จาก 'โศกนาฏกรรมเคเดอร์' ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพ-ความปลอดภัยในการทำงาน
Thu, 2013-05-09 19:37
บทความเพื่อร่วมรำลึก 20 ปี โศกนาฏกรรมโรงงานเคเดอร์
โดย ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
ภาพประกอบจาก m4r00n3d (CC BY-NC-ND 2.0)
10 พฤษภาคม 2536
คือรอยด่างของประวัติศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
จันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2536 เวลาประมาณ 16.00 น. ที่โรงงานผลิตตุ๊กตาและของเด็กเล่นของ บริษัท เคเดอร์อินดัสเทรียล (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท ไทยจิว ฟู อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อันเป็นบริษัทที่มีเครือข่ายการผลิตทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน และไทย มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายหลายแห่งทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้เกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ ทำให้คนงานของ บริษัท เคเดอร์ฯ เสียชีวิต 188 ราย แยกเป็นคนงานชาย 14 ราย และคนงานหญิง 174 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 469 คน นับเป็นอุบัติภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมโลก โรงงานแห่งนี้เคยเกิดเพลิงไหม้มาแล้ว 3 ครั้งก่อนหน้านี้
สาเหตุการเกิดเพลิงไหม้ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2536
จากการสืบสวนสอบสวนของกรมตำรวจพบต้นเพลิงอยู่บริเวณห้องชั้นล่างของอาคารที่ 1 พบร่องรอยที่พื้นปูนมีรอยไหม้เป็นสีน้ำตาล และมีพยานยืนยันว่ามีสาเหตุมาจากการสูบบุหรี่ของพนักงานคนหนึ่งในที่เกิดเหตุ ซึ่งต่อมาได้ถูกดำเนินคดีไป
สาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก
- โครงสร้างเหล็ก เช่น เสาและคานเหล็กรูปพรรณ มิได้มีการออกแบบให้มีวัสดุหุ้มเพื่อป้องกันไฟไว้เลย ทำให้โครงสร้างพังทลายอย่างรวดเร็ว บันได ขนาดกว้าง 1.60 เมตร จำนวน 2 แห่ง ออกแบบไว้สำหรับใช้งานตามปกติเท่านั้น จึงมีขนาดเล็กเกินไปที่จะให้คนงานจากชั้นละประมาณ 500 คนหลบหนีจากอาคารได้ นอกจากนี้ ตำแหน่งของบันไดทั้งสองอยู่ฟากเดียวกันของอาคาร ทำให้คนงานถูกบล็อคด้วยไฟและควันไว้ทั้งหมด ลักษณะของบันไดที่เป็นห้องโถงมีประตูกระจกกั้นแยกออกจากห้องทำงาน ทำให้ห้องโถงบันไดซึ่งไม่มีระบบอัดอากาศ กลายเป็นปล่องดูดควันและไฟให้ขึ้นชั้นบนอย่างรวดเร็ว
- ประตูทางเข้าออกจากอาคาร มีขนาดกว้าง 1.6 เมตรจำนวน 2 แห่ง ไม่เพียงพอที่จะให้คนงานประมาณ 2,000 คน หลบหนีออกจากอาคารได้ทันท่วงที ไม่มีระบบเตือนภัย ประกอบกับเสียงเย็บจักรทำให้คนงานไม่ทราบเหตุการณ์ จนกว่าจะเห็นควันไฟแล้วเท่านั้น แม้ว่าโรงงานจะติดตั้งท่อฉีดน้ำดับเพลิงไว้ชั้นละ 2 หัว แต่ไม่มีการซักซ้อมหรือเตรียมพร้อม การต่อต้านไฟไหม้จึงไร้ผล ไม่มีแผนหลบหนีภัยและไม่มีการซักซ้อมการหนีไฟ ลักษณะของลิฟท์ส่งของที่มีประตูเป็นชนิดประตูเหล็กยึดทำให้ช่องลิฟท์กลายเป็นปล่องควันไฟ ดึงดูดทั้งควัน และไฟให้ลุกลามข้ามจากชั้นล่างขึ้นชั้นบนเข้าสู่ห้องทำงานทุกๆ ชั้นโดยตรง
- ทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารมีการกองเก็บวัสดุไว้ข้างๆ ทางเดิน ทำให้ไฟลุกลามจากอาคาร 1 ไปอาคาร 2 และอาคาร 3 อย่างรวดเร็ว ชั้นล่างของโรงงานถูกใช้เป็นโกดังเก็บวัสดุทำให้โรงงานเต็มไปด้วยเชื้อไฟที่ลุกลามต่อเนื่องได้ตลอด แม้กระทั่งลุกลามข้ามระหว่างอาคารได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะของอาคารโรงงานที่ไม่มีกันสาด ทำให้คนงานไม่สามารถปีนหนีออกไปจากห้องเพื่อหลบควันไฟชั่วคราว และรอรับความช่วยเหลือได้ จึงต้องปืนหน้าต่างกระโดดลงไปทันที
คนงานคือเหยื่อของการพัฒนาที่ไม่สมดุลและระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ
กรณีเคเดอร์ไม่ได้เป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่คนงานไทยต้องตกเป็นเหยื่อของการพัฒนา แต่หลายทศวรรษของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มิได้คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและละเลยการพัฒนามาตรการด้านสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างเพียงพอ ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุล ผลก็คือชีวิตของผู้ใช้แรงงานต้องสังเวยให้กับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า
ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
- กรณีของเคเดอร์ทุกฝ่ายคือผู้สูญเสีย ไม่มีใครอยากให้เหตุการณ์ที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้เช่นนี้เกิดขึ้นอีก แต่ก็ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์ยังคงตอกย้ำซ้ำรอยว่าประเทศไทยยังไร้ซึ่งระบบและมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่ดีพอ เพราะอีกเพียงไม่กี่เดือนถัดมา 157 ชีวิตต้องสังเวยให้กับเหตุการณ์ตึกถล่มที่โรงแรมรอยัลพลาซ่าจังหวัดนครราชสีมา
- จากนั้น 11 กรกฎาคม 2540 ก็ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ขึ้นอีกที่โรงแรมรอยัล จอมเทียน พัทยาทำให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติต้องตายไปอีก 91 คน
- กรณีเครื่องบินตกที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีปลายปี 2542 ซึ่งทำให้เราต้องสูญเสียบุคลากรดีเด่นของประเทศไปหลายท่าน รวมทั้งอาจารย์ธีรนารถ กาญจนอักษร นักวิชาการผู้มีส่วนอย่างสำคัญในการเรียกร้องและผลักดันให้มีการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย
- กรณีโรงงานผลิตลำไยกระป๋องที่เชียงใหม่ระเบิดทำให้มีคนตายบาดเจ็บ...
- โรงงานเดลต้าถล่ม.....
การล้มป่วยของคนงานด้วยโรคอันเกิดจากการทำงานที่มีจำนวนมากขึ้นและโศกนาฏกรรมหลายครั้งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ฝ่ายต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่าระบบและมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานมีความบกพร่องจำเป็นต้องปรับปรุงขนานใหญ่
อะไรคือความบกพร่องของระบบที่เป็นอยู่?
- ระบบที่เป็นอยู่มุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุกล่าวคือไปเน้นที่การจ่ายเงินทดแทนเมื่อเกิดปัญหา ไม่ได้เน้นและทุ่มเททรัพยากรไปที่การหามาตรการป้องกันปัญหา
- มีลักษณะที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ในมือของข้าราชการประจำซึ่งเข้าไม่ถึงปัญหาและมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา
- ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์เพียงพอ
- มีความซ้ำซ้อน ขาดความเป็นเอกภาพ ขาดการประสานงานและเกี่ยงกันรับผิดชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐที่อยู่ต่างกรมต่างกระทรวง
- ระบบที่เป็นอยู่ไม่ได้เอื้อให้ผู้ใช้แรงงานและนายจ้างผู้เป็นเจ้าของปัญหาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
- รัฐทำตัวเป็นเจ้าของกองทุน บริหารกองทุนเงินทดแทนอย่างไม่มีประสิทธิผล เข้าใจว่าการทำให้กองทุนใหญ่คือความสำเร็จ แต่ขณะที่คนงานที่ได้รับความเดือดร้อนมักจะไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที หลายกรณีต้องฟ้องร้องใช้เวลานาน
- การวินิจฉัยตีความโรคอันเกิดจากการทำงานไม่มีความชัดเจนและไม่ได้มาตรฐานสากล
กำเนิดของสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงาน
คนงานผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงานซึ่งมีจำนวนมากขึ้นได้รวมตัวกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมตั้งแต่ปี 2535 และในที่สุดก็ได้จัดตั้งเป็นสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยในปี 2537 โดยความร่วมมือกับสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ พวกเขาได้ต่อสู้และพิสูจน์เพื่อให้มีการยอมรับว่าคนงานป่วยด้วยโรคจากการทำงานจริง เพื่อคนงานเหล่านั้นได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในการรักษาพยาบาลและรับเงินทดแทนและยังเห็นว่าการวินิจฉัยโรคอันเนื่องจากการทำงานเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านโดยแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นการเฉพาะ พวกเขาได้เรียกร้องให้มีการผลิตแพทย์สาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้เพียงพอต่อความจำเป็น และยังเสนอให้มีการจัดตั้งกรมอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้มีการขยายหน่วยงานด้านนี้ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วทุกเขตที่มีโรงงานอุตสาหกรรม
