วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556

เสวนาภาคประชาสังคมกับองค์กรอิสระ ชี้ต้องแก้กระบวนการสรรหา เพิ่มส่วนร่วมจากปชช.

เสวนาภาคประชาสังคมกับองค์กรอิสระ ชี้ต้องแก้กระบวนการสรรหา เพิ่มส่วนร่วมจากปชช.

เวทีเสวนาเห็นร่วมผลงานกรรมการอิสระสะท้อนปัญหาบทบัญญัติกรรมการสรรหาองค์กรอิสระที่จำกัดอยู่กับอรหันต์จากสายตุลาการ ต้องแก้ไข  น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระชี้ องค์กรอิสระต้องกลับสู่หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน จอน อึ๊งภากรณ์ ระบุภาคประชาสังคมต้องมีส่วนร่วมมากขึ้น

15 มี.ค. 2556 ร.ร. พลาซ่าแอทธนี ประชาไทร่วมกับ USAID และโครงการสะพาน จัดเสวนาหัวข้อ "ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษากรรมการการเลือกตั้ง, จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. และเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธบูรณะนิเวศ

ศ. กำชัย จงจักรพันธ์: องค์กรอิสระต้องอิสระและเป็นกลาง

ศ. กำชัย จงจักรพันธ์ ที่ปรึกษา กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า  รธน. 2540 เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดองค์กรอิสระ ในเชิงกฎหมาย แต่ในเชิงการเคลื่อนไหวของความคิดมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว การปฏิรูปประเทศไทยที่ก่อตัวก่อนการเกิดขึ้นของ รธน. 2540 เป็นพลังให้รธน. 40 มีองค์กรอิสระขึ้น ซึ่งเดิมจะมี 4 องค์กร คือ กกต. ปปช. ซึ่งมาจากเดิมที่เป็นองค์กรของรัฐที่เป็น ปปป. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และกสม.

หลังรัฐประหาร 2549 รธน. 2550 หมวด 11 บัญญัติแบ่งองค์กรตามรธน. สองประเภท หนึ่งคือ องค์กรอิสระตามรธน. ซึ่งประกอบด้วย ปปช. กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และสตง. และประเภทที่ 2 คือองค์กรอื่นตามรธน. ที่เดิมไม่ถือเป็นองค์กรอื่นตาม รธน. คือ อัยการ กสม. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เวลาพูดว่าอะไรคือองค์กรอิสระ ถ้าจะพูดให้เคร่งครัดที่สุดก็มี 4 องค์กรเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีผู้รู้ทั้งนักกฎหมายและศาสตร์ต่างๆ มักจะเรียกองค์กรอื่นๆ โดยถือว่าเป็นองค์กรอิสระด้วย คือรวมความถึง อัยการ กสม. และสภาที่ปรึกษาฯ

ขณะเดียวกันก็มีหลายความว่าแม้องค์กรอื่นๆ ไม่ได้ถูกระบุใหนหมวด 11 ก็จัดเป็นองค์กรอิสระ เช่น กสทช., คปก. (คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย)และสภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น แสดงว่า เราจะมองความหมายขององค์กรอิวสระกว้างหรือแคบก็แล้วแต่มุมมองว่าจะยึดอะไรเป็นที่ตั้ง  

สำหรับเขา ถ้าหาลักษณะร่วมขององค์กรร่วมขององค์กรเหล่านี้จะพบลักษณะร่วมที่สำคัญ คือต้องเป็นอิสระ และเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ จึงอาจกล่าวรวมได้ว่า เป็นองค์กรที่ถูกออกแบบและกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรมีความเป็นอิสระ และความเป็นอิสระนี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้มีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่  

ความเป็นอิสระหมายถึงการไม่ถูกแทรกแซง สั่งการ ไม่สังกัดใคร ปกครองตนเอง รูปธรรมที่เห็นได้คือ กกต. ปปช. กสม. กสทช. ออกกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ได้เองโดยอิสระ ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาสั่งการ เขาจึงสามารถดำรงความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่  

"ที่เราต้องการให้องค์กรอิสระเป็นอิสระเพราะต้องการให้เขาปราศจากการถูกแทรกแซง เมื่อไม่ถูกแทรกแซงสั่งการ หลักการต่อไปก็จะทำให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ความเป็นกลางคือปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริง ตามข้อกฎหมาย ตามหลักวิชาของแต่ละองค์กรโดยไม่โอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  

"ด้วยเหตุนี้กฎหมายรธน. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระจึงบัญญัติว่าต้องเป็นอิสระและเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่"  

เขากล่าวว่าความเป็นกลางคือหัวใจขององค์กรอิสระ และจะต้องเป็นอิสระเสียก่อน ไม่ถูกแทรกแซงสั่งการได้เสียก่อน ไม่มีใครอยู่เหนือที่สามารถให้คุณให้โทษจนทำให้ไม่เป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่  แต่ถ้าไม่อิสระ แล้วยังเป็นกลางได้ก็น่าพอใจ แต่ถ้าอิสระแต่ไม่เป็นกลางน่าจะไม่ถูกต้อง

อิสระมีสองนัยยะกว้างๆ คืออิสระจากภายนอก คือกระบวนการสรรหา การเข้าสู่ตำแหน่ง พยายามสร้างและออกแบบให้มั่นใจได้ว่า องค์กรอิวสระเหล่านี้อิสระในการปฏัติหน้าที่ แต่ความเป็นอิสระจากภายในยังเป็นอักปัจจัยหนึ่งซึงสำคัญมาก และถ้าใครเป็นนักกฎหมายก็ต้องยึดหลักเป็นกลาง ในมุมมมองผู้พิพากษาตุลาการนั้นในอดีตไม่ค่อยมีปัญหาว่าใครจะแทรกแซง เพราะระบบแต่เดิมสร้างความเป็นอิสระจากภายนอกไว้ดีแล้ว แต่ที่สั่งสอนเวลาเรียนในชั้นเรียนกฎหมายคือต้องปราศจากอคติทั้ง 4  

ความเข้าใจอีกประการหนึ่งคือ ความเป็นกลางเป็นเรื่องปฏิบัติยาก ซึ่งเขาเห็นด้วยเพราะมนุษย์มักมีอคติ ความเป็นกลางไม่ได้หมายความว่าอยู่เฉยๆ ไม่ตัดสินใจ กกต. ทั้งห้าคนก็ต้องเลือกตั้งพรรคที่เขาเห็นว่าดีที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่สามารถรปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ แม้ว่าจะปฏิบัติได้ยาก แต่ไม่ได้หมายความไม่ต้องปฏิบัติ

เขาตั้งคำถามกลับถึงประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ราชการว่าเป็นต้นเหตุแห่งความไม่ถูกต้องดีงาม ขณะที่เหตุที่เกิดจากองค์กรอิสระเพราะสังคมไม่เชื่อถือฝ่ายการเมือง แต่เดิมหน้าที่ทั้งหลายที่อยู่กับองค์กรอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตามไม่ว่าใครที่มีอำนาจล้วนมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบทั้งสิ้น ดังที่ลอร์ดแอคตันกล่าวว่า Power tends to corrupt, Absolute power corrupts absolutely. ฉะนั้นองค์กรอิสระเองก็ต้องตระหนักว่าองค์กรอิวสระไม่ใช่มีอำนาจที่จะทำอะไรก็ได้ เพราะต้องถูกตรวจสอบเช่นกัน

แล้วองค์กรอิสระสำเร็จได้อย่างไร

หนึ่ง ต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง แต่ถ้าถามว่าปัจจุบันเปนอวระและเป็นกลางแล้วหรือยัง แต่พื้นที่ของตอบประเด็นเหล่านี้ก็อยู่ที่กระบวนการได้มา กระบวนการสรรหา รวมถึงคุณสมบัติ

