วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี / http://smilefeeling.com/index.php?topic=1655.0

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (นามเดิม: ประยุทธ์ อารยางกูร) หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา "ป.อ.ปยุตฺโต" 
เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี 
เมื่อ ปีพ.ศ. 2494 และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค 
ขณะยังเป็นสามเณร และได้รับการอุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 
ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระนักวิชาการนักคิดนักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชาการพระพุทธศาสนา
เป็นจำนวนมาก ผลงานของท่านที่เป็นที่รู้จักเช่นหนังสือ พุทธธรรม เป็นต้น ท่านได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก 
ด้วยผลงานของท่านทำให้ท่านได้รับรางวัลและดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การที่ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)  
นอกจากนี้ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ท่านได้รับรวมมีมากกว่า 15 สถาบัน ซึ่งนับว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่อง
ให้ได้รับดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษา
อยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ชาติภูมิ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เกิดวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ณ บ้านใกล้ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) 
ฝั่งตะวันออก บริเวณตลาดศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี นามเดิมว่า ประยุทธ์ อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 5 
จากบุตรเก้าคน ของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร ทางครอบครัวประกอบกิจการค้าขายผ้าแพร ผ้าไหม ขายของชำ และโรงสีไฟ


บ้านเกิดท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์  อ.ศรีประจันต์

เมื่ออายุได้ 6 ขวบเข้าเรียนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลครูเฉลียวที่ตลาดศรีประจันต์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาล
ชัยศรีประชาราษฎร์ จากนั้นบิดาได้พาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา โดยพักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ 
เด็กชายประยุทธ์เป็นเด็กเรียนเก่ง จึงได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความใส่ใจในการเรียนมาก 
ช่วงเวลาปิดเทอมกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็สามารถสอนภาษาอังกฤษแก่น้อง ๆ ได้

การบรรพชา



เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์ของท่านจะควบคู่ไปกับ
การเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ท้องเสีย ท้องอืด ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวกอักเสบเข้าไปในกระดูก
พรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อแขนอักเสบ ไวรัสเข้าตา สายเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยง
สมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 
ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ใน
เพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้ 
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่ 
วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ 
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับเป็น นาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาจนกระทั่งได้รับ
ปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จาก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

งาน

หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม. ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง 10 ปี 
มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย 
ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ. 2516 และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้น
ในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย 
ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ หนังสือพุทธธรรม ได้รับการยกย่องว่า
เป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนา ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 กว่าแห่ง 
และได้รับรางวัล "การศึกษาเพื่อสันติภาพ" จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งท่านได้มอบเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ 
เพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษาพระธรรมปิฎกเพื่อสันติภาพ พระ ป.อ. ปยุตโต ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เป็นพระเทพเวที พระธรรมปิฎก 
และพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน



ปัจจุบันพระพรหมคุณภรณ์เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และดูแลสำนักสงฆ์สายใจธรรม 
บนเทือกเขาสำโรงดงยาง ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

สมณศักดิ์

พ.ศ. 2512 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
พ.ศ. 2516 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี
พ.ศ. 2530 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที
พ.ศ. 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร 
มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ในมหาวโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547



เกียรติคุณของพระพรหมคุณาภรณ์

ตลอดชีวิตของพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้ใช้ความรู้พระไตรปิฎกแท้ๆ เพื่อช่วยปกป้องสังฆมณฑลในประเทศไทยหลายกรณี 
ไม่ว่า กรณีสันติอโศกหรือกรณีวัดพระธรรมกาย ท่านได้ช่วยชี้แจงให้คนไทยได้รับทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับพระไตรปิฎกที่ถูกต้องเอาไว้หลายครั้ง 
ในขณะเดียวกัน ท่านยังมีบทบาทในการชี้แนะสังคมไทยในด้านการบริหารประเทศหลายครั้ง เช่น ในหนังสือ มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย 
ได้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของระบบทุนนิยมเสรีในประเทศไทย และยังได้ชี้ให้เห็นว่าสังคมตะวันตก หรืออเมริกา มีแง่มุมที่ไม่ควรเป็นแบบอย่าง
ในการพัฒนาประเทศไทย ที่จะทำให้เน้นแต่พัฒนาวัตถุ ทำให้นักคิดไทยหลายคนตื่นตัวมาหาหลักพุทธธรรมเป็นแนวในการพัฒนา

แรงบันดาลใจให้อยู่เป็นพระสืบอายุพระศาสนา



พระพรหมคุณาภรณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่เป็นระยะเวลานานจนมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
มาตลอดเป็นเพราะได้อ่านนวนิยายอิงธรรมะของอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ทำให้รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ในกองทัพธรรม เช่น

ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
กองทัพธรรม
อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก

ประสบการณ์ในการสอน

อาจารย์ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บรรยายเรื่อง Buddhism and Thai Culture ที่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย University of Pennsylvania
บรรยายพิเศษด้านพระพุทธศาสนาที่ Swarthmore College University of Pennsylvania
อาคันตุกาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Harvard University

ผลงานทางวิชาการพุทธศาสนา

พุทธธรรม
พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
พจนานุกรมฉบับประมวลธรรม
สถาบันสงฆ์กับสังคมไทยในปัจจุบัน
พจนานุกรมพุทธศาสตร์
จารึกอโศก
ธรรมนูญชีวิต
มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย
พระพุทธศาสนากับสังคมไทย

ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาทางวิชาการ ประจำ มูลนิธิแผ่นดินธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์
เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน พุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม

ประวัติย่อ

ชื่อ-นามสกุลจริง ประยุทธ อารยางกูร
สำเร็จเปรียญ 9 ประโยค ขณะเป็นสามเณรและเป็น นาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระแก้ว ในพระบรมราชานุเคราะห์ เมื่อพ.ศ. 2504
ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร
ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



อ้างอิง

หนังสือชีวประวัติ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) สนพ.ธรรมสภา
1. รายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ .เว็บไซต์องค์การยูเนสโก
2. "Wat Nyanavesakavan". Wat Nyanavesakavan.http://www.watnyanaves.net/papayutto/index.htm?#prawat. เรียกข้อมูลเมื่อ Feb. 12, 2008.

--------------------------------------------------

เสียงธรรมบรรยาย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)
วัดญานเวศกวัน ตำบลบางระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

http://www.dhammajak.net/audio/dhamma/files/payutto.php

---------------------------------------------------

ป.อ.ปยุตโตสอน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด



http://www.youtube.com/watch?v=tfWz7n_GHG4&noredirect=1

------------------------------------------------------------------

หลักเศรษฐกิจพอเพียง ท่าน ปอ.ปยุตโต



http://www.youtube.com/watch?v=qaVuIEHZa7A&feature=related

================================================================
จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันที่ ๒๘ - ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ขอเชิญเข้าร่วมสัมมนาผลงานวิชาการพิพิธภัณฑ์ 28 - 29 มีนาคม 2556 เสนอผลงานการศึกษาวิจัยของภัณฑารักษ์ นักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก นักวิชาการช่างศิลป์หลายท่านมานำเสนอ เช่น

"ภาพสันนิษฐานการแต่งกายของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย : บทวิเคราะห์ใหม่จากหลักฐานโบราณคดีและมานุษยวิทยา" โดย นายสมชาย ณ นครพนม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์,

"สางขยะ-สังขยา ในฮินดูและพุทธประติมาน" โดย นางอมรา ศรีสุชาติ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ,

"ความลับใต้ฐานศิวลึงค์" โดย นางสาวศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ พิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร,

"รอยพระพุทธบาทที่พบในภาคใต้ของไทย" โดย นายกิตติ ชินเจริญธรรม หน.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา,

"การเรียนรู้ในนิทรรศการ : ศาสตร์แห่งการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑสถาน" โดย นางกชพร ธรรมจริยา นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ,

"narrative design บอกเล่า และ รับฟัง" โดย นางสาวชาริณี อรรถจินดา สถาปนิกชำนาญการ

"การควบคุมสภาพแวดล้อมในตู้จัดแสดง" โดย นายเสน่ห์ มหาผล นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ,

"การประเมินค่าและราคาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ สิ่งทำเทียม" โดย นางสาวพัชรินทร์ ศุขประมูล ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ,

"องค์ความรู้ด้านชาติพันธุ์วิทยาในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ" โดย นางสาวนิชนันท์ กลางวิชัย ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ
"เมืองโบราณไตรตรึงส์ ชุมชนยุคต้นประวัติศาสตร์ในกำแพงเพชร" โดย นางสาวธัชสร ตันติวงศ์ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ,

" จีน อาหรับ สยาม ; ต้นธารความงาม กรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะอยุธยา" โดย นางสาวศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ชำนาญการ,

"พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์" โดย นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ,

"พระพิมพ์ที่ได้จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ :รูปแบบศิลปกรรมและการกำหนดอายุสมัย" โดย นางเสริมกิจ ชัยมงคล ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ ,

"การศึกษารูปแบบและจัดหมวดหมู่พระพุทธรูปไม้ ศิลปะพม่า ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (คลังกลาง)" โดย นางสาวอุษา ง้วนเพียรภาค ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ

* ไม่เสียค่าใช้จ่าย
* ฟรี เอกสารประกอบการสัมมนา , อาหารกลางวัน, อาหารว่าง
* สำรองที่นั่งได้ที่กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
02 6285660
http://www.facebook.com/events/513206582056559/


กำหนดการ
โครงการสัมมนาผลงานวิชาการพิพิธภัณฑ์
วันที่ ๒๘ - ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖
ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ 
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
*********************
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖
๐๘.๓๐ - ๐๙.๐๐ น. ลงทะเบียน รับเอกสาร

๐๙.๐๐ - ๐๙.๑๕ น. พิธีเปิดการสัมมนาผลงานวิชาการ
พิพิธภัณฑ์ โดยอธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน

๐๙.๑๕ - ๑๐.๑๕ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "สางขยะ-สังขยา ในฮินดูและพุทธประติมาน"
โดย นางอมรา ศรีสุชาติ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ
(รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการสัมมนา)

๑๐.๑๕ - ๑๑.๑๕ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "ความลับใต้ฐานศิวลึงค์" โดย นางสาวศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

๑๑.๑๕ -๑๒.๑๕ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "หลักฐานใหม่ : พระพุทธรูป สกุลช่างบ้านดอน ?"
โดย นายกิตติ ชินเจริญธรรม ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา

๑๒.๑๕ – ๑๓.๐๐ น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "การประเมินค่าและราคาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และ สิ่งทำเทียม"
โดย นางสาวพัชรินทร์ ศุขประมูล หัวหน้ากลุ่มทะเบียน
คลังพิพิธภัณฑ์ และสารสนเทศ

๑๔.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "narrative design บอกเล่า และ รับฟัง"
โดย นางสาวชาริณี อรรถจินดา สถาปนิกชำนาญการ
สำนักสถาปัตยกรรม

๑๕.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "การเรียนรู้ในนิทรรศการ : ศาสตร์แห่งการสื่อความหมายในพิพิธภัณฑสถาน" โดย นางกชพร ธรรมจริยา นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการ กลุ่มเทคนิคและศิลปกรรมและการจัดแสดงนิทรรศการ
(รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการสัมมนา)

๑๖.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "การควบคุมสภาพแวดล้อมในตู้จัดแสดง"
โดย นายเสน่ห์ มหาผล หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์


วันศุกร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖

๐๙.๐๐ – ๐๙.๓๐ น. บรรยายพิเศษเรื่อง "พิพิธภัณฑ์ช้างต้น สวนจิตรลดา" โดย นายอนันต์ ชูโชติ ผู้อำนวยการสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

๐๙.๓๐ – ๑๐.๓๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "ภาพสันนิษฐานการแต่งกายของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย : บทวิเคราะห์ใหม่จากหลักฐานโบราณคดีและมานุษยวิทยา" โดย นายสมชาย ณ นครพนม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ รักษาการในตำแหน่งนักโบราณคดีทรงคุณวุฒิ (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโบราณคดี (โบราณคดีและพิพิธภัณฑ์))

(รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการสัมมนา)

๑๐.๓๐ – ๑๑.๓๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "เมืองโบราณไตรตรึงส์ ชุมชนยุคต้นประวัติศาสตร์ในกำแพงเพชร"
โดย นางสาวธัชสร ตันติวงศ์ ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

๑๑.๓๐ – ๑๒.๓๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "องค์ความรู้ด้านชาติพันธุ์วิทยาในพิพิธภัณฑสถาน แห่งชาติ"
โดย นางสาวนิชนันท์ กลางวิชัย ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก

๑๒.๓๐ – ๑๓.๐๐ น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "จีน อาหรับ สยาม : ต้นธารความงาม กรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะอยุธยา" โดย นางสาวศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ชำนาญการ
กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาพิพิธภัณฑ์

๑๔.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "พระพุทธรูปศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ จากวัดพระศรีสรรเพชญ์"
โดย นางสาวเด่นดาว ศิลปานนท์ ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
(รับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่มระหว่างการสัมมนา)

๑๕.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "พระพิมพ์ที่ได้จากวัดพระศรีสรรเพชญ์ :รูปแบบศิลปกรรมและการกำหนดอายุสมัย" โดย นางเสริมกิจ ชัยมงคล
ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัย

๑๖.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เสนอผลงานวิชาการเรื่อง "การศึกษารูปแบบและจัดหมวดหมู่พระพุทธรูปไม้ ศิลปะพม่า ในคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (คลังกลาง)"
โดย นางสาวอุษา ง้วนเพียรภาค ภัณฑารักษ์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัย

๑๗.๐๐ – ๑๗.๑๕ น. ตอบข้อซักถาม และ ปิดการสัมมนา

*************

หมายเหตุ กำหนดการนี้อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

* ไม่เสียค่าใช้จ่าย
* ฟรี เอกสารประกอบการสัมมนา , อาหารกลางวัน, อาหารว่าง
* สำรองที่นั่งได้ที่กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
02 6285660



วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2556 เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์




สาขาวิชาวักกะวิทยา ภ.อายุรศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมวันไตโลก ประจำปี 2556 : ไตวายหยุดได้ด้วย....ป้องกัน ในวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2556  เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์
1. กิจกรรมบนเวทีเวลา  09.00 น.                 เปิดงานโดยคณบดี
         09.30 น.                 เพลง
         10.00 – 11.30 น.    "ใช้ยาถูกต้องป้องกันโรคไต"
                                        ไขข้อสงสัย   กินยาเยอะแล้วเป็นโรคไตหรือเปล่า, ยาอะไรที่ทำให้ไตวาย,  ยารักษาไตที่โฆษณา
                                                           ทางสื่อได้ผลจริงหรือ, ประสบการณ์การใช้ยาจากผู้ป่วย, ถามตอบปัญหา
                                        วิทยากร : รศ.นพ.เกรียงศักดิ์   วารีแสงทิพย์
                                                      รศ.นพ. อนิรุธ   ภัทรากาญจน์
                                                      อ.ภก.ดร.วีรชัย   ไชยจามร
                                                      ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วย
         11.30 น.                 เพลง
         12.00 – 12.30 น.    เล่นเกมส์
         13.00 – 14.30 น.    "กินอย่างไรไตไม่พัง"
                                        สาธิตการทำอาหารพิชิตโรคไต 
                                        วิทยากร: รศ.ดร.ชนิดาปโชติการ   สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล
 
2.  ตรวจคัดกรองโรคไต ฟรี ตลอดงาน 
     วัดความดันโลหิต และตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ
     ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคไตทั้งอายุรแพทย์ และกุมารแพทย์โรคไต
     ปรึกษาเภสัชกรเรื่องการใช้ยา
     ปรึกษาเรื่องโภชนาการกับนักกำหนดอาหาร

3. บอร์ดนิทรรศการ
    บอร์ดรู้จักไต, เด็กๆ กับโรคไต
     บอร์ดยากับไต, ยา Contrast media , NSAIDs,
     บอร์ดอาหารกับโรคไตให้คำแนะนำ
     จำลองวิธีการฟอกไตทางเลือดและล้างไตทางหน้าท้อง

4. การรับบริจาคอวัยวะ โดย สภากาชาดไทยออกบัตรรับบริจาค
หมายเหตุ:สอบถามรายละเอียด ได้ที่ สาขาโรคไต รพ.ศิริราช 0 2419 8383

 

Lese Majeste Law in Siam and Thailand: Now and Then (Food for Thought อาหารสมอง วันอาทิตย์ 17 มีนาคม 2556)

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

คุณูปการของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ต่อประชาคมจุฬา

คุณูปการของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ต่อประชาคมจุฬา


               
จากข้อคิดเห็นของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ในรายการ Wake Up Thailand  ว่าด้วยภาพลักษณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยของประเทศและภูมิภาค ซึ่งถูกนำเสนอคู่กับภาพการหมอบกราบคลานของนิสิตจุฬา เป็นเรื่องที่ดูผิดแผกกับภาพลักษณ์การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำที่มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่ตอบสนองพลวัตของโลก (Research Base University) ในทางกลับกัน จุฬาฯ ถูกนำเสนอในฐานะ มหาวิทยาลัยพิธีกรรม (Ritual Base University) เรื่องเหล่านี้มิใช่เรื่องแปลกที่ถูกนำเสนอครั้งแรกในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก เป็นที่ทราบกันดีว่า ความเป็น Ritual Base University ของจุฬาถูกนำเสนอมาอย่างยาวนาน มากกว่าเรื่องขีดความสามารถทางวิชาการหรือวิจัย

สิ่งที่ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ตั้งข้อสังเกตเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะเป็นประเด็นที่จะเตือนสติประชาคมจุฬาว่า "บางอย่างอาจจะไปด้วยกันไม่ได้"  เช่น หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าเป็น มหาวิทยาลัยที่สืบสานความเชื่อและพิธีกรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการและวิจัยก็อีกเรื่องหนึ่ง หรือการสืบสานพิธีกรรมนี่แหละที่ทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านอื่นๆ เป็นที่ยอมรับ บทความนี้จะมุ่งชี้ให้เห็นว่าพิธีกรรมหรือการเป็นสถาบันเน้นพิธีกรรมได้สร้างอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาสถาบันการศึกษาด้านวิชาการและวิจัย

ในส่วนแรกจะขอยกประเด็นลักษณะการเป็นองค์กรเน้นพิธีกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหลายท่านจะเห็นเฉพาะพิธีกรรมที่อยู่นอกชั้นเรียน แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือพิธีกรรมของจุฬาฯ ปรากฏอยู่ในหลายมิติ มิติแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตที่เต็มไปด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ จุฬาฯ เป็นต้นตำรับของการรับน้องที่ปลูกฝังความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์ของมนุษย์ การละลายพฤติกรรมผ่านกิจกรรมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ ที่หากคุยกับชาวต่างชาติในสังคมอารยะคงมองว่ากิจกรรมเหล่านี้มีความคล้ายกับกิจกรรมนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นิสิตที่ปลีกตัวออกจากกิจกรรมเหล่านี้จะถูกแบนและลงโทษทางสังคม กิจกรรมบ้านรับน้องที่เป็นการรับรองเส้นสายและระบบคอนเน็คชั่นของนิสิตระหว่างคณะ

ระบบอุปถัมภ์ของสถาบันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความอ่อนด้อยทางวิชาการ  และความสามารถของบุคลากร เป็นที่ทราบกันดีว่า บัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ มีอภิสิทธิ์ในการสอบเข้ารับราชการในกระทรวงหลักของประเทศ ด้วย "สี" ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องกลายเป็นเรื่องของ Know Who ที่สำคัญกว่า Know How ในท้ายสุด

พิธีกรรมของจุฬาฯ ยังคงปรากฏในระบบการเรียนการสอน ระบบการเรียนแบบแพ้คัดออกและการมีเสรีภาพทางวิชาการที่ต่ำโดยเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำในระดับเดียวกัน (อย่าเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นในประเทศนี้ที่มีเสรีภาพต่ำในระดับใกล้เคียงกัน) การสร้างองค์ความรู้ทางการวิจัยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความคิดต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่างสำนักคิด มหาวิทยาลัยวิจัยในอุดมคติคือมหาวิทยาลัยที่ปราศจากอำนาจ อาณาจักรและศาสนจักรที่จะคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับที่ผู้สอนต้องเป็นกลางหรือปราศจากอุดมคติทางการเมือง ผู้สอนต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก "ระบบคิด" ของตนอย่างเสรีและไม่ถูกคุกคาม แต่จารีตของมหาวิทยาลัยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุฬาฯ ไม่เอื้อให้เกิดเงื่อนไขนั้น

หากจำกันได้เมื่อ 4-5 ปีก่อน ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกรณีพิพาทในกรณีการปฏิเสธเผยแพร่งานเขียนของ รองศาสตราจารย์ ใจ อึ๊งภากรณ์ แน่นอนว่าเป็นสิทธิของศูนย์หนังสือที่จะเลือกเผยแพร่งานชิ้นใด แต่สิ่งที่จุฬาลงกรณ์ต้องขบคิดคือ เส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐกับเสรีภาพของงานเขียนที่มีความเป็นวิชาการควรจะอยู่ที่ใด กรณีของอาจารย์ใจ อาจเป็นกรณีสุดโต่งไปอีกด้านหนึ่ง แต่เราก็จะพบระบบจารีตในทางวิชาการที่มากมายที่อาจไม่ใช่เรื่องการสกัดกั้น แต่การมุ่งตาม Impact Factor จากการตีพิมพ์บทความ  เพียงลำพังก็ได้เพียงแค่ตัวบ่งชี้เชิงปริมาณ แต่ข้างในความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยกลับกลวงเปล่า เพราะองค์ความรู้มิใช่เกิดขึ้นจากการตีพิมพ์ผลงานในวารสาร หากแต่เกิดจากการถกเถียงและเปิดกว้างในสังคมอารยะอย่างเท่าเทียม

จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ "ตาย" ไม่มีชีวิต นั่นก็ด้วยพิธีกรรมบางอย่างที่ปลูกฝังมา ในทางภูมิทัศน์จุฬาฯ มีลักษณะคล้ายวัด อุทยาน มีความคล้ายกับพุทธมณฑล (พุทธอุทยาน จังหวัดนครปฐม) มากกว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัย หรือวิชาการ พื้นที่ถูกทำให้สะอาดตา การติดใบปลิวโฆษณาทางการเมืองในพื้นที่ส่วนมากเป็นสิ่งต้องห้าม การทำกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยเหมือนโรคร้ายของคนเสียสติ (เว้นแต่กิจกรรมจารีตที่ได้รับอนุญาต) การสัมมนาทางวิชาการถูกทำให้เป็นทางการเพื่อวิ่งตามตัวชี้วัดของ สกอ.และ สมศ.เมื่อรวมกับความอนุรักษ์แบบจุฬาฯ ทำให้งานสัมมนาวิชาการเป็นเรื่องของการเชิญผู้วิเศษมาบรรยาย มากกว่าการจัดงานเพื่อปฏิสัมพันธ์กันอย่างคนที่เท่าเทียม มหาวิทยาลัยวิจัยต้องเป็นพื้นที่สำคัญที่มนุษย์จะปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างมนุษย์ที่เท่าเทียม จึงจะสามารถสร้างองค์ความรู้ที่ตอบสนองต่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในสังคมได้ การคิดดำริจินตนาการจากคนส่วนน้อยองค์ความรู้ที่ได้ก็ไม่ต่างจาก ชุดศีลธรรมที่มีไว้ควบคุมความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่อไป

สำหรับผม พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เป็นคนที่น่าเคารพอย่างยิ่งมิใช่ในฐานะอาจารย์แต่ในฐานะมนุษย์ มนุษย์ที่พร้อมจะปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างมนุษย์ด้วยกัน ข้อตักเตือนของท่านเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาคมจุฬาฯ บทความนี้เพียงต้องการยกให้เห็นว่า  Ritual Base ของสถาบันแห่งนี้กำลังเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพทางวิชาการและการวิจัยของสถาบันแห่งนี้ และสถาบันการศึกษาอื่นที่กำลังมุ่งเดินตามเส้นทางนี้โดยไม่ตั้งคำถามอะไร

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม: คุณูปการของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ต่อประชาคมจุฬา : ภาพลักษณ์ของจุฬาฯในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการวิจัยที่ก้าวไม่พ้นแนวคิดอนุรักษ์นิยม


เก็บตกเสวนา 15 ปีองค์กรอิสระ ‘สุนี ไชยรส’ ถอดบทเรียนจาก รธน.40-50

เก็บตกเสวนา 15 ปีองค์กรอิสระ 'สุนี ไชยรส' ถอดบทเรียนจาก รธน.40-50

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่โรงแรม พลาซ่าแอทธินี ประชาไทร่วมกับโครงการสะพานจัดสัมมนา 15 ปีองค์กรอิสระ สำรวจธรรมาภิบาล สำรวจประชาธิปไตย  โดยหัวข้อหนึ่งของการสัมมนาคือ 'องค์กรอิสระกับสื่อมวลชน 2 พลังสร้างธรรมาภิบาล' ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายหลายคน รวมทั้ง สุนี ไชยรส ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และในอดีตเคยเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระชุดที่มาจากรัฐธรรมนูญ 40 ดังนั้น เธอจึงมีประสบการณ์ที่คาบเกี่ยวระหว่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และเห็นจุดอ่อนจุดแข็งในกระบวนการทำงานขององค์กรอิสระได้เป็นอย่างดี

และในวันนี้ (15 มี.ค.) จะมีเวทีเสวนาเกี่ยวกับองค์กรอิสระอีกครั้งหนึ่ง ในหัวข้อ 'ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบาย สาธารณะ' มีผู้อภิปรายได้แก่ ศ.กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กกต., จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการฯ ในกรรมการสิทธิฯ, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิฯ ในส่วนการอภิปรายของสุนี ประชาไทเก็บความนำเสนอดังนี้

 

มันเป็นสัจธรรมที่ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบได้ทันทีในทุกเรื่องแบบในทางทฤษฎี

ก่อนปี 40 สังคมไทยเราอยู่กับเผด็จการมามาก เราเจอคือการคุกคามเสรีภาพสื่ออย่างหนักและนี่คือประเด็นใหญ่ที่สุดของสถานการณ์ในช่วงยุคเผด็จการ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 40 หรือองค์กรอิสระก็เริ่มเกิดขึ้นมาจากกระแสที่ต้องการถ่วงดุลทั้งเผด็จการหรือแม้แต่ประชาธิปไตยเองก็ตาม เราบอกว่าอำนาจ 3 ฝ่ายยิ่งใหญ่ที่สุด ดูเหมือนเป็นโครงสร้างสำคัญที่สุด แล้วทำไมจึงยังต้องมีองค์กรอิสระ ในยุคของรัฐธรรมนูญ 40 ความเป็นจริงก็คือ ถ้าเราย้อนไปดูมาตรา 3 ซึ่งเถียงกันมากในรัฐธรรมนูญ 40 บอกว่า ไม่ว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยจะเป็นยังไงก็ตามอำนาจการตรวจสอบ อำนาจการดูแลสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ฉะนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบทุกอำนาจได้  หลักการอยู่ตรงนี้แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สิ่งหนึ่งที่จะตรวจสอบได้ก็โยงกับเรื่องสื่อ หัวใจของสื่อและองค์กรอิสระที่ถูกออกแบบกันมา คือ ข้อมูล ต้องทำให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ทุกคนเข้าถึงได้ สื่อทำหน้าที่นี้อย่างทรงพลังในอดีตแล้วก็โดนคุกคามมา องค์กรอิสระก็เหมือนกันที่สร้างมาเพื่อสามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ซึ่งก็รวมทั้งเรื่องของข้อมูลด้วย

เรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานให้ สสร.40 เถียงกันมาก เวลาพูดถึงเสรีภาพสื่อ บางคนบอกว่าสื่อทรงพลังมากเกินไป แล้วก็มาคุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคลเยอะแยะ คนลุกมาโต้แย้งว่าการให้เสรีภาพสื่อมากก็จะไปคุกคามสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล เกียรติยศชื่อเสียงของบุคคล  ข้อนี้ถูกนำมาออกแบบซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดที่เยอะเกินไปหน่อย เช่น เรื่องความมั่นคง และอะไรต่างๆ ก็ยังจำกัดสื่อได้เยอะ ในรัฐธรรมนูญเขียนหลักการไว้ดีหมด ห้ามปิดโรงพิมพ์ ปิดสถานีโทรทัศน์ซึ่งสมัยก่อนปิดกันเยอะ แต่แย่หน่อยที่ไปยกเว้นเรื่องความมั่นคงและกรณีอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เขายังคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลในเรื่องข้อมูลส่วนตัว เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ คำว่า "เว้นแต่เพื่อประโยชน์สาธารณะ" นำมาซึ่งการที่สื่อต้องสามารถแสดงพลังของการหาข้อมูล ของการเปิดเผยเรื่องราวต่อสาธารณะ ถ้ามันเป็นประโยชน์สาธารณะก็สามารถแหวกข้อจำกัดหลายๆ เรื่องออกไปได้เพราะสังคมถือว่า สามอำนาจที่เราถือว่าเป็นโครงสร้างหลักนั้นไม่เพียงพอ ต่อให้รัฐบาลมีเสียงข้างมากมากแค่ไหนก็ตามก็ยังต้องถูกตรวจสอบได้

อันนี้เป็นแนวคิดขององค์กรอิสระด้วยที่เกิดขึ้นมา แม้ว่าบางคนจะบอกว่านี่เป็นการสร้าง "อำนาจที่ 4"  ประชาธิปไตยมี 3 อำนาจพอแล้ว ในส่วนของรัฐบาลกับรัฐสภาก็ยังมาจากการเลือกของประชาชนด้วย แต่แนวคิดเบื้องหลังของการมีองค์กรอิสระก็คือ รัฐบาลต้องถูกตรวจสอบถอดถอนได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังต้องการออกแบบให้มีการถ่วงดุล องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่องค์กรอิสระที่มามิติเดียว องค์กรอิสระที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน องค์กรอิสระที่ตรวจสอบในเชิงของคำสั่งทางปกครอง องค์กรอิสระที่ตรวจสอบการทุจริต จิ๊กซอว์เป็นอย่างนี้

มีคนตั้งคำถามกันว่า เมื่อมีองค์กรอิสระเยอะๆ แล้วทำไมไม่ทำอะไรไปพร้อมๆ กันไปเลย นี่เปลืองมาก ทุกคนพากันตรวจสอบ แต่นี่คือโจทย์ ดิฉันบังเอิญไปอยู่ที่กรรมการสิทธิฯ จึงขอโยงมานิดหนึ่งว่า เราจะต้องฟันธงบอกว่า องค์กรอิสระต้องไม่ฮั้วกัน เพราะมันถูกออกแบบให้ตรวจสอบกันเองด้วย องค์กรอิสระไม่ใช่เฉพาะจะมาตรวจสอบแต่รัฐบาล แต่จะต้องตรวจสอบซึ่งกันและกันด้วย และถูกตรวจสอบจากประชาชน ไม่ใช่อิสระจากทุกสิ่งทุกอย่าง  คุณไม่สามารถอิสระจากอำนาจถ่วงดุลในรัฐธรรมนูญ คุณไม่สามารถอิสระจากอำนาจของประชาชนซึ่งเป็นแกนหลักของอำนาจพื้นฐาน

ดังนั้น องค์กรอิสระจึงเกิดขึ้น เพราะยังไม่สามารถจะสร้างทฤษฎีที่รัฐบาลจะสมบูรณ์แบบ ทำอะไรก็ได้ ดี เรียบหมดเลย ไม่ใช่ สภาเองก็ไม่ใช่ว่าจะสมบูรณ์แบบ

เมื่อโยงไปถึงสื่อ อำนาจของข้อมูลข่าวสารกับการเปิดเผย ถ้าเราดูรัฐธรรมนูญเราต้องไปดูเฉพาะหมวดว่าด้วยองค์กรอิสระและเสรีภาพสื่อ  รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนโยงไปทั้งมิติของกระบวนการยุติธรรม โยงไปเรื่องสิ่งแวดล้อม โยงไปทุกเรื่องเพื่อจะบอกว่า ประชาชนต้องสามารถมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การจะมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในเรื่องทั้งหลาย หนทางสำคัญคือต้องเปิดเผยอข้อมูลข่าวสาร ทำให้ทุกเรื่องเปิดเผยต่อสาธารณะ และนี่เป็นการมีส่วนร่วมที่ประชาชนไม่ต้องรอเฉพาะการถอดถอนนักการเมืองอย่างเดียว แต่สามารถเคลื่อนขบวนของการตรวจสอบนี้เป็นระยะๆ อำนาจยังอยู่กับประชาชน  ไม่ได้อยู่ที่อำนาจสามฝ่าย ไม่ได้อยู่ที่องค์กรอิสระ ไม่ได้อยู่ที่สื่ออย่างเดียว  แต่สามารถออกแบบให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลจากสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกมิติ มีส่วนร่วมเอาไว้ในทุกขั้นตอน

นี่คือการออกแบบที่ดูเหมือนจะวาดหวังบรรเจิด แต่ในความเป็นจริงก็เกิดปัญหา ซึ่งเข้าใจได้ เพราะบังเอิญตัวเองไปอยู่ทั้งกรรมการสิทธิฯ ตอนนี้ก็อยู่กรรมการปฏิรูปกฎหมาย ไม่แน่ใจว่าเป็นองค์กรอิสระไหม แต่เขาเขียนว่าเหมือนเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ50 โดยเพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ใน 2 ปีนี้

ทีนี้ลองมาพูดถึงข้อโต้แย้งที่เราเปิดประเด็นเอาไว้ เรื่องเสรีภาพสื่อ เบื้องต้นพยายามอธิบายแล้วว่า โดยหลักการเราต้องให้เสรีภาพสื่อสูงสุดสำหรับสังคมประชาธิปไตย  แต่แน่นอน ถ้าคุณละเมิดดิฉัน ดิฉันก็ฟ้องคุณ  ถ่วงดุลด้วยการที่สามารถฟ้องต่อศาลได้ ฟ้องต่อองค์กรอิสระได้เพื่อให้ตรวจสอบสื่อได้ ในเชิงบวกของมันก็คือ สื่อกับองค์กรอิสระซึ่งมีหลายมิติ ถ้าสามารถร่วมมือกันได้น่าจะสามารถผลักดันสิ่งต่างๆ ได้มาก เช่น ดูเหมือนหลายองค์กรไม่ได้ใช้บทบาทของสื่อ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด ตอนอยู่ที่กรรมการสิทธิฯ เราก็ได้ทำงานร่วมกับสื่ออย่างมาก สื่อลงพื้นที่กับเรา สื่อไปพิสูจน์เรื่องราวกับเรา แล้วสื่อกลับมารายงานแสดงพลังของความเป็นสื่อ หรือแม้แต่การแถลงข่าวตามปกติ นอกจากนี้ยังมีการประสานข้อมูลกันมาก เพราะเงื่อนไขของกรรมการสิทธิฯ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ พลังของเขาอยู่ที่อำนาจแห่งการเรียกข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อมูลช่วยประชาชน บางข้อมูลก็ส่งให้สื่อ สื่อได้ข้อมูลก็ส่งให้องค์กรอิสระ แล้วก็ส่งผ่านไปที่ประชาชน นี่คือแกนกลางของความร่วมมือ นี่คือแนวคิดอันสมบูรณ์ในเรื่องความร่วมมือ แต่จะไม่ฮั้วกันและตรวจสอบกันในทุกมิติขององค์กรอิสระและสื่อด้วย

นอกจากนี้เมื่อพูดถึงสิ่งที่คาดหวังในรัฐธรรมนูญ40 นั้น รัฐธรรมนูญ50 ก็นำบางส่วนมาใช้อยู่ แล้วใครจะตรวจสอบที่ลึกลงไปกว่านั้น เช่น วุฒิสภาถอดถอนองค์กรอิสระ เพียงแต่มีจุดเปลี่ยนบางอย่าง เมื่อให้เสรีภาพสื่อแล้วต้องควบคุมดูแลกันเองด้วยการสร้างมาตรฐานจริยธรรม สร้างองค์กรวิชาชีพ ฯลฯ เพื่อมาถ่วงดุล องค์กรอิสระก็เหมือนกัน ต้องถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา อันนี้จะออกแบบกันอย่างไร ต้องยอมรับว่าองค์กรอิสระก็เป็นกลุ่มที่ถูกว่ากันไปทุกองค์กร เช่น กกต. ป.ป.ช. กสม. ผู้ตรวจการฯ ถูกสื่อถูกภาคประชาชนวิจารณ์มาก แต่ที่ไม่อาจจะวิจารณ์ได้ชัดเจนก็คือ องค์กรอิสระที่เราเรียกว่า ศาล

เรายังรู้สึกไปไม่ถึงศาลนัก จะวิจารณ์ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญได้แค่ไหน  คือวิจารณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เท่าองค์กรอิสระอื่นๆ อันนี้เป็นโจทย์ที่ยังทิ้งไว้

ต่อมา เรื่องที่มาและองค์ประกอบจึงเป็นเรื่องสำคัญขององค์กรอิสระ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ40 ก็ไม่ใช่ว่าดีหมดแต่มันถูกออกแบบโดยการเชื่อมโยงกับภาคประชาชน เช่น คณะกรรมการสรรหาของเกือบทุกองค์กรอิสระ แม้ว่าจะมีศาล มีนักการเมือง มีอธิการบดี  ภาคราชการ แล้วก็ถูกออกแบบต่างกันเล็กน้อยในแต่ละองค์กร แต่มันยังขาดความเชื่อมโยงกับภาคประชาชน เช่น บางองค์กร อย่าง กสม.นั้นชัด ที่มานั้นมาจากอธิการบดี ตัวแทนสื่อ ตัวแทนภาคประชาสังคม หลายฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการสรรหา ก็จะยึดโยงกับประชาชน อย่างที่สองคือ ยึดโยงกับวุฒิสภา วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงเป็นเสมือนตัวแทนของประชาชนแล้วมาเป็นคนเลือกองค์กรอิสระ ซึ่งมาจากกรรมการสรรหาที่หลากหลาย ยึดโยงภาคประชาสังคม แต่ก็ถ่วงดุลด้วยการให้วุฒิสภามีสิทธิเลือกด้วย  ถ้ายังจำได้ กรรมการสรรหาจะเลือกไว้เป็นสองเท่า แล้วให้วุฒิสภาเลือกให้เหลือครึ่งหนึ่ง 

แต่พอมาเปลี่ยนแปลงเป็นรัฐธรรมนูญ50 ก็ต้องขอวิจารณ์ต่อไว้ว่า รัฐธรรมนูญ50 ได้ทำให้ที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระเพี้ยน  เพี้ยนจากเจตนารมณ์เดิม คือ เรื่องที่มาเราคงพอรับรู้กันอยู่ว่า ถึงแม้มันจะมีความต่างกันบ้างในแต่ละองค์กร แต่ก็มีจุดร่วมที่คล้ายกัน พูดง่ายๆ ในภาพรวมก็คือ มาจาก 7 คนเป็นหลัก  7 คนนั้นก็มาจากศาลเสีย 3 วงเล็บมาจากศาลเลือกอีก 2 รวมเป็น 5 ที่เหลือมาจากประธานรัฐสภา และผู้นำฝ่ายค้าน รวมเป็น 7 คน แล้วก็เลือกองค์กรอิสระเกือบทั้งหมดเลย องค์ประกอบจะคล้ายกัน ต่างกันบางองค์กร 

ประการที่สอง วุฒิสภา มาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่งและมาจากการสรรหาอีกส่วนหนึ่ง และการสรรหาของวุฒิสภาก็มาจากการสรรหาโดยศาล  มันถูกออกแบบจนกระทั่งการยึดโยงกับประชาชนในที่มาและองค์ประกอบขององค์กรอิสระมันสับสน แล้วก็แล้วก็ทำให้ยิ่งแย่ ดิฉันเองก็ยังสะเทือนใจในฐานะคนอยู่กับรัฐธรรมนูญ 40 เวลาเขาวิจารณ์เรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงว่าคุณหมอนิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ-กรรมการสิทธิ) ไม่ดี แต่นี่เรากำลังผู้ถึงโครงสร้างที่มันถูกออกแบบจนไม่ยึดโยงกับภาคประชาชน และถูกออกแบบให้สับสน วงกลมนี้มันทำให้กระบวนการ ที่มาของการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งนั้นเปลี่ยนไป

กรรมการสรรหาเสนอเท่าเดียว คือวุฒิสภาไม่มีสิทธิเลือกด้วย  ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นด้วยอย่างดีก็โยนกลับให้กรรมการสรรหา แล้วถ้ากรรมการสรรหายืนยันมติ วุฒิสภาก็ต้องรับ ดังนั้น ความเป็นองค์กรอิสระตามเจตนารมณ์ มันจึงขึ้นอยู่กับการออกแบบด้วยและไม่ใช่เพียงตัวตนแค่ง่ายๆ มันต้องออกแบบทั้งขบวน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐธรรมนูญ40 สมบูรณ์ เพียงแต่อธิบายให้เห็นภาพว่า ถ้าคุณตัดขาดจากกระบวนการเหล่านี้ ที่มาและองค์ประกอบมันจะยิ่งสับสนขึ้น เพราะว่าพูดตรงไปตรงมา ศาลไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครคือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอันเป็นที่ประจักษ์ตามที่รัฐธรรมนูญเขียน

สำหรับสื่อเอง วันนี้ดูสถานการณ์ก็ต้องยอมรับกันตรงไปตรงมา รัฐธรรมนูญ50 ไปเขียนเพิ่มเอาไว้ในเรื่องสื่อที่น่าสนใจในหลายมาตรา บอกว่า ห้ามนักการเมืองเข้าไปถือหุ้น หน่วยงานของรัฐห้ามไปสนับสนุนสื่อของภาคเอกชนเพื่อไม่ให้มีการครอบงำสื่อ มันต้องถ่วงดุลกันอย่างนี้ ไม่อย่างนั้นเสรีภาพสื่อมันจะแสดงออกไม่ได้ นอกจากนี้ยังให้พนักงานของสื่อทั้งภาครัฐและเอกชนมีสิทธิเสรีภาพแสดงความคิดเห็น เช่น คัดค้านบก.ได้ อันนี้ก็เป็นทฤษฎีอยู่เหมือนกันว่าจะกล้าค้านบก.แค่ไหน เพราะสื่อถูกคาดหวังสูงว่าจะต้องถ่วงดุลการตรวจสอบทั้งขบวนทั้งนักการเมืองและองค์กรอิสระ

รัฐธรรมนูญ50 ออกแบบในเรื่องนี้มาฟังดูดีพอสมควร แต่ถามว่าในความเป็นจริงวันนี้ก็จะเห็นว่าสื่อกระแสหลักต่างๆ ก็ไม่อาจหลุดพ้นไปจากการครอบงำของทุน ถ้าวิจารณ์กันลึกลงไป ตอนนี้มันออกแบบให้กลุ่มทุนหรือนักการเมืองซับซ้อนขึ้น เช่น นักการเมืองดูเหมือนไม่ได้ถือหุ้น แต่ว่าอาจจะเป็นบริษัทลูกหลานอะไรที่ซับซ้อนขึ้น  และไม่ใช่เพียงหน่วยงานของรัฐไปถือหุ้นในสื่อเอกชน แต่กลายเป็นบริษัทที่ถูกออกแบบให้จากเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วก็แปลงทุน แปรรูปก็มี  ไม่แปรรูปก็มี กลายเป็นตั้งบริษัทลูกต่อๆ ไปซึ่งก็มีอิทธิพลต่อสื่ออยู่ดีในแง่ของงบโฆษณาทั้งหลาย ไม่ใช่แค่บริษัทเอกชนธรรมดา จนกระทั่งสื่อเองควรจะมีหน้าที่ไปวิเคราะห์ความซับซ้อนเหล่านี้ เพื่อเปิดให้เห็นว่าสื่อนั้นต้องการเสรีภาพที่จะแสดงพลังของตนเองได้ ที่พูดนี้ก็ด้วยความเห็นใจว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราพูดกันในเชิงหลักการ

เพราะฉะนั้นสองพลังขององค์กรอิสระและสื่อจึงสำคัญอย่างมากและต้องประสานกัน ถึงอย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวยังยืนยันว่าการมีองค์กรอิสระที่มีการสร้างองค์ประกอบและที่มาที่ไปให้สมบูรณ์ยังเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น เสรีภาพสื่อยังต้องพิทักษ์เต็มที่ เพราะว่าสองอย่างนี้สามารถช่วยเหลือภาคประชาชนในการแสดงพลังของการตรวจสอบ บนฐานที่ไม่ใช่แค่เรื่องทุจริตเท่านั้น วันนี้สังคมไทยและสังคมโลกมีความซับซ้อนที่มากกว่านั้น แล้วนำไปสู่การมีนโยบายที่ทำให้ภาคประชาชนเดือดร้อนมากมาย เป็นการทุจริตที่ไม่เหมือนกับการโกงเงิน แต่เป็นการทุจริตที่ทำให้เกิดคดีสิ่งแวดล้อม เกิดคดีแรงงาน พันไปจนถึงเรื่องนโยบาย ไปจนถึงระดับอาเซียนที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน เพราะฉะนั้นองค์กรอิสระทุกมิติ และสื่อ จึงจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอย่างแข็งแรง ขณะเดียวกันก็จะต้องให้สังคมเข้ามาตรวจสอบเราคือตรวจสอบองค์กรอิสระ และตรวจสอบสื่อด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตที่สำคัญในเรื่องอิทธิพลอันทรงพลังของข้อมูลข่าวสาร ตอนนี้กำลังถูกออกแบบจากกฤษฎีกาเสียใหม่ โดยกฤษฎีกาได้แก้ร่างกฎหมายคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งต้องออกใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วไปล็อกความสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลระหว่างองค์กรอิสระกับสื่อและภาคประชาชน ด้วยการไปแก้ไขร่างกฎหมาย ซึ่งดิฉันเป็นคนร่วมร่างตอนอยู่กรรมการสิทธิฯ ก่อนจะหมดวาระ เพราะต้องร่างตามรัฐธรรมนูญ 2550 ปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไปเพิ่มประโยคสำคัญที่แย่มาก และวันนี้ก็ยังดำรงอยู่ในร่างของกรรมการสิทธิฯ ที่กำลังเข้าสภา คือ บอกว่าห้ามกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้มาจากการตรวจสอบ นี่คือการตัดมือตัดตีนกรรมการสิทธิฯ เพราะกรรมการสิทธิฯ ไม่มีอำนาจเหมือนศาล แต่กรรมการสิทธิสามารถเข้าถึงข้อมูล มีอำนาจตรวจสอบ เอาข้อมูลมาให้ภาคประชาชน เอาข้อมูลมาให้สาธารณะ เอาข้อมูลมาให้สื่อ ถ้าห้ามกรรมการสิทธิฯ เปิดเผยข้อมูล โดยกำหนดว่ามีสิทธิเปิดเผยข้อมูลใน 2 กรณีเท่านั้น คือเข้าไปอยู่ในชั้นศาล กับ รายงานการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องโจ๊กไหม รายงานคณะกรรมการสิทธิฯ อาจจะหนา 20 หน้า 30 หน้า แต่ข้อมูลนั้นอาจจะกองท่วมหัว แล้วหลายข้อมูลจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะให้เร็ว จึงจะสามารถนำไปสู่การตรวจสอบ ต่อยอดออกไปได้

ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งไม่ได้เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้ แต่อยากบอกว่าถ้าจะแก้ไขก็มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ 

เราพูดถึงเป้าหมายหรือทิศทางที่เราคาดหวังไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือเสรีภาพสื่อ เพราะมันเป็นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีการเลือกตั้ง มีถอดถอน แต่ในนั้นต้องวงเล็บไว้ด้วยว่า เราไม่ได้ต้องการประชาธิปไตยที่มีแต่การเลือกตั้งอย่างเดียว แต่มันต้องควบคู่กับการที่ต้องมีประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ในทุกระดับ ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่าสิทธิเสรีภาพจะได้มานั้นจำเป็นต้องได้มาจากการตระหนักของคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าพูดแบบสำนวนส่วนตัวก็คงจะบอกว่า สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค อะไรทั้งหลายทั้งปวงนั้นต้องได้มาด้วยการต่อสู้ของแต่ละท่าน  แต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องด้วย มันถึงจะเป็นหลักประกัน ต้องมีส่วนที่ประชาชนลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิหรือเรื่องราวของตัวเอง ไม่ให้มีใครมาทุจริต หรือไม่ให้มีใครมาใช้อำนาจเกินขอบเขต และอีกส่วนหนึ่ง ต้องบอกด้วยว่าตราบใดที่สังคมไม่มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีมันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย ฉะนั้นประชาธิปไตยจึงมีสามเรื่องที่เกี่ยวข้องกันหมด

เหตุที่ต้องโยงตรงนี้ เพราะอยากจะตอบคำถามบางประการ ขอยกตัวอย่างเร็วๆ ของกรรมการสิทธิฯ เพราะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดมาก  กรรมการสิทธิฯ สู้กันในรัฐธรรมนูญหนักหน่วงมากเพราะถือเป็นองค์กรฝ่ายซ้าย เอียงกระเท่เร่ เขากังวลว่ามันจะเข้าข้างประชาชนมากไป เมื่อเข้าไปสู่กระบวนการทางกฎหมายของกฎหมายกรรมการสิทธิฯ เถียงกันหนักมาก สู้กันหลายรอบ ผลสุดท้ายก็บังคับให้กรรมการสิทธิฯ มีสำนักงานเป็นส่วนราชการ แพ้ตั้งแต่ยกแรกของการมีสำนักงาน ส่วนราชการคืออะไร  เลขาธิการต้องมาจากระดับ 10 และระดับ 11 เท่านั้น แล้วจะหามาจากไหน เพราะต้องการประสบการณ์ที่แหวกกรอบ เข้าใจเรื่องสิทธิ ออกนอกกรอบให้ได้ ดังนั้นก็อิหลักอิเหลื่อกันมา พอมาถึงรัฐธรรมนูญ 50 เขาก็บอกว่าให้เป็นหน่วยงานของรัฐ คือ คุณออกจากส่วนราชการได้ ดิฉันเป็นคนร่างกฎหมายกรรมการสิทธิฯ ตอนนั้นก็บอกให้ออกจากราชการ ทำแบบระบบคู่ เพื่อทำให้เขาค่อยๆ ปรับตัวได้ เพราะข้าราชการเข้ามาอยู่กันเยอะแล้วไปตัดสิทธิเขาไม่ได้ ผลปรากฏว่า พอเข้ากฤษฎีกา ข้าราชการยกขบวนไปบอกว่า กรรมการสิทธิฯ กำลังละเมิดข้าราชการ กฤษฎีกาก็แก้กลับไปเป็นส่วนราชการเหมือนเดิม วันนี้ร่างที่อยู่ในสภาและรอคิวอยู่ ก็ระบุให้กลับไปเป็นส่วนราชการ เป็นเรื่องของสภาแล้วว่าจะแหวกกรอบตรงนี้ออกมาได้ยังไง แต่แนวโน้มยากที่จะแหวกออกมาได้

อันที่สองคือ ทัศนคติของคนที่มององค์กรอิสระทุกระบบ พยายามทำให้องค์กรอิสระอยู่ในกรอบ เวลาเขียนก็จะไปหมกเม็ดในรายละเอียดของกฎหมาย  องค์กรอิสระเลยอยู่ระหว่างการต่อสู้ทางความคิดระหว่างการเป็นอิสระอย่างแท้จริง กับการที่ถูกดึงเอาไว้ไม่ให้อิสระจริงโดยเฉพาะแนวคิด ทัศนคติที่ครอบงำ แม้จะออกมาจากหน่วยงานของรัฐแล้ว แต่ถ้าคนยังมาจากข้าราชการ หรือมีทัศนคติแบบนั้น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากที่เราจะแหวกกรอบออกมาได้

อีกจุดหนึ่งที่สู้แล้วยังไม่ไปไหนคือ องค์กรภายใน ทุกองค์กรจะต้องพิทักษ์สิทธิตัวเอง พนักงานทั้งหลายต้องลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตัวเองได้ เช่น การมีสหภาพ การรวมกลุ่ม กล้าต่อรองกับสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในระบบของสำนักงานนั้นๆ ตอนนี้กฎหมายเราก็ยังวุ่นวาย อิหลักอิเหลื่ออยู่ ยังไปไม่ถึง เช่น จะมีสหภาพข้าราชการ สหภาพในหน่วยงานของรัฐ เหล่านี้จะต้องอาศัยความกล้าหาญของเราด้วย เพราะเรื่องการต่อรองภายในนั้น คุณต้องกล้าที่จะลุกขึ้นสู้ด้วย

ประการต่อมา รัฐธรรมนูญ 40 มีองค์กรอิสระที่เขียนเอาไว้กว้างๆ ว่ามีองค์กรอะไรบ้าง ยังมีบางองค์กรที่ควรออกมาเป็นอิสระ แต่ยังไม่มีเป็นหมวดเฉพาะเช่น องค์กรผู้บริโภค กสทช. คือ เป็นหมวดว่าด้วยองค์กรอิสระรับรู้ด้วยกัน แต่จู่ๆ รัฐธรรมนูญ50 ก็อคติแบ่งองค์กรอิสระแยกเกรด องค์กรอิสระเกรดเอ เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ กรรมการสิทธิฯ ถูกย้ายไปอยู่เกรดบี เป็นต้น ก่อให้เกิดความสับสนไปหมดว่า ตกลงมันเป็นองค์กรอะไรกันแน่  นำมาซึ่งการตีความ การจัดการที่ไม่เข้าท่านัก และยังมีเรื่องการมีส่วนร่วม ที่พูดไปแล้วว่า การมีส่วนร่วมมีตั้งแต่องค์กรภายในด้วยกันเอง การมีส่วนร่วมจากภายนอก เพราะวิถีชีวิต วัฒนธรรมคนเราต่างกัน เมื่อไม่มีการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังก็จะสร้างปัญหา และดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ของกฎหมาย

ตอนนี้มาเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จะขอพูดเรื่องนี้สักหน่อย  การปฏิรูปกฎหมายก็คือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การร่าง การติดตาม การบังคับใช้ การตรวจสอบ เมื่อกฎหมายไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มันจึงนำมาซึ่งกฎหมายที่ก่อให้เกิดปัญหาซ้อนแล้วซ้อนอีก

อีกนิดหนึ่ง ตอนนี้คนไปใช้คำว่า กฎหมายองค์กรอิสระต้องเป็นกลาง และมีความพยายามจะแก้กฎหมายกรรมการสิทธิฯ ท่านคงจำได้ว่ากรรมการสิทธิฯ ถูกถอดถอนคนหนึ่งด้วยข้อหาว่าไม่เป็นกลาง แท้ที่จริงแล้วต้องถกเถียงกันนานเลยว่า คำว่าเป็นกลางขององค์กรอิสระคืออะไร มันจะต้องไม่มีความเป็นกลาง แต่มันจะต้องมีความเที่ยงธรรม เราแก้กฎหมายกรรมการสิทธิฯ ตัดคำว่าเป็นกลางออก แล้วเปลี่ยนเป็น เที่ยงธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกาก็แก้กลับมาใหม่เหมือนเดิม กฎหมาย คปก. ก็เหมือนกัน ถูกล็อคกับคำว่าเป็นกลาง เพราะฉะนั้น โจทย์ตรงนี้มันสะท้อนทัศนคติหลากหลายมาก

แถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยขอบคุณกลุ่ม “คนไทยผู้รักชาติ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยขอบคุณกลุ่ม "คนไทยผู้รักชาติ"

 
จากเหตุการณ์ที่รายการตอบโจทย์ประเทศไทยแห่งสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้นำเสนอการพูดคุยว่าด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญยิ่งในสังคมและการเมืองไทย ในวันที่ 11-15 มีนาคม 2556 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ตอน โดยได้เชิญบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่าย ได้แก่ คุณสุรเกียรติ เสถียรไทย พล.ต.อ.วศิษฐ เดชกุญชร อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาพูดคุยกันในเรื่องนี้ และได้ออกอากาศแล้ว 4 ตอน โดยในตอนล่าสุดเป็นการดีเบตกันระหว่างอาจารย์สมศักดิ์และอาจารย์สุลักษณ์ในรอบแรก มีเนื้อหากล่าวถึงการปฏิรูปสถาบันและแก้ไข ม 112 เป็นเหตุให้กลุ่ม "คนไทยผู้รักชาติ" เกิดความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่ารายการนี้จะมีเจตนาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักอย่างหาที่สุดมิได้ของปวงชนชาวไทย จึงได้ออกมาประท้วงกดดันสถานีโทรทัศน์ให้งดออกอากาศเทปบันทึกรายการตอนสุดท้าย เป็นการดีเบตระหว่างอาจารย์สมศักดิ์และอาจารย์สุลักษณ์ในรอบที่สอง ซึ่งจะออกอากาศในวันที่ 15 มีนาคม 2556 จนเป็นผลสำเร็จนั้น
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยต้องขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อกลุ่ม "คนไทยผู้รักชาติ" ที่ได้ออกมาประท้วงกดดันในครั้งนี้ เนื่องจากการประท้วงของพวกท่านได้จุดกระแสให้เกิดการถกเถียงกันเป็นอันมากถึงการละเมิดเสรีภาพสื่อ เท่าที่เห็นได้ในระยะเวลาอันสั้นคือกระแสในสังคมออนไลน์ หลายๆ คนที่ไม่เคยพูดถึงก็อาจจะออกมาพูดกันมากขึ้น และก็ไม่วายจะต้องถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน การกระทำของพวกท่านทำให้หลายๆ คนจะได้มีเรื่องพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสนุกสนานมากขึ้น และก็เป็นการตอกย้ำปัญหาของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมและการเมืองไทยยิ่งขึ้นไปอีก วันที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะถูกแก้ไขหรือยกเลิกก็จะเร่งเข้ามาใกล้มากขึ้นเช่นกัน
 
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยอยากจะขอเรียกร้องด้วยว่า ขอให้กลุ่ม "คนไทยผู้รักชาติ" กระทำการเช่นนี้ต่อไปในภายภาคหน้า ให้ปัญหาที่มีอยู่แหลมคมยิ่งขึ้นไป
 
ทางกลุ่มขอกล่าวขอบคุณอีกครั้ง และจะขอจดจำคุณูปการครั้งนี้มิรู้ลืม
 
 
 
หมายเหตุ1 : ทางกลุ่มได้อ่านหนังสือข้อเรียกร้องต่อสถานีโทรทัศน์ของกลุ่มท่านแล้ว มีจุดที่ต้องท้วงติงอยู่ คือ อาจารย์สมศักดิ์เขามีนามสกุลว่า เจียมธีรสกุล ไม่ใช่ เจียมสกุน
 
หมายเหตุ 2 : ทางกลุ่มมีข้อสงสัยเล็กน้อยว่าเวลาเขียนชื่อกลุ่มของพวกท่านต้องใส่เครื่องหมายอัญประกาศ ("") ด้วยทุกครั้งหรือเปล่า
 
หมายเหตุ 3 : ทางกลุ่มต้องขออภัยเป็นอย่างสูงที่ต้องพิมพ์ชื่อกลุ่มของท่านว่า "คนไทยผู้รักชาติ" เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์ที่พิมพ์แถลงการณ์ฉบับนี้เป็นรุ่นที่ค่อนข้างใหม่ แป้นพิมพ์จึงไม่มีตัว ค.คน แล้ว มีแค่ตัว ค.ควาย เท่านั้น

ซีรีส์ทบทวน 15 ปี องค์กรอิสระ ตอนที่ 1 : บทบาท ป.ป.ช. ในมุมมอง วิชา มหาคุณ

ซีรีส์ทบทวน 15 ปี องค์กรอิสระ ตอนที่ 1 : บทบาท ป.ป.ช. ในมุมมอง วิชา มหาคุณ

สำนักงานป้องการและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ-ป.ป.ช. เป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งครบรอบการก่อตั้งเป็นปีที่ 14เมื่อเดือนพฤศจิกายน  2555 จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ ป.ป.ช. มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 3 ชุด คือชุดปี ปี 2542-2546, กรรมการชุดปี 2547-2549สิ้นสุดวาระก่อนกำหนด จากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้จำคุกจำเลยคนละ 2 ปี แต่เนื่องจากเมื่อพิจารณาจากตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยทั้ง 9 แล้ว โทษจำคุกศาลให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ฐานกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีขึ้นค่าตอบแทนให้ตนเอง

ชุดปัจจุบันเป็นป.ป.ช. ชุดที่ 3 กำลังจะครบวาวระในปี 2558 (ได้รับการแต่งตั้งปี 2549 และดำรงตั้งแหน่งเป็นเวลา 9 ปี ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542)

ป.ป.ช. ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 นั้นไม่ใช่องค์กรใหม่ แต่เป็นองค์กรที่สืบเนื่องจาก ป.ป.ป. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ) เป็นองค์กรที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาจากองค์กรเดิม ซึ่งก่อนหน้านั้น ป.ป.ป.ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบนักการเมือง แต่ตรวจสอบเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และไม่ได้ใช้ระบบไต่สวนอย่างปัจจุบัน  พร้อมทั้งมีประเด็นเรื่องความเป็นอิสระ เนื่องจากต้องขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีและมีหน้าที่เพียงทำข้อเสนอแนะเท่านั้น ป.ป.ป. จึงเป็นเพียงเสือกระดาษ

แนวคิดการปรับ องค์กรตรวจสอบอย่าง ป.ป.ป.มาสู่ ป.ป.ช. เกิดขึ้นในช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มีข้อเสนอใหม่ว่าให้เป็นองค์กรอิสระเหมือนกับการจัดตั้งองค์กรใหม่องค์กรอื่นๆ อย่าง กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ตรวจการรัฐสภา

อย่างไรก็ดี จากการสัมภาษณ์วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เขาบอกว่า ปัญหาคือแม้แต่การทำงานในลักษณะองค์กรอิสระ ก็ยังมีการแทรกแซงในการแต่งตั้งกรรมการ

"การเมืองเป็นผู้ที่พิจารณาว่าจะเลือกใคร มีพรรคการเมืองมามีส่วนร่วมด้วย รวมทั้งให้มีอธิการบดีมาจากสถาบันการศึกษา ความจริงก็เป็นเรื่องดีที่เขาออกแบบเอาไว้ แต่จากการตรวจสอบของวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 พบว่า การทุจริตอันหนึ่งคือการแทรกแซงองค์กรอิสระในการแต่งตั้ง ซึ่งผู้มีอิทธิพลทางการเมืองสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ ต้องดูรายงานของวุฒิสภา ซึ่งเรื่องนี้เป็นหัวข้อสำคัญอันหนึ่ง"

สิ่งที่ท้าทายองค์การอิสระทีทำหน้าที่ตรวจสอบธรรมาภิบาลกลไกภาครัฐ ขณะเดียวกัน องค์กรอิสระในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ ถูกจับตาในฐานะที่ถูกแทรกแซงจากกรเมืองและเป็นเครื่องมือทางการเมืองในหลายครั้งหลายครา

นอกจากจะปรับเรื่องการทำงานให้ประสานกับประชาชนมากขึ้น ก็มีการตั้งปปช. ประจำจังหวัด หรือที่เรียกว่า ปปจ. ไปแล้ว 32 จังหวัด ซึ่งก็อาจถูกตั้งคำถามได้เช่นกันว่า จะมีกลไกอะไรตรวจสอบ ปปจ.  หาก มีความใกล้ชิดกับผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบในท้องถิ่น

นอกเหนือไปจากคำถามที่ว่า ปปช. จัดการรับมือกับคำร้องที่มีอยู่นับหมื่นคดีสะสมมาถึงปีนี้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ คำถามสำคัญที่จะละเลยไปเสียไม่ได้ก็คือ การเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบด้านความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของภาครัฐนั้น พร้อมจะถูกตรวจสอบและตรวจสอบกันเองอย่างไร

000

วิชา มหาคุณ ภาพจาก วิกิพีเดีย

 

นอกเหนือจากเรื่องการแทรกแซงในการแต่งตั้ง ก็น่าจะมีการแทรกแซงการทำงานเช่นกัน

เห็นชัดเจนว่า มีความกดดันค่อนข้างรุนแรงมาก การกดดันที่รุนแรงที่สุดที่เราเผชิญอยู่ตอนนั้นคือ เขาหวาดระแวงว่าเราจะไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยหรือไม่ คล้ายๆ ว่ามันเป็นองค์กรทางการเมือง ป.ป.ช. ได้รับอำนาจค่อนข้างเต็ม ค่อนข้างมาก ผมก็รู้ตัวดีว่า อำนาจมากทำให้นักการเมืองกลัว เช่น การเป็นผู้ไต่สวนฝ่ายการเมือง ไม่ใช่ว่าเราจะเป็นผู้ที่ถอดนักการเมืองได้โดยตรง เรื่องการไต่สวนก็ต้องเสนอไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้รับลูกต่อ แต่พอเราชี้มูล ผลสะเทือนในทางการเมืองมันเห็นชัดเจน เพราะเดิมไม่มีองค์กรใดกล้าแตะ มีแต่ศาลโดยตรง จากตำรวจก็ไปที่ศาล จากคดีที่เคยทำกันในอดีตก็คือ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พล.อ.สุรจิต จารุเศรนี ศาลฎีกาโดยท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นองค์คณะร่วมด้วย วินิจฉัยว่ามีความผิดต้องจำคุกเลย แต่พอมาถึงตอนนี้คล้ายกับว่าอำนาจเปลี่ยนผ่านจากตำรวจมาเป็นของ ป.ป.ช. เขาก็แทรกแซงค่อนข้างลำบากในแง่การไต่สวน

ใครเข้ามานั่งใน ป.ป.ช.แล้วก็เป็นอิสระ ใครจะฟ้องร้อง ใครจะดำเนินอะไรมันต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เช่น กระบวนการในการไต่สวน กรรมการองค์กรอิสระต้องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นผู้ดำเนินการแล้วถอดถอนต้องไปที่วุฒิสภา มีสองช่องทางนี้ เราจะเห็นได้ว่า ทาง ส.ส. รวบรวมรายชื่อตามรัฐธรรมนูญ 1 ใน 5 เพื่อดำเนินการเอาผิดทางอาญากับทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งชุด ถึง 2 ครั้ง ถ้าหากว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับเรื่องไว้ ตามกฎหมายแล้วกรรมการ ป.ป.ช. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เลย ถูก freeze ไว้เหมือนชุดที่แล้ว แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีความผิด แต่ให้รอลงอาญา ก็ถือว่าต้องพ้นตำแหน่งไปทั้งชุด เขาพยายามใช้ช่องนั้น แต่โชคดีว่าศาลฎีกาฯ ไม่รับการร้องทั้ง 2 กรณี ตอนนั้นถือได้ว่า อยู่บนเส้นด้าย ระหว่างอยู่หรือไป ช่วงนั้นก็มีแรงกดดันอย่างมหาศาล เพราะมีคดีที่ต้องให้เราวินิจฉัยหลายเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเขาพระวิหาร การสลายการชุมนุม 7 ตุลา ฯ และเรื่องอื่นๆ อีกเยอะเลย กระทบถึงนักการเมืองทั้งนั้น เรียกว่าเราชี้มูลความผิดระดับนายกรัฐมนตรีทั้งนั้น

ตลอดเวลา ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ทำจิตให้เป็นกลาง หวั่นไหวไปเรื่อยก็จะลำบาก มีบางท่านเหมือนกันบอกว่าดูโทรทัศน์ดูไม่ไหวเลย คล้ายๆ กับจะปลดเราเช้า ปลดเราเย็น ตอนนั้นเขาก็ควบคุมสื่อด้วย สื่อก็มีสองส่วน ส่วนหนึ่งก็อาจจะเชียร์แต่ไม่กล้าเชียร์ออกหน้าออกตา เพราะกลัวมวลชน

 

ประชาไท: การคุกคาม และผลกระทบจากการเมืองมีผลมากแค่ไหน

วิชา: เรื่องถูกคุกคามนี่ก็มีอยู่เป็นประจำ โทรศัพท์นี่มาจนผมต้องย้ายบ้าน ต้องไม่ให้เบอร์โทรศัพท์กับใครเลย ส่วนหนึ่งคือคนในบ้านอยู่ไม่เป็นสุข

การคุกคามนี้เป็นผลการเมืองหรือไม่ใช่การเมืองผมก็ไม่ทราบ แต่ไม่ได้ทำเรื่องอื่นนอกจากทำเรื่องพวกนี้ ในการทำงานที่เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือ การวิ่งเต้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา เขาไม่ได้วิ่งเต้นว่าจะเอาเงินมาให้หรืออะไร แต่ผ่านมาทางผู้เคารพนับถือบ้างอะไรบ้าง เป็นเรื่องปกติ เราก็ไม่ได้วิตกอะไร

ส่วนที่สำคัญอีกเรื่องคือ เรื่องการหาข้อมูล เพราะการทุจริตมันเกี่ยวกับผู้มีอำนาจ ผู้มีอิทธิพล การจะแสวงหาข้อเท็จจริงซึ่งหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่ตกค้างอยู่ตั้งนานแล้ว อย่างเรื่องคุณเสนาะ เทียนทอง คุณยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ เรื่องเกิดตั้งแต่ก่อนปี 2540 สนามกอล์ฟอัลไพน์ คนตายไปไม่รู้กี่คนแล้ว แม้แต่เจ้าอาวาสที่ยกที่ดินให้ก็เสียชีวิตแล้ว พยานก็เสียชีวิตไปเกือบหมด ผู้จัดการมรดกก็เสียชีวิต แล้วเราจะไปหาข้อมูลที่ไหน พอขอไปดูข้อมูลเก่าๆ ปรากฏว่าหายหมด นี่คือสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานของ ป.ป.ช.