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยฯ ต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของคนงาน
ในส่วนของขบวนการแรงงาน เอ็นจีโอ และนักวิชาการที่ได้ลงไปช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ก็ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ในปี 2536 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนงานที่กลายเป็นแกนหลักในการเรียกร้องและผลักดันให้มีการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้รัฐประกาศให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ
รัฐก็ขยับจะแก้ปัญหาแต่เป็นไปอย่างจำกัด
ในส่วนของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงานซึ่งรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรงก็ได้มองเห็นและยอมรับในข้อบกพร่องต่างๆ ที่มีอยู่ และได้มีการดำเนินการหลายประการเพื่อปรับปรุง อาทิ มีการเร่งรัดเจ้าหน้าที่เพิ่มปริมาณการตรวจความปลอดภัยมากขึ้น มีโครงการจัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพิ่มการจัดฝึกอบรม และออกมาตรการต่างๆ อีกมากมาย
ที่สำคัญก็คือการออกประกาศกระทรวงเรื่องคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในเดือนตุลาคม 2539 ซึ่งได้เปิดโอกาสให้นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันดูแลและจัดการปัญหาร่วมกัน รวมทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอันเป็นคณะกรรมการระดับชาติขึ้น
ความคิดใหม่ยกเครื่องทั้งระบบโดยตั้งสถาบันอิสระ
หลังเหตุการณ์เคเดอร์ ผู้ใช้แรงงาน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปของปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของคนงาน หลายฝ่ายเห็นพร้องต้องกันว่าจะต้องปฏิรูปใหญ่ระบบการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานในประเทศไทยอย่างจริงจัง มีความพยายามที่จะคิดค้นหารูปแบบขององค์กรที่จะมารับผิดชอบดูแลงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่อย่างจริงจัง มีการศึกษารูปแบบที่ประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เป็นต้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมกับประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ทมีบทบาทอย่างสำคัญในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดการศึกษาดูงานด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของประเทศเยอรมนีซึ่งถือว่ามีพัฒนาการยาวนานที่สุด มีประสิทธิภาพและประหยัดที่สุด สถาบันความปลอดภัยและอาชีวอนามัยแห่งเยอรมนีหรือที่เรียกว่า BG ได้เป็นตัวแบบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดการปฏิรูปความปลอดภัยของขบวนการแรงงาน นักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย
จากการศึกษาของฝ่ายต่างๆ ทำให้เกิดข้อสรุปที่ตรงกันประการหนึ่งว่าควรจะมีการจัดตั้งองค์กรนิติบุคคลขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้
ในขณะที่ฝ่ายผู้ใช้แรงงานที่นำโดยคณะกรรมการรณรงค์ฯ และสภาเครือข่ายผู้ป่วยฯ ซึ่งเคยมีข้อเสนอที่แตกต่างกันได้หันมาร่วมมือกันเสนอต่อรัฐบาลเรียกร้องให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่มีนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันดูแลเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบครบวงจร โดยข้อเสนอนี้ได้ถูกใส่ไว้เป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานต่อรัฐบาลในวันกรรมกรสากลทุกปีนับแต่ปี 2538 เป็นต้นมา จนถึงวันกรรมกรสากลปี 2556 ข้อเรียกร้องของทั้ง 13 สภาองค์การลูกจ้าง และข้อเรียกร้องของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจต่างก็มีข้อเสนอนี้ต่อรัฐบาล
เข้าร่วมกับสมัชชาคนจนเสนอจัดตั้งองค์การอิสระ
สภาเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับมอบหมายจากขบวนการแรงงานให้เป็นหัวขบวนในการนำต่อสู้เรียกร้องเพื่อการปฏิรูประบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในประเทศไทยได้เข้าร่วมกับสมัชชาคนจนเรียกร้องต่อรัฐบาลในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนปี 2539 ได้มีการนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อรัฐบาล จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 22 เมษายน และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับไปดำเนินการศึกษา นายเอกพร รักความสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานมีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานได้มีการตั้งคณะทำงานประกอบด้วยผู้แทนรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างทำการศึกษาร่วมกัน โดยได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้งเป็นสถาบันคุ้มครองความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อเสนอนี้จะถูกยกร่างโดยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีนายจ้าง ลูกจ้าง ตัวแทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ แต่เมื่อมีข้อสรุปออกมาจากคณะกรรมการดังกล่าว กลับปรากฏว่าบางฝ่ายไม่ยอมรับโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงแรงงาน ซึ่งไม่ยอมรับการบริหารงานแบบใหม่ที่จะเป็นแบบมีส่วนร่วมของ 5 ฝ่าย รัฐไม่ไว้วางใจคนอื่น และเกรงว่าตนจะสูญเสียอำนาจ และที่สำคัญกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีเงินมหาศาลจะหลุดไปจากการกำกับดูแลของตน กระทรวงแรงงานโดยฝ่ายข้าราชการประจำมีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน กระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎหมายความปลอดภัยของตนขึ้นมาซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นการปฏิรูปแบบจำกัด สงวนอำนาจไว้กับราชการต่อไป ให้มีการตั้งสถาบันความปลอดภัยที่มีบทบาทด้านการป้องกันและวิชาการเท่านั้น ฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวตั้งตัวตีในช่วงแรก เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจก็ไม่กล้าที่จะยืนยันในร่างกฎหมายที่มาจากคณะกรรมการร่วม จนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองร่างกฎหมายจากคณะกรรมการร่วมก็เลยถูกโยนลงถังขยะไป
สถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ ข้อเรียกร้องเพื่อการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน
ลักษณะสำคัญขององค์กรที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามร่างกฎหมายคือ
- เป็นองค์กรอิสระแต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลโดยกระทรวงแรงงาน
- มีภารกิจในการดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานแบบครบวงจรคือ ป้องกัน รักษาพยาบาล ฟื้นฟู และการทดแทนโดยโอนกองทุนเงินทดแทนมาสู่หน่วยงานใหม่นี้
- มีการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 5 ฝ่าย ผู้แทนรัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ป่วยจากการทำงานและผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการ
การเผชิญหน้ารัฐกับแรงงาน
แม้จะได้ข้อสรุปร่วมกันและมีร่างกฎหมายที่ชัดเจนออกมาแล้วก็ตาม แต่ฝ่ายรัฐโดยทางกระทรวงแรงงานกลับพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะนำเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา โดยอ้างว่าในชั้นต้นองค์กรอิสระที่จะตั้งขึ้นใหม่ควรทำหน้าที่เฉพาะทางด้านวิชาการและการป้องกันเท่านั้น ไม่ควรโอนกองทุนเงินทดแทนซึ่งมีเงินจำนวนมหาศาลมาบริหารในทันที อำนาจการตรวจและบังคับใช้กฎหมายควรเป็นของกระทรวง และไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดเรื่องเบญจภาคี
ทำให้ร่างกฎหมายที่ออกมาจากคณะกรรมการยกร่างไม่ได้ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามที่ตกลงกัน ส่งผลให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายผู้ใช้แรงงานกับกระทรวงแรงงาน
รวบรวมลายมือชื่อ50,000 ชื่อเสนอกฎหมายจัดตั้งสถาบันเอง
