กล่าวอย่างกระชับแล้ว เหตุการณ์ ร.ศ. ๑๓๐ ที่เกิดเมื่อ ๑ ศตวรรษ (๒๔๕๕) นั้น คือความพยายามปฏิวัติทางการเมืองครั้งแรกในสยาม เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นการปรากฏตัวของความพยายามปฏิวัติทางการเมืองที่สะท้อนให้เห็นพลังของภาวะสมัยใหม่ที่ผลักดันให้นายทหารรุ่นใหม่หัวก้าวหน้าที่เรียกตนเองในเวลาต่อมาว่า "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" โดยพวกเขามีความสำนึกว่าพวกเขาเป็นทหารของชาติและมองเห็นความเสื่อมของการปกครองแบบเดิมจึงต้องการปฏิวัติเพื่อสถาปนาการปกครองอย่างใหม่และผลักดันให้สยามเคลื่อนสู่ภาวะ "ศรีวิลัย" ดังนั้นการกระทำของพวกเขาจึงเปรียบเสมือนกองหน้าในการเพรียกหาการปกครองอย่างใหม่ที่วางอยู่บนอำนาจของประชาชนและหลักการประชาธิปไตย เช่น เสรีภาพ ความเสมอภาค และการจำกัดอำนาจรัฐให้เกิดขึ้น ในขณะที่เวลานั้นสยามยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ตามความพยายามผลักดันให้สยามเคลื่อนตามคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงตามสากลสมัยของพวกเขาประสบความล้มเหลว
ที่ผ่านมามีการศึกษาประวัติศาสตร์ของความพยายามปฏิวัติทางการเมืองในช่วงดังกล่าวหลายชิ้น เช่น แถมสุข นุ่มนนท์ (๒๕๒๒) มุ่งเน้นการศึกษาเหตุการณ์ที่เรียกว่า"กบฏ ร.ศ. ๑๓๐" อัจฉราพร กมุทพิสมัย (๒๕๔๐) ได้ศึกษาการปรับตัวของกองทัพสยามสมัยใหม่ ส่วน กุลลดา เกษบุญชู-มี้ด (๒๐๐๓) ได้ศึกษาการล่มสลายของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามโดยพินิจไปที่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ จากรัฐศักดินามาสู่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และเคลื่อนไปสู่รัฐประชาชาติในเวลาต่อมานั้นเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนชั้นศักดินากับกลุ่มคนชั้นใหม่ที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก สำหรับ วรางคณา จรัณยานนท์ (๒๕๔๙) ได้ศึกษาการจัดองค์กรและภาพรวมอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขา ตลอดจนการศึกษาของ ณัฐพล ใจจริง (๒๕๕๔) ที่ได้ศึกษาเป้าหมายของการปฏิวัติและความคิดทางการเมืองของพวกเขาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ของไทย
ในวาระครบรอบ ๑ ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ บทความนี้จะพิจารณาถึงปัญหาของการเคลื่อนสู่ภาวะสมัยใหม่ (Modernity) ของสยามโดยนำหลักฐานพระราชหัตถเลขาและเอกสารเกี่ยวข้องที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดทางการเมืองและพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเอกสาร"ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ" ที่ถือเป็นแก่นแกนความคิดทางการเมืองของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" มาพิจารณาในประเด็นการเมืองของการเคลื่อนสู่ภาวะสมัยใหม่ของสยามภายใต้รัชสมัยของพระองค์ โดยมุ่งพินิจแง่วิวาทะทางภูมิปัญญาที่แตกต่างกันระหว่าง "พวกหัวเก่า" กับ "พวกหัวใหม่" (The Quarrel Between Ancient and Moderns) ในสยาม โดยทั้ง ๒ ฝ่ายพยายามตีความภาวะสมัยใหม่ที่แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมีโลกทรรศน์ที่ชื่นชอบความมีเหตุผลและต้องการที่จะผลักดันสยามให้ก้าวไปสู่ภาวะสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้า มีเสรีภาพและความเสมอภาค โดยความคิดใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสยามนี้ได้เป็นเสมือนหนึ่งอาชญากรรมทางความคิดที่ท้าทายขัดแย้งต่อโลกทรรศน์และความต้องการของคนชั้นปกครองเดิมที่พยายามยื้อยุด ตีความ ปฏิเสธภาวะและการเมืองสมัยใหม่ที่จะเกิดขึ้นอันทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจ
