สุรพศ ทวีศักดิ์ : บทพิสูจน์ 'ธรรมราชา'
Sun, 2013-05-05 14:39
สุรพศ ทวีศักดิ์
พุทธศาสนาถือว่าผู้ปกครองที่ดีคือ "ธรรมราชา" นักวิชาการสมัยใหม่มักโจมตีว่านี่เป็นความคิดทางการเมืองที่เน้น "ตัวบุคคล" เท่านั้น
แต่ที่จริงหากพิจารณาความหมายว่า ธรรมราชาคือ "ผู้ปกครองโดยธรรม" และถ้าเข้าใจความหมายของ "ธรรม" ตามนัยอัคคัญญสูตรที่เราอภิปรายกันมาในตอนที่แล้วว่า พุทธะไม่เห็นด้วยกับความหมายของธรรมแบบพราหมณ์ที่ถือว่า "ธรรมคือหลักเกณฑ์การแบ่งชนชั้นตามระบบวรรณะสี่" จึงเสนอธรรมแบบพุทธที่มีความหมายใหม่ว่า "ธรรมคือหลักเกณฑ์ความเสมอภาคในความเป็นคน" เราย่อมเข้าใจได้ว่า ปกครองโดยธรรมมีนัยสำคัญสนับสนุนการจัดระบบสังคมการเมืองที่มีความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ด้วย นอกเหนือจากการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎรอย่างเป็นธรรม ตามนัยจักรวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ และทศพิธราชธรรม
ในหนังสือ "ความเข้าใจในเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาน" (2552) สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ชี้ให้เห็นว่า ที่พระเจ้าอโศกได้รับยกย่องว่าเป็นธรรมราชา ก็เพราะพระองค์เปลี่ยนปฏิปทาของกษัตริย์ตามทฤษฎีเทวโองการที่ยึด "ราชธรรม" ในคัมภีร์อรรถศาสตร์ของเกาฏิลยะที่คล้ายกับ The Prince ของมาเคียเวลลี ซึ่งถือว่าชนชั้นปกครองมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะทำอะไรๆอย่างโหดร้ายทารุณก็ได้เพื่อรัฐและเศรษฐทรัพย์ หากพระเจ้าอโศกเปลี่ยนมาปกครองโดยธรรมตามนัยพุทธพจน์แห่งอังคุตตรนิกายที่ว่า
พระราชาผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และธรรมิกราชาย่อมพึ่งพระธรรม ยกย่องพระธรรม และถือเอาพระธรรมเป็นคำตัดสิน ถือเอาพระธรรมเป็นดังธง ถือเอาพระธรรมเป็นมาตรฐาน ถือเอาพระธรรมเป็นนาย เพื่อปกป้องและดูแลรักษาผู้คนในพระราชอาณา
"ธรรม" ที่ธรรมราชายึดถือเป็น "หน้าที่" ที่ต้องปฏิบัติก็คือ "จักรวรรดิวัตร" ได้แก่ 1) ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ ยึดความถูกต้องเป็นธรรมเป็นหลักในการปกครอง 2) ธรรมิการักขา จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมแก่คนทุกหมู่เหล่า 3) อธรรมการนิเสธนา จัดการป้องกันและแก้ไขการกระทำความผิดต่างๆในบ้านเมือง 4) ธนานุประทาน เฉลี่ยทรัพย์ให้แก่คนยากไร้ มิให้ราษฎรขัดสน 5) ปริปุจฉา ปรึกษาสอบถามปัญหาต่างๆ กับสมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติชอบ รวมถึงนักปราชญ์ ผู้รู้ เพื่อให้รู้ชัดแจ้งการควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของราษฎรหรือไม่
นอกจากนี้ธรรมราชายังมีหน้าที่รับใช้ราษฎรตามหลัก "ราชสังคหวัตถุ" คือ 1) สัสสเมธะ การบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ความกินดีอยู่ดี 2) ปุริสเมธะ การบำรุงข้าราชการ รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ 3) สัมมาปาสะ ผูกผสานรวมใจราษฎรด้วยการส่งเสริมอาชีพเป็นต้น 4) วาชเปยะ หรือ วาจาเปยยะ รู้จักพูดดี มีเหตุผล มีประโยชน์ ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และความนิยมเชื่อถือ
