้จะปกครองอย่างลักษณเจ้าแผ่นดินมีคอนสติตูชั่นก็ไม่น่าจะทำไปได้…"


ในสายของเหล่านักปฏิวัติการปกครองแบบ "ลิมิตเต็ด มอนากี้" หมายถึงการปกครองที่ "กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย" เมื่อกษัตริย์ไม่มีอำนาจจะทำให้ "พวกเต้นเขนและพวกเทกระโถนตามวังเจ้าจะไม่มีโอกาสได้เป็นขุนนางเลย" และพวกเขามีวิจารณ์เพิ่มเติมว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่แบบใหม่ได้เกิดขึ้นไปทั่วโลกแล้ว คงเหลือแต่ประเทศสยามเท่านั้นที่ยังคงระบอบการปกครองที่ทำให้ "พวกกระษัตริย์ได้รับความสุขสนุกสบายมากเกินไปจนไม่มีเงินจะบำรุงประเทศ"


สำหรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ถึงความเป็นไปได้ของสยามที่จะมีระบอบการปกครองแบบ "ลิมิตเต็ด มอนากี้" หรือ "กระษัตริย์ต้องอยู่ใต้กฎหมาย" ว่า สยามไม่สามารถปกครองแบบที่มี "คอนสติตูชั่น" ที่จำกัดอำนาจของกษัตริย์ได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีความรู้ และหากให้ประชาชนมีอำนาจทางการเมืองแล้ว ประชาชนจะใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ทรงพระราชวินิจฉัยว่า ประชาชนไม่มีความสามารถที่จะถืออำนาจและใช้อำนาจได้ทุกคน แต่เมื่อต้องมีการเลือกตั้งผู้แทนฯ จะทำให้เกิดการเกลี้ยกล่อม "ฬ่อใจ" ประชาชนด้วยถ้อยคำ การเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ และติดสินบนประชาชน ทรงพระราชวินิจฉัยว่า ภายใต้การปกครองดังกล่าวจะเกิดพวก"ปอลิติเชียน" มาทำมาหากินในทางการเมือง อีกทั้งการปกครองดังกล่าวจะนำไปสู่ความแตกแยก เช่น การมี "ปาร์ตี ลิสเต็ม" ทำให้การปกครองไม่มั่นคง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลง "เคาเวอร์เมนต์" เสมอ ทำให้บ้านเมืองยิ่งชอกช้ำมากขึ้น


ส่วนการปกครองแบบ "รีปับบลิ๊ก" ซึ่งเป็นแบบสุดท้ายที่ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" นำเสนอนั้น พวกเขานิยามว่า การปกครองชนิดนี้จะ "ยกเลิกไม่ให้มีกระษัตริย์ปกครองอีกต่อไป แต่มีที่ประชุมสำหรับจัดการบ้านเมืองอย่างแข็งแรง โดยมีประธานาธิบดีเป็นประธานสำหรับการปกครองประเทศ" พวกเขาเชื่อว่า ประชาชนในระบอบนี้จะมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากกว่าระบอบอื่น ดังนั้นการปกครองรูปแบบนี้ "ราษฎรทุกประเทศจึงอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นรีปับบลิ๊กทั้งหมด เวลานี้ประเทศใหญ่น้อยต่างๆ เป็นรีปับบลิ๊กกันเกือบทั่วโลกแล้ว" เช่น ประเทศในยุโรป อเมริกา และจีน