ฝ่ายผู้ใช้แรงงานซึ่งต้องการผลักดันให้ร่างกฎหมายที่ร่างโดยคณะกรรมการยกร่างเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ จึงได้หันไปใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 โดยการรวบรวมลายมือชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 50,000 คน เพื่อนำเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่สภา แต่แม้จะสามารถรวบรวมลายมือชื่อได้ครบถ้วน 50,000 ชื่อ แต่ก็ไม่สามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาได้เนื่องจากเงื่อนไขของการรวบรวมลายมือชื่อเพื่อการเสนอกฎหมายที่ได้ถูกตราออกมาในภายหลังมีข้อจำกัดมากเสียจนทำให้การรวบรวมลายมือชื่อดังกล่าวไม่ได้รับการยอมรับจากทางรัฐสภา
นักการเมืองไม่รักษาคำพูด ไม่สนใจความเดือดร้อนของคนงาน
การเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานบ่อยครั้งทำให้ไม่มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องชัดเจน หลายครั้งหลายหนต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี รัฐบาลปัจจุบันที่ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยให้คำมั่นสัญญากับผู้ใช้แรงงานก่อนหน้าการเลือกตั้งว่าเมื่อเข้าเป็นรัฐบาลจะดำเนินการให้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน แต่ผ่านมาสองปีกว่าก็ยังไม่เห็นความคืบหน้า มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายคณะแต่ท้ายสุดก็เป็นเพียงการซื้อเวลา ไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ปล่อยให้คนงานต้องมีชีวิตที่เสี่ยงต่อความตายต่อไป
คำถามจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
จะต้องให้ตายอีกกี่ศพรัฐถึงจะยอมรับข้อเสนอของคนงาน?
นับแต่ปี 2544 ขบวนการแรงงานไทยได้รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกาศจะต่อสู้เรียกร้องเพื่อมวลผู้ใช้แรงงานไทย และได้ถือเอาเรื่องการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพฯ เป็นประเด็นปัญหาหลักของการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง
ตราบเท่าที่ยังไม่มีการปฏิรูประบบการดูแลด้านสุขภาพ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างแท้จริง ก็ยังไม่มีอะไรเป็นเครื่องค้ำประกันว่าโศกนาฏกรรมอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับโรงงานเคเดอร์ จะไม่เกิดขึ้นอีก คงไม่มีใครอยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย คงไม่มีใครอยากเห็นคนที่เรารักต้องประสบกับชะตากรรมอันเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า คงไม่มีใครอยากเห็นสินค้าของเราถูกกีดกันด้วยข้ออ้างว่าเรามีระบบความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานสากล และคงไม่มีใครอยากเห็นประเทศไทยถูกประจานด้วยข่าวที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ไปทั่วโลกกับโศกนาฏกรรมครั้งใหม่
หรือจะต้องให้พี่น้องคนงานของเราต้องตายอีกสักกี่ศพรัฐถึงจะยอมรับฟังและหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
คนงานเคเดอร์ต้องไม่ตายเปล่า
มารวมพลังต่อสู้อุทิศแด่ 188 ดวงวิญญาณ
แม้จะมีการร่างกฎหมายซึ่งร่วมกันพิจารณาจากหลายฝ่ายออกมา แต่กฎหมายดังกล่าวก็ถูกหักหลังครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ เนื่องจากความไม่จริงใจของฝ่ายรัฐที่กลัวการเปลี่ยนแปลง พวกเขายังคงหวงอำนาจและกองทุนเงินทดแทน ทั้งๆ ที่รู้ว่าระบบที่เป็นอยู่ล้มเหลว ไม่สามารถที่จะคุ้มครองชีวิตผู้คนและอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่เพื่อนคนงานของเราเจ็บป่วยล้มตายกันไปต่อหน้าพวกเขาคนแล้วคนเล่า
ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ที่เพื่อนคนงาน 188 คนของเราต้องเสียชีวิต อีกหลายร้อยคนบาดเจ็บพิการ เราจะมารวมพลังกันอีกครั้ง เพื่อต่อสู้เพื่อให้สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการปรากฏเป็นจริง เพื่ออุทิศสิ่งนี้ให้กับดวงวิญญาณของเพื่อนเราที่จากไปเมื่อ 20 ปีก่อน
หมายเหตุ:
ชื่อบทความเดิม: จากโศกนาฏกรรมที่โรงงานเคเดอร์ถึงการปฏิรูประบบสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน