วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จาก "ชมพูทวีป" สู่ "สุวรรณภูมิ" ค้นหา "วิปัสสนากรรมฐาน" ที่หายไป

จาก "ชมพูทวีป" สู่ "สุวรรณภูมิ" ค้นหา "วิปัสสนากรรมฐาน" ที่หายไป

วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 12:00:53 น.

  




โดย อรพรรณ จันทรวงศ์ไพศาล 




ไม่น่าเชื่อว่า "วิปัสสนากรรมฐาน" จะเคยหายไปจากประเทศไทยกว่า 200 ปี!

เพื่อค้นหาความลับของเรื่องราวดังกล่าว ในงานนิทรรศการศิลปะฉลองปีพุทธชยันตี "ต้นธารแห่งความสุข" ที่หอศิลปแห่งชาติ (หอศิลป์เจ้าฟ้า) จึงจัดเสวนา "ตามรอยวิปัสสนากัมมัฏฐานจากชมพูทวีปสู่สุวรรณภูมิ" ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้เรื่องวิปัสสนากรรมฐานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

มณเธียร ธนานาถ อดีตอุปนายก ยุวพุทธิกสมาคมฯ บอกว่า วิปัสสนา แปลว่า รู้แจ้ง (วิ แปลว่า รู้ ปัสสนา แปลว่า แจ้ง) อีกนัยหนึ่งคือหนทางที่พัฒนาสู่ปัญญา ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าเป็นรูปแบบ เช่น การนั่งสมาธิหรือเดินจงกรม แต่ความจริงแล้ววิปัสสนาธุระ หรือวิปัสสนากรรมฐาน คือหนทางแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส และการพัฒนาปัญญา ซึ่งศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาไม่ให้เชื่อโดยงมงาย

มณเธียรเล่าว่า จากการศึกษาพระพุทธศาสนาที่ผ่านมา เมื่อ พ.ศ.235 ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ได้มีการส่งพระธรรมทูต 9 สาย ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีสายหนึ่งเดินทางมาที่สุวรรณภูมิ คาดเดากันว่าเป็นพื้นที่ประเทศไทยและพม่า นั่นคือครั้งแรกที่วิปัสสนากรรมฐานเข้ามาในประเทศไทย

"ส่วนเรื่องวิปัสสนาหายไปนั้น ไม่ได้มีหลักฐานที่ค้นคว้าไว้ แต่มีหลักฐานที่เป็นการบอกเล่ากันมาว่าเริ่มจางหายตั้งแต่ปลายกรุงศรีอยุธยา เพราะสมัยนั้นมีความเชื่อเรื่องการปฏิบัติที่เป็นความเชื่อทางฮินดูมากกว่า ทำให้ความสำคัญของวิปัสสนาลดน้อยลง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยขึ้นมา และมีดำริให้มีการสืบต่อการปฏิบัติธรรมสายคันธุระและวิปัสสนาธุระ แต่ในประเทศไทยไม่ปรากฏว่ามีพระสายวิปัสสนาธุระเลย จึงต้องระงับเรื่องวิปัสสนานี้ไป เพราะหาบุคคลากรไม่ได้ เมื่อสืบเสาะลึกลงไปเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจึงพบว่าวิปัสสนากรรมฐานได้หายไปจากประเทศไทยราว 200 ปี" มณเธียรบอก 

ภาพวาดจากดิน ภาพพระอาจารย์ชัชวาล ชินสโภ ของ สมภพ บุตราช (ซ้าย)



ด้าน นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ 
มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ-สวนโมกข์กรุงเทพ เล่าว่า พระพุทธศาสนาเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิเนิ่นนาน เห็นได้จากการพบรอยพระพุทธบาทมากมาย รวมไปถึงการปรากฏเรื่องราวของดินแดนสุวรรณภูมิในชาดกหลายเรื่อง ที่สืบต่อกันมารวมถึงวิปัสสนากรรมฐานด้วย

"ความเข้าใจของผมคิดว่า วิปัสสนาธุระไม่เคยหายไปจากประเทศไทย เพียงแต่อาจจะมีช่วงที่รุ่งเรืองและไม่รุ่งเรืองสลับสับเปลี่ยนกัน ซึ่งอาจจะแฝงหรืออยู่ควบคู่กับอยู่ในการปฏิบัติธรรมแทบทุกอย่าง" นพ.บัญชาบอก 

ภาพแสงสุวรรณภูมิ ของ อ.ปรีชา เถาทอง



พระปลัดชัชวาล ชินสโภ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมจักร เล่าว่า ถ้าเราดูตามหลักฐานก็ไม่มีข้อพิสูจน์เลยว่า วิปัสสนากรรมฐานได้หายไป แต่ถ้าดูด้วยเหตุผลในช่วงอยุธยาตอนกลางสมัยพระเจ้าทรงธรรมเป็นไปได้ว่าเป็นช่วงที่วิปัสสนากรรมฐานเริ่มหายไป เนื่องจากเป็นช่วงที่มีสงครามเกิดขึ้นบ่อย พระที่บวชยุคนั้นส่วนใหญ่ก็จะทำสมาธิเน้นในเรื่องของอัตตาทั้งหมด ทั้งการเพ่งสมาธิ เรื่องของคาถาอาคม เครื่องรางของขลัง เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการออกศึก ฉะนั้น ในยุคนั้นจึงมีพระสายวิปัสสนากรรมฐานแท้ๆ น้อยลงเรื่อยๆ

หลังจากนั้น วิปัสสนาธุระก็ได้หายไปจากประเทศไทยราว 200 ปี จนกระทั่งเมื่อ 60 ปีก่อน

พระปลัดชัชวาล ชินสโภ บอกว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) ได้สืบเสาะเรื่องพุทธศาสนาไปทั่วโลก โดยเริ่มจากประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งท่านไปเจอการสอนที่ลังกาและพม่า ซึ่งมีการสอนพุทธศาสนาตรงตามตำราเดียวกับประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2495 ท่านได้ส่งลูกศิษย์ของท่าน คือ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณุสิทธิ) ไปศึกษาวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศพม่า คือดินแดนสุวรรณภูมิที่สองพระอรหันต์ คือ พระโสณะและพระอุตระได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และได้สืบทอดวิปัสสนาวงศ์ คือวงศ์ของผู้สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลได้ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน

"พระธรรมธีรราชมหามุนี ได้ไปศึกษาวิปัสสนาธุระที่สำนักศาสนายิตสา ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมของรัฐบาลพม่า จนสำเร็จกลับมา สมเด็จพระพุฒา
จารย์ ก็ได้ทำหนังสือไปยังรัฐบาลประเทศพม่า เพื่อขออาราธนาพระอาจารย์จากสำนักศาสนายิตสา 
กรุงย่างกุ้ง และได้ตัวแทนของ พระสงฆ์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน คือ พระภัททันตะ อาสภะมหาเถระ อัคคกัมมัฏฐานะจริยะ มาเป็นอาจารย์ที่คณะ 5 วัดมหาธาตุ
ยุวราชรังสฤษดิ์ กรุงเทพฯ โดยเดินทางออกจากพม่าในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2495 มาถึงประเทศไทยเช้าวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2496 นับแต่นั้นจึงเกิดการสอนวิปัสสนาที่ถูกต้องขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย" พระปลัดชัชวาลกล่าวปิดท้าย

เวทีเสวนาธรรมปิดฉากลงอย่างงดงาม ตามด้วยการเปิดนิทรรศการศิลปะที่จัดขึ้นโดยมี 8 ศิลปินแห่งชาติ 1 ศาสตรเมธี ร่วมกับศิลปินชั้นนำอีก 19 ท่าน และผลงานกว่า 70 ชิ้น เพื่อหาทุนสร้างวัดพระธรรมจักร จ.นครนายก สืบทอดวิปัสสนาวงศ์ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน 

สำหรับงานนิทรรศการศิลปะ "ต้นธารแห่งความสุข" จัดขึ้นที่หอศิลปแห่งชาติ 
(หอศิลป์เจ้าฟ้า) ถึงวันที่ 28 พ.ย.นี้

หน้า 21,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2555 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น