การพยายามสร้างสภาวะ "ศรีวิลัย" ให้กับสยามของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐"
ไม่แต่เพียงคลื่นพลังของภาวะสมัยใหม่ที่พุ่งทะยานสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสำคัญในยุโรปตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๘ ได้ถั่งโถมสาดซัดเข้าสู่คาบสมุทรในภูมิภาคเอเชียด้วยการซัดกลบการปกครองอันเสื่อมทรามของจีนโดยราชวงศ์ชิงด้วยการปฏิวัติสาธารณรัฐในต้นศตวรรษที่ ๒๐ (๒๔๕๔) เท่านั้น แต่สยามก็เป็นอีกประเทศหนึ่งเช่นกันที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ ภาวะ"ความเสื่อมซาม" ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามที่เกิด ณ เวลานั้น ได้กลายชนวนเหตุให้เกิดแสงสว่างทางปัญญาในสยาม เมื่อนายทหารชั้นผู้น้อยหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งได้เริ่มพูดคุยกันถึงการสร้าง "สมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกด้าน"หรือสภาวะ "ศรีวิลัย" ให้สยามทัดเทียมกับสากลโลก พวกเขาได้เคลื่อนไหวเพื่อทำให้ประกายความฝันของพวกเขากลายเป็นความจริงด้วยการประชุมจัดตั้งคณะนักปฏิวัติ ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" พวกเขาได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายของระบอบการปกครองของสยามในอนาคต วิธีการเปลี่ยนแปลง การขยายแนวร่วม และวันเวลาที่จะลงมือปฏิวัติผลักดันสยามให้มีความก้าวหน้า โดย ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้นำของคณะนักปฏิวัติที่มีเป้าหมายชูธงความเปลี่ยนแปลงสยามไปพร้อมกับขบวนของนานาชาติที่มีความ "ศรีวิลัย" ทั้งปวง
เราสามารถเข้าใจโลกทรรศน์และประเด็นการถกเถียงของที่ประชุมเหล่านักปฏิวัติในครั้งนั้นผ่านหลักฐานร่วมสมัยชิ้นสำคัญ คือ บันทึกที่ชื่อ "ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ" เอกสารชิ้นนี้เป็นลายมือของ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง) ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยึดได้จากบ้านของเขาในช่วงแห่งการจับกุมเมื่อ ๑ ศตวรรษที่แล้ว คาดว่า สาระสำคัญในเอกสารชิ้นนี้ถูกใช้เป็นแนวทางในการอภิปรายถกเถียงกันในที่ประชุมนักปฏิวัติที่กำลังจะตัดสินใจกำหนดชะตาชีวิตทางการเมืองสมัยใหม่ของสยามให้บังเกิดขึ้น แต่แผนการปฏิวัติของพวกเขามิได้ปรากฏขึ้นในสยาม เนื่องจาก พวกเขาถูกจับกุมก่อนการลงมือปฏิวัติไม่กี่วัน
สาระสำคัญของบันทึกดังกล่าวนี้ปรากฏการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองของสยามภายใต้โลกทรรศน์สมัยใหม่ที่ต้องการสร้างภาวะ "ศรีวิลัย" ให้กับสยามอันวางอยู่บนความคิดเสรีนิยม (Liberalism) ที่เชื่อมั่นในหลักการความมีเหตุมีผล (rationality) ความมีเสรีภาพ (liberty) ความเสมอภาค (equality) และการจำกัดอำนาจรัฐ (limited government) บันทึกดังกล่าวได้ให้ภาพเส้นทางไปสู่ภาวะ "ศรีวิลัย" ของสยาม โดยได้แยกแยะให้เห็นว่า การปกครองของโลกขณะนั้นมี ๓ แบบ คือ แบบแรก "แอ็บโซลู๊ด มอนากี้" ซึ่งเป็นรูปแบบที่สยามปกครองขณะนั้น กับทางเลือกในการปกครองรูปแบบใหม่ระหว่าง "ลิมิตเต็ด มอนากี้" กับ "รีปับบลิ๊ก" โดยแนวความคิดทางการเมืองอย่างใหม่ที่ปรากฏนั้นวางอยู่บนความต้องการของพวกเขาที่จะทำให้อำนาจของประชาชนที่อยู่เบื้องล่างลอยขึ้นไปสถิตอยู่เบื้องบนแทนแบบเดิมและการจำกัดอำนาจรัฐมิให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตอันกระทบต่อเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์