สอง ความรู้ความเข้าใจ ในงานของตนเอง การปฏิบัติหน้าที่ของวทึกหน่าวยงานไม่ได้ปฏิบัติไปตามอำเภอใจ ขณะที่กฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามก็ซับซ้อน ยุ่งยาก ละเอียด และบางครั้งขาดความชัดเจน เฉพาะกกต. มีกฎหมาย 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องและเชื่อว่าคนไม่มากนักที่เข้าใจกฎหมายทั้งระบบ ปปช. มีกฎหมาย 3 ฉบับ เป็นต้น

สาม มีความสามารถในการบริหารจัดการ

สำหรับประเด็น 15 ปีที่ผ่านมาองค์กรอิสระเป็นปฏิบัติหน้าที่ได้สมความคาดหวังของประชาชนหรือไม่นั้น เขาคิดว่า การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างหลากหลายเป็นเรื่องดี แต่จะทำให้เป็นผลสัมฤทธิ์นั้นเขาเสนอให้มีการศึกษาและการวิจัยต่ออย่างเป็นระบบระเบียบให้เห็นความสำเร็จล้มเหลวขององค์กรอิสระของทุกๆ องค์กร แล้วนำมาสังเคราะห์วิคราะห์เพื่อตอบโจทย์ต่อไปว่าจะทำอย่างไรกับองค์กรอิสระ

เขาคิดว่าการพัฒนา หรือปรับปรุง หรือออกแบบองค์กรอิสระ ไม่ใช่เอาความเห็นแบบปัจเจกมานำไปสู่ข้อเสนอ เป็นการเอาประเทศชาติเป็นที่ทดสอบความเห็นของคนจำนวนหนึ่งที่ไม่เป็นสัจธรรมที่นำไปสู่การแก้ปัญหา แต่ควรผ่านการวิจัยอย่างเป็นระบบระเบียบ ถ้าจะต้องยุบก็ยุบไปโดยปราศจากอคติ ถ้าสำเร็จอยู่แล้วก็ตอบได้ว่าสำเร็จ

จอน อึ๊งภากรณ์ชี้ต้องแก้ที่มาองค์กรอิสระ และให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

จอน อึ๊งภากรณ์ อนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่าองค์กรอิสระของไทยถูกครอบงำ 2 ช่วงคือ ช่วงเวลาพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นการครอบงำชั่วคราว และช่วงที่สองถูกครอบงำแบบถาวรโดยระบบอำมาตย์ 

"ผมคิดว่าองค์กรอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคือ ศาลปกครอง การหยุดยั้งการแปรรูปกฟผ. เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด  บทบาทศาลปกครองในกรณีนี้ ทำให้เรานึกได้ว่าศาลปกครองมีอำนาจจริงๆ ที่สามารถจะคานกับอำนาจรัฐได้ในเรื่องสำคัญๆ ที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริงๆ"

องค์กรที่สองเขานึกถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในสเกลเล็ก ที่สามารถจะตรวจสอบการละเมืดสิทธิได้ แต่ถ้าถามประสิทธิภาพของกรรมการสิทธินั้นเขาเห็นว่ามีปัญหาพอสมควร

แต่พอมานึกถึงผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นเขานึกไม่ออกจริงๆ ว่าทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมไทย หรือ ปปช. ซึ่งเขาเห็นว่ามีข้อจำกัดมากในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ทำได้ไม่กี่คดี ทั้งๆ ที่รับรู้กันว่าการโกงกินขนาดใหญ่มีมากเพียงใด

ส่วนกกต. นั้นเขานึกถึงกกต. ชุดแรกที่เป็นอิสระจริงๆ แต่หลังจากนั้นเขาไม่คิดว่าเป็นอิสระ

โดยสรุปเขาเห็นว่าองค์กรอิสระนั้นไม่เป็นอิสระ ตั้งแต่เรื่องของการสรรหา แบ่งเป็นสองยุค ยุคแรกคือพรรคไทยรักไทยสามารถเข้าไปชี้ให้วุฒิสภาเลือกใครหรือไม่เลือกใครเข้ามาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ ที่ชัดเจนคือ ศาล รธน., กกต. และ ปปช. ที่ไม่ได้แทรกแซงคือ กสม. เพราะว่าไม่คอยมีทางเลือกเท่าไหร่เพราะกรรมการสรรหาเลือกมาค่อนข้างดี ไม่ค่อยมีตัวแปรที่รัฐบาลจะพึ่งพาได้ นั่นคือการแทรกแซงครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นลักษณะชั่วคราวคือชั่วอายุรัฐบาลไทยรักไทย

การแทรกแซงครั้งที่สองเป็นการแทรกแซงถาวรเกิดจากรัฐประหาร 2549 และเขียนรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แม้จะผ่านประชามติก็ตาม องค์กรอิสระที่ถูกแทรกแซงครั้งที่สองอาจจะเรียกว่าแทรกแซงโดยอำมาตย์ก็ได้

 จนกระทั่งปัจจุบัน องค์กรอิสระจำนวนมากกลายเป็นที่พักพิงของข้าราชการเกษียณที่ต้องการจะมีอะไรทีเป็นชื่อเสียง มีเงินเดือน มีตำแหน่ง และจบชีวิตลงด่วยตำแหน่งที่มีเกียรติ นี่ต่องพูดกันตามความเป็นจริง อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่โดยส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น

ปัญหาที่สอง คือการต้องเกี่ยวข้องกับระบบราชการ ทั้งกระบวนการสรรหา ก็ไม่ค่อยมีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมในการสรรหา และคนที่ได้รับเลือกก็แทบจะไม่มีภาคประชาสังคมเข้าไป อาจจะไม่ความรู้สึกว่าภาคประชาสังคมไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญที่จะไปปฏิบัติหน้าที่เช่น เป็นกกต. แต่ในประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่มองเช่นนั้น การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมแทบจะไม่มีทั้งในกระบวนการสรรหา และทั้งในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ ทำให้คนที่เข้าไปอยู่ในองค์กรอิวระไม่ได้เข้าใจลึกซึ้งถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ไร้อำนาจ

ปัญหาที่สามที่เจอในการทำงานของหลายองค์กรก็คือสำนักงาน สำนักเลขาขององค์กรเหล่านี้เป็นปัญหาขององค์กรเหล่านี้เกือบทั้งนั้น คือองค์กรอิสระจะทำงานได้ดี ต้องมีสำนักเลขาธิการที่รู้เรื่องงาน แต่สำนักเลขาฯ โดยทั่วไปออกแบบเป็นราชการ เป็นเรื่องของการมีขั้นและการเลื่อนขั้น และคนที่เข้าไปจำนวนมาก อย่าง กสม. ชุดแรก ข้าราชการที่เข้ามาไม่รู้เรื่องสิทธิจำนวนมาก หรือบางครั้งสำนักเลขาฯ ทำตัวเป็นใหญเป็นโตจะเข้ามาครอบงำคณะกรรมการก็มี ฉะนั้นองค์กรอิสระต้องมีสำนักเลขาฯ ที่สอดคล้องกับงานของตัวเอง

ปัญหาที่สี่ อำนาจหน้าที่ และงบประมาณ แม้จะเป็นองค์กรอิสระก็ต้องขึ้นกับงบประมาณแผ่นดิน

เขากล่าวว่า ปัญหาสำคัญประการหนึ่งขององค์กรอิสระคือการให้ 7 อรหันต์มาสรรหากรรมการองค์กรอิสระ ต้องสรุปบทเรียนการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระและ หาวิธีสรรหาที่เหมาะสมและที่สำคัญคือต้องมีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กรรมการสรรหาต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญและพิสูจน์ตัวเองในเรื่องนั้นๆ เช่น ปปช. ต้องมีคนที่เคยมีประสบการณ์การปราบปรามทุจริตได้จริง โดยย้ำว่าการสรรหาโดย 7 อรหันต์ คือตัวแทนศาลต่างๆ (ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร)มาสรรหากรรมการอิสระนั้น เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข

ในส่วนอำนาจหน้าที่ต่างๆ ขององค์กรอิสระอาจจะต้องเพิ่ม อย่างกรณีของ กสม. ที่ได้รับการเปิดโอกาสให้ฟ้องศาลแทนผู้ถูกละเมิดได้ แต่น่าเสียดายที่ กสม. ไม่ใช้อำนาจที่รธน. ให้ แต่ กสม. ปัจจุบันก็มีปัญหามากมายเนื่องจากระบบการสรรหา  ต้องได้ The right person for the right job.

สำหรับความเป็นกลาง เขาเห็นว่าการทำงานต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกันคือมาตรฐานเดียวในการพิจารณาทุกเรื่องโดยไม่คำนึงถึงกระแสการเมืองต่างๆ ยึดหลักการ

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ: องค์กรอิสระต้องกลับมายึดโยงกับหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน

น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เป้าหมายขององค์กรอิสระคือ การปิดทุจริต เปิดเสรีภาพ และสร้างความมั่นคง องค์กรอิสระทุกองค์กรจำเป็นต้องยึดโยงกับหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ซึ่งหลักการที่จะให้อำนาจประชาชนมากขึ้นคือลดอำนาจรัฐ โดยเขาวิพากษ์ว่า รธน. 2540 ทำให้ได้รัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ภาคประชาชนและสังคมอ่อนแอ องค์กรอิสระนั้นต้องทำงานกับหลักสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในหมวด 3 และ 5 ของรธน.

ถ้าใช้หลักนี้ไปพิจารณาการทำงาน จะเห็นปัญหาเช่น กกต. ที่เป็นระบบรราชการมากกว่าจะเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน

เขาย้ำว่า องค์กรอิสระจะเป็นอิสระและเป็นกลางเฉยๆ ไม่ได้ ต้องทำสิ่งที่เป็นสิทธิและเป็นประโยชน์ของประชาชนและจะทำได้ต้องเป็นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน

แต่หลังจากรัฐประหารกลุ่มอำนาจเก่าทำรัฐประหาร  แทนที่รธน. จะปกป้องสิทธิประโยชน์ของประชาชนกลายเป็นเครื่องมือต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่าและใหม่ รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นหลังการรัฐประหารมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระ

น.พ.นิรันดร์กล่าวต่อไปถึงปัญหาการสรรหากรรมการมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าจำกัดอยู่กับอำนาจตุลาการมากเกินไป "ผมไม่ได้ดูหมิ่นว่าตุลาการเป็นกรรมการสรรหาไม่ได้ แต่ตุลาการจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิปะชาชนได้อย่างไร" เขาเห็นว่าบทบัญญัติประเด็นกรรมการสรรหาคณะกรรมการองค์กรอิวสระ เช่น กสม. เป็นประเด็นที่จำเป็นต้องแก้

น.พ.นิรันดร์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนกสม. พบปัญหาว่าสำนักงานยังเป็นราชการ เขากล่าวว่า องค์กรอิสระจะไม่จำเป็นเลยหากข้าราชการทำดีอยู่แล้ว แต่เพราะข้าราชการยังมีข้อบกพร่องจึงต้องมีองค์กรอิสระ ปัญหาขณะนี้ หน่วยงานธุรการขององค์กรอิสระก็ยังเป็นราชการอยู่ แต่ราชการขณะนี้ทำงานโดยไม่ได้มีสำนึกของประชาชน ยังใช้สำนึกของผู้มีอำนาจเป็นผู้ปกครอง ยังไม่มีการทำปฏิรูประบบราชการ พอเป็นระบบราชการและมีอำนาจขององค์กรอิสระก็คิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์ราชการก็ไปกันใหญ่ ทำให้ระบบการทำงานไม่เห็นหัวประชาชน ห่างไกลจากประชาชน ทั้งกสม. หรือปปช. หรือองค์กรอื่นๆ

ประเด็นปัญหาต่อมาคือการแทรกแซง  โดยเขายกตัวอย่างองค์กรอิสระในอดีตที่ถูกแทรกแซงตั้งแต่ยังไม่คลอดออกมาคือ กสช. เพราะทุนจะเข้าไปแทรกแซงเนื่องจากองค์กรนี้จะส่งผลกระทบต่อทุน หลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา รัฐบาลที่ได้มา ก็ผนวกเข้ากับทุน และเป็นปัญหาต่อมาว่าองค์กรอิสระต้องเผชิญกับการแทรกแซงและกลายเป็นเครื่องมือของทั้งรัฐและทุน

สำหรับองค์กรอิสระทางการเมือง มีอำนาจมากในการตรวจสอบ บางคนหวังว่ากสม. แล้วทำไมไม่สั่งการ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด กสม. ทำหน้าที่เพียงแต่ตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นเพียงเสือกระดาษ เช่น ปัญหาการจับกุมผู้ที่ชุมนุมทางการเมือง กสม. บอกว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายผิด เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเขาไม่ผิดเพราะเขาใช้กฎหมายตามที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สนใจรัฐธรรมนูญ เป็นการละเมิดทางนโยบายและกฎหมาย เรื่องสิทธิชุมชน กรมป่าไม้ก็อ้างกฎหมายป่าไม้ กรมอุทยานก็อ้างกฎหมายอุทยาน ไม่อ้างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจกสม. ในการฟ้องคดี แต่ยอมรับว่าระบบภายในกสม. นั้นไม่พร้อม ก็ตองประสานกับสภาทนาย

โดยสรุปเรื่องความคาดหวังและอุปสรรคขององค์กรอิสระ ปัญหาขององค์กรอิสระคือการแก่งแย่งทางการเมือง , รธน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงาน ,ต้องดูเรื่องกฎหมายหน่วยงานว่าสอดคล้องกับการทำงานหรือไม่ , มีปัญหาการเมืองที่เข้ามาแทรกแซง และสุดท้ายองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจที่แบ่งแยกมากแล้ว ไม่ใช่อำนาจรวมศูนย์

สุดท้าย เขากล่าวว่าประชาชนจะใช้กสม. เป็นเครื่องมือ โดยต้องใช้สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง และเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงานของกสม. รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารนโยบายผ่านกครงการพัฒนาต่างๆ ของรัฐ และเป้าหมายในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่องค์กรอิสระต้องคำนึงถึง 

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง: ประเทศไทยโชคดีที่มีองค์กรอิสระ แต่...

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" เห็นว่าการมีองค์กรอิสระนั้นช่วยเปิดมิติในการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น สามารถตรวจสอบ-เอาผิดนักการเมืองได้ เข้าถึงข้อมูลได้ แต่ก็ควรจะมีองค์กรอิสระเท่าที่จำเป็นต้องมีเท่านั้น ไม่ใช่นึกอะไรขึ้นมาได้ก็เสนอตั้งขึ้นมา และภาคประชาชนต้องคิดเรื่องการตรวจสอบองค์กรอิสระด้วย

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ "ความหวังของภาคประชาสังคมในการถ่วงดุลกระบวนการทางการเมืองและนโยบายสาธารณะ" ระบุว่าโดยเปรียบเทียบนั้นไทยยังโชคดีกว่ามากที่มีองค์กรอืสระ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นพม่า หรือมาเลเซียที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการโครงการพัฒนา เช่น นิคมอุตสหากรรมทวาย และเขตอุตสาหกรรมในมาเลเซีย ซึ่งประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้เลย

โดยบรรยากาศทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพของไทยนั้นนับว่าดีมากแล้ว การมีองค์กรอิสระนั้นนอกจากต้องเป็นที่พึ่งพาได้ของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับองค์กรรัฐ และโครงการขนาดใหญ่

อีกประการที่เป็นประโยชน์มากคือ ข้อมูล เพราะแต่เดิมประชาชนจะเข้าไม่ถึงข้อมูลบเกี่ยวกับโครงการต่างๆ แต่ปัจจุบันสามารถร้องเรียนและขอข้อมูลได้ ซึ่งข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ด้านสิทธิเสรีภาพและตรวจสอบนโยบายของรัฐ และภาคประชาชนหรือใครก็ตามที่ต้องผันตัวเองไปสู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งล่าช้า และน้อยมากๆ ที่ภาคประชาชนจะได้ประโยชน์

ข้อมูลที่หลากหลายยังช่วยให้มีมุมมองที่กว้างและชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกันการลุกขึ้นมาต่อสู้ของชาวบ้านได้รับการขานรับ สอดส่องดูแลจากองค์กรอิสระที่รับเรื่องร้องเรียน สังคมวงกว้างก็จะได้รับข้อมูลมากขึ้น เช่นกรณี บ้านคลิตี้ ที่ จ.กาญจนบุรี ที่ได้รับผลกระทบตะกั่วปนเปื้อนจากเหมืองแร่ใกล้เคียง แม้จะอยู่ใกล้เพียง จ. กาญจนบุรี แต่กว่าประชาชนทั่วไปจะรู้จักกรณีนี้ก็ต้องใช้เวลายาวนานมาก และกว่าประชาชนที่คลิตี้จะรู้ถึงสาเหตุของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภูมิลำเนาของตัวเองก็ใช้เวลานานหลายปี โดยระยะแรกไม่ได้ข้อมูลจากหน่วยงานราชการเลย แม้วัวควายจะเริ่มล้มตายจากสารพิษปนเปื้อนแล้วก็ตาม

โดยสรุปเธอเห็นว่า การมีองค์กรอิสระนั้นช่วยเปิดมิติในการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น สามารถตรวจสอบ-เอาผิดนักการเมืองได้ เข้าถึงข้อมูลได้

สำหรับประเด็นความเป็นกลางนั้นเธอเห็นว่าไม่มีอยูจริงไม่ว่าจะเป็นองค์กรอะไรก็ตาม เพราะความเป็นกลางเป็นอัตตวิสัย เธอจึงไม่เรียกร้องความเป็นกลาง แต่ขอเพียงตรวจสอบข้อมูลหลักฐานตามข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ยึดหลักวิชาการที่มีอยู่ แล้ววิเคราะห์รวมทั้งตัดสินข้อมูลเรื่องราวต่างๆ บนหลักการเหล่านี้ ความเป็นกลางไม่มีความจำเปนความถูกต้องตามหลักการและข้อเท็จจริง และทำหน้าที่ตามที่มี เท่านี้ก็เพียงพอ

ส่วนความเป็นอิสระนั้น เธอก็ไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง หากแต่สัมพันธ์กับความเป็นมาหรือที่มาขององค์กรอิสระ ซึ่งกระบวนการสรรหามีอยู่จริง และหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถือว่าภาคประชาชนพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง

ประเด็นต่อมาคือ องค์กรอิสระบางองค์การมาจากการต่อสู้ของประชาชน เช่น คณะกรรมกรรกำกับกิจการพลังงาน กสทช. ซึ่งภาคประชาชนต้องคิดต่อว่าจะตรวจสอบอย่างไร

เธอกล่าวในที่สุดว่า องค์กรอิสระสังคมไทยควรจะมีเท่าที่จำเป็นต้องมีเท่านั้น ไม่ใช่นึกอะไรขึ้นมาได้ก็เสนอตั้งขึ้นมา ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงหน่วยงานที่ให้ข้าราชการมนั่ง องค์กรอิสระควรตรวจสอบได้ประเมินผลงานได้ และควรต้องออกแบบการตรวจสอบหน่วยงานที่มีอำนาจให้ใบอนุญาตอย่างกสทช. ด้วย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น