วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

เรืองไกร ไล่บี้ จี้ กกต.สอบคุณสมบัติ 73 สว.สรรหาต่อ

เรืองไกร ไล่บี้ จี้ กกต.สอบคุณสมบัติ 73 สว.สรรหาต่อ

"เรืองไกร" จี้ กกต.ยกเครื่อง รื้อสอบคุณสมบัติ 73 ส.ว.สรรหา หวังล้มกระดาน 

ชี้กระบวนการสรรหาไม่ชอบมาตั้งแต่ต้น

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

เพิกถอนสิทธิ์ ส.ว. 31 คน ว่า ขณะนี้เหลือเพียงเรื่องเดียวที่อยู่ในการพิจารณาของ กกต. คือกรณีการไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งของ ส.ว.ประมาณ 10 คน ซึ่งนางสดศรี สัตยธรรม กรรมการ กกต. ยอมรับว่าอาจมีความผิดพลาดในการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นได้ ซึ่งกรณีนี้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้เพราะแบบฟอร์มการสมัครของ ส.ว.สรรหา ไม่มีช่องให้กาว่าได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากแบบฟอร์มการสมัครของ ส.ส.และ ส.ว.เลือกตั้ง ที่จะต้องกรอก และเรื่องนี้มีผู้ยื่นคัดค้านอยู่แล้ว ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้ตนยื่นเรื่องเข้าไปอีก เมื่อ กกต.รู้ปัญหาดีแล้วก็ควรตรวจสอบไปเลย จึงอยากให้ กกต.รื้อข้อมูลคุณสมบัติของส.ว.ทั้ง 73 คน ขึ้นมาตรวจสอบใหม่ว่ามีใครบ้างที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งถ้าพบว่าคนนั้นไม่ไปใช้สิทธิ์ ก็ดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิพากษาได้เลย กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่เกิน 1 วันก็เสร็จ 

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลของ 10 ส.ว.ที่ไม่ไปเลือกตั้งนั้น รายชื่อส่วนใหญ่จะอยู่ในต่างจังหวัด บางคนยังมีคดีค้างคาอยู่ในชั้นการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีบางคนส่งคนที่คิดว่าตนให้ความเกรงใจมาขอร้องว่า เคยมีบุญคุณกัน ให้ละเว้นได้หรือไม่ ส่วนประเด็นที่ กกต.ได้ยกคำร้องคดี 31 ส.ว. นั้น ยังคงเห็นว่าการลาออกของ ส.ว.กลุ่มนี้ก่อนจะครบวาระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 116 ถือว่า ส.ว.กลุ่มนี้ไม่ได้อยู่จนครบวาระ จะไปบอกว่าตัวเองมีสิทธิ์เข้ารับการสรรหาใหม่ไม่ได้ ซึ่งตนจะยื่นทักท้วงไปยัง กกต.เพราะตามรัฐธรรมนูญ 240 วรรคสอง กำหนดว่าเมื่อ กกต. ได้วินิจฉัยเป็นอย่างไรต้องส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยพลัน แต่คำวินิจฉัยของ กกต. ถ้าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา115 แล้ว จะเข้าข่ายขัดมาตรา 116 หรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามยังมีคำร้องของตนที่ค้างการพิจารณาอยู่ใน กกต. คือการร้องคัดค้านกระบวนการสรรหา ส.ว. ที่มีองค์คณะเพียง 6 คน โดยตัดสิทธิ์ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ให้ร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้งที่ศาลปกครองได้วินิจฉัยชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจของรักษาการผู้ว่า สตง. ดังนั้นถ้าดูตามกฎหมายเท่ากับว่า การสรรหา ส.ว.ครั้งนี้ต้องเป็นโมฆะทั้งหมด ส่วนที่บอกว่าตนหวังจะกลับเข้ามารับการสรรหาใหม่นั้นยืนยันว่าไม่คิดจะกลับมาเป็น ส.ว.อีก ขณะนี้คิดว่าจะสมัครเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ซึ่งน่าจะมีคุณสมบัติที่เหมาะสม อาจเป็นที่ จ.บุรีรัมย์ หรือสนาม กทม. หรือในสัดส่วนวิชาการก็ได้ ส่วนที่มองว่าทำเรื่องนี้เพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง นั้น ตนเดินเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือน เม.ย.2554 พรรคที่เป็นรัฐบาลขณะนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่เพื่อไทย คนที่คิดเช่นนี้ขอให้ย้อนไปดูปฏิทินประวัติศาสตร์การเมืองใหม่

โดย: ทีมข่าวการเมือง

13 มีนาคม 2555, 14:38 น.

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น