วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โชว์มาตรฐานจรรยาบรรณ ช่อง 3 5 7 9 11 ไทยพีบีเอส ร่วมถก กสทช.กำกับกันเอง

โชว์มาตรฐานจรรยาบรรณ ช่อง 3 5 7 9 11 ไทยพีบีเอส ร่วมถก กสทช.กำกับกันเอง

Thu, 2013-05-09 14:14

 

 

(9 พ.ค.56) ในการประชุมเสวนาเพื่อนำเสนอจรรยาบรรณในกิจการโทรทัศน์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องกลไก Self Censorship / Self Regulation  จัดโดย กสทช.ที่ โรงแรมเดอะสุโกศล


สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช. อยู่ระหว่างหาโมเดลสำหรับการกำกับดูแลสื่อ ที่ผ่านมา กสทช.ได้จัดเวทีไตรภาคี โดยเชิญผู้ประกอบการและผู้บริโภคมาพูดคุยกัน โดยที่ผ่านมายังมีคำถามว่า การกำกับดูแลกันเองเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเองหรือไม่ ก็มีทั้งผู้ที่บอกว่าเป็นการกลั่นกรองด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ กฎหมาย และแรงกดดันทางสังคม อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น กสทช.ไม่อยากบังคับ อยากให้เป็นกระบวนการปรึกษาหารือมากกว่า โดยสาเหตุที่เริ่มจากฟรีทีวีเพราะมองว่า ฟรีทีวีมีกรอบกำกับดูแลกันเองมาระดับหนึ่งแล้ว ขณะที่เคเบิลดาวเทียมท้องถิ่นกำลังจะขอใบอนุญาตฯ จึงอยากจะเอาบทเรียนถ่ายทอดไปสู่เคเบิล วิทยุ

อย่างไรก็ตาม มองว่าเป็นเรื่องยากในการหาเส้นแบ่งที่จะไม่เซ็นเซอร์มากเกินไป และไม่ปล่อยปละมากเกินไป เพราะสื่อทีวีนั้นเข้าถึงครัวเรือนมากกว่า 90% มีกลุ่มคนดูหลากหลาย ยากจะหารสนิยมคนดู ว่าเรื่องไหนเหมาะไม่เหมาะ

นิมะ ราซิดี  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ  สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 กล่าวว่า เมื่อยี่สิบปีก่อนมี กบว. ซึ่งมาจากอัยการ ผู้พิพากษา ทนาย แต่ละวันเวียนไปตรวจสอบรายการแต่ละช่อง ผู้ประกอบการแต่ละช่องก็สบายมาก เพราะยกให้ กบว.รับผิดชอบ  จากนั้นเมื่อมีการปรับให้แต่ละช่องรับผิดชอบตัวเอง ทางช่องก็ต้องเข้มขึ้น เพราะความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่ กบว.แล้ว

"ตอนมี กบว.มีความคิดต่างกัน มาจากทั้งตำรวจ กระทรวงวัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้มีปัญหาทะเลาะกันบ่อยๆ ขณะที่เมื่อต้องดูแลเอง แต่ละช่องแม้มีกรรมการเยอะ ช่อง 3 มีเกือบ 10 คน แต่ก็ไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะเป็นพวกเดียวกัน" นิมะ กล่าวพร้อมยกกรณีไทยแลนด์ก็อตทาเลนท์ว่า  ตอนนั้นใช้เกณฑ์ว่าถ้าไม่เห็นหัวนมก็ออกอากาศได้ เจ้าหน้าที่ที่ดูแลบอกว่าไม่เห็น จึงปล่อยผ่าน แต่เมื่อกระแสสังคมไม่ยอมรับก็ปล่อยผ่านไม่ได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีเซ้นส์ด้วย ไม่ใช่ดูแค่เกณฑ์

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา เรื่องร้องเรียนเยอะมาก เช่น มีบททนายความในละครเป็นคนไม่ดี กลุ่มทนายก็ไม่ยอม แต่ช่องเห็นว่าไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใคร และทนายก็มีทั้งที่ดีและไม่ดี แต่ก็เกิดการฟ้องร้องกันในศาล  ส่วนเรื่องโฆษณาที่มีผู้ร้องเรียนว่าเยอะไปนั้น ชี้แจงว่า เอเจนซีทำมาแค่ชิ้นละ 15 วินาที เพราะฉะนั้นออกอากาศได้ 4 ชิ้นต่อ 1 นาที ทำให้คนดูรู้สึกว่าเยอะ

