วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๒ จริงหรือข่าวลือ?

ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ ๒ จริงหรือข่าวลือ?

วันที่ 08 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 16:01:01 น.

  




โดย วิภา จิรภาไพศาล wipha_chi@yahoo.com




"พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์" จิตรกรรมฝาผนังขึ้นใหม่ภายในศาลาทรงยุโรปหลังองค์พระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2367 ก็เกิดเสียงร่ำลือว่านี้คือ "ฆาตกรรมอำพราง" 

เสียงร่ำลือพาดพิงถึงบุคคลที่ได้ประโยชน์ 

หนึ่งคือ เจ้าจอมมารดาเรียม พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชชนนีของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

หนึ่งคือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ที่ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่แม้จะเป็น "ลูกชายคนโต" และมีทั้งอำนาจและบารมีในขณะนั้น แต่โดยราชประเพณีของการสืบสันตติวงศ์ต้องถือว่าพระองค์ไม่มีสิทธิ

เสียงร่ำลือดังยาวนานมาเกือบ 200 ปี เบาบ้าง ตามเหตุบ้านการเมืองแต่ละช่วง 

ล่าสุด ปรามินทร์ เครือทอง เขียนบทความวิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจากการค้นคว้าเอกสารร่วมสมัยต่างๆ ลงนิตยสาร "ศิลปวัฒนธรรม" ฉบับเดือนพฤศจิกายน ชื่อบทความว่า "ฆาตกรรมวังหลวง : คดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 2 จริงหรือลือ?" โดยการสาวไปตามเงื่อนงำต่างๆ เท่าที่เอกสารจะมีให้สาวได้

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เขียนถึงเหตุการณ์สวรรคตครั้งนี้ไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 2 ว่า 

(ซ้าย) พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประดิษฐานภายในปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจากจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนักเล่ม 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง พ.ศ.2536)

(ขวา) พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพะจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ภาพจากจิตรกรรมและประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนักเล่ม 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพระราชวัง พ.ศ.2536)



"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรงราชสมบัติมาตั้งแต่ปีมะเส็งเอกศก มาถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสี่ค่ำ ปีวอกฉศก ทรงพระประชวรให้มึนเมื่อยพระองค์ เรียกพระโอสถชื่อจารในเพชรข้างที่ ที่เคยเสวยนั้นมาเสวย ครั้นเสวยแล้วให้ร้อนเป็นกำลัง เรียกทิพยโอสถมาเสวยอีก พระอาการก็ไม่ถอยให้เชื่อมซึมไป แพทย์ประกอบพระโอสถถวายก็เสวยไม่ได้ มิได้ตรัสสิ่งไร มาจนถึง ณ วันพุธ เดือนแปด แรมสิบเอ็ดค่ำ เวลาย่ำค่ำแล้วห้าบาทเสด็จสู่สวรรคต"

จารในเพชร และทิพยโอสถ เป็นพระโอสถชนิดใด มีคุณสมบัติอย่างไร ผู้เขียน (ปรามินทร์) ตรวจสอบค้นหาชื่อและสรรพคุณทางยาจาก ตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ 2 หากไม่พบยาชื่อดังกล่าวทั้งที่เป็นพระโอสถ "ที่เคยเสวย" 

พระโอสถชื่อ "จารในเพชร" พระโอสถที่เรียกเสวยได้เองน่าจะเป็นยาสามัญพื้นฐานทั่วๆ ไป แต่กลับเกิดพระอาการ "ร้อนเป็นกำลัง"

เงื่อนเวลาเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ปรามินทร์นำเสนอชวนให้พิจารณาว่ามีการเตรียมความพร้อม 

ปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีพระชนมายุ 20 พรรษา กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ 37 พรรษา วันเวลาของเจ้าฟ้ามงกุฎฯกำลังรุ่งโรจน์ด้วยวัยของคนหนุ่ม 

จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระไตรปิฎก วัดบวรนิเวศวิหาร ที่เขียนสมัยรัชกาลที่ 3 ภาพ "ประวัติคณะธรรมยุต" ในภาพกลุ่มพระภิกษุกำลังสนทนาธรรมกับพระภิกษุทรงสมณศักดิ์ที่นั่งเป็นประธานบนแท่นศิลา พระภิกษุทรงสมณศักดิ์ สันนิษฐานว่าคือ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ



ขณะเดียวกันวัย 20 พรรษาที่ต้องผนวช 

พระราชพงศาวดารฯบันทึกว่า มีการกำหนดพระฤกษ์ผนวชของเจ้าฟ้ามงกุฎฯไว้ล่วงหน้า คือวันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 จุลศักราช 1186 (7 กรกฎาคม พ.ศ.2367) ในพระราชพิธีดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระพลานามัยปกติเสด็จออกถวายเครื่องบริขารและไตรจีวร

แต่หลังจากนั้นเพียง 14 วันพระองค์ก็เสด็จสวรรคตในวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 8 (21 กรกฎาคม พ.ศ.2367)

พระราชพงศาวดารฯ ระบุว่าทรงเริ่มพระประชวรเมื่อวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 8 (14 กรกฎาคม) 

จดหมายความทรงจำฯของกรมหลวงนรินทรเทวี บันทึกว่าเป็นวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 8 (16 กรกฎาคม) 

จดหมายเหตุโหรระบุว่าทรงเริ่มพระประชวรวันเสาร์ แรม 7 ค่ำ (17 กรกฎาคม)

แม้วันที่เริ่มมีพระอาการประชวรจะไม่ตรงกัน แต่ทำให้เห็นว่าระยะเวลาประชวรจนเสด็จสวรรคตนั้นสั้นมาก และในระหว่างมีพระอาการประชวร พระองค์ยังเสด็จออกปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นปกติ 

กลับไปถึงเสียงร่ำลือที่พาดพิงถึงเจ้าจอมนั้น หมอมัลคอล์ม สมิธ หมอหลวงประจำราชสำนักรัชกาลที่ 5 บันทึกถึงสิ่งที่เขาได้ยินได้ฟังมาในวังหลวงไว้ในหนังสือราชสำนักสยามฯ ว่า

"หลังจากที่ทรงผนวชได้เพียง 2 สัปดาห์ พระราชบิดาของพระองค์ [รัชกาลที่ 2] ก็เสด็จสวรรคตลงอย่างปัจจุบันทันด่วน พระนั่งเกล้าฯ พระเชษฐาซึ่งมีตำแหน่งสำคัญในราชอาณาจักรและยังทรงได้รับการสนับสนุนจากพระมารดาซึ่งแม้จะมีฐานะเป็นเพียงเจ้าจอมแต่ก็เป็นหญิงที่มีเล่ห์เหลี่ยม ทำให้พระองค์ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สืบทอดราชสมบัติ"

ซึ่งก่อนหน้านั้น ในรัชกาลที่ 4 แหม่มแอนนาก็เคยได้ยินคำเล่าลือทำนองนี้มาแล้ว

เอกสารชิ้นสุดท้ายที่ปรามินทร์อ้างอิงถึงในครั้งนี้คือ พระราชนิพนธ์ภาษาบาลี ว่าด้วยพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกล่าวถึงสาเหตุแห่งการสวรรคตของพระราชบิดาว่า เสมือนพบเจอกับอสรพิษทำให้สวรรคตกะทันหันไม่ทันพระราชทานพระราชสมบัติให้ผู้ใด 

เรื่องราว และเอกสารทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในอดีต บันทึกไว้ในอดีต และร่ำลือกันในอดีต ในวังหลวงของกรุงรัตนโกสินทร์ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น