เราไม่สามารถจะชี้มูลหรือดำเนินการไต่สวนโดยจินตนาการเราได้ ถ้าเราทำอย่างนั้นเราก็ไม่ใช่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ อันตรายมาก ถ้าเราชี้มูลอะไรไปโดยไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักอย่างเพียงพอ ไปตายเอาดาบหน้าจะทำให้องค์กรนี้เสื่อมและพินาศ

 

ประชาไท: การคุ้มครองพยาน เป็นอำนาจที่เพิ่มขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2550 มีส่วนช่วยในการทำงานไหม

วิชา: ก็เริ่มดีขึ้นในแง่ว่ารัฐธรรมนูญ 50 แล้วก็มาเขียนกฎหมาย ตัว พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในแง่ที่สามารถจะให้ความคุ้มครองพยานได้  แล้วก็มีการแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ช่วง เดิมคดีเข้ามาเรารับทุกเรื่อง ต้องเป็นการไต่สวนหมด ซึ่งมันก็ทำให้เกิดความล่าช้า กระบวนการในขณะนี้คือ เราแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน เรายังไม่ได้รับเป็นเรื่องไต่สวน เรียกว่า pre-trial  เราสามารถลงพื้นที่ได้ โดยเฉพาะตอนนี้เพิ่ม ป.ป.ช.จังหวัดเข้าไป ฉะนั้น ป.ป.ช.ที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ก็จะได้รับมอบหมายให้แสวงหาข้อเท็จจริง แล้วเมื่อมีน้ำหนักเพียงพอที่จะไต่สวนได้เราถึงรับเป็นเรื่องไต่สวน มันทำให้งานเรามีการกลั่นกรอง ไม่อย่างนั้นเรื่องจะวิ่งเข้ามาที่นี่หมดแล้วเราก็ไม่มีทางขจัดออกไปได้ เพราะชาวบ้านเขาร้องเรียนมาเราบอกไม่รับ มีกระดาษแผ่นเดียว เป็นไปไม่ได้

 

ประชาไท: ป.ป.ช.มีครบทุกจังหวัดหรือยัง

วิชา: ตอนนี้มี 32 จังหวัด เดือนเมษายนนี่น่าจะครบทุกจังหวัด

 

ประชาไท: ตัวเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมามีความพร้อมแค่ไหน

วิชา: นี่คืออุปสรรคอันหนึ่งของการไต่สวน หรือแสวงหาข้อเท็จจริง เพราะงานเราเพิ่มขึ้นแล้วเราต้องส่งไปคนไปต่างจังหวัด คนที่มีคุณภาพที่จะดำเนินการไต่สวนส่วนกลางก็ขาด ขาดอย่างมโหฬารเลย เพราะเราต้องส่งคนออกไปดำเนินการในพื้นที่ งานของพื้นที่ ของป.ป.ช.จังหวัดคือ 1.แสวงหาข้อเท็จจริง 2.งานป้องกัน  จัดสร้างเครือข่าย ให้การอบรมผู้คน สร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้คนในส่วนภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็มี 3. งานตรวจสอบทรัพย์สินของข้าราชการส่วนภูมิภาคและนักการเมืองท้องถิ่น เราโอนงานอันนี้ให้ไป

ความจริงแล้วเราไม่ต้องการให้มี ป.ป.ช.จังหวัดเลยเพราะมันเสี่ยงเหมือนกันกับการถูกคุกคาม หรืออาจถูกแทรกแซง แต่ว่าเราจำเป็นต้องทำเพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่ก็จะพยายาม ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับงานไต่สวนโดยตรง อันนี้รัฐสภาก็เห็นชอบด้วย ให้เป็นงานสามด้านนี้ ถึงอย่างนั้น การที่เข้าถึงข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ทำให้เราต้องมีการตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดจะต้องมีการสรรหา ในช่วงเดือนเมษายน จะเริ่มชุดแรก 32 จังหวัด แล้วถัดไปก็อีก 44 จังหวัด เรายังไม่รู้ว่าจะเผชิญหน้ากับอะไรในการสรรหา รู้อยู่แล้วว่ามันมีหลายอย่าง เรื่องของการแทรกแซง การพยายามเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.จ.

 

ประชาไท: ถ้ามองในแง่ประสิทธิผล จากสถิติถึงปี 53 ป.ป.ช.มีคดี 7,000 กว่าคดี การกระจายออกไปน่าจะช่วยให้ดำเนินการได้เร็วขึ้น

วิชา: อันนั้นคือสิ่งที่เราหวัง อย่างเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่ค้างอยู่ 30,000 กว่ารายการ ก็เห็นได้ชัดว่าเร็วขึ้น แต่ขณะเดียวกันคนที่เราส่งไป ถ้าเขาต้านแรงของกรรมการที่เข้ามาดูแลไม่ไหว เพราะเป็นการกระจายอำนาจ เราไม่ได้คิดว่าจะเกิดขึ้น แต่เราก็ต้องป้องกันหรือระวังไว้ก่อน พยายามให้มันราบรื่น คนที่เป็น ผอ.สำนักงานต้องเข้มแข็ง สามารถยืนหยัดอยู่ได้ เพราะมีการเข้าถึงข้อมูลในระดับหนึ่ง คุณอาจได้รับการร้องเรียนให้ไปตรวจสอบเพราะมีเจ้าหน้าที่ร่ำรวยผิดปกติ คนที่ร่ำรวยผิดปกติอาจเป็นญาติกับกรรมการ ป.ป.จ.ก็ได้ หรือเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เราพยายามให้ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้เขาวิตกกังวลเกินไป เราให้การอบรมพอสมควร ขณะนี้เรามีสถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สัญญา ธรรมศักดิ์ ให้การอบรม

 

ประชาไท: นอกเหนือจากอบรมแล้วมีเรื่องการตรวจสอบไหม

วิชา: มี มีการติดตามงาน มีหน่วยที่เรียกว่า ผู้ตรวจราชการของทางส่วนกลาง มีคณะกรรมการในการติดตามผลว่าทำงานเป็นอย่างไร ผอ.บางท่านหากทำงานไม่เข้าเป้า หรือทำงานไม่ดีเราก็โยกย้ายได้ เราไม่ได้ตั้งให้เป็น ผอ.เลย เราให้อยู่ในตำแหน่งรักษาการ เขาต้องตื่นตัวตลอดเวลา

 

ประชาไท: การอบรมโดยสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ มุ่งไปที่การอบรมเจ้าหน้าที่หรือมีกลุ่มเป้าหมายอื่นด้วย

วิชา: เรามีวิทยาลัย 4 แห่ง คือ วิทยาลัยป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นวิทยาลัยขั้นพื้นฐาน พัฒนาการป้องกันปราบปรามการทุจริต ในแง่การให้ความรู้กับข้าราชการใหม่ อบรมคนภายนอกหรือเครือข่าย เป็นเรื่องงทั่วไป 2.วิทยาลัยพัฒนาพนักงานไต่สวน เราเอาเจ้าหน้าที่ของเราอบรมเรื่องการไต่สวนโดยเฉพาะ ซึ่งจะรวมทั้งการตรวจสอบทรัพย์สินด้วย เพราะมันจะไม่เหมือนพนักงานสอบสวน การไต่สวน เราจะสอนว่าจะแสวงหาข้อเท็จจริงยังไง การลงไปพบกับพยานการให้ถ้อยคำจะฟังได้หรือไม่ได้ เป็นเรื่องทางเทคนิค 3.วิทยาลัยนักบริหาร ป.ป.ช. จะให้ความรู้กับนักบริหารของ ป.ป.ช.ทั้งระดับกลางและสูง และให้ความรู้กับคนภายนอกด้วย เรียกว่ายุทธศาสตร์การป้องกันปราบปรามการทุจริต ตอนนี้เป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ซึ่งจะมาจากหน่วยงานตรวจสอบและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานของ ป.ป.ช.ทั่วราชอาณาจักร รวมถึงเอกชนด้วย รุ่นละ 70 คน มาเรียนร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. การอบรมใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน สัปดาห์ละครั้ง โดยนำเคสที่มีอยู่แล้ว ที่เราไต่สวนและชี้มูลมาศึกษาว่าจะป้องกันได้อย่างไร และจะหาวิถีทางที่จะช่วยเหลือประชาชนที่เขาเดือดร้อนได้อย่างไร ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในแง่ที่เราสามารถสร้างยุทธศาสตร์ป้องกันปราบปรามทุจริตขึ้นมาโดยส่งต่อให้หน่วยงานอื่นด้วย เช่น ก.ก.ต.  สตง. ส่งคนมา เราก็ให้เขากลับไปทำยุทธศาสตร์เรื่องนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือกัน เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เราเอาทั้ง 3 รุ่นมาสัมมนาสร้างเครือข่ายป้องกันปราบปรามทุจริต ทำให้เกิดเครือข่ายในแต่ละส่วน และตั้งชมรมนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันปราบปรามทุจริตให้เป็นที่ปรึกษาของสำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดทุกจังหวัด จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น

 

ประชาไท: ส่วนของภาคเอกชน ประชาชนจะหนุนเสริมเรื่องนี้อย่างไรบ้าง เพราะยังมีกลุ่มที่สนใจประเด็นนี้ไม่มากนัก

วิชา: เรากระตุ้นให้เกิดมีภาคีเครือข่าย เช่น คุณดุสิต นนทะนาคร รับลูกแล้วไปจัดตั้งภาคีเครือข่าย คุณดุสิตเสียชีวิตแล้ว คุณประมนต์ สุธีวงศ์ (ประธานภาคีเครือข่ายต้านคอรัปชั่น)  ก็รับช่วงต่อ งานนี้ก็ขยายไปเรื่อยๆ เป็นองค์กรภาคีอันหนึ่ง เหมือนเป็น ป.ป.ช.ของภาคเอกชน เราก็ร่วมงานกันตลอด ข้อมูลมีอะไรก็จะส่งต่อกัน งานที่เห็นได้ชัดว่าเขามีส่วนสนับสนุนและทำให้เกิดการตรวจสอบอย่างเข้มแข็งก็คือ การตรวจสอบเรื่องน้ำ ซึ่งเขาตามเรื่องทุจริตอันเกิดจากน้ำท่วม อันที่สองคือเรื่องข้าว เขาหาข้อมูลเรื่องจำนำข้าว แม้ว่ายังไม่เห็นชัดเจนว่าจะได้ตัวผู้กระทำผิดหรือไม่ อย่างน้อยผู้ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องก็ต้องระมัดระวัง และเราสามารถเชื่อมข้อมูลต่างๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน

ในด้านต่างประเทศ เรามีศูนย์พัฒนาบุคลากรระหว่างประเทศ ขณะนี้เราเชื่อมโยงกับอาเซียน มีการอบรมเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ของต่างประเทศในลุ่มน้ำโขงมาครั้งหนึ่งแล้ว จัดไปเมื่อปีที่แล้ว ได้ประโยชน์มากเพราะเราได้เพื่อในลุ่มน้ำโขง ไม่ว่าจากจีน เวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา เขามารับรู้การทำงานร่วมกัน แล้วอาจจะต้องทำ MOU กันต่อไป จีนกับเวียดนามทำกับเราแล้วเรียบร้อย เราก็พยายามแสวงหาความร่วมมือต่อไป และจะเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น นอกเหนือจากอาเซียนแล้ว เราก็จะทำ MOU กับภูฏาน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย มองโกเลีย

เราเป็นองค์กรอิสระ เราสามารถจะดันงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนี้ได้ แล้วข้อมูลบางอย่างเราก็ได้จากการแชร์ระหว่างประเทศ ประเทศเขาก็ขอความร่วมมือจากเราเหมือนกัน บางประเทศพบว่าคนของเขาที่มาอยู่เมืองไทยทุจริต เขาก็ให้เราตรวจสอบให้ หรืออย่างมีผู้ถูกกล่าวหา กรณีของฮ่องกง  เศรษฐีหนีมาอยู่เมืองไทย เขาอยากรู้ว่าอยู่ที่ไหนยังไง เราหาข้อมูลให้ได้ เรื่องติดตามก็เป็นเรื่องของเขาเอง แสดงให้เห็นว่ามันมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพราะเรื่องเงินไหลเข้าไหลออกนั้นสำคัญ การทุจริตเงินมันไม่อยู่ในประเทศอีกต่อไปแล้ว สมัยก่อนเราอาจไม่ค่อยสนใจเรื่องการจัดการทุจริตเพราะคิดว่าเงินมันอยู่ในประเทศ แต่วันนี้การทุจริตเงินมันออกนอกประเทศหมด เหมือนเลือดไหลออกหมด คนเลือดแห้งมันก็ตาย ฉะนั้น มันจึงมีกลไกด้านระหว่างประเทศที่เราต้องติดตาม และมีการปรับปรุงกฎหมาย อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ก็ระบุว่า เราต้องมีกฎหมายหลายอัน เช่น กฎหมายการปราบปรามการทุจริตด้านการโอนเงินระหว่างประเทศ เราจะเข้าถึงข้อมูลธนาคารได้อย่างไร เขาจะให้การอบรมเรา อย่าง world bank ทำข้อตกลงกันแล้วเขาจะทำการอบรมเรา

 

ประชาไท: ช่วงหลายปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระล้วนเป็นเป้าหมายในการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และวาทกรรมหลักสำหรับสังคมไทยตอนนี้ก็เป็นการเลือกระหว่างคนดีกับประชาธิปไตย เรื่องคอรัปชั่นยอมรับได้ ขอแค่นักการเมืองที่เราเลือกมา อยากสื่อสารอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้

วิชา: เรื่องทุจริตมันไม่อาจประนีประนอมกับใครได้ มันไม่ได้เหมือนเรื่องอื่นๆ ที่เป็นคดีความทั่วๆ ไป ฆ่าเขาตายยังสามารถให้เงินเขา ชดเชยเยียวยาความเสียหาย แต่เรื่องการทุจริตเป็นเรื่องของรัฐ เป็นเรื่องของสังคมส่วนรวม ผมเข้าใจจุดนี้ได้ดีว่า ประชาชนส่วนหนึ่งจะเอนเอียงในทางชมชอบนักการเมืองที่ตัวเองรัก แต่ไม่มีประเทศไหนเขารอมชอมได้ถ้านักการเมืองที่รักเขาทุจริต เขาก็ต้องจัดการทั้งนั้น ถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด มันไม่สามารถบอกว่า เบาๆ หน่อยได้ไหม มันทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วศาลอาจใช้ดุลยพินิจในการย่อหย่อน ลดโทษให้อย่างนี้เป็นอีกเรื่อง ไม่ใช่เป็นอำนาจของเรา

อีกอย่างหนึ่ง ผมตอนไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียที่ฮ่องกง เขาเชิญไปว่าให้มองมุมมองใหม่ว่า เรื่องการทุจริตต้องเชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หมายความว่า การทุจริตมันทำให้มนุษย์ขาดสิทธิในความเป็นมนุษย์ สิทธิของเขาที่จะเข้าถึงอะไรต่ออะไร ก็ถูกปิดบังหมด สวัสดิการที่ควรจะทั่วถึงก็เข้ากระเป๋านักการเมืองหมด อันนี้เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคนทุกข์ยาก คนยากคนจนเป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับการเกื้อกูล ซึ่งงบประมาณแผ่นดินต้องไปให้เขาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่ไหลเข้ากระเป๋านักการเมือง อันนี้เรียกว่า เอาคนยากคนจนเป็นเหยื่อ หมายความว่า ฉันช่วยคุณนะ ขณะเดียวกันก็มีเจตนาแฝงเร้น เขาเรียกว่า การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม ผลประโยชน์ทับซ้อน Conflict of Interest  เอาเงินลงไปในพื้นที่บอกจะสร้างถนน สร้างฝาย แต่คิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่าฉันจะมีส่วนแบ่งเพราะจะเอาบริษัทที่เป็นพรรคพวกไปรับเหมาทุกพื้นที่

อย่างตอนนี้เรากำลังตรวจสอบอยู่เรื่องฝาย ชัดเจนว่ามีการเก็บหัวคิว แล้วได้ของก็ไม่มีคุณภาพ มีการฮั้วประมูลกัน ฝายนี่ก็ไม่สามารถจะรับน้ำได้ เพราะไม่ได้มาตรฐาน และเรากำลังตรวจสอบอีกเรื่องคือเรื่องการขุดลอกคูคลองเพราะมันไม่สามารถจะรับน้ำได้เต็มที่ มีร้องเรียนว่ามีการฮั้ว ทุกลุ่มน้ำ แม่น้ำทุกสายเลย แล้วชาวบ้านจะได้อะไร หรือเรื่องการออกแบบการศึกษาเพื่อจะออกแบบบทเรียน พิมพ์แบบเรียนก็เข้ากระเป๋านักการเมือง คนที่พิมพ์แล้ว แล้วจะตกถึงมือประชาชนสักเท่าไร ที่เราไปประชุมที่ฮ่องกง หลายประเทศก็ลงมติร่วมกันว่าต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่าเรื่องการทุจริตนั้นกระทบกระเทือนกับเรื่องสิทธิมนุษยชน

คนมักจะมองแยกระหว่างทุจริตกับสิทธิมนุษยชน แต่คนที่มาคุกคามสิทธิเราผ่านการทุจริตเรามองไม่เห็น มันซ่อนอยู่ในระบบการเมืองการปกครอง โครงสร้างอำนาจ ประชาชนก็เดินเข้าคูหาไปกากบาท ขณะเดียวกันเขาปูพรมไว้แล้วว่า งบประมาณที่ส่งลงไปในพื้นที่ก็เพื่อที่จะได้คะแนนเสียง

ยกตัวอย่าง คนจนที่ถูกยึดที่เพราะอะไร ตอนนี้ตรวจสอบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแต่เรื่องยึดที่หลวงมาเป็นของตัวเองทั้งนั้น ขณะที่ชาวบ้านที่จะทำกินกลับไม่มีที่ดิน แล้วชาวบ้านก็กลายเป็นเหยื่อของนกกระสา หมายความว่า เขาให้ชาวบ้านที่ยากจน ไปเลย เปิดป่าให้ พอยึดได้เขาก็ซื้อกลับมา แล้วใช้ สค.1 บิน บอกว่าพื้นที่นี้ได้ทำกินแล้ว ความจริงไม่ได้ทำกินเลยแค่เผาป่าเฉยๆ

 

ประชาไท: 15 ปีที่ผ่านมา การมีองค์กรอิสระ คิดว่าช่วยให้สังคมไทยให้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน

วิชา: อย่างน้อยก็ทำให้คนตื่นตัวขึ้นแล้วก็รักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เกิดแรงบันดาลใจสำหรับคนที่จะทำงานให้กับแผ่นดินหรือสังคม ส่วนหนึ่งก็มันเหมือนเป็นโมเดล เป็นตัวอย่างให้เห็นว่านิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ เพราะองค์กรตรวจสอบเขามาดูแล ไม่อย่างนั้นแล้วจะกลายเป็นทุจริตไม่เป็นไร ให้ฉันได้ประโยชน์ด้วยก็แล้วกัน ผมเชื่อว่าเป็นทิศทางนี้แน่นอนเพราะคนของเรามีความโน้มเอียงอยู่แล้ว ระบบของเราเป็นระบบอุปถัมภ์อยู่แล้ว เป็นระบบที่ครอบงำโดยอำนาจโดยแท้ ไม่มีทางเลือกอื่น เมื่อถูกครอบงำอย่างนี้ก็ต้องไปในทางนี้

วิธีที่จะต่อต้านหรือทำให้เกิดผลสำหรับองค์กรตรวจสอบ ไม่ใช่เรื่องการปราบอย่างเดียว เพราะปราบเท่าไรก็ไม่ได้ผล เราต้องใช้กระบวนการในการป้องกันให้มากขึ้น จะเห็นได้ว่า การป้องกันใช้ 2 วิธี คือให้ความรู้ แต่เดิมมาเราก็ให้ความรู้ไปเรื่อยๆ ก็ไมรู้ว่ารู้จริงหรือเปล่า จึงมีแนวทางอีกอันหนึ่งคือ preventive investigation การตรวจสอบในเชิงป้องกัน ซึ่งไม่ใช่ตรวจสอบเพื่อเอาผิด แต่ตรวจสอบว่าโครงการนี้มีข้อบกพร่องอะไรหรือเปล่า แล้วให้ข้อแนะนำ คล้ายๆ เป็น Watch Dog ที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริต เขาเรียกว่าโครงการหมาเฝ้าบ้าน

 

ประชาไท: นอกเหนือจากภาคีเครือข่ายแล้วก็ไม่เห็นองค์กรอื่นๆ ป.ป.ช.อยากได้อะไรเป็นตัวหนุนเสริมการทำงาน

วิชา: ผมอยากให้เกิดเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งเราก็กระตุ้นให้มีแล้ว เครือข่ายประจำจังหวัดของแต่ละจังหวัด เขาพยามเชื่อมโยงกันอยู่แต่ยังไม่เข้มแข็ง ถึงต้องมีหน่วยที่ปรึกษา  การต่อต้านการทุจริตในเรื่องของสื่อ ความจริงที่เราตรวจสอบพบและชี้มูลไปหลายเรื่องมาจากสื่อนะ อย่างหนังสือพิมพ์ประชาชาติเคยนำเสนอหลายเรื่องที่มีความสำคัญ อย่างสื่อเอเอสทีวี ไทยโพสต์ เขาก็เป็นต้นกำเนิดของเรื่องคลองด่านเลย เฉพาะฉะนั้นต้องเชื่อมโยงตรงนี้ เดลินิวส์ก็เรื่องรถดับเพลิง เขาเป็นคนเกาะติดข้อมูลนี้มาตั้งแต่แรกจนกระทั่งไปที่ศาลฎีกาได้

หลายๆ เรื่องมันมาจากสื่อ ดังนั้น สื่อต้องตระหนักถึงพลังอำนาจของตัวเองว่าเราจะช่วยเหลือกันในการตรวจสอบการทุจริตได้อย่างไร ในต่างประเทศเขาสื่อจะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งมาก ขณะนี้ไม่ใช่สื่อที่เราเห็นอยู่ทั่วไป สื่อคือ social media พวกเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ เครือข่ายเยาวชนกลายเป็นพลังสำคัญมาก เครือข่ายเยาวชนที่มีอยู่ในพื้นที่จะเป็นพลังสำคัญ เราต้องให้ความรู้เขา มันต้องมีหน่วยที่เคลื่อนที่เร็ว เขาไปแล้วเขาเงียบๆ เพราะเยาวชนไม่มีใครสนใจ เห็นเบาะแสอะไร เขาส่งข้อมูลมา เห็นภาพทันที อย่างที่อเมริกาใต้ประสบความสำเร็จเรื่องการตรวจสอบการทุจริต โดยมีแหล่งข้อมูลที่สำคัญมาจาก social media เขาสร้างของเขาเอง เข้มแข็งมาก องค์กรต่างๆ ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เพียงแต่มีหน่วยรับเรื่อง

ป.ป.ช.เริ่มมีเฟซบุ๊ก แต่เราก็ไม่ได้กระโตกกระตากว่าจะทำในแง่ให้เขาช่วยหาข้อมูล เพียงแต่ให้ข้อมูลให้คนได้ติดตามเรื่องต่างๆ แต่ต่อไปผมก็บอกสื่อบางคนแล้วว่าต้องไปสอนเยาวชน

 

ประชาไท: ใครเป็นคนดูแลส่วนนี้

วิชา: เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ มันจะได้เชื่อมกับการอบรม การให้ความรู้ การเข้าถึงเยาวชน เป็นระบบ e-learning

 

ประชาไท: แล้วประชาชนหรือสื่อจะตรวจสอบ ป.ป.ช.ได้อย่างไร

วิชา: ได้เลย เพราะเรามีการแจ้งเบาะแส แจ้งข้อบกพร่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเป็นคนตรวจ เรื่องเงินจะมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรวจเป็นประจำ และยังสามารถจะร้องเรียนไปที่รัฐสภาได้ วุฒิสภาเป็นคนตรวจสอบเพื่อถอดถอน เข้าชื่อกันได้เลย 20,000 รายชื่อ (หัวเราะ)