วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ "ณัฐพล ใจจริง" เบื้องหลังคณะราษฎรไม่ยกเลิก "กม.หมิ่นฯ"



 


 

สัมภาษณ์นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ "ณัฐพล ใจจริง" เบื้องหลังคณะราษฎรไม่ยกเลิก "กม.หมิ่นฯ"

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 20:30:00 น.

 






 

 

 

การแก้ไขหรือไม่แก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังคงเป็นประเด็นที่ค้างค้าใจใครหลายคน ไม่มีวันจบสิ้น เพราะฝ่ายหนุนให้แก้ไข กับฝ่ายต่อต้านการแก้ไข ตอบโต้กันด้วยความเชื่อคนละชุด วิธีคิดคนละแบบ จึงทำให้เกิดคำอธิบายคนละขั้ว 
 

ความเห็นขัดแย้งกันบนสมมุติฐานเคลือบแคลงในวาระซ่อนเร้นของฝ่ายตรงข้ามนี่เอง ทำให้การพูดคุยกันของต่างฟากฝ่าย พุ่งเป้าต่อกันออกไปนอกตัวบทกฎหมาย แทนที่จะได้ถกเถียงกันถึงความเหมาะสม อันมีตัวแปรคือความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย 
 

"มติชนทีวี" สัมภาษณ์ "ณัฐพล ใจจริง" อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก (คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เรื่อง "การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)" และเป็นผู้เขียนบทความวิชาการหลายชิ้นว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475- ก่อน พ.ศ.2500 โดยค้นคว้าเอกสารหลักฐานชั้นต้น จากหอจดหมายเหตุทั้งในและต่างประเทศ

 

การสนทนาพูดคุยถึงวิวัฒนาการและจุดเปลี่ยนเกี่ยวกับกฎมายหมิ่นเบื้องสูง อันมีมาตั้งแต่สมัยรัชการลที่ 5 ต่อมามีการแก้ไขหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยไม่ได้ถูกยกเลิก ต่อมาในปี 2500 สองปีภายหลังคดีประวัติศาสตร์การประหารชีวิต นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2498 ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ล่าสุดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกแก้ไขโดยคณะรัฐประหาร ในปี 2519 โดยไม่ผ่านรัฐสภา แต่กลายเป็น "มรดกเผด็จการ" ที่ยังดำรงอยู่ในสังคมที่ต้องการก้าวเข้าสู่แนวทางประชาธิปไตย แต่ยังไม่เคลียร์ใจกันถึงสารพัดประเด็นอัน "ลักลั่น"


@กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นเบื้องสูง มีมาตั้งแต่สมัยไหน เกิดจุดเปลี่ยนแปลงในช่วงไหนบ้าง
 

กฎหมายนี้ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และดำรงต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ทำให้คณะราษฎร หรือผู้นำใหม่ ต้องจัดสภาพแวดล้อมทางการเมืองให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยแบบเสรี ดังนั้น กฎหมายอันใดที่ขัดแย้งกับระบอบ ก็จะต้องถูกแก้ไข ซึ่งคณะราษฎร ก็เข้าไปทำการแก้ไขกฎหมายนี้ อันเป็นมรดกมาตั้งแต่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้าการวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นไปด้วยความสุจริตภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ


แต่ปัญหาสำคัญก็คือหลัง 2475 แล้ว เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ ก็คือ ทำให้กษัตริย์นั้นอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยหรือที่เรียกว่า "ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ" ดังนั้น โดยหลักการแล้วคือ พระมหากษัตริย์ จะไม่สามารถกระทำการทางการเมืองใดๆ ด้วยพระองค์เองได้ จำเป็นต้องมีผู้สนองพระบรมราชโองการเสมอ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงไม่ได้ทรงทำการใดๆ ซึ่งก็ไม่สมควรถูกวิจารณ์ นี่คือหลักการที่ดำรงต่อมาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ


แต่ต่อมากฎหมายนี้ก็ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ ในยุคคณะราษฎร ยังไม่พบว่าจะมีการใช้เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นทางการเมืองมากนัก จนกระทั่ง มีการแก้ไขอีกครั้งหนึ่งในปี 2500 โดยรัฐบาลจอมพล ป. อย่างที่เราทราบกันว่า ในช่วงที่คณะราษฎรมีอำนาจนั้น รัฐบาลเป็นผู้นำทางการเมืองตลอด ส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นประมุขของรัฐ หรือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ กิจกรรมต่างๆ จะดำเนินไปโดยอำนาจของรัฐบาล ถ้าใครจะวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล


สำหรับการแก้ไขในช่วงปี 2500 สมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นการแก้ไขที่เกิดขึ้นหลังจากจากได้มีการตัดสิน "คดีประวัติศาสตร์" ไปในปี 2498 โดยมีการแก้ไขไม่ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ และมีการเพิ่มโทษ และกฎหมายนี้ก็ดำรงต่อมา


จนกระทั่งรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ โค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งเป็นผู้นำคนสุดท้ายที่มาจากคณะราษฎร อย่างที่เราทราบ หากอ่านงานของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตรียรณ เรื่องระบอบพ่อขุนอุปถัมภ์เผด็จการ เราคงทราบดีว่า จอมพลสฤษด์นั้น ขึ้นมาพร้อมกับคติความเชื่อแบบเก่า แล้วเขาก็ไม่ได้มีความเชื่อมโยงอะไรกับการปฏิวัติ 2475


ดังนั้น จอมพลสฤษด์ ก็พยายามปรับปรุงแล้วก็ส่งเสริมสถาบันจารีตประเพณีให้มีบทบาทมากขึ้น


จนกระทั่งการรัฐประหารในปี 2519 คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีการแก้ไขเพิ่มโทษกฎหมายอันนี้ ซึ่งเราเรียกว่ามาตรา 112 เพิ่มโทษหนัก เพิ่มขึ้นอย่างมาก แล้วกฎหมายนี้ก็ยังดำรงต่อมาจนถึงปัจจุบัน


ประเด็นสำคัญที่น่าจะต้องคิด คือ การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ในยุคของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือคณะรัฐประหารในปี 2519 สังคมไทยมันแปลกตรงที่ปกติประเทศอื่นๆ เขาสร้างกรอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาก่อน เมื่อหลักการใหญ่มาแล้ว เขาก็จะไปแก้กฎหมายต่างๆ ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ต้องแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ


แต่สังคมไทยแปลกอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายพวกนี้เกิดขึ้นก่อนรัฐธรรมนูญ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา รศ.127 เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย ร.5 กฎหมายซึ่งมีลักษณะเหล่านี้ เกิดขึ้นก่อน แต่รัฐธรรมนูญมาทีหลัง ประกอบกับเกิดการรัฐประหารบ่อยครั้ง หลัง 2500 จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญเปลี่ยนบ่อย แต่กฎหมายลูกที่เป็นกฎหมายย่อยๆ เช่น กฎหมายอาญา ก็ยังดำรงอยู่ต่อมาเรื่อยๆ จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา หลายครั้ง มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายย่อยเสียมากกว่า ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจ เท่าที่ผมศึกษาก็คือ การแก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันนี้ มันแปลกตรงที่ว่า เมื่อเกิดการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม โดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือคณะรัฐประหารแล้ว ปรากฎว่าเขาแก้กฎหมายอันนี้ก่อน วันที่ 21 ตุลาคม 2519 เขาแก้ไขมาตรานี้ แล้วต่อมารัฐธรรมนูญ ก็ถูกบัญญัติขึ้น แล้วก็ประกาศใช้ในวันที่ 22 ตุลา พูดง่ายๆ คือ มีการแก้ไขกฎหมายเฉพาะก่อน ที่มีการเพิ่มโทษ แล้วค่อยมาพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันมีลักษณะลักลั่นกัน แล้วนำไปสู่ปัญหา ก็คือ อาจจะไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เราทราบกัน


@ นอกเหนือจากที่ชนชั้นนำใช้อำนาจแก้ไขกฎหมายแล้ว  มีปัจจัยทางสังคมอะไรที่ทำให้กฎหมายนี้ดำรงอยู่ โดยไม่ขัดต่อความรู้สึกของคนในสังคม


ความเคยชิน เพราะคนที่เกิดมาในยุคสมัยปัจจุบัน เขาไม่ได้อยู่ในยุคที่การพูดวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ แต่เขาเกิดขึ้นมา มีชีวิตอยู่ในช่วง 50-60 ปี เขาอยู่ภายใต้สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ แล้วก็ผลจาก ยุคของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อปี 2519 ดังนั้น พวกเขาคุ้นเคยว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มันเป็น ธรรมชาติมีมาอยู่ยาวนาน แต่ถ้าเราพิจารณา ด้วยหