วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หน่วยงานราชการและนายทุนเกลือจึงคิดลดต้นทุนโดยการทำลานเกลือตากเกลือแบบทางชายฝั่งทะเลเพื่อลดต้นทุนแต่ทำให้น้ำเกลือแพร่กระจายไปตามนาข้าว เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมมาจนทุกวันนี้......

ต้มเกลือที่บ้านเมืองเสือ 
http://lek-prapai.org/photo.php?id=34
หลังเกี่ยวข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งหรือปัจจุบันจะขายไปทันทีก็แล้วแต่ เสร็จงานในไร่นาชาวบ้านอีสานหลายแห่งก็เริ่มทำเกลือไว้กินในครัวเรือน เกลือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ ยิ่งห่างไกลทะเลด้วยแล้ว เกลือในสมัยโบราณที่การคมนาคมยังไม่สะดวกสบายเท่าทุกวันนี้ "เกลือมีค่าราวกับทองคำ"
ในแผ่นดินอีสาน เราทราบว่าใต้พื้นดินนั้นเป็นโดมหินเกลือ [Salt Dome] ขนาดมหึมา ความหนาประเมินว่าไม่ต่ำกว่า ๓ กิโลเมตร พื้นดินบริเวณใดก็ตามที่มีแหล่งน้ำใต้ดินก็มักมีการซึมขึ้นมาของน้ำเกลือ ทำให้ผิวดินมีความเค็ม ดินเหล่านี้ในหลายแห่งจึงสามารถใช้วิธีการให้น้ำผ่านเนื้อดินเพื่อละลายเกลือออกมา กลายเป็น "น้ำเกลือ" [Saline] นำมาต้มก็จะได้เกลือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "เกลือสินเธาว์"
วิธีการทำเกลือก็ไม่ยาก ใช้เวลาสักหลายๆ วันและเป็นช่วงที่ฝนไม่ตก ชาวบ้านจะออกไปขูด "ดินเอียด" ตามที่นาหรือบริเวณที่มีคราบเกลือขึ้นมากองพูนเก็บไว้ กะปริมาณตามต้องการในแต่ละปีให้พอใช้ในครัวเรือนหรือเผื่อแผ่ญาติพี่น้อง ดินเอียด บางที่ก็เรียก ดินเอือด ตามเสียงที่เวลาสัมผัสเนื้อดินที่คล้ายแป้งจะให้เสียงเอียดๆ หรือเรียกว่าดินขี้ทาเพราะมีสีเทาและเป็นผงละเอียด เกิดจากเนื้อดินผสมกับน้ำเกลือจากชั้นใต้ดิน
เมื่อได้ดินเอียดมาแล้วก็นำมาใส้ไว้ในกระบะไม้เทน้ำสะอาดใส่ลงไป อาจผสมฟางข้าวหรือเศษใบไม้ร่วมด้วยตามแต่ถนัดของคนแต่ละกลุ่ม ทิ้งไว้ราวหนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงนำน้ำที่ผ่านการกรองจากดินเอียดนี้แล้ว มาต้มเคี่ยวโดยใช้ฟืนสุมไฟไปตลอดจนน้ำระเหยได้ผลึกเกลือสีเทา แล้วจึงนำมาเก็บไว้กินได้ตลอดทั้งปี
ในภาคอีสานมีการต้มเกลือในระดับอุตสาหกรรมโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว ดังพบแหล่งผลิตเกลือโบราณหลายแห่งที่ใช้วิธีขูดดินขี้ทาจากผิวดิน จนกลายเป็นโนนดินที่เกิดจากการทิ้งเศษดินขี้ทาหรือดินเอียดผสมกับเศษภาชนะดินเผาเนื้อดินหยาบ จำนวนมาก ภาชนะดินเผาเหล่านี้ใช้สำหรับต้มเกลือ และเป็นทรัพยากรพื้นฐานของมนุษย์ที่สำคัญ ทำให้เกิดการสร้างบ้านสร้างเมืองจนในพื้นที่อีสานมีชุมชนในช่วงก่อนประวัติศาสตร์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ และต่อมาชาวบ้านใช้รางสังกะสีแทน และภาชนะดินเผาที่พบก็คือการใช้งานอย่างรวดเร็วและโยนทิ้งไปจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของโนนดินขนาดใหญ่ เช่น ที่โนนทุ่งผีโพน อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมาโดยนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องนี้ อย่าง Prof. Eiji Nitta
ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือการตักน้ำเกลือจากบ่อ เพราะชั้นเกลืออยู่ใกล้กับผิวดินมากในระยะเพียง ๒-๓ เมตร บริเวณที่รู้จักกันทั่วไป เช่นที่ "บ่อพันขัน" ซึ่งมีการทำเกลือขนาดใหญ่หลังฤดูเก็บเกี่ยว ที่ชาวบ้านจากที่ต่างๆ พากันมาต้มเกลือกันเป็นคาราวาน เพื่อนำไปขายต่อเป็นรายได้เสริม และหมักปลาทำปลาร้าในช่วงน้ำลด จนเมื่อไม่นานนี้เอง เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนกั้นอ่างเก็บน้ำจนบริเวณทำเกลือสมัยโบราณจมไปอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำที่กลายเป็นน้ำเค็มจนใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้
ส่วนแหล่งผลิตเกลือในเขตลุ่มน้ำมูนตอนบนกระจายอยู่ภายในจังหวัดนครราชสีมา เป็นแนวตั้งแต่ อำเภอด่านขุนทด โนนไทย โนนสูง พิมาย จนถึง บัวใหญ่และ ประทาย ซึ่งหลายพื้นที่ทำเกลือกันมาแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อมีการค้นพบว่าเกลือในอีสานสามารถนำมาใช้โดยการขุดบ่อเกลือในบริเวณที่ชั้นเกลืออยู่ใกล้ผิวดิน เช่น ที่บรบือ จังหวัดมหาสารคาม โดยเฉพาะในเขตต้นน้ำเสียวแต่ด้วยเกลืออีสานมีคุณสมบัติที่สูงกว่า มีค่าความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ ๙๐ หน่วยงานราชการและนายทุนเกลือจึงคิดลดต้นทุนโดยการทำลานเกลือตากเกลือแบบทางชายฝั่งทะเลเพื่อลดต้นทุนแต่ทำให้น้ำเกลือแพร่กระจายไปตามนาข้าว เกิดปัญหาสภาพแวดล้อมมาจนทุกวันนี้......

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น