วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

กทม.สร้างสะพานผ่าที่หมื่นล้าน "เตชะอุบล"เจอดีคอมเพล็กซ์ ริมเจ้าพระยาสะดุด

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 09:44:41 น.

กทม.สร้างสะพานผ่าที่หมื่นล้าน "เตชะอุบล"เจอดีคอมเพล็กซ์ริมเจ้าพระยาสะดุด


 



กทม.เวนคืน 300 หลังคาเรือนสร้างสะพานข้ามเจ้าพระยาเชื่อม "ถนนจันทน์-เจริญนคร" 1.3 กม. มูลค่า 4,000 ล้าน กระทบชิ่งโปรเจ็กต์ 1.2 หมื่นล้าน "แลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟร้อนท์" ของ "สดาวุธ เตชะอุบล" เจอแจ็กพอต ที่ดินถูกเฉือนหายไปกว่า 4 ไร่ ผู้บริหารคันทรี่กรุ๊ปแจงไม่หวั่นถูกเวนคืน ยันเดินหน้าทำโครงการต่อ ล่าสุดปรับรูปแบบโครงการใหม่ แนวสะพานส่งผลกระทบต่อแบบก่อสร้าง เลื่อนเปิดตัวปี"56



แหล่งข่าวจากสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กทม.ได้ข้อสรุปแนวเส้นทางที่จะใช้ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนจันทน์-ถนนเจริญนครแล้ว โดยแนวเส้นทางที่บริษัทที่ปรึกษาคัดเลือกจะมีจุดเริ่มจากถนนจันทน์บริเวณซอย 42 พาดผ่านถนนเจริญกรุง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วมาบรรจบกับถนนเจริญนครบริเวณซอย 24 รวมระยะทางประมาณ 1.3 กม. 

ค่าเวนคืนพุ่ง...วาละ 2 แสน

รูปแบบโครงการจะก่อสร้างเป็นสะพานขนาด 4 ช่องจราจร ใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างสะพาน 600-700 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าเวนคืนที่ดิน ซึ่งโครงการนี้จะใช้เงิน

ค่าเวนคืนสูงมากเนื่องจากตัดผ่านที่ดินในย่านกลางเมือง ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส ราคาที่ดินทำเลนี้จะค่อนข้างแพง ปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ ตร.ว.ละกว่า 2 แสนบาท ทำให้ต้นทุนที่ดินจะสูงกว่าค่าก่อสร้าง 

ทั้งนี้ จากการสำรวจแนวเส้นทางเบื้องต้น จะมีเวนคืนที่ดินประมาณ 200-300 หลังคาเรือน จุดใหญ่อยู่บริเวณถนนเจริญกรุง และตัดผ่านที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จำนวนกว่า 4 ไร่ บริเวณด้านหลังโรงแรมชาเทรียม จากทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 38 ไร่ ขณะที่แปลงที่ดินของโรงแรมชาเทรียมที่อยู่ติดกันอาจจะมีเวนคืนประมาณ 1 ไร่บริเวณริมรั้ว

อีกจุดเป็นฝั่งถนนเจริญนคร ที่ดินแปลงใหญ่ที่จะเวนคืนคือบริเวณที่ดินโรงเลื่อยไม้ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณ 10 ไร่ จากทั้งแปลงมี 15-20 ไร่ 

เนื่องจากการก่อสร้างโครงการนี้ นอกจากจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว จะต้องสร้างจุดขึ้น-ลงเพื่อรองรับการเดินทางสำหรับคนในบริเวณนี้ให้เข้ามาใช้สะพานได้ง่ายด้วย โดยจะสร้างที่บริเวณถนนจันทน์ซอย 46 และ 69 ถนนเจริญกรุงซอย 69 ถนนเจริญนครซอย 22, 23 และ 24 ส่วนจุดอื่น ๆ จะกระจายไปตามเส้นทาง ส่วนใหญ่เป็นอาคารพาณิชย์และบ้านพักอาศัย 

เฉือนโปรเจ็กต์หมื่น ล. เตชะอุบล

"ที่น่าสนใจคือ แปลงที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯอยู่ในแนวเวนคืน รูปแปลงเป็นรูปตัวแอล จะถูกเวนคืนไปกว่า 4 ไร่ จากทั้งหมด 38 ไร่ เดิมตรงนี้เป็นที่ตั้งขององค์การสะพานปลา แต่ปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินฯยกเลิกสัญญาเช่า และให้บริษัท แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด เป็นผู้เช่าต่อเพื่อพัฒนาโครงการ และจัดหาผลประโยชน์ในระยะเวลาเช่า 75 ปี ตอนนี้ทางเอกชนก็ได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่แล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มสร้าง ไม่รู้ว่ารอความชัดเจนเรื่องสะพานนี้อยู่หรือไม่ เพราะสะพานอาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการได้"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า เท่าที่ทราบ ที่ดินแปลงนี้ทางบริษัทแลนด์มาร์คฯต้องการจะพัฒนาเป็นโครงการในลักษณะผสมผสาน (มิกซ์ยูส) มีทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม และศูนย์การค้า มูลค่าโครงการเป็น 10,000 ล้านบาท เตรียมเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตามเมื่อ กทม.ก่อสร้างสะพานนี้ จากการคำนวณเบื้องต้นที่ดิน 4 ไร่ที่จะต้องถูกเวนคืน กทม.จะต้องจ่ายค่าชดเชยร่วม 300 ล้านบาท เพราะปัจจุบันราคาที่ดินสูงเฉลี่ยกว่า 2 แสนบาท/ตร.ว.

