วันพุธที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี / http://smilefeeling.com/index.php?topic=1655.0

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี



พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (นามเดิม: ประยุทธ์ อารยางกูร) หรือที่รู้จักกันดีทั่วไปในนามปากกา "ป.อ.ปยุตฺโต" 
เกิดเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี 
เมื่อ ปีพ.ศ. 2494 และเข้ามาจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร จนสอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม ๙ ประโยค 
ขณะยังเป็นสามเณร และได้รับการอุปสมบทโดยเป็นนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 
ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระนักวิชาการนักคิดนักเขียนผลงานทางพระพุทธศาสนารุ่นใหม่ มีผลงานทางวิชาการพระพุทธศาสนา
เป็นจำนวนมาก ผลงานของท่านที่เป็นที่รู้จักเช่นหนังสือ พุทธธรรม เป็นต้น ท่านได้รับการยกย่องจากทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก 
ด้วยผลงานของท่านทำให้ท่านได้รับรางวัลและดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบันทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การที่ท่านเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก (UNESCO Prize for Peace Education)  
นอกจากนี้ปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ที่ท่านได้รับรวมมีมากกว่า 15 สถาบัน ซึ่งนับว่าท่านเป็นพระภิกษุสงฆ์ไทยที่ได้รับการยกย่อง
ให้ได้รับดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์มากที่สุดในปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2549 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 
ปัจจุบันพระพรหมคุณาภรณ์ดำรงตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และจำพรรษา
อยู่ที่วัดญาณเวศกวัน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ชาติภูมิ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เกิดวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2481 ณ บ้านใกล้ริมฝั่งแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำท่าจีน) 
ฝั่งตะวันออก บริเวณตลาดศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี นามเดิมว่า ประยุทธ์ อารยางกูร เป็นบุตรคนที่ 5 
จากบุตรเก้าคน ของนายสำราญ และนางชุนกี อารยางกูร ทางครอบครัวประกอบกิจการค้าขายผ้าแพร ผ้าไหม ขายของชำ และโรงสีไฟ


บ้านเกิดท่านเจ้าคุณ พระพรหมคุณาภรณ์  อ.ศรีประจันต์

เมื่ออายุได้ 6 ขวบเข้าเรียนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอนุบาลครูเฉลียวที่ตลาดศรีประจันต์ จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนประชาบาล
ชัยศรีประชาราษฎร์ จากนั้นบิดาได้พาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อระดับมัธยมที่โรงเรียนวัดปทุมคงคา โดยพักอยู่ที่วัดพระพิเรนทร์ 
เด็กชายประยุทธ์เป็นเด็กเรียนเก่ง จึงได้รับทุนเรียนดีจากกระทรวงศึกษาธิการจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น และมีความใส่ใจในการเรียนมาก 
ช่วงเวลาปิดเทอมกลับมาอยู่ที่บ้าน ก็สามารถสอนภาษาอังกฤษแก่น้อง ๆ ได้

การบรรพชา



เนื่องจากเป็นเด็กสุขภาพไม่ใคร่ดีตั้งแต่เล็กจนโต จากคำบอกเล่าของญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดกล่าวว่า วัยเยาว์ของท่านจะควบคู่ไปกับ
การเจ็บป่วยเรื่อยมา เป็นเกือบทุกโรค เป็นต้นว่า หัวใจรั่ว ท้องเสีย ท้องอืด ต้องผ่าตัดถึงสองครั้ง หูเป็นน้ำหนวกอักเสบเข้าไปในกระดูก
พรุนถึงโพรงศีรษะ แพ้อากาศ โรคปอด นิ่วในไต หลอดลมอักเสบ กล้ามเนื้อแขนอักเสบ ไวรัสเข้าตา สายเสียงอักเสบ เส้นเลือดไปเลี้ยง
สมองข้างซ้ายเล็กลีบ เป็นต้น จากสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียนตามปกติ หลังจากจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 
ทางบ้านจึงสนับสนุนให้ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านกร่าง ตำบลศรีประจันต์ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าการอยู่ใน
เพศบรรพชิตจะเอื้ออำนวยต่อการศึกษาได้มากกว่า เพราะไม่ต้องยุ่งยากเดินทางไปโรงเรียน และยังสามารถศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดได้ 
เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านได้เริ่มเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรม จนกระทั่งปี พ.ศ. 2496 ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาจำพรรษาที่ 
วัดพระพิเรนทร์ สอบได้นักธรรมเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ 
จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับเป็น นาคหลวง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาจนกระทั่งได้รับ
ปริญญาพุทธศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 1 จาก มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

งาน

หลังจากสอบชุดวิชาครู พ.ม. ได้ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาถึง 10 ปี 
มีบทบาททางด้านการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ โดยพยายามเชื่อมโยงความรู้ทางธรรมให้เข้ากับปัญหาสังคมร่วมสมัย 
ในทางด้านการบริหารเคยดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ช่วงปี พ.ศ. 2516 และลาออกจากตำแหน่งบริหารหลังจากนั้น
ในสามปีต่อมา โดยทุ่มเทเวลาและกำลังกายให้กับงานด้านวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานเป็นหนังสือและบทความออกมาอย่างแพร่หลาย 
ทั้งร่วมเสวนาและสัมมนาทางวิชาการ กับนักวิชาการและปัญญาชนร่วมสมัยอย่างสม่ำเสมอ หนังสือพุทธธรรม ได้รับการยกย่องว่า
เป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนา ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ 10 กว่าแห่ง 
และได้รับรางวัล "การศึกษาเพื่อสันติภาพ" จากยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ. 2537 ซึ่งท่านได้มอบเงินรางวัลทั้งหมดให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ 
เพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษาพระธรรมปิฎกเพื่อสันติภาพ พระ ป.อ. ปยุตโต ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ เป็นพระเทพเวที พระธรรมปิฎก 
และพระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน



ปัจจุบันพระพรหมคุณภรณ์เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และดูแลสำนักสงฆ์สายใจธรรม 
บนเทือกเขาสำโรงดงยาง ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

สมณศักดิ์

พ.ศ. 2512 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวิสุทธิโมลี
พ.ศ. 2516 เป็นพระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวรมุนี
พ.ศ. 2530 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพเวที
พ.ศ. 2536 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปิฎก อดุลญาณนายก ปาพจนดิลกนิวิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
พ.ศ. 2547 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ สุนทรธรรมสาธก ตรีปิฎกปริยัติโกศล วิมลศีลาจาร ศาสนภารธุราทร 
มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี ในมหาวโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547



เกียรติคุณของพระพรหมคุณาภรณ์

ตลอดชีวิตของพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้ใช้ความรู้พระไตรปิฎกแท้ๆ เพื่อช่วยปกป้องสังฆมณฑลในประเทศไทยหลายกรณี 
ไม่ว่า กรณีสันติอโศกหรือกรณีวัดพระธรรมกาย ท่านได้ช่วยชี้แจงให้คนไทยได้รับทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับพระไตรปิฎกที่ถูกต้องเอาไว้หลายครั้ง 
ในขณะเดียวกัน ท่านยังมีบทบาทในการชี้แนะสังคมไทยในด้านการบริหารประเทศหลายครั้ง เช่น ในหนังสือ มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย 
ได้ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของระบบทุนนิยมเสรีในประเทศไทย และยังได้ชี้ให้เห็นว่าสังคมตะวันตก หรืออเมริกา มีแง่มุมที่ไม่ควรเป็นแบบอย่าง
ในการพัฒนาประเทศไทย ที่จะทำให้เน้นแต่พัฒนาวัตถุ ทำให้นักคิดไทยหลายคนตื่นตัวมาหาหลักพุทธธรรมเป็นแนวในการพัฒนา

แรงบันดาลใจให้อยู่เป็นพระสืบอายุพระศาสนา



พระพรหมคุณาภรณ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านบวชเป็นสามเณรอยู่เป็นระยะเวลานานจนมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ
มาตลอดเป็นเพราะได้อ่านนวนิยายอิงธรรมะของอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ทำให้รู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ในกองทัพธรรม เช่น

ใต้ร่มกาสาวพัสตร์
กองทัพธรรม
อาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก

ประสบการณ์ในการสอน

อาจารย์ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
บรรยายเรื่อง Buddhism and Thai Culture ที่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย University of Pennsylvania
บรรยายพิเศษด้านพระพุทธศาสนาที่ Swarthmore College University of Pennsylvania
อาคันตุกาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Harvard University

ผลงานทางวิชาการพุทธศาสนา

พุทธธรรม
พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
พจนานุกรมฉบับประมวลธรรม
สถาบันสงฆ์กับสังคมไทยในปัจจุบัน
พจนานุกรมพุทธศาสตร์
จารึกอโศก
ธรรมนูญชีวิต
มองอเมริกาแก้ปัญหาไทย
พระพุทธศาสนากับสังคมไทย

ปัจจุบัน

ที่ปรึกษาทางวิชาการ ประจำ มูลนิธิแผ่นดินธรรม ในพระสังฆราชูปถัมภ์
เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน พุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม

ประวัติย่อ

ชื่อ-นามสกุลจริง ประยุทธ อารยางกูร
สำเร็จเปรียญ 9 ประโยค ขณะเป็นสามเณรและเป็น นาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระแก้ว ในพระบรมราชานุเคราะห์ เมื่อพ.ศ. 2504
ปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในวัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร
ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายสถาบัน อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



อ้างอิง

หนังสือชีวประวัติ พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) สนพ.ธรรมสภา
1. รายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ .เว็บไซต์องค์การยูเนสโก
2. "Wat Nyanavesakavan". Wat Nyanavesakavan.http://www.watnyanaves.net/papayutto/index.htm?#prawat. เรียกข้อมูลเมื่อ Feb. 12, 2008.

--------------------------------------------------

เสียงธรรมบรรยาย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต)
วัดญานเวศกวัน ตำบลบางระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

http://www.dhammajak.net/audio/dhamma/files/payutto.php

---------------------------------------------------

ป.อ.ปยุตโตสอน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด



http://www.youtube.com/watch?v=tfWz7n_GHG4&noredirect=1

------------------------------------------------------------------

หลักเศรษฐกิจพอเพียง ท่าน ปอ.ปยุตโต



http://www.youtube.com/watch?v=qaVuIEHZa7A&feature=related

================================================================
จุดหมายสูงสุด ของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุขหรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์
      ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงไหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้น ครอบงำ
        จิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูง ต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระ
        หลุดพ้นโดยบริบูรณ์
      ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้น ไม่มีโอกาส
        ครอบงำจิตใจ ทำให้ติดพันหลงไหลได้เลย

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น