และต้องยึด "ทศพิธราชธรรม" คือ 1) ทาน สละทรัพย์สิ่งของช่วยเหลือราษฎร 2) ศีล ประพฤติดีงาม ประกอบแต่การสุจริต 3) ปริจจาคะ เสียสละความสุขส่วนตน ตลอดจนชีวิตของตน เพื่อประโยชน์สุขของราษฎรและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง 4) อาชชวะ ปฏิบัติภารกิจโดยสุจริตซื่อตรง ไม่หลอกลวงราษฎร 5) มัททวะ อ่อนโยน ไม่เย่อหยิ่งถือตัว 6) ตปะ ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ มีความเป็นอยู่อย่างสามัญ 7). อักโกธะ ไม่ลุอำนาจความโกรธ จนเป็นเหตุให้วินิจฉัยความและกระทำการต่างๆ ผิดพลาดเสียความเป็นธรรม 8) อวิหิงสา ไม่เบียดเบียนกดขี่ราษฎร 9) ขันติ มีความอดทนต่องานที่ตรากตรำ ต่อถ้อยคำเสียดสีถากถาง ทนต่อการวิพากษ์วิจารณ์ 10) อวิโรธนะ ไม่คลาดธรรม มีความยุติธรรม เที่ยงธรรมตามนิติธรรม และระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
แต่จะอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ จะเห็นได้ว่าทฤษฎีธรรมราชาเป็นทฤษฎีที่พุทธะเสนอเพื่อโต้แย้งทฤษฎีเทวโองการของพราหฒณ์อันเป็นรากฐานของระบอบ "ราชาธิปไตย" ที่มีอยู่ก่อนสมัยพุทธกาลมาแล้วหลายพันปี โดยราชาธิปไตยเช่นนั้นถือว่ากษัตริย์ไม่ใช่คนธรรมดา หากเป็น "เทวราช" ที่อวตารมาจากเทพเจ้า กษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งอำนาจสิทธิ์ขาดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามเทวโองการ
แต่ธรรมราชา คือ "สมมุติราช" หรือคนธรรมดาที่ได้อำนาจปกครองมาจากความยินยอมของราษฎร (ตามนัยอัคคัญญสูตร) อิงความชอบธรรมจาก "การรับใช้ราษฎร" (ตามนัยจักรวรรดิวัตร, ราชสังคหวัตถุ, ทศพิธราชธรรม) ฉะนั้น เมื่อว่าโดยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ "ธรรมราชา" เช่นที่ว่านี้ ก็ดูจะคล้าย "ราชาปราชญ์" ของเพลโต (แม้รายละเอียดจะต่างกัน) คืออาจจะมีอยู่แต่ในทางทฤษฎี
ส่วนในทางปฏิบัติ กษัตริย์ชาวพุทธในยุคต่างๆ ที่ยกย่องกันว่าเป็นธรรมราชานั้น ที่จริงแล้วก็คือกษัตริย์ที่มีสถานะเหนือคนธรรมดา และมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ตามเทวโองการแบบพราหมณ์นั่นเอง (แม้แต่พระเจ้าอโศกก็มีสถานะกษัตริย์ตามเทวโองการในจารีตราชาธิปไตยแบบพราหมณ์ เพียงแต่ปรากฏหลักฐานใน "จารึกอโศก" ว่าในทางปฏิบัติ พระองค์ทรงดำเนินราชกิจตามทฤษฎีธรรมราชามากเป็นพิเศษ) ไม่ใช่กษัตริย์ที่เป็นคนธรรมดาเสมอกันกับราษฎรตามนัยอัคคัญสูตรแต่อย่างใด
ที่เป็นเช่นนี้เพราะสังคมการเมืองยุคนครรัฐโบราณ ส่วนใหญ่แล้วเป็น "รัฐศาสนา" ที่ประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองคือ "กษัตริย์ ขุนนาง พราหมณ์ และพระ" คนส่วนใหญ่คือไพร่ ทาส หาได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในทางการเมืองไม่