อาจเป็นเรื่องปกติที่การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะต้องเผชิญหน้ากับทางสองแพร่งของเป้าหมาย แผนการปฏิวัติของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" ก็ตกอยู่บนทางสองแพร่งที่สำคัญระหว่างการปฏิวัติที่กระทำเพียงครึ่งทางซึ่งเป็นการประนีประนอมเพื่อการสถาปนาระบอบ "ลิมิตเต็ด มอนากี้" กับอีกทางเลือกหนึ่ง คือ การปฏิวัติไปให้สุดทางซึ่งถือเป็นการถอนรากถอนโคนการปกครองระบอบ "แอ็บโซลู๊ด มอนากี้" เพื่อการสถาปนาระบอบ "รีปับบลิ๊ก" ขึ้นแทน ทางสองแพร่งของการปฏิวัตินี้นำไปสู่การถกเถียงกันในที่ประชุมอย่างกว้างขวางซึ่งนำไปสู่การแกว่งไปมาของความคิดระหว่างแนวทางประนีประนอม และแนวทางถอนรากถอนโคนขึ้นเป็นครั้งแรกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอถึงรูปแบบการปกครองชนิดใหม่ให้กับสยามที่ไม่มีพื้นที่ให้กับผู้ปกครองแบบจารีตอีกต่อไป
จากบันทึกความทรงจำที่หลงเหลืออยู่นั้น พวกเขาบันทึกว่า มติการประชุมครั้งแรกๆ ที่พวกเขาร่วมกันกำหนดอนาคตของการปกครองสยามนั้น สมาชิกกลุ่มที่สนับสนุนแนวถอนรากถอนโคนมีชัยเหนือแนวประนีประนอม สมาชิกบางคนของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐"ได้บันทึกบรรยากาศในการประชุมเมื่อครั้งนั้นว่า "ที่ประชุมเอนเอียงไปในระบอบแผนการปฏิวัติของประเทศจีน เนื่องจาก [จีน] มีฐานะและสภาพไม่ต่างจากเรา[สยาม]" สอดคล้องกับ ร.ต. จรูญ ษตะเมษ หนึ่งในสมาชิกได้ย้อนความทรงจำว่า แนวทางในการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของพวกเขาได้แบบจากจีน แต่แนวความคิดในการปกครองได้มาจากตะวันตก
จากการศึกษาหลักฐานคำให้การของพวกเขาภายหลังการถูกจับกุมพบว่า สมาชิกที่"โหวต" ให้การปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคน ประกอบด้วย ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ร.ต. วาส วาสนา พ.ต. หลวงวิฒเนศประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช) ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ และ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นต้น โดยพวกเขาได้ให้เหตุสนับสนุนการปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคนในการประชุมลงมติในครั้งนั้น ดังนี้ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์(เหล็ง) ผู้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติให้เหตุผลว่า สยามเหมาะกับการปกครองแบบ "รีปับบลิ๊ก" มากกว่า "ลิมิตเต็ด มอนากี้" เนื่องจาก หากสยามปกครองแบบ "ลิมิตเต็ด มอนากี้" กษัตริย์อาจกลับไปอยู่เหนือกฎหมายแบบเดิมได้อีก ร.ท. จรูญสนับสนุนว่า ระบอบ "รีปับบลิ๊ก" มีคุณต่อสยามมากกว่า "แอ็บโซลู๊ด มอนากี้" ดังนั้นสยามควรมีการปกครองแบบ "รีปับบลิ๊ก" เฉกเช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส หรือจีน และทหารควรรักชาติและกตัญญูต่อชาติสูงสุด เขาต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม ต้องทำอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องกันมิให้เกิดการหมุนกลับไปสู่ระบอบเดิมอีก ส่วน ร.