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัท แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของบริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มนายสดาวุธ เตชะอุบล ที่เข้าเทกโอเวอร์ไปเมื่อหลายปีก่อน เดิมใช้ชื่อว่า บริษัท แลนด์มาร์ค ดีเวลล็อปเม้นท์ กรุ๊ป เมื่อปีที่แล้วกลุ่มคันทรี่กรุ๊ปประกาศจะหวนคืนวงการอสังหาริมทรัพย์อีกครั้ง โดยส่งไม้ต่อให้ลูกชาย 2 คนคือ นายบีและนายเบน เตชะอุบล เป็นผู้สืบทอดธุรกิจแทน ก่อนหน้านี้ประมาณเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา นายเบน เตชะอุบล ลูกชายของนายสดาวุธ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าโครงการนี้ว่า จะพัฒนาโครงการภายใต้ชื่อ "แลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟร้อนท์" เป็นโครงการมิกซ์ยูส ประกอบด้วยโรงแรม คอนโดมิเนียมหรู ราคาขายกว่า 2 แสนบาท/ตร.ม. มูลค่าโครงการ 12,000 ล้านบาท ที่ดินเป็นสัญญาเช่า 75 ปี จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยจะเริ่มนับสัญญานับจากที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 

อนึ่ง สำหรับรูปแบบโครงการแลนด์มาร์ค วอเตอร์ฟร้อนท์ ที่กลุ่มนายสดาวุธออกแบบไว้ก่อนหน้านี้ มีมูลค่า 12,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 38 ไร่ ภายในประกอบด้วยโรงแรม Capella ระดับ 5 ดาว 101 ห้อง คอนโดฯ Capella Residences สูง 75 ชั้น 352 ยูนิต และโรงแรม 5 ดาว Jumeirah 305 ห้อง 

คันทรี่กรุ๊ปยันเดินหน้าโครงการ

นายธิติพัทธ์ อดิลักษณ์ธราดล กรรมการผู้จัดการสายงานโครงการ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้ทราบข่าว กทม.จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
แห่งใหม่เชื่อมระหว่างถนนเจริญกรุง-เจริญนคร แต่เข้าใจว่า กทม.ยังอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ชัดเจน
จะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อไหร่ 

ส่วนกรณีที่แนวก่อสร้างสะพานจะพาดผ่านที่ดินของบริษัทบางส่วนติดกับโรงแรมชาเทรียม ที่บริษัทได้กรรมสิทธิ์การเช่าระยะยาว 75 ปี (นับจากวันก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ) จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และอาจจะต้องเวนคืนที่ดินแปลงนี้บางส่วนจากเนื้อที่ทั้งหมด 38 ไร่ บริษัทไม่ได้กังวลและพร้อมจะเดินหน้าพัฒนาโครงการนี้ต่อไป 

แต่ยอมรับว่าแผนพัฒนาที่ดินผืนนี้ล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดเปิดตัวเมื่อปีที่ผ่านมา จากเดิมวางแผนจะพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียมและโรงแรม 2 อาคาร แต่ละอาคารสูงกว่า 40 ชั้น และมีพื้นที่ค้าปลีกด้วย มูลค่าโครงการกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้กำลังปรับแบบและวิเคราะห์ข้อมูลใหม่ โดยเฉพาะส่วนการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีก 

เนื่องจากมีกลุ่มสยามพิวรรธน์และซีพีประกาศแผนธุรกิจโครงการช็อปปิ้งแหล่งใหม่บนถนนเจริญนครติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกลุ่มทีซีซี แลนด์ของเจ้าสัว "เจริญ สิริวัฒนภักดี" ได้เปิดตัวโครงการโอเพนมอลล์บนถนนเจริญกรุง แต่ไม่ได้ล่าช้าเพราะรอความชัดเจนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่แต่อย่างใด

"เรากำลังปรับแบบโครงการใหม่ คาดว่าคงไม่ทันเปิดตัวโครงการปีนี้ เพราะต้องการศึกษาคู่แข่งให้รอบคอบ บวกกับโครงการนี้จะเริ่มนับอายุสัญญาเช่า 75 ปีเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จึงยังมีเวลา" 

ศึกหนัก บังวิว-คุมสร้างตึกสูง 

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด เปิดเผยว่า ถ้าหากมีสะพานก่อสร้างหรือพาดผ่านในพื้นที่โครงการ จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาโครงการแน่นอน เพราะตามกฎหมายควบคุมอาคาร ในระยะ 50 เมตรจากเชิงลาดสะพานห้ามก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ นอกจากอาคารขนาด 5 ชั้น หรือไม่เกิน 2,000 ตร.ม. อีกทั้งจะทำให้มูลค่าที่ดินลดลง และบดบังทัศนียภาพด้วยเช่นกัน 

"กรณีของที่ดินแปลงนี้อาจจะมีผลกระทบบ้างต่อการพัฒนาโครงการ และผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของที่ดินอาจจะต้องปรับรูปแบบใหม่ทั้งโครงการ หลังพื้นที่ก่อสร้างลดลงจากเดิมเพราะถูกเวนคืนที่ดินไป" นายวสันต์กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น