กสทช.หาโมเดลกำกับสื่อ-นักวิชาการสื่อแนะต้องยอมให้มีเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ
Fri, 2013-05-10 18:31
ปิยวรรณ์ อ้วนตรงต้น รายงาน
(9 พ.ค.56) สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวในการเสวนาเรื่อง "กลไก Self-Censorship/Self-Regulation" จัดโดย กสทช.ที่ โรงแรมเดอะสุโกศล ว่า กฎหมายออกแบบให้ กสทช. ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรทัศน์และวิทยุ ด้านการกำกับดูแลในกฎหมายแบ่งเป็นสองส่วนสำคัญ คือ การกำกับดูแลในส่วนที่ขัดต่อกฎหมายมาตรา 37 มีเนื้อหาบอกกว้างๆ ว่า ถ้าเห็นอะไรที่ขัดต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อศีลธรรมอันดีต่างๆ ให้ กสทช. สามารถยุติการออกอากาศด้วยวาจาได้เลย แต่จนบัดนี้ กสทช. ยังไม่เคยใช้อำนาจดังกล่าว ใช้เพียงการปรับทางปกครองไป คือรายการ ไทยแลนด์ ก็อต ทาเล้นท์ โดยที่ยังไม่ได้มีเกณฑ์กติกาอะไร แต่ใช้ดุลพินิจของกรรมการ 5 คน ในการตัดสินใจ นอกจากนี้ กสทช.มีหน้าที่ส่งเสริมให้มีการกำกับดูแลขององค์กรวิชาชีพ โดยขณะนี้ กสทช.กำลังหาต้นแบบหรือโมเดลที่เหมาะสมกับการกำกับดูแลทั้งแบบผ่านองค์กรวิชาชีพ หรือรวมกันกำกับดูแลโดยมีกรรมการจรรยาบรรณที่เป็นข้อถกเถียงว่าจะมาจากไหน โดยจะต้องผ่านออกมาเป็นประกาศฯเพื่อบังคับใช้
สุภิญญา ระบุว่า สิ่งที่กำลังทำตอนนี้อยู่คือ ฝ่ายกำกับด้านผังรายการกำลังร่างเกณฑ์ตามมาตรา 37 ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพสื่อแน่นอน ไม่มากก็น้อย แต่ขณะนี้ที่ร่างเกณฑ์ตามมาตรา 37 ยังไม่ออกมา ถ้ามีเรื่องร้องเรียนเนื้อหาที่ออกอากาศขึ้นมายังคงเป็นกรรมการ 5 คน ยกมือตัดสินว่าผิดไม่ผิดและค่อนข้างจะมีปัญหามาก
สุภิญญา กล่าวต่อว่า การเซ็นเซอร์ตัวเองอาจเป็นกระบวนการหนึ่งในการกำกับดูแลในภาพรวมทั้งหมด แต่ว่าโดยตัวของมันเอง การกำกับดูแลตัวเอง (self-regulation) ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) เพราะว่า ทุกคนพยายามพูดให้ชัดอยู่แล้วว่ากระบวนการกำกับดูแลกันเองเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเลือกเรื่อง จะทำไม่ทำ ถ้ามีกระบวนการกลั่นกรองอะไรมา แต่ว่าการเซ็นเซอร์คือการตัดสินใจเพราะความกลัว ซึ่งมันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้บริโภค ดังนั้น เวทีเสวนาในครั้งนี้ต้องการบอกว่ามันไม่ใช่ส่วนเดียวกัน ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือ กสทช. เองไม่ควรจะทำเรื่องนี้ให้สับสน เพราะหลายครั้งสื่อก็กลัวเกินไปและอ้างว่าเป็นการกำกับกันเอง
พิรงรอง รามสูตร ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ค่านิยมพื้นฐานของการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นความกลัวที่ผูกพันกับความอยู่รอดจากบางเรื่องผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องทำเพื่อความอยู่รอด โดยเลือกที่จะไม่ทำบางเรื่องตั้งแต่ต้น รู้สึกว่ามีความอ่อนไหวอาจจะไม่ผ่านเซ็นเซอร์
พิรงรอง กล่าวอีกว่า ส่วนการกำกับดูแลตนเอง ท้ายที่สุดจะใช้สำนึกของผู้ประกอบการสาธารณะเป็นพื้นฐานว่าถ้าทำเรื่องนี้ออกไปมันจะเกิดผลอะไร ซึ่งบางเรื่องเป็นอะไรที่ดูลำบาก ตัวอย่างเช่น กรณี BBC ทำสารคดี พูดถึงกรณีของการวางระเบิดในลอนดอนปี 2005 ทำอย่างดีมาก มีแหล่งข้อมูลต่างๆ ในกรณีนั้นผู้ที่วางระเบิดเป็นเด็กมุสลิม ท้ายที่สุด BBC ไม่เอาออกอากาศ ซึ่งบางคนมองว่าเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้านำเสนอความจริง แต่อีกด้านหนึ่งมองว่าเป็นการกำกับดูแลตัวเอง มองว่าถ้าเกิดออกอากาศไปแล้วอาจเกิดอคติได้