ต. วาสสนับสนุนการปกครองแบบ "รีปับบลิ๊ก" เพราะประชาชนสยามมีอำนาจสามารถถอดถอนผู้ปกครองได้ อีกทั้งประชาชนไม่ต้องใช้ราชาศัพท์และประหยัดงบประมาณในการบริหารประเทศ เนื่องจากราชสำนักใช้งบประมาณมาก เป็นต้น กล่าวโดยสรุป เหตุผลของกลุ่มที่ต้องการปฏิวัติไปให้สุดทางนั้น เนื่องจากพวกเขาต้องการทำให้ประชาชนสยามมีความเสมอภาคอย่างแท้จริง และเป็นการเปลี่ยนแปลงสยามไปสู่สังคมที่ "ไม่มีใครเป็นค่าเจ้าบ่าวนาย" อีกต่อไป เนื่องจากระบอบใหม่ชนิดนี้ ประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีเป็นผู้ปกครอง โดยระบอบใหม่ชนิดนี้จะทำให้สยามมีความก้าวหน้ามากกว่าและไม่ต้องกังวลกับการที่สยามหวนกลับไปปกครองตามระบอบเดิมได้อีกต่อไป
ในขณะที่ เหตุผลกลุ่มสนับสนุนแนวทางประนีประนอมให้เหตุผลว่า ประชาชนสยามยังคง "โง่เขลา" ดังนั้นสยามจึงเหมาะกับระบอบ "ลิมิตเต็ด มอนากี้" มากกว่า เนื่องจากกษัตริย์มีพระเดชพระคุณเหนือประชาชนจะทำให้สยามมีความเจริญ และพวกเขา "ไม่ต้องการให้เกิดความชอกช้ำมากเกินไป [จนทำให้] ฝ่ายที่ถูกชิงอำนาจก็จะไม่เคียดแค้นถึงกับทำตัวเป็นศัตรูอยู่ตลอดกาล" อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาเมื่อคณะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นทำให้เกิดกลุ่มประนีประนอมมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่งผลให้การประชุมครั้งสุดท้ายก่อนการลงมือปฏิวัติ ที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนไปในทาง "ลิมิตเต็ด มอนากี้" มากกว่าทาง "รีปับบลิ๊ก" เพียงเล็กน้อย
ในที่สุดที่ประชุมได้ตกลงยืนมตินั้น และได้มีการเตรียมแผนการลงมือปฏิวัติเพื่อสร้างภาวะ "ศรีวิลัย" ให้กับสยามในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในเดือนเมษายน ๒๔๕๕ แต่ทว่าการดำเนินการปฏิวัติแบบประนีประนอมตามที่สมาชิกตกลงกันนั้นก็หาได้เกิดขึ้นบนสยาม เนื่องจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้จับกุมเหล่านักปฏิวัติก่อนลงมือ"พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" ไม่กี่วัน ต่อมาเมื่อรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ตัดสินลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรงซึ่งมีอัตราโทษตั้งแต่การประหารชีวิต การจำคุกตลอดชีวิต จนถึงจำคุก ๑๒ ปี สมาชิกแกนนำคนหนึ่งที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตได้บันทึกถึงความมั่นคงในความคิดของเขาก่อนถูกส่งตัวไปลงทัณฑ์ว่า "เมื่อเป็นฝ่ายแพ้อำนาจก็ต้องตายหรือรับทัณฑ์ แต่เมื่อวิญญาณของประชาธิปไตยยังไม่ตาย ลัทธิประชาธิปไตยก็คงคลอดภายในแผ่นดินไทยได้สักครั้งเป็นแน่" อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลดหย่อนโทษและอภัยโทษพวกเขาในปลายรัชกาล
วิวาทะของ "พวกหัวเก่า" กับ "พวกหัวใหม่" ว่าด้วย "Civilization" : ความเสื่อม ฤๅ ความก้าวหน้า