ในกรณีที่ประเทศใดมีการปกครองแบบ "รีปับบลิ๊ก" แล้ว ประชาชนจะมีความเสมอภาคมากกว่าระบอบอื่นตามข้อเสนอของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าความเสมอภาคไม่มีอยู่จริง แม้จะมี "...การเลิกเจ้าแผ่นดินเลิกเจ้าและเลิกขุนนางเสียให้หมด เปลี่ยนลักษณการปกครองเปนประชาธิปไตย (ริปับลิค) อันตามตำราว่าเปนลักษณการปกครองซึ่งให้โอกาสให้พลเมืองได้รับความเสมอหน้ากันมากที่สุด เพราะใครๆ ก็มีโอกาสจะได้เปนถึงประธานาธิบดี ข้อนี้ดีอยู่ (ตามตำรา) แต่พิจารณาดูความจริงก็จะแลเห็นได้ว่า ไม่มีพลเมืองแห่งใดในโลกนี้ที่จะเท่ากันหมดจริงๆ เพราะทุกคนไม่ได้มีความรู้ปัญญาเสมอกัน...เช่น จีนที่ได้เปนขบถต่อเจ้าวงษ์เม่งจูจนสำเร็จตั้งเปนริปับลิคขึ้นได้แล้ว ในชั้นต้นก็ได้เลือกซุนยัดเซนเปนประธานาธิบดี แต่ตัวซุนยัดเซนเองเปนคนที่ฉลาดพอที่จะรู้สึกตนว่าไม่มีความสามารถพอที่จะทำการในน่าที่ผู้ปกครองต่อไปได้จึ่งต้องมอบอำนาจให้ยวนซีไก๋เปนประธานาธิบดีต่อไป นี่เปนพยานอยู่อย่าง ๑ แล้วว่าคนไม่เท่ากัน..."  นอกจากนี้ พระองค์ทรงพระบรมราชวินิจฉัยเพิ่มเติมอีกว่า ไม่มีทางสร้างความเสมอภาคให้บังเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใดในโลกได้ แม้แต่สถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตย (รีปับบลิ๊ก) ขึ้นก็ตาม นอกเสียจากจะต้องแก้ไขความอิจฉาภายในตัวมนุษย์เสียก่อนว่า "การที่จะแก้ไขความไม่เสมอหน้ากันและแก้ความไม่พอใจอันบังเกิดขึ้นแต่ความไม่เสมอหน้ากันนั้น ก็เห็นจะมียาอยู่ขนานเดียวที่จะแก้ได้ คือ การจัดลักษณการปกครองเปนอย่างประชาธิปไตย แต่ยาขนานนี้ก็ได้มีชาติต่างๆ ลองใช้กันมาหลายรายแล้ว มีจีนเปนที่สุด ก็ยังไม่เห็นว่าเปนผลได้จริง ไม่บำบัด 'โรคอิจฉา'และ 'โรคมักใหญ่มักมาก' แห่งพลเมือง จึ่งเปนที่จนใจอยู่…"


นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงได้โต้แย้งข้อกล่าวหาของ"คณะ ร.ศ. ๑๓๐" ที่ได้วิจารณ์การบริหารราชการภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นเหตุให้เกิดคนยากจนมากมายในราชอาณาจักรนั้น พระองค์ทรงพระบรมราชวินิจฉัยว่า ไม่มีหลักฐานใดชี้ว่าพสกนิกรของพระองค์อดตาย ทรงเห็นว่าพสกนิกรของพระองค์ไม่ยากจนดังข้อกล่าวหานั้น พระองค์ได้ทรงยกตัวอย่างว่า ณ เวลานั้น รถไฟของสยามยังบรรทุกคนหัวเมืองหรือ "ชาวบ้านนอก" เข้ามายังกรุงเทพฯ ตลอดเวลา คนเหล่านั้นเข้าเมืองมาเพื่อมาเล่นการพนันและหวย ทรงพระบรมราชวินิจฉัยว่า หากพสกนิกรของพระองค์ที่หัวเมืองยากจนจริง พวกเขาจะไม่สามารถเดินทางเข้ามาเล่นการพนันในเมืองได้ นอกจากนี้ทรงยืนยันว่า "ข้าพเจ้าขอยืนยันว่าเขาไม่จนเลย"เนื่องจากพสกนิกรของพระองค์มีที่ดิน มีอาหารบริบูรณ์ สำหรับพระองค์แล้ว เงินไม่มีความสำคัญกับพวกเขา ในสายพระเนตรของพระองค์นั้น เงินมีประโยชน์สำหรับพสกนิกรของพระองค์เพียง ๒ ประการเท่านั้น คือ "(๑) เสียภาษีและ (๒) เล่นการพนัน"


แม้การพยายามสร้างความ "ศรีวิลัย" ให้กับสยามด้วยการปฏิวัติทางการเมืองของ"คณะ ร.ศ. ๑๓๐" เมื่อครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ สมาชิกของคณะฯ ถูกตัดสินลงโทษและหลายคนเสียชีวิตในคุก แต่การจองจำอิสรภาพของพวกเขามิได้ทำให้พวกเขาอับจนความใฝ่ฝันแต่อย่างใด ดังที่ ร.ต. วาส วาสนา หนึ่งในสมาชิกได้กล่าวกับเพื่อนๆ ในวาระสุดท้ายของชีวิตนักปฏิวัติว่า "เพื่อนเอ๋ย กันต้องลาเพื่อนไปเดี๋ยวนี้ ขอฝากลูกของกันไว้ด้วย กันขอฝากไชโย ถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น" กระนั้นก็ดี ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้พระองค์จะทรงพยายามรักษาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันเป็นพระราชมรดกให้สืบทอดต่อไปในสยาม แต่ไม่นานภายหลังการสิ้นรัชสมัยของพระองค์ (๒๔๖๘) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอนุชาของพระองค์ได้เผชิญพระพักตร์กับพลังของภาวะสมัยใหม่และความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่ผลักดันสยามไปสู่ปฏิวัติทางการเมืองอีกครั้งใน "การปฏิวัติ ๒๔๗๕"


"การปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐"  ในบันทึกความทรงจำ


การหันกลับมาพิจารณาเอกสารทางประวัติศาสตร์ในวาระครบรอบ ๑ ศตวรรษความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ โดยเฉพาะการรวบรวมบันทึกความทรงจำถึงความพยายามปฏิวัติของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" ที่มีความกระจัดกระจายให้ครบถ้วนนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีความเป็นได้ว่างานศพของสมาชิกที่จากไปในช่วงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อาจไม่มีหนังสือที่ระลึกงานศพของพวกเขา เนื่องจากคงไม่มีผู้ใดอาจหาญประกาศตัวเขียนคำอาลัยถึงนักโทษการเมืองที่มุ่งโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือกล้าเปิดเผยแพร่บันทึกการเตรียมการปฏิวัติทางการเมืองออกสู่สังคมสยามในขณะนั้น แต่กระนั้นก็ดี เมื่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกโค่นล้มลงจาก "การปฏิวัติ ๒๔๗๕" และต่อมา "คณะราษฎร" ได้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับพวกเขาซึ่งอาจทำให้พวกเขารู้สึกเป็นอิสระและได้เริ่มเขียนถึงเหตุการณ์ดังกล่าวลงในหนังสืองานศพของสมาชิก งานเขียนที่พบมักเป็นคำอาลัยเฉพาะบุคคลซึ่งให้ข้อมูลเหตุการณ์เป็นห้วงๆ ตามบทบาทของผู้วายชนม์ อย่างไรก็ตามแกนนำสำคัญบางคนได้เริ่มลงมือบันทึกความทรงจำถึงเหตุการณ์นั้นในเวลาต่อมา ดังที่ผู้เขียนสามารถรวบรวมหลักฐานจำนวนหนึ่งจึงนำเสนอเรียงตามลำดับต่อไปนี้ 


บทความ "ชีวิตนักการเมืองและวิบากกรรมของคณะ ร.ศ. ๑๓๐"  (๒๔๗๕) เป็นงานเขียนที่บันทึกถึง "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" ที่เก่าที่สุดที่พบขณะนี้ บทความชิ้นนี้เขียนโดย ร.ต. สอน วงษ์โต เขาเป็นหนึ่งในสมาชิก "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" บทความชิ้นนี้เขาได้เขียนลงเป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ "สยามราษฎร์" ในเดือนสิงหาคม ๒๔๗๕ หรือหลังจากการปฏิวัติ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ไม่นาน ต่อมาบทความนี้ถูกตีพิมพ์ซ้ำในหนังสืองานศพของ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา เนติบัณฑิต สมาชิกกลุ่มพลเรือนที่มีความคิดสนับสนุนการปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคน สาระสำคัญในบทความชิ้นนี้กล่าวเชิดชูวีรกรรมของ "คณะราษฎร" ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามปฏิวัติใน ร.ศ. ๑๓๐ โดยสังเขป แต่ ร.ต. สอนเน้นเรื่องราวไปยังความทุกข์ทรมานของชีวิตนักโทษในเรือนจำเป็นพิเศษ ในส่วนท้ายบท เขาได้วิจารณ์ความความเสื่อมทรามของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การปฏิวัติฝรั่งเศส และความเสื่อมทรามและการแย่งชิงอำนาจและความเหลวแหลกในหมู่ชนชั้นปกครองในประวัติศาสตร์สยาม


สำหรับ ปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ (๒๔๘๔) ของ ร.อ. เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ และ สมจิตร เทียนศิริ เป็นบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ความพยายามปฏิวัติของพวกเขา เนื้อหาภายในเรียบเรียงมาจากบันทึกของ ร.ต. เนตรและความทรงจำของ ร.ต. เหรียญ บันทึกเล่มนี้ได้รับการตรวจความถูกต้องจาก ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง) โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ผลักดันให้พวกเขาเปิดเผยเรื่องราวในอดีตออกสู่สังคมภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้ถูกขยายและกลายเป็นส่วนหนึ่งใน "หมอเหล็งรำลึก" 
          

