วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ปีศาจแห่งอำนาจ ตอนที่1 สำเภาเดียวกัน

ปีศาจแห่งอำนาจ ตอนที่1 สำเภาเดียวกัน

             เขาเดินทางรอนแรมจากเกาะไหหลำในเรือสำเภาลำเดียวกับเตี่ยของบุญชู โรจนเสถียร มุ่งหน้ามาแผ่นดินสยาม ตามหาพี่ชายซึ่งมาทำมาหากินอยู่ในประเทศนี้ เขาได้รับการศึกษาขั้นต่ำจากบ้านเกิด สามารถพูดภาษาจีนได้อย่างน้อย 3 ภาษา จีนกลาง ไหหลำ และแต้จิ๋ว

            พ่อของบุญชูรับจ้างทำงานสวนในวังสระปทุม และต่อมาก็หันมาเอาดี ทางอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ผลงานเด่น ๆ มี พระราชวังไกลกังวล หัวหิน บ้านจัดสรรยุคแรก ๆ ริมถนนราชดำริ ซึ่งปัจจุบันยังพอเหลืออยู่ให้เห็นอนุสรณ์  ส่วนเขาแยกมาทำงานค้าขายกับพี่ชาย

            พี่ชายของเขารับใช้ "เจ้านาย" อย่างใกล้ชิด จนกลายเป็นคนจีน ที่ใกล้ชิดเจ้านายอย่างมาก ๆ คนหนึ่ง

            พลโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ เป็นราชนิกูลพระองค์หนึ่งคือคนสำคัญที่พี่ชายของเขาสนิทสนมเป็นพิเศษ

            พระองค์เจ้าคำรบคือพระบิดาของม.ร.ว.บุญรับ ม.ร.ว.เสนีย์  และ  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และก็คืออธิบดีกรมตำรวจในยุคนั้น(2458-2475)

            ห้วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จีนแผ่นดินใหญ่เกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองครั้งแล้วครั้งเล่า ขบวนการ ที่แตกต่างความคิดหลายแก๊ง อพยพหนีภัยเข้ามาเมืองไทย ตั้งเป็น "อั้งยี่" ก่อกรณี พิพาทเนือง ๆ คุกคามความสงบสุขของคนเมืองหลวงไม่น้อย คดีความเกี่ยวกับคนจีนเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ

            พระองค์เจ้าคำรบ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจหนักใจอย่างยิ่ง อุปสรรคใหญ่หลวง คือ คุยกันไม่รู้เรื่องเพราะพูดกันคนละภาษา        

            ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกบรรจุเข้ารับตำแหน่งล่ามประจำกรมตำรวจ

            ต่อมาเขาจึงกลายเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการสอบสวนอย่างดีเยี่ยม ประกอบ กับความเป็นคนฉลาดเรียนรู้เร็ว และบุคลิกดี จึงเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจ และรักใคร่ เอ็นดูของอธิบดีกรมตำรวจอย่างมาก             

            และแล้วชีวิตของเขาก็ถูกจุดพลุขึ้นสว่างไสว เขาได้บรรจุพรวดเดียวจากพนักงานล่ามมาเป็นนายร้อยตำรวจโท พนักงานสอบสวนแห่งกองบัญชาการ ตำรวจนครบาล พร้อม ๆ กับแต่งงานกับม.ร.ว.บุญรับ ปราโมช พระธิดาของอธิบดีกรมตำรวจ

            ตอนนั้นไม่มีใครฉุดเขาไว้อยู่อีกแล้ว

            เขาไต่บันไดอย่างรวดเร็ว จนถึงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อย่างไม่ยากเย็นนัก…

            เขาได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่พอจะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้คนรุ่นหลังศึกษา และพิเคราะห์   สร้างความประทับใจแก่จอมพลป. พิบูลสงคราม และจอมพลเผ่า ศรียานนท์ อย่างมาก ๆ คือคลี่คลายคดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8

            ดังนั้นเมื่อเผ่า  ศรียานนท์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ เขาจึงได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ทำงานแทนแทบทั้งหมด ราวกับว่าเขาคืออธิบดีกรมตำรวจตัวจริง

            เขาคือพระพินิจชนคดี ต้นตระกูลไทยใหม่ "อินทรทูต"   จากยกซ่าน แซด่าน  กลายเป็นพินิจ อินทรทูต จนกลายเป็นตำรวจที่ทรงอิทธิพล  มียศถึงพลตำรวจเอก และเคยรักษาการอธิบดีกรมตำรวจด้วย

            "…การที่ญี่ปุ่นบุกและเข้ายึดครองไทย ทำให้กลุ่มอิทธิพลทางการเงินของอังกฤษ สลายตัวและเกิดกลุ่มนักลงทุนใหม่ ประกอบด้วยคนไทยและคนจีนในไทย…

            หนึ่งปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะสิ้นสุดลง ได้มีธนาคารพาณิชย์ก่อตั้ง ขึ้นในประเทศไทยรวม 4 ธนาคาร ทั้งนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่ากลุ่มพ่อค้าที่ฉวยโอกาสตักตวงความมั่งคั่งจากภาวะสงครามมีสายตายาวไกลยิ่งกว่านั้น การที่ธนาคารของอังกฤษเลิกกิจการ ก็ยิ่งเป็นจังหวะที่วิเศษยิ่งสำหรับผู้ก่อตั้งธนาคารขึ้นมาใหม่เพื่อรับช่วงธุรกิจการค้าต่อ และข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การตอบสนองความต้องการของพ่อค้าภายในประเทศ ที่ถูกธนาคารต่างชาติเอาเปรียบ…" (พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ; ประวัติธนาคารกรุงเทพ (แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ฉบับย่อ), ปี 2529)

            ในจำนวนนี้มีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การรวมอยู่ด้วย

            ตันจินเกง พ่อค้าจีนมีชื่อเสียง และมีประสบการณ์ทางธุรกิจครบเครื่อง เจ้าของ กิจการเดินเรือทะเล บริษัทโหงวฮก มีตำแหน่งประธานมูลนิธิปอเต็กตึ๊งด้วย เป็นต้น  คิดชักชวนพรรคพวก เช่น ตันซิ่วเม้ง หวั่งหลี (ผู้นำตระกูลหวั่งหลีรุ่นที่สอง  ในยุคขยายอาณาจักรธุรกิจกว้างขวางที่สุด)โลวเต็กชวน บูลสุข( ผู้ริเริ่มอุตสาหกรรมเครือดื่มน้ำดำในประเทศไทย-เปบซี่) สหัท มหาคุณ(ผู้ริเริ่มธุรกิจหลายอย่าง ตั้งธนาคาร ก่อสร้างและโรงงานสุรา) ลงเงินขอตั้งธนาคาร

            การจะมีธนาคารในสมัยนั้น ผู้ก่อการจะต้องดำเนินตามสูตรสำเร็จ 2 ขั้นตอน หนึ่ง-ต้องเชื้อเชิญ "ผู้มีอำนาจ" เข้าร่วมเพื่อความสะดวกในการดำเนินการ คนที่กลุ่มผู้ก่อการไปเชิญมานั้นคือ พระพินิจชนคดี ผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล (ขณะนั้น) ในฐานะคนจีนด้วยกัน และที่สำคัญเป็นคนจีนที่ได้ดิบได้ดี หลุดเข้ามา ในวงจรของผู้มีอำนาจในแผ่นดินที่คิดว่าจะพึ่งพิงได้

            ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2487 สำนักงานตั้งอยู่ที่เดียวกับสำนักงานบริษัทโหงวฮก แถว ๆ ทรงวาด

            สูตรที่สอง-หาผู้บริหารที่มีความรู้และประสบการณ์ ยม ตัณฑเศรษฐี เคยทำงานที่ธนาคารซีไทฮง (ธนาคารจีนสิงคโปร์มีสาขาในเมืองไทย) จึงได้รับการชักชวนมากินตำแหน่งผู้จัดการ ส่วนงานด้านบัญชีก็ดึงคนจากธนาคารชาติ (ขณะนั้นถือกันว่างานบัญชีเป็น TECHNOLOGY การธนาคารชั้นสูงและ TECHNOCRAT เหล่านี้ส่วนใหญ่หาได้จากธนาคารชาติ คล้าย ๆ กับสมัย 2 ทศวรรษมานี้ –ธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหา เชื่อว่าถ้าจะหาผู้บริหารธนาคาร ต้องหาจากแหล่งเดียวกัน) ได้แก่ ชัด โชติกเสถียร และธะนิต พิศาลบุตร