แม้ความพยายามปฏิวัติของ "คณะร.ศ. ๑๓๐" ที่จะนำพาสยามไปสู่ภาวะ "ศรีวิลัย"จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่มิได้หมายความว่า จินตนาการถึงภาวะอุดมคติของพวกเขาจะปราศจากคุณค่าในการศึกษา จากหลักฐานที่เกี่ยวข้องระหว่างฝ่ายที่ต้องการรักษาสภาพเดิมกับฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทำให้เราสามารถตีความขัดแย้งทางความคิดในความพยายามปฏิวัติครั้งนั้นได้ว่า มีความคล้ายคลึงกับการเผชิญหน้ากันระหว่าง "พวกหัวเก่า" (Ancient) ที่ต่อต้านภาวะสมัยใหม่กับ "พวกหัวใหม่" (Modern) ที่เชื่อมั่นในภาวะสมัยใหม่อันเคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของยุโรป
วิวาทะระหว่าง "พวกหัวเก่า" กับ "พวกหัวใหม่" เป็นความขัดแย้งทางภูมิปัญญาระหว่าง"พวกหัวเก่า" ที่เชื่อว่า ภูมิปัญญาของมนุษยชาติในอดีตได้ค้นพบ "ความจริง" อันประเสริฐในยุคโบราณแล้ว ไม่จำเป็นต้องแสวงหาของใหม่ใดๆ อีก "ความจริง" อันประเสริฐมีเกี่ยวพันกับความเชื่อทางศาสนาและเชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่แตกต่างกันหรือความไม่เสมอภาคกันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ "พวกหัวใหม่" กลับเห็นว่า "ความจริง" จะถูกค้นพบได้มากขึ้นในอนาคตด้วยความสามารถของมนุษย์ ด้วยความเชื่อมั่นในสติปัญญา ความเป็นเรื่องทางโลก (secularity) ความมีเหตุมีผล (rationality) ของมนุษย์และวิทยาศาสตร์จะนำพามนุษย์ไปสู่ภาวะที่มีความก้าวหน้า (progress) อย่างไม่สิ้นสุด ภาวะดังกล่าว มนุษย์ทุกคนย่อมมีความเสมอภาคกัน (equality) ด้วยเหตุนี้ "พวกหัวใหม่" จึงมิอาจทนต่อภาวะหยุดนิ่งและความไม่เสมอภาคให้ปรากฏอยู่บนโลกได้ส่งผลให้พวกเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความต้องการเปลี่ยนแปลงโลกให้เคลื่อนไปข้างหน้า
ดังนั้นหากพิจารณาในความคิดทางการเมืองของทั้ง ๒ ฝ่ายแล้ว "พวกหัวเก่า" เชื่อในความสามารถของอภิชน และอำนาจในการปกครองย่อมสถิตอยู่ที่เบื้องสูงตามจารีตการปกครองแบบโบราณ กล่าวให้ถึงที่สุดคือ พวกเขาชื่นชมในการปกครองโดยกษัตริย์ หรือชนชั้นสูงผู้ทรงภูมิปัญญา ในขณะที่ "พวกหัวใหม่" กลับปฏิเสธการปกครองโดยอภิชนตามจารีต แต่กลับชื่นชมในการปกครองสมัยใหม่ที่มีที่มาแห่งอำนาจมาจากเบื้องล่างหรือจากมวลชนที่มีความเสมอภาคเท่าเทียม พวกเขาเชื่อว่าระบอบการเมืองที่มีรากฐานจากอำนาจเบื้องล่างเป็นสิ่งที่พึงสถาปนาขึ้นและภาวะที่จะเกิดขึ้นอนาคตมีความก้าวหน้ามากกว่าอดีต
หากนำแก่นแกนการวิวาทะข้างต้นมาพิจารณาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ แล้ว จะพบว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์งานขึ้นหลายชิ้นหลังเหตุการณ์ความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์มีพระราชดำริคล้ายคลึงกับวิวาทะข้างต้นในฝ่าย "พวกหัวเก่า" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยความคิดทางการเมืองสมัยใหม่ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจของพระองค์หรือกลับหัวกลับหางที่มาแห่งอำนาจ หรือการทำลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และแทนที่ด้วยระบอบ "รีปับบลิ๊ก" ตลอดจนการทำลายจารีตการถือครองทรัพย์สินของ "โสเชียลลิสต์" นั้น ทรงแสดงพระราชดำริโต้แย้ง "โสเชียลลิสต์" ด้วยการทรงพาหวนกลับไปยังแหล่งอ้างอิงในอดีต ไม่ว่าอาณาจักรสุโขทัย ศาสนาและตำราโบราณเก่าแก่ ("ancient book")เช่น ทรงไม่เห็นว่า "โสเชียลลิสต์" เป็น "ของใหม่" ที่จะนำไปสู่การสร้าง "สยามใหม่"("Modern Siam") แต่อย่างใด หากแต่จะนำไปสู่ความเสื่อมมากกว่า