บันทึกความทรงจำชิ้นต่อไป คือ คน ๖๐ ปี (๒๔๙๔) ของ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ งานชิ้นนี้มีลักษณะเป็นงานเขียนอัตชีวประวัติ ร.ต. เนตรได้เริ่มบันทึกเรื่องราวที่สะท้อนถึงโลกทรรศน์ของเขา โดยเริ่มจากสิ่งที่กว้างที่สุด คือ ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นจาก "องค์ธรรมชาติ" "องค์เหตุผล" และ "องค์ความดี" ในบันทึกชิ้นนี้ เขาได้อธิบายสาเหตุของการตัดสินใจหมุนสยามให้ทันสมัย เนื่องจากเขาตระหนักถึงการวิวัฒน์ของโลกและมนุษย์ที่มุ่งสู่ความก้าวหน้า ดังนั้นสรรพสิ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเจริญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ต่อมาเขาได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความพยายามผลักดันให้สยามเคลื่อนไปบนเส้นทางของความเป็นสมัยใหม่ทางการเมือง เริ่มจากฉากชีวิตนักปฏิวัติของสามัญชน ชีวิตของผู้พ่ายแพ้ในเรือนจำ การถูกปลดปล่อยในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตามความใฝ่ฝันถึงอนาคตใหม่ของพวกเขายังคงแรงกล้าทำให้พวกเขาสนับสนุนให้การปฏิวัติ ๒๔๗๕ และปิดท้ายด้วยเรื่องราวชีวิตใหม่ของเขาภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ 
  

บันทึกความทรงจำเล่มสุดท้ายที่จะเขียนถึง คือ หมอเหล็งรำลึก (๒๕๐๓) ของ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ บันทึกความทรงจำร่วมของ ร.ต. เหรียญและ ร.ต. เนตร เขียนขึ้นเพื่ออุทิศเป็นอนุสรณ์งานศพของ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) หัวหน้า "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" เมื่อปี ๒๕๐๓ สาระภายในบันทึกถึงความเป็นมาของการก่อตัวของความคิดในการพยายามปฏิวัติทางการเมืองของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐"เป้าหมายของการปฏิวัติ การขยายแนวร่วม การทรยศหักหลัง น้ำใจของเพื่อนนักปฏิวัติ การถูกจับกุมและไต่สวนจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การถูกคุมขังลงทัณฑ์ ชีวิตนักโทษการเมืองในคุก ชีวิตนักปฏิวัติหลังการพ้นโทษ การสนับสนุนการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ของพวกเขา  กล่าวได้ว่า บันทึกความทรงจำเล่มนี้ ถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่สำคัญและถูกใช้เป็นหลักฐานในการศึกษาเหตุการณ์ในครั้งนั้นมากที่สุด


ในวาระครบรอบ ๑ ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ (๒๕๕๕) เหตุการณ์นี้ไม่เป็นแต่เพียงความเคลื่อนไหวทางการเมืองสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของสยามเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดฉากวิวาทะระหว่างฝ่ายที่ต้องการรักษากับฝ่ายมุ่งเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมืองที่จินตภาพถึงอนาคตของสยามที่วางอยู่บนทางสองแพร่งระหว่าง "ซิวิไลซ์หรือศรีวิลัย" "ความเสื่อมหรือความเจริญ" "อนุรักษนิยมหรือเสรีนิยม" "ราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย" หรือแม้กระทั่ง "ลิมิตเต็ด มอนากี้ หรือรีปับบลิ๊ก" แม้สยามจะเดินผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมานานถึง ๑๐๐ ปีแล้วก็ตาม แต่การวิวาทะถึงความเปลี่ยนแปลงของไทยยังคงดำเนินต่อไปบนเส้นทางของความไม่สิ้นสุดของภาวะสมัยใหม่


ดังนั้น ณ ช่วงเวลานี้จึงอาจมีความเหมาะสมที่จะหวนกลับมาอ่านบันทึกความทรงจำของพวกเขาใน "หมอเหล็งรำลึก" ที่ทรงคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ถึงความพยายามและเหตุผลในการปฏิวัติครั้งนั้นควบคู่ไปกับเอกสารสำคัญร่วมสมัย เช่น "กฎข้อบังคับสำหรับสโมสร" "ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ" "คำให้การของนักปฏิวัติ" "จดหมายเหตุรายวันในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว" และ "ชีวิตนักการเมืองและวิบากกรรมของคณะ ร.ศ. ๑๓๐"  เพื่อเข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ตลอดจนร่วมกันการประเมินความสำเร็จและล้มเหลวของเส้นทางสังคมไทยและการพัฒนาประชาธิปไตยไทยอีกครั้ง

 

อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ พร้อมเชิงอรรถและรูปภาพประกอบจำนวนมาก ได้ที่นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2555





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น