"self-censorship มันค่อนข้างจะเป็นลูกศรไปทางเดียว มีพวกปัจจัยที่เข้ามา มาจากเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย นักวิชาชีพสื่อเป็นตัวกลางไปสู่ผู้รับคือ ผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง ในฐานะที่เป็นพลเมืองและผู้บริโภค ส่วน self- regulation นักวิชาชีพสื่อเป็นตัวกลาง แต่จะมีอีกกรอบหนึ่งคือ องค์กรวิชาชีพที่ดูแลกันเองมารวมตัวกัน และมีการร่วมมือสอดส่องดูแลจากผู้บริโภคและพลเมือง เพราะเรามองว่าคณะกรรมการรับเรื่องราวร้องเรียนองค์กรวิชาชีพ ถ้าไม่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจากผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง มันก็ไม่เกิดกระบวนการร้องเรียนนี้ เพราะเขาเห็นว่าไม่มีอะไรเดือดร้อน เพราะฉะนั้นผู้บริโภคต้องส่งเรื่องเข้ามา ในทำนองเดียวกัน องค์กรอิสระต้องดูด้วยว่า self-regulation ดีหรือไม่ดี" พิรงรอง กล่าว
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า จุดยืนของตนเองไม่เชื่อเรื่องเซ็นเซอร์ แต่ว่าเชื่อในเรื่องรสนิยม เชื่อเรื่องการพยายามอยากจะจัดอะไรที่ดี คนทุกคนมีความตั้งใจดี ไม่มีใครอยากทำสื่อที่เลว เพราะฉะนั้นเราจึงอยากเห็นคนที่สามารถทำเนื้อหาสาระในลักษณะที่เป็นอิสระ ไม่ติดอยู่ภายใต้กรอบที่เป็นอิทธิพลมืด ดังนั้น เรื่องของการสื่อสารจึงควรจะมีความหลากหลาย
จีรนุช กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะกลัวว่าสิ่งที่นำเสนอออกไปจะทำให้เกิดความเสียหายนั้น ตั้งคำถามว่าการสื่อสารใดๆ จะทำให้เกิดความเสียหายจริงหรือไม่ และถึงแม้อาจเกิดความเสียหายจริง ก็ไม่ควรเหมารวมว่าทุกอย่างเป็นความเดือดร้อนรุนแรง เป็นภัยต่อศีลธรรมอันดีต่อชาติทั้งหมด จนไม่สามารถพูดอะไรได้ ถ้าเป็นแบบนั้นเราจะต้องตกอยู่ภายใต้การสื่อสารในบรรยากาศของความกลัว ซึ่งก็น่าเป็นห่วงถ้าต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศที่โลกแคบลง
"การกำกับเนื้อหาข่าวกับตัวรายการเนื้อหาสาระอาจจะต้องแยกจากกัน โดยเฉพาะในเรื่องของข่าว การตรวจสอบก่อนเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำเลย เป็นเรื่องที่ควรให้อิสระในการทำงาน" จีรนุช กล่าว
ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นักแสดง ผู้เขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์ กล่าวว่า เส้นแบ่งของการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์และทีวีควรจะกำหนดให้แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความยุ่งยากที่ทุกคนอยากแก้ปัญหา ในกระบวนการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ ไม่มีการเปิดให้แสดงความเห็น เพราะภาพยนตร์เป็นสมบัติของรัฐไม่เหมือนทีวีที่ยังสามารถมาเจรจา ต่อรองกันได้ ทั้งๆ ที่หนังฉายในโรงและต้องเสียเงินไปดู ช่องทางในการดูไม่ใช่เรื่องง่าย