ทวินันท์ คงคราญ  เลขานุการ  สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 มองว่าการกำกับดูแลกันเองกับการเซ็นเซอร์ตัวเองเป็นเรื่องเดียวกัน คือการที่สื่อรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควร ทั้งนี้ ช่อง 5 มียุทธศาสตร์ว่า สื่อต้องดูแลตัวเองให้ครบวงจร ตั้งแต่กำกับดูแลร่วมกับผู้ผลิต การคัดสรรผู้ร่วมผลิตรายการ ดูศักยภาพการผลิต และตรวจรายการ จัดเจ้าหน้าที่คุมเวร 24 ชั่วโมง ฝึกอบรมบุคลากรด้านจริยธรรม มีการตรวจสอบ ประเมินอย่างต่อเนื่อง ส่วนยุทธศาสตร์ภายนอก มีการจ้างสถานศึกษาให้วิจัยประเมินช่อง เรื่องคุณภาพรายการ มีการสรุปเสียงสะท้อนจากสื่อ รับเรื่องจากสภาวิชาชีพ กสทช.

ทั้งนี้ ช่องความมั่นคง ไม่ใช่แค่เรื่องของการทหาร การเมือง ปกป้องประเทศชาติยามสงครามเท่านั้น แต่ความมั่นคงที่น่าเป็นห่วงคือ ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมด้วย
 
ตัวแทนจากช่อง 5 กล่าวว่า ทางช่องมีหลักว่าจะไม่ทำลายศีลธรรม จริยธรรม กรณีรายการคนอวดผี จัดว่าเป็นสีเทา ต้องยอมรับว่าบทบาทสื่อเป็นทั้งผู้สะท้อนและชี้นำสังคม เป็นกระจกและตะแกรง คนไทยจำนวนมากก็เชื่อเรื่องผี อย่างไรก็ตาม ก็มีการจัดเรตติ้งให้อยู่ในกลุ่ม น 18 ให้มีผู้ใหญ่กลั่นกรอง และยังเชื่อมโยงกับคำสอนทางศาสนาชี้นำให้คนเข้าใจหลักธรรมผ่านกรณีศึกษาเหล่านี้ ซึ่งก็เป็นการปรับรูปแบบตามการพูดคุยกับ กสทช.

ตัวแทนจากช่อง 5 พูดถึงกรณีเรื่องสัดส่วนรายการสาระ-บันเทิงที่ถูกวิจารณ์ว่า ไม่เป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดว่า จะต้องมีการพูดคุยกัน ถามว่าข่าวสาร จะมีฟอร์แมทอย่างไร ต้องเป็นการอ่านข่าวอย่างเดียวไหม ละคร อาจไม่ใช่บันเทิงก็ได้ เพราะ "อยู่กับก๋ง" ก็ถือเป็นละครเพื่อสังคม ดังนั้น ก่อนจะประเมินคุณภาพ ขอให้มาคุยกัน ไม่ใช่สุ่มข้อมูลมา

สุบัณฑิต สุวรรณนพ  ผู้จัดการฝ่ายผลิตรายการ  สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 กล่าวว่า ฟรีทีวีถือเป็นช่องออกอากาศบนทางสว่าง คนดูได้ทั่วไป ตรวจสอบได้ชัดเจน แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคืออินเทอร์เน็ต เด็กสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าเวลาไหน โดยเฉพาะเมื่อมีสมาร์ทโฟนก็ยิ่งเข้าถึงได้ตลอดเวลา สิ่งที่สังคมควรห่วงใยมากกว่าคือสื่อที่มากับเทคโนโลยีเหล่านี้

สำหรับช่อง 7 นั้นเช่าคลื่นความถี่กองทัพบกดำเนินการ จึงต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคง สถาบัน ประเทศชาติ ศาสนา ศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณี  อย่างที่ช่อง 3 บอกว่าความสบายจากการมี กบว.นั้นหมดไปนานแล้ว ต้องดูแลตัวเองมาตลอด ที่กสทช. อยากให้ดูแลตัวเองนั้นก็เป็นสิ่งที่ช่องทำกันมาอยู่แล้ว โดยในการดูแลกันเอง แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ รายการข่าว/ ละคร /รายการทั่วไป -ผู้เช่ารายการ ภาพยนตร์