            ยม ตัณฑเศรษฐี เป็นลูกเขยตระกูลล่ำซำ แต่งงานกับลูกสาวอึ๊งจูหลง ตระกูลนี้ ต่อมาเกี่ยวข้องกับตระกูลหวั่งหลีอย่างลึกซึ้ง  ทั้งสองตระกูลล้วนมีธนาคารของตนเอง  แต่ตระกูลล่ำซำเอง ก็ยังเคยมีหุ้นในธนาคารแห่งนี้พอประมาณ

            ธะนิต พิศาลบุตร จบกฎหมายธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับวรรณ ชันซื่อ จินดา ณ สงขลา และเป็นพนักงานธนาคารชาติรุ่นราวคราวเดียว กับบุญชู โรจนเสถียร  วิระ รมยรูป เฉลิม ประจวบเหมาะ ก่อนจะลาออกมาเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชี ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เขากินเงินเดือน 132 บาท

            ธะนิต เป็นลูกเขยตระกูลหวั่งหลี ภรรยาของเขาชื่อประไพ ลูกสาวคนโตของตันซิ่วเม้ง ผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ คนสำคัญคนหนึ่ง ว่ากันว่าประไพคนนี้เป็นพี่ใหญ่ของตระกูลหวั่งหลี ซึ่งทุกคนเคารพและเชื่อฟัง

            เมื่อชัด โชติกเสถียร ลาออกไปอยู่สหธนาคาร ธะนิตจึงดำรงตำแหน่งสมุห์บัญชีแทน

            ยม ตัณฑเศรษฐี และธะนิต พิศาลบุตร ถือเป็นนายธนาคารมืออาชีพในยุคนั้น ซึ่งบังเอิญมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร

            พูดกันง่าย ๆ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ยุคแรก ๆ นั้นเป็นของพ่อค้าเชื้อสายจีน เหมือน ๆ กับธนาคารในเมืองไทยทุกแห่งในสมัยนั้น

            ตันซิ่วเม้ง เสียชีวิตอย่างมีปริศนาในปี 2488 พระพินิจฯ ในฐานะนายตำรวจใหญ่ ที่มีความสามารถสูง และมีความสัมพันธ์อันดีกับตระกูลหวั่งหลี ไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้ อันเป็นเรื่อง "แคลงคลางใจ" ของคนตระกูลหวั่งหลี จนทุกวันนี้ เพราะการตายของตันซิ่วเม้งนั่นเอง คนตระกูลหวั่งหลีจึงโดดออกจากวงจรทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา

            จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นนั่งบัลลังก์อำนาจ รัฐบาลไทยยุคนั้น ก็เริ่มบรรเลงเพลง กวาดล้างคอมมิวนิสต์ขนานใหญ่ ประสานนโยบายกับสหรัฐอเมริกาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตันจินเกงผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ได้ตกเป็นเหยื่อรายหนึ่งของแผนการนี้ เขาถูกจับเข้าคุกในข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งในเวลาต่อมาเขาจำต้องระเห็จออกจากเมืองไทย

            ตั้งแต่นั้นมา กลุ่มพระพินิจฯ หรือตระกูลอินทรทูต ก็คือผู้ถือหุ้นใหญ่ ของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ โดยมิได้เปลี่ยนแปลงทีมบริหาร เพราะตอนนั้นคนของอินทรทูตไม่มีความรู้ความสามารถด้านนี้เลย…

            "อินทรทูต" มีความเกี่ยวพันธ์กับราชนิกูลอย่างลึกซึ้ง หลายคนแต่งงานกับราชวงศ์ เช่น ดิสกุล พระพินิจฯ เองก็มิใช่มีภรรยาคนเดียว อีกคนหนึ่งคือ ม.ล.อรุณ สนิทวงศ์ ทายาทของภรรยาคนนี้ของเขาคนหนึ่งคืออินทิรา ชาลีจันทร์ ผู้ที่ถูกส่งเข้ามาทำงานธนาคารที่ตระกูลถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ยุคแรก ๆ ทั้ง ๆ ที่จบวิชาการการบ้านการเรือน และว่ากันว่าชอบอ่านนวนิยาวของดอกไม้สด และ ก.สุรางค์นางค์

            "อินทรทูต" ระยะหลังๆ ทยอยเข้ามาทำงานในธนาคารแห่งนี้มากขึ้น ตั้งแต่ ผู้จัดการสาขา พนักงานด้านต่าง ๆ ในสำนักงานใหญ่

            "คนอินทรทูต ไม่มีความเป็นคนจีนเหลืออยู่เลย พวกเขามีลักษณะเจ้านายมากเป็นพิเศษอีกด้วย อาทิ ชอบมาทำงานสายๆ ชอบตีขิม ตีระนาด ร้องเพลงไทยเดิม" คนในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ สาธยายบุคลิกของคน "อินทรทูต" ในยุคนั้นให้ฟัง

            ที่น่าแปลกคนในวงการธนาคาร ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักอินทรทูตเอาเสียเลย

            "อินทรทูต" คือตระกูลผู้ดีของไทยอีกตระกูลหนึ่งที่มีอาณาจักรแคบๆ มีวัฒนธรรมของตัวเอง ที่ไม่ใคร่จะยอมให้ใครกล้ำกลายเข้าไป และไม่ชอบเกี่ยวข้องกับผู้คนในวงกว้าง

            มีตำนานเล่าขานถึง "สิ่งแปลกๆ" ของพวกเขาเล็ดลอดออกมาเป็นระยะๆ  และคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน หากพวกเขามิใช่เจ้าของธนาคารพาณิชย์ที่ถูกรัฐทุนนิยมขีดเส้นว่า จะต้องเกี่ยวข้องกับมหาชน

            ถึงพระพินิจฯ จะเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง แต่ในทางการนั้น เขาเคยมาเป็นประธานธนาคารคนที่สองในช่วงสั้นๆ จากนั้นส่งศรีภรรยา-ม.ร.ว.บุญรับ พินิจชนคดี มาเป็นประธานกรรมการธนาคาร

            พะยอม ตัณฑเศรษฐี อายุมาก ว่ากันว่าชักจะหลงๆ ลืมๆ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอีกคนหนึ่งในการเกิดธนาคารแห่งนี้ก็ชักชวน หม่อเจ้าชวดิส ดิสกุล มาเป็นกรรมการจัดการ            ม.จ.อาชวดิส เป็นนักเรียนอังกฤษ รุ่นเดียวกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ แต่เรียนไม่จบ ตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะมาเป็นกรรมการจัดการ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เป็นผู้จัดการฝ่ายการเงินโรงไฟฟ้าวัดเลียบ

            ธะนิต พิศาลบุตร ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการ ในขณะที่อินทิรา ชาลีจันทร์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป "เรียกว่าคานอำนาจกันอย่างเห็นได้ชัด แม้แต่เซ็นหนังสือยังต้องกำกับ 2 คนเลย" ผู้อยู่วงการธนาคาร แสดงความเห็น

            เมื่อ ม.จ.อาชวดิส ดิสกุล จากโลกไป ธะนิตจึงขึ้นดำรงตำแหน่งแทนในปี 2518 ส่วนอินทิรานั้นมีตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไปตั้งแต่ปี 2514 แล้ว "เรียกว่าไม่มีใครจริงๆ จะขึ้นมาตำแหน่งนี้นอกจากคุณธะนิต คุณอินทิรานะหรือ จะว่ามือไม่ถึงก็ได้" วงการวิจารณ์กันอย่างนั้น

            ม.ร.ว.บุญรับ จากโลกตามไปในปี 2524 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช น้องชายซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานมานานก็ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ หลังจากนั้น บทบาทของประธานกรรมการธนาคารก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

             …หม่อมคึกฤทธิ์ รู้จักคุณธะนิต ตั้งแต่อยู่แบงก์ชาติด้วยกัน ประกอบนโยบาย หลายสิ่งหลายอย่าง ที่คุณธะนิตปฏิบัตินั้นมีบัญชามาจากหม่อมคึกฤทธิ์ ดังนั้น เมื่อเกิดข้อขัดแย้งระหว่างคุณธะนิตกับฝ่ายคุณอินทิราประเภทลิ้นกับฟันกระทบกัน หม่อมคึกฤทธิ์ก็คือ ตัวประสาน และดูเหมือนหม่อมคึกฤทธิ์ยืนอยู่ข้างคุณธะนิต

            …โรงพยาบาลแมคคอนิคที่เชียงใหม่ฝากเงินไว้กับธนาคารนี้ถึง 50 ล้านบาท ผู้จัดการสาขามีความคิดจะซื้อคอมพิวเตอร์ พีซี. ไปบริจาคแก่โรงพยาบาลนี้ เป็นสินน้ำใจ เพื่อแสดงความผูกพันกัน ครั้นเมื่อขอความเห็นมาถึงสำนักงานใหญ่ อินทิรา ในฐานะผู้จัดการทั่วไปไม่เห็นด้วย เมื่อความทราบถึงธะนิต ธะนิตเลยสั่งข้ามหัวให้จัดการได้…

            หม่อมคึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคกิจสังคม ต้องการสร้างฐานอำนาจทางการเมือง ในท้องที่ภาคเหนือ จึงเสนอแนะให้ธะนิต พิศาลบุตร ในฐานะกรรมการจัดการ เปิดสาขา ตามที่ประสงค์ จึงปรากฏว่าในภาคเหนือสาขาของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ แทบทุกอำเภอเลยทีเดียว

            นี่เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของ Political Policy ที่เข้ามาแทรกธุรกิจธนาคารแห่งนี้ ซึ่งถือว่าจุดเริ้มต้นที่ต่อเนื่องจนธนาคารแห่งนี้ล่มสลายไป

            หม่อมคึกฤทธิ์ จะทราบหรือไม่ ตามสิ่งที่ตนเองเป็นคนต้นคิดนี่เอง ธนาคารจึงเติบโตทางยอดเงินฝากมากไป แต่ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยติดขัดที่ทุนจดทะเบียนของธนาคารตามกฎของธนาคารชาติ ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด ธะนิต  พิศาลบุตร ในฐานะกรรมการจัดการ กับฝ่ายอินทรทูต  ผู้ถือหุ้นใหญ่ ต้องขัดแย้งกันอย่างชัดเจนและแตกหักในเวลาต่อมา

หมายเหตุ

แม้ว่าชื่อเรื่องดูเหมือนเป็นนิยาย    แต่เป็นเรื่องราว จากความพยายามวาดภาพ กรณีการล้มสลายธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ(บีบีซี) กับคดีราเกซ  สักเสนา   ให้เป็นภาพใหญ่ เข้าใจเรื่องราวทั้งหมด มิใช่แยกส่วน  เชื่อว่าหากนำ เค้าโครงให้ประภัสสร เสวิกุล เขียน  จะกลายเป็นนิยายที่น่าอ่านเรื่องหนึ่ง  เต็มไปด้วยแง่คิด   ขณะเดียว กันเป็นเรื่องราว ตื้นเต้น  เร้าใจ หักมุม  ตลอดเรื่อง    ไม่แพ้เรื่อง  "ลอดลายมังกรด้วยซ้ำเรื่องราวชุดนี้ (ทั้งหมด  ตอน) สะท้อน เรื่องราว บุคคล ว่าด้วยอำนาจ แรงบันดาลใจ   การไต่เต้า เชื่อมโยงกับสำนึกสังคม ความแตกต่างกัน ระหว่างผู้ครอบครอง กับ ผู้มาใหม่   ผมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ควรอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ อาจจะมีมิติและบทเรียนที่คาดไม่ถึงซ่อนอยู่ จากบุคคล สู่สังคมระดับกว้างขึ้น ตั้งแต่ระดับธุรกิจ สังคมธุรกิจ จนถึงโครงสร้างสังคมไทยในทุกมิติเลยก็อาจเป็นได้  ข้อเขียนชุดนี้ ใช้ข้อมูลในหนังสือ "The Fall of Thai Banking "ของผมเอง (สำนักพิมพ์ ผู้จัดการคลาสสิค2548) เป็นพื้นฐานในการเรียบเรียง

เรื่องต่อเนื่อง

ตอนที่ 2 เลือดข้นกว่าน้ำ

http://goo.gl/7Zj3Z

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น