ธัญญ์วาริน กล่าวอีกว่า นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้วงการภาพยนตร์เซ็นเซอร์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าการทำหนังเรื่องหนึ่งต้องลงทุนสูง ทุกคนต่างเกรงกลัวว่าทำไปแล้ว หนังจะถูกห้ามฉาย ทำให้หนังในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่แบบ ไม่กี่แนว เพราะคนทำหนังพยายามจะเซ็นเซอร์ตัวเองตั้งแต่แรก ไม่คิดจะสร้างเรื่องที่จะโดนแบนแน่นอน พอมี พ.ร.บ.เรตติ้งขึ้นมา เราคิดว่าสิ่งที่เราทำน่าจะอยู่ใน ฉ 20+ เราก็ทำด้วยความปรารถนาดีต่อสังคม แต่สุดท้ายยังโดนแบน ซึ่งตนเองไม่มีสิทธิ์พูดด้วยซ้ำ คนดูเองก็ไม่มีสิทธิได้ดู เพราะฉะนั้น เชื่อว่าการกำกับดูแลกันตามกฎหมายควรมี แต่ความเข้มแข็งทางความคิดของทุกคนต้องมีไปพร้อมกับการเรียนรู้และเท่าทัน เพื่อทำให้สังคมเติบโต
ศาสวัต บุญศรี อาจารย์คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เชื่อเรื่องการกำกับดูแลกันเอง เนื่องจากโตมากับอินเทอร์เน็ตที่มีอิสระในการสื่อสาร โดยยกตัวอย่างรายการ "ครัวกากๆ" ของตัวเองที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเต็มไปด้วยคำหยาบคาย ที่คงไม่สามารถออกอากาศทางช่องปกติได้ ทั้งนี้ เชื่อในเรื่องการเปิดพื้นที่มากกว่า คือควรมีช่องทางให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็น
นอกจากนี้ ศาสวัต กล่าวถึงการเซ็นเซอร์รายการทีวีกับภาพยนตร์ด้วยว่า กรณีทีวีนั้นยังโชคดีที่แม้จะใช้การจัดเรตแต่ก็ยังสามารถดูได้ ขณะที่ภาพยนตร์นั้น เมื่อจัดเรตแล้ว คนบางกลุ่มก็หมดโอกาสดู
ศาสวัต กล่าวอีกว่า การเซ็นเซอร์ตัวเองมาจากสองทาง คือ เรื่องการเป็นเจ้าของคลื่น ทำให้ไม่สามารถวิจารณ์อะไรที่ส่งผลกระทบต่อเจ้าของคลื่นได้ ปัญหาด้านที่สองเรื่องของสปอนเซอร์ ต้องยอมว่าองค์กรสื่อทุกองค์กรคือการทำธุรกิจ ไม่มีใครทำองค์กรสื่อโดยไม่หวังกำไร จะต้องมีโฆษณาเพื่อความอยู่รอด ดังนั้น ถ้าอยากให้ประเทศไทยอยู่ต่อไปได้ ทุกคนต้องยอมให้เกิดการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่ถูกใจ ต้องกล้านำเสนอสิ่งที่คนทั่วไปไม่เชื่อ
วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ดำเนินรายการพื้นที่ชีวิต ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า อยู่ไทยพีบีเอสรู้สึกคล่องตัวมากกว่าช่องอื่น เพราะไม่มีโมเดลด้านธุรกิจ ไม่ต้องมีโมเดลโครงสร้างการเมืองมาเสริมเพื่อให้อยู่รอด ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ที่เจอมักเป็นมือที่มองไม่เห็นในลักษณะ "ผู้ใหญ่บอกว่า……" แต่ไม่สามารถทราบได้ว่าผู้ใหญ่เหล่านั้นคือใคร
วรรณสิงห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวพูดได้เลยว่าการเซ็นเซอร์ตัวเองแทบไม่มี เพราะว่าตัดความกลัวออกไปหมดแล้ว หลังจากถูกด่าบ่อยจากหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นในอินเทอร์เน็ตหรือต่อหน้า และที่สุดก็ยังมีช่องคอยกำกับดูแล สมมติว่าสิ่งที่ทางช่องติงมาเป็นสิ่งที่ตนเองเห็นด้วย เช่น แต่งตัวไม่สุภาพเกินไปออกรายการ ก็จะทำให้กระบวนการเซ็นเซอร์ตัวเองกับการกำกับดูแลตัวเองไปในทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าสิ่งที่ทางช่องเซ็นเซอร์ไปเป็นสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แต่ตนเองยอม นั่นก็กลายเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองไป เพราะว่าเราทำสิ่งที่เราไม่เชื่อแต่ว่าเรายอมเพราะความกลัว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น