สำหรับ "ของใหม่" ที่เรียกกันว่า "โสเชียลลิสต์" นั้น ทรงพระบรมราชวินิจฉัยว่า แท้จริงแล้ว "โสเชียลลิสต์" คือความคิดเก่าที่พบได้ในตำราเก่าแก่โบราณของสยามที่ชื่อ "ไตรภูมิพระร่วง" ซึ่งเป็นคัมภีร์ของพุทธศาสนาที่ถูกแต่งขึ้นโดยกษัตริย์นักปราชญ์แห่งอาณาจักรสุโขทัยเมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ในตำราเก่าแก่โบราณนี้ได้กล่าวถึงภาวะอุดมคติที่เรียกว่าดินแดน "อุตรกุรุ" ที่ผู้คนไม่ต้องทำงาน เนื่องจากมีต้นกัลปพฤกษ์ดลบันดาลให้หมดทุกอย่าง รวมทั้งทรงยกประเด็นศีลธรรมและระเบียบของสังคมขึ้นมาพิจารณาว่า การที่ชายและหญิงที่อยู่ในดินแดนนี้อยู่กินกันเพียง ๗ วันแล้วเลิกร้างกันไปและพ่อแม่ไม่ต้องเลี้ยงดูบุตร ภาวะดังกล่าวนั้น พระองค์ทรงตั้งคำถามเทียบเคียงกับภาวะอุดมคติของ "โสเชียลลิสต์" ที่มีนัยว่า ภาวะนั้นเป็นภาวะความเจริญจริงๆ หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ พระองค์ทรงตั้งคำถามต่อ "ของใหม่" ที่คล้ายคลึงกับ "พวกหัวเก่า" ที่เชื่อว่า ตำราอันเก่าแก่โบราณของพุทธศาสนาได้กล่าวถึงภาวะความเสื่อมดังกล่าวนานมากแล้ว และไม่มี "ของใหม่" แท้จริงใดที่ไม่มีรากฐานจาก "ของเก่า" ดังนั้นจึงไม่มี "ของใหม่" ใดที่น่าตื่นเต้น พระองค์มีพระบรมราชวินิจฉัยเรียกชาวสยามที่ต้องการภาวะสมัยใหม่ตามสากลโลกว่า "พวกบ้าของใหม่" ("New Mania") โดยคนเหล่านี้เป็นพวกที่นิยมชมชอบในภาวะความเสื่อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าตามคำทำนายในตำราเก่าแก่โบราณ
ความแตกต่างกันของการมองไปข้างหน้าในประเด็นภาวะ "Civilization" ของสยามระหว่าง "พวกหัวเก่า" กับ "พวกหัวใหม่" คือ ความขัดแย้งไม่ลงรอยกันในคุณลักษณะของภาวะดังกล่าวว่าเป็นเช่นไรกันแน่ระหว่างความความเสื่อม หรือความเจริญก้าวหน้า และสยามควรเดินไปสู่ทิศทางใดนั้น ภาวะดังกล่าวได้กลายเป็นข้อถกเถียงระหว่างผู้ที่หวาดวิตกในความเปลี่ยนแปลงกับผู้ที่ชื่นชอบความก้าวหน้าของการเปลี่ยนไปแห่งสยาม
การติดตามความเข้าใจของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" ที่มีต่อความหมายของคำว่า"Civilization" นั้น เราสามารถเข้าใจความคิดของพวกเขาได้จากบันทึก "ว่าด้วยความเสื่อมซามและความเจริญของประเทศ" พวกเขาใช้ทับศัพท์ด้วยคำว่า "ศรีวิลัย" โดยในบันทึกได้กล่าวถึงภาวะดังกล่าวในความหมายเชิงบวกว่า "ถ้าประเทศหนึ่งประเทศใด รู้จักจัดการปกครองดี โดยใช้กฎหมายแลแบบธรรมเนียมที่ยุติธรรมซึ่งไม่กดขี่และเบียดเบียนให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประเทศนั้นก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองแลศรีวิลัยยิ่งขึ้นทุกที เพราะราษฎรได้รับความอิศรภาพเสมอหน้ากัน ไม่มีใครที่จะมาเป็นเจ้าสำหรับกดคอกันเล่นดังเช่นประเทศซึ่งอยู่ในยุโหรปแลอเมริกา…" ดังนั้นความหมายของคำว่า "ศรีวิลัย" ของพวกเขา จึงหมายถึงภาวะความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมสยามอย่างลึกซึ้งที่ทำให้ชาวสยามทุกคนมีเสรีภาพและความเสมอภาค ไม่มีความสูงต่ำในสังคมอีกต่อไป ภาวะใหม่นี้จะเคลื่อนพ้นไปจากภาวะเดิมที่ดำรงอยู่ไปสู่ความเจริญให้กับสยามเหมือนดั่งสากลโลก
