วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

'กสทช.'ปีนเกลียวแบ่งก๊ก ปมร้าว

'กสทช.'ปีนเกลียวแบ่งก๊ก ปมร้าว

alt

แม้ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จะได้รับโปรดเกล้าฯและแต่งตั้งอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2554 แต่ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ร่องรอยของความแตกแยกเกิดขึ้นอย่างเห็นได้เด่นชัดระหว่างฝ่ายกิจการโทรคมนาคม กับ ฝ่ายกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
 โครงสร้างองค์กร ร่องรอยความขัดแย้ง
 ทั้งนี้ เพราะพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ 2553 ได้เขียนโครงสร้างองค์กรของ กสทช. ออกมาชัดเจน ด้วยการแบ่งโครงสร้างการบริหารจัดการองค์กรออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทค. และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และ กิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. 
 อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างการปฏิบัติงานจะออกมาให้มีความชัดเจนและเป็นเจตนาดีของการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว แต่ดูเหมือนว่าในทางปฏิบัติไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะการแบ่งหน้าที่กำกับดูงานกำลังจะกลายเป็นการสร้างดาวกันคนละดวง ทั้งๆที่อยู่ในองค์กรเดียวกัน
 ก่อนหน้านี้  พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี  ประธาน กสทช เปิดให้โหวตเลือกรองประธานกรรมการปรากฏว่า พ.อ.นที ศุกลรัตน์ เป็นรองประธานด้านวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุรรณ เป็นรองประธานด้านโทรคมนาคม
 แต่ใครๆ ก็รู้ดีว่าการที่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ได้รับการโหวตจาก ส.ว.หรือ สมาชิกวุฒิสภา ได้กลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งเป้าหมายลึกๆก็ต้องการกลับเข้ามาสานต่อการประมูลโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ในย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เพราะในด้านกิจการโทรคมนาคมนั้นการประมูล 3 จี เม็ดเงินรายได้มีจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับฝั่งกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
 แบ่งสายสร้างอาณาจักร
 ที่สำคัญไปกว่านั้นฝ่ายกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ในห้วงเวลานี้ได้สร้างอาณาจักรกันไปแล้วก็ว่าได้ เพราะทางฝั่งกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ที่มี พ.อ.นที ศุกลรัตน์ นั่งหัวโต๊ะและมีคณะกรรมการ กสทช. ประกอบไปด้วย พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ,พ.ต.อ. ทวีศักดิ์ งามสง่า,ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
 ไม่เพียงเท่านั้นทางฝั่ง กสท ได้เสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. เช่าพื้นที่ของอาคารเอ็กซิมแบงก์เป็นสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ จำนวนพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร รวม 3 ชั้น คิดเป็นเงินค่าเช่าเดือนละ 4 ล้านบาท นาน 3 ปี หรือปีละ 36-48 ล้านบาท รวมตลอดอายุสัญญา 108-144 ล้านบาท
 แม้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. จะให้เหตุผลว่า กรณีที่ กสท ต้องไปเช่าพื้นที่ของอาคารเอ็กซิมแบงก์เนื่องจากพื้นที่ กสทช.ค่อนข้างจำกัด และ การย้ายสถานที่ของ กสทก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองฝ่ายมีความขัดแย้ง และ การปรับโครงสร้างก็เป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ
 แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพราะใครๆ ใน กสทช.ก็รู้ดีว่าทางฝั่ง กสท กับ กทค. นั้นเริ่มมีแรงกระเพื่อมระหว่างกัน
 หันมาดูฝั่ง กทค. ซึ่งมีพ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม ส่วนคณะกรรมการประกอบไปด้วย นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ  และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ซึ่งฝั่ง กทค.ในขณะนี้กำลังติวเข้มกับเรื่องการออกใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ที่ประมาณการเปิดประมูลในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ว่ากันว่าหากมีการเปิดประมูลแล้ว  กสทช.จะได้ใบอนุญาตถึง 5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
 บอร์ดปีนเกลียว
 นอกเหนือจากขั้วของ กสท.กับ กทค. กำลังแผ่ขยายและสร้างอาณาจักร ทางด้านคณะกรรมการ กสทช.จำนวน 11 คน ประกอบไปด้วย พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการ กสทช. เป็นประธานนั้นบรรดา กสทช.จำนวน 10 คนต้องบอกว่ามีความปีนเกลียวเช่นเดียวกันเพราะด้วยยศและตำแหน่งเรื่องของรุ่นพี่และรุ่นน้อง 
              ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกรณีเรื่องการวางตัวเลือกประธาน กทค.และประธาน กสท. เพราะ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ หมายมั่นปั้นมือจะกลับเข้ามารับผิดชอบการประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ห้วงเวลาที่อยู่ในตำแหน่งกรรมการ กทช.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เป็นคนผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่สุดท้าย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ก็ต้องผิดหวังและรุ่นพี่ คือ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ถูกโหวตจากคณะกรรมการบอร์ดให้เข้ามารับตำแหน่งแทน
 นอกจากนี้แล้วการเข้ามาของ คณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คน โดยเฉพาะคณะกรรมการ กสทช.ที่มาจากสายทหารถึง 5 คนและสายนายตำรวจอีก 1 คน เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดรอยร้าวเช่นเดียวกันกรณีของ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ได้รับตำแหน่งเป็นประธาน กทค. และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร นั่งเป็นกรรมการ แต่ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิประเด็นตรงนี้ต่างหากที่อาจจะทำให้เกิดรอยร้าว แม้ พล.อ.สุกิจ  ถูกมอบหมายให้ไปดูงานบริการทั่วถึงแบบสาธารณ หรือ ยูเอสโอ (United service Organizations)  
 ไม่ต่างอะไรกับฝั่ง กสท.ที่กำลังมีรอยแปลกแยกเช่นเดียวกันเพราะด้วยตำแหน่งวัยวุฒิและคุณวุฒิ 
 แม้แต่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช.ยังยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติของการทำงานจะต้องมีความขัดแย้งระหว่างกันบ้างเพราะในตอนนั้นคณะกรรมการ กทช.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ที่มีอยู่จำนวน 7 คนยังมีความขัดแย้งและคณะกรรมการ กสทช.เพิ่มขึ้นมาเป็น 11 คน เรื่องความคิดและหลักการบริหารจัดการมีความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติต้องใช้วิธีการเจรจาปรึกษาร่วมกันบ่อยๆ
 ปมรอยร้ายใน กสทช.ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจน ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ในฐานะประธานกรรมการ กสทช. จะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไรให้ กสทช. มีความเป็นปึกแผ่นมีเอกภาพและให้องค์กรอิสระแห่งนี้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างโปร่งใสและเข้มแข็งในทิศทางเดียวกัน หรือจะปล่อยให้เดินกันคนละทิศละทางสร้างดาวกันคนละดวงช่วงชิงไปสู่สวรรค์
           น่าจับตายิ่ง!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,710   2-4  กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น