ในบรรดาผู้มีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น พวกพราหมณ์มีสถานะเป็นขุนนาง เป็นปุโรหิตหรือที่ปรึกษาของกษัตริย์ มีบทบาทในการกำหนดอุดมการณ์รัฐ วางระเบียบการปกครอง แบบแผนขนบธรรมเนียมของสังคม สอนศาสนา ความรู้ และพิธีกรรมต่างๆ เพื่อรักษาอุดมการณ์รัฐ รูปแบบการปกครอง และขนบจารีตของสังคม
ฉะนั้น พวกพราหมณ์จึงมีอำนาจถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองของกษัตริย์ เพราะพวกเขาวางจารีตการปกครองว่า กษัตริย์ต้องปกครองโดยราชธรรมตามเทวโองการ แต่ผู้ที่จะตัดสินว่ากษัตริย์ปกครองอย่างชอบธรรมตามราชธรรมหรือไม่นั้น คือพวกพราหมณ์ปุโรหิตผู้แตกฉานคัมภีร์พระเวท และพระธรรมศาสตร์อันเป็นกฎหมายปกครองบ้านเมือง ถึงขนาดออกกฎว่า "พระราชาจะทรงลงทัณฑ์แก่พวกพราหมณ์ไม่ได้"
ส่วนพระซึ่งได้แก่พุทธะ คณะสงฆ์ และบรรพชิตในศาสนาอื่นๆ มิได้มีตำแหน่งและอำนาจทางการเมืองแต่อย่างใด มีบทบาทเพียงเสนอแนวคิดทางปรัชญาการเมืองและคุณธรรมของผู้ปกครองแก่กษัตริย์ที่หันมานับถือพุทธ และแก่ชาวบ้านทั่วไป
สุลักษณ์เรียกบทบาทเช่นนี้ว่าเป็น "เสียงแห่งมโนธรรมสำนึก" แก่ชนชั้นปกครองแทนราษฎรทั้งหลาย ซึ่งก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง เขาเองก็เคยพูดว่า ทฤษฎีธรรมราชาที่นำมาประยุกต์ใช้นั้น ต้องยอมรับความจริงว่า "ล้มเหลวมากว่าสำเร็จ" เพราะมักถูกชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือรักษาสถานะ อำนาจ (ตามเทวโองการ) ของพวกตนมากกว่า
ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงที่มาของคำว่า "ธรรมราชา" ด้วยแล้ว จะเห็นว่าเดิมทีคำนี้เป็น "สมญานามของพุทธะ" โดยความเป็นธรรมราชาของพุทธะนั้นไม่ใช้อำนาจ ไม่ใช้อาชญา
แม้พุทธะจะบัญญัติวินัยสงฆ์ก็บัญญัติขึ้นจากการ "ฟังเสียง" ของคณะสงฆ์และชาวบ้านทั่วไป ไม่ใช่ "คิดแทน" แล้วบัญญัติวินัยสงฆ์ไว้ล่วงหน้า หากแต่บัญญัติขึ้นเมื่อสงฆ์และชาวบ้านชี้ให้เห็นปัญหาภายในคณะสงฆ์และการหาทางป้องกัน อีกทั้งยังบัญญัติขึ้นท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ พร้อมกับให้สงฆ์ปกครองกันเองโดยยึดธรรมวินัยเป็นหลักแห่งมโนธรรมสำนึก
ในฐานะธรรมราชานอกจากจะไม่ใช้อำนาจ อาชญา หรือกฎหมายปกครองสงฆ์แล้ว พุทธะยังไม่เคยเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายคุ้มครองตัวท่านเอง และคณะสงฆ์ (หรือธรรมราชาที่เป็นกษัตริย์) จากการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ แม้กระทั่งจากการด่า การดูหมิ่นเหยียดหยามใดๆ
ธรรมราชาอย่างพุทธะดำเนินชีวิติย่าง "คนเหมือนกัน" กับสามัญชน ฉะนั้น สำหรับพุทธะแล้ว บทพิสูจน์ความเป็น "ธรรมราชาที่แท้" อยู่ที่ "ทองแท้ไม่กลัวไฟ" ด้วยประการฉะนี้แล
หมายเหตุ: จากบทความเดิม พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (6): บทพิสูจน์ 'ธรรมราชา' เผยแพร่ใน "โลกวันนี้วันสุข" (ฉบับวันที่ 4-10 พฤษภาคม 2556)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น