ตัวแทนช่อง 7 กล่าวถึงรายละเอียดการดูแลส่วนต่างๆ ว่า รายการข่าว ยึดจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ หลีกเลี่ยงความไม่เป็นกลาง ช่อง 7 มีจรรยาบรรณของตัวเอง ปกป้องแหล่งข่าวให้ความเป็นธรรมกับผู้ตกเป็นข่าว เน้นความสมดุลสิทธิเสรีภาพ-ความรับผิดชอบต่อสังคม  ส่วนละครโทรทัศน์ ช่อง 7 มีคณะกรรมการพิจารณาการผลิต กลั่นกรองตั้งแต่เลือกบทประพันธ์ การเลือกว่าผู้ผลิตรายใด และตรวจบทก่อนถ่ายทำ  ด้วยการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก ทำให้ไม่มีการร้องเรียนละครช่อง 7 เลย นอกจากนี้ต้องพูดเรื่องสังคมด้วย การสอนเยาวชน ควรเสนอขาว ดำ เทา เพื่อที่เด็กจะได้เข้าไปเรียนรู้ โดยไม่ต้องเรียนรู้ถูกผิดด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม บางกรณีที่เข้มงวดไป อาจทำให้เสียโอกาสของผู้ชมในการชมละครดี เช่น กรณีจัดเรต น 13 ห้ามออกอากาศ 5.00-20.30 น. จากที่เดิมออกอากาศได้ทั้งวันแต่มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ไม่ เหมาะสม  ถ้าเป็นแบบนี้ จะทำให้ผู้ชมขาดโอกาสชมละครดีๆ ยกตัวอย่าง ถ้าย้อนไปจัดเรตละคร "ข้ามสีทันดร" ซึ่งพูดเรื่องยาเสพติด ถามว่าจะจัดเรตเป็น ท ได้ไหม เพื่อให้เห็นถึงโทษยาเสพติด เพราะเป็นหน้าที่สื่อที่ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม

ตัวแทนช่อง 7 กล่าวต่อว่า ด้านรายการโทรทัศน์ ผู้ผลิตจะต้องเสนอ proposal ว่าน่าสนใจยังไง ต้องมีเอกลักษณ์จุดขาย คุณค่าสาระของตัวเอง  ส่วนเรื่องร้องเรียน ปีที่แล้วไม่เจอเลย ปีนี้มีบ้าง อย่างไรก็ตาม ช่องก็มีการตรวจสอบตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องรอร้องเรียน โดยมีการตัดคลิปปิ้งข่าว ข่าวจากอินเทอร์เน็ต

สนธิ อิชยาวิโรจน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สำนักกฎหมายโมเดิร์นไนท์ทีวี ช่อง 9 กล่าวว่า การกำกับดูแลมาจากรากฐานกำกับของราชการก็ยังยึดถือมาแม้ว่าไม่มี กบว. แล้ว ทั้งนี้เมื่อเทคโนโลยีไปไกล มีฟรีทีวี มีอินเทอร์เน็ต ทำให้การกำกับดูแลไม่ทั่วถึง เพราะกฎหมายไม่สามารถรองรับได้ แต่ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เชื่อว่าความมีจรรยาบรรณในวิชาชีพยังมีกันอยู่ เพราะการเสนอข่าว จัดรายการ กระทบถึงประชาชนผู้บริโภค ดังนั้น ขณะที่เทคโนโลยีก้าวไป แต่กฎหมายตามไม่ทัน จึงต้องมีจรรยาบรรณ ซึ่งแต่ละช่องอาจกำหนดขึ้นแตกต่างกันไป แต่โดยพื้นฐานก็คล้ายกัน ตามวัตถุประสงค์

ช่อง 9 เกิดจากข่าว สารคดี จากที่เคยเป็นหน่วยงานของรัฐ มาเป็นบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเป็นรัฐวิสาหกิจ  เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ต้องเพิ่มจรรยาบรรณเข้ามาด้วย โดยมีทั้งขององค์กร การนำเสนอข่าวและของผู้ปฏิบัติงานข่าว คณะกรรรมการผู้บริหาร และยังต้องมีความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ เหมือนช่อง 7 คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ส่งเสริมกิจกรรมรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม  จริยธรรรมของประชาชน

ด้านภาษา การสื่อข้อความ ต้องชัดเจน เมื่อก่อนกว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าวได้ ต้องสอบ แม้จะมีอยู่ช่วงที่หายไป แต่ยังดีที่กลับมาใหม่ เห็นว่าควรมีการกลั่นกรอง ยิ่งในยุคสื่อสารฉับไว ประชาชนรับข่าวมีความลึกซึ้งในการวิเคราะห์ สื่อทุกวันนี้จึงต้องเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวัง ช่อง 9 เอง อย่างน้อยเดือนหนึ่งต้องมี 1-2 ครั้งไปชี้แจง กสทช.หรือกมธ.

กรณีที่มีการร้องเรียน เป็นเรื่องโฆษณา เพราะกฎเกณฑ์ยังไม่ชัดเจน มีการปฏิบัติที่ลักลั่น  ผู้ประกอบการต้องการผลกำไร จึงโฆษณาทุกช่องทาง แต่เมื่อปรากฏต่อสาธารณชน ผู้บริโภคบอกว่าเป็นการเอาเปรียบ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วก็เห็นใจทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ 

พรอัปสร นิลจินดา  ผู้อำนวยการส่วนจัดและควบคุมรายการ  สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) กล่าวว่า เนื้อหา ช่อง 11 แตกต่างจากช่องธุรกิจ บันเทิง เป็นการสนทนา ให้ข้อมูล เชิญผู้ให้ข้อมูล ครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง ก็มีฟีดแบกกลับมาบ่อย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมือง

ตัวแทนช่อง 11 กล่าวว่า การตรวจสอบรายการ กรณีรายการสด ป้องกันโดยให้ผู้จัดรายการส่งประเด็น ชื่อวิทยากร เนื้อหาคร่าวๆ ให้ทราบก่อน รวมถึงดูภาพอินเสิร์ช ซึ่งหลายครั้งพบว่าพิจารณายาก บางครั้งต้องโทรปรึกษา ผอ. ว่าจะให้ออกไหม บางรายการที่เป็นเทป ก็ต้องตรวจสอบก่อน เราพิจารณาแม้แต่ฉากหลัง ว่าเสี่ยงต่อการวิจารณ์ไหม ส่วนเรื่องล่อแหลม พยายามขอไม่ถ่ายทอดสด ที่ผ่านมา เมื่อมีเรื่องเร่งด่วน ช่อง 11 มักถูกขอให้ถ่ายทอดสด และขณะออกอากาศ ก็จะมีคนโทรศัพท์มาวิจารณ์ทันที เช่น บางทีสัญญาณหายก็ถูกวิจารณ์ว่าเอียง ทั้งที่เป็นปัญหาทางเทคนิค ก็ต้องตามข้อมูลจากสถานีไทยคม ส่งแฟกซ์ชี้แจงผู้โทรมา

จิตติมา บ้านสร้าง  บรรณาธิการแผนและยุทธศาสตร์ข่าว สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS  กล่าวว่า ในส่วนของไทยพีบีเอส ถูกกำหนดตั้งแต่กระบวนการสรรหาผู้บริหาร ที่มารายได้ กำหนดให้ต้องจัดทำข้อบังคับด้านวิชาชีพ มีสภาผู้ชม และมีกลไกรับเรื่องร้องเรียน  ไทยพีบีเอสมีสัดส่วนรายการชัดเจน สำหรับรายการต่างๆ นั้น มีคณะกรรมการจัดการและควบคุมคุณภาพรายการ เหมือนช่องอื่นๆ  ในส่วนของข่าว มีกอง บก. ประชุมวันละ 2 ครั้ง มีการจัดทำสไตล์บุ๊ก กำหนดรายละเอียด เช่น การทำข่าวเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง จะเสนอภาพ ใช้คำเรียกเด็กอย่างไร ปรับปรุงอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะสังคมมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้น ต้องสรรหาคำที่ให้เกียรติ เคารพคนที่อยู่ในข่าว

ส่วนการตรวจสอบจากภายนอก มีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ ทำหน้าที่ส่งฟีดแบ็กให้ ซึ่งมีมาทุกวัน  การรับเรื่องร้องเรียน มีการกำหนดวิธีรับเรื่อง-พิจารณาอย่างละเอียด ในพ.ร.บ. มีการเยียวยา บุคคล มีหนังสือว่ากล่าวตักเตือน มีการพิจารณาลงโทษรายการโดยการทบทวนระงับการออกอากาศ หากพบว่ามีการละเลยจริยธรรม - ผิดวินัย ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน

http://www.prachatai3.info/journal/2013/05/46647

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น