แต่ในทางกลับกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีจินตนาการถึงภาวะข้างต้นสวนทางกับจินตนาการของ "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" พระองค์ทรงใช้ทับศัพท์ด้วยคำว่า "ซิวิไลซ์" มีพระบรมราชวินิจฉัยความหมายของคำว่า "ซิวิไลซ์" ในความหมายเชิงลบ กล่าวคือ ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ภาวะดังกล่าวจะนำมนุษย์ไปสู่ความตกต่ำเสื่อมทรามทั้งคุณธรรมและจริยธรรม ภาวะเสื่อมทรามดังกล่าวเกิดจาก "โทษของความเจริญตามแบบแผนยุโรป" เนื่องจากคนสยามคบหาสมาคมกับชาวยุโรปจึงเลียนแบบ "ความประพฤติชั่วจากชาวยุโรปมามากแล้วหลายประการ ที่แลเห็นถนัด คือ ในทางกินเหล้าจัดอย่าง ๑ การเที่ยวเล่นผู้หญิงอีกอย่าง ๑ จริงอยู่ความชั่ว ๒ ประการนี้ ไม่ใช่เปนที่เกิดขึ้นใหม่ ถึงในเวลาก่อนๆ ก็เคยมีอยู่แล้ว แต่ต้องนับว่าเปนส่วนน้อยและไม่สู้เห็นปรากฏมากเช่นสมัยนี้...แต่มาในชั้นหลังๆ นี้ เมื่อได้คบค้ากับชาวยุโรปมากขึ้นและเมื่อคนไทยที่ไปเรียนที่ประเทศยุโรปกลับมามากขึ้น ชักจูงให้คนไทยประพฤติเมาเหล้าและเปนคนเล่นผู้หญิงมากขึ้น โดยอ้างว่าเปนของเก๋ เปนคน 'ซิวิไลซ์' อย่างฝรั่ง เรื่องนี้ทำให้เราวิตกอยู่มาก เพราะถ้าปล่อยให้เปนไปเช่นนี้แล้วก็แลเห็นอยู่ถนัดว่า ชาติไทยกำลังจะเดินไปสู่ทางพินาศฉิบหายแน่แล้ว..."
ในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว "พวกหัวใหม่" หรือคน"ซิวิไลซ์" คือผู้ตกต่ำทางคุณธรรมและจริยธรรม คนเหล่านี้เป็นพวกคนขี้ขลาด พระองค์ทรงอรรถาธิบายคนชนิดนี้ว่าเป็นพวก "ขุดอุโมงค์วางดินระเบิดมากกว่าการประจัญบานด้วยดาบปลายปืนหรือยิงต่อสู้ด้วยปืนใหญ่" ทรงเห็นว่า "พวกหัวใหม่" มีพฤติกรรมและความคิดหยุมหยิม นอกจากนี้พระองค์มีพระบรมราชวิจารณ์คุณค่าของ"พวกหัวใหม่" ว่า มิอาจเปรียบได้กับวีรกรรมของเหล่ากษัตริย์ในอดีต เช่น พระร่วงและพระเจ้าอู่ทองที่ทรงไม่ยอมสยบต่อขอม หรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้กู้เอกราช หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุโลกมหาราชที่ทรงสถาปนากรุงเทพฯ ตลอดจนมีพระบรมราชวิจารณ์การนำเข้าความคิดทางการเมืองจากต่างประเทศของ "พวกหัวใหม่" ชาวสยามว่า คนเหล่านี้เป็นพวก "ลัทธิเอาอย่าง" ความว่า "ลัทธิเอาอย่างมีอยู่แพร่หลายในสยามประเทศเรา มีรากเง่าฝังอยู่มาช้านาน...เมื่อข้าพเจ้าได้กล่าวมาถึงเพียงนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอสารภาพเสียต่อท่านโดยตรงว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งซึ่งรู้สึกว่าเบื่อหน่ายในลัทธิเอาอย่างนี้มานานแล้ว..." สุดท้ายแล้วมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ผู้ใดที่เอาอย่างฝรั่งนั้น ทรงเห็นว่าผู้นั้นเป็นเสมือน "ลูกหมา" ให้ฝรั่งเขาตบหัวเอ็นดู
ดังนั้นโลกทรรศน์และการเสนอข้อโต้แย้งของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความคล้ายคลึงกับ "พวกหัวเก่า" ที่มีลักษณะต่อต้านภาวะสมัยใหม่อันเห็นได้จากการที่พระองค์มีพระบรมราชวิจารณ์ชาวสยามผู้ "ซิวิไลซ์ยิ่ง" ("highly civilized") และมีความต้องการความทันสมัย ("up-to-date") ผู้ที่แสดงความเย้ยหยันต่อ "ของเก่า"ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คนแก่ จารีตโบราณ สถาบันจารีต และความคิดจารีตให้มีตกต่ำด้อยค่าว่า คนเหล่านี้เป็น "พวกบ้าของใหม่" ("New Mania") ที่มีอาการของ "โรคบ้าของใหม่" ("New Maniacal Plague") พระองค์ทรงพระบรมราชวินิจฉัยอีกว่า ในโลกนี้ไม่มี "ของใหม่" ในสารัตถะใดนอกจากเพียงชื่อเท่านั้นที่ใหม่ แต่ "ของเก่า" มีประโยชน์มากกว่า "ของใหม่" นอกจากนี้ในสายพระเนตรของพระองค์ทรงเห็นว่า"พวกบ้าของใหม่" มีอาการของโรคเรียกร้องการปฏิรูปสังคม และชอบอ้างว่า พวกเขาเป็นผู้รักมนุษยชาติหรือเป็นผู้หยั่งรู้การฟื้นฟูชาติ ทรงพระราชวิจารณ์คนเหล่านี้ว่าเป็นเพียงพวกนักปลุกระดมมวลชน ("demagogues") เท่านั้น
ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นประมุขของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรงประทับอยู่บนจุดสูงสุดของปิระมิดทางการเมืองของสยาม ผู้ทอดพระเนตรลงมาเห็นความเป็นไปของพสกนิกรในราชอาณาจักรของพระองค์ ทรงพระบรมราชวินิจฉัยคุณลักษณะพสกนิกรของพระองค์ว่าเป็นโรคริษยาที่ "…ฝังอยู่ในสันดานคนไทยหลายชั่วมาแล้ว..." ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงมีพระราชดำริให้ต่อต้าน "ซิวิไลซ์" ความว่า "เรานี้ก็กลัวโรค 'ซิวิไลซ์' นี้และยิ่งกว่าโรคอื่น ไทยเรายังมิทันจะได้ทลึ่งขึ้นไปเท่าเทียมเขา เราจะมาเริ่มเดินลงเสียแล้วฤา อย่างไรๆ ก็จะยอมนิ่งไม่ได้...ต้องพยายามแก้ไขต่อสู้โรคนั้นจนเต็มกำลัง..."
แม้พระองค์มีแนวพระราชดำริในการสร้าง "ชาติ" แต่ความหมายของคำว่า "ชาติ" ของพระองค์จำกัดเฉพาะเพียงผู้จงรักภักดีต่อกษัตริย์เท่านั้น ส่งผลให้การสร้าง "ชาติ" ด้วยการใช้เสือป่าของพระองค์กลับถูกวิจารณ์อย่างหนักจาก "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" จนทำให้ทรงพระราชวิจารณ์ตอบโต้ว่า "อ้ายพวกคิดกำเริบกลับยกเอาไปอ้างเปน พยานอัน ๑ แห่งความที่เรากดขี่ข่มเหงคนไทย...มีผู้หน้าด้านพอที่จะแสดงมาแล้วก็ยังมีอีกหลายข้อ เช่น ข้อที่ว่าฝึกหัดมากเกินไปและไปซ้อมรบมีความเหน็จเหนื่อยฉนี้เปนต้น" อีกทั้งทรงพระบรมราชวินิจฉัยเพิ่มเติมถึงความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ว่า "ชาติไทยเรามีความเน่าเปื่อย มีโรคร้ายเข้ามาแทรกอยู่ คือ โรคฤศยาซึ่งกันและกันในการส่วนตัวและพวกพ้อง แม้อ้ายพวกฟุ้งสร้านซึ่งคิดการกำเริบนั้น ก็มีฤศยาส่วนตัวนั้นเปนพื้น และเปนแม่เหล็กเครื่องฬ่อให้คนนิยมในความคิดของมันมาก..."
ดูประหนึ่งว่า แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพยายามโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความจงรักภักดีให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรและในกองทัพ แต่ปรากฏว่านายทหารใน "คณะ ร.ศ. ๑๓๐" กลับประกอบขึ้นจากนายทหารที่สังกัดกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์หลายหน่วยซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง ๑ ใน ๓ ของนักปฏิวัติในครั้งนั้น เช่น ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ร.ต. วาส วาสนา ร.ต. บุญ แตงวิเชียร สังกัดกรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ร.ต. สอน วงษ์โต ร.ต. ปลั่ง บูรณโชติ ร.ต. จรูญ ษตะเมษ สังกัดกองปืนกลที่ ๑ รักษาพระองค์ ร.ต. อาจ ร.ต. บรรจบ สังกัดกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ ร.ต. ลี้ ร.ต. แฉล้ม ร.ต. สอน สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ ร.ต. นารถ ร.ต. ประยูร ร.ต. ช่วง สังกัดกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ เป็นต้น๒๙ ดังนั้น คำถามจึงเกิดขึ้น คือ เกิดอะไรขึ้นกับความคิดของนายทหารในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
(ยังไม่จบ คลิกอ่านต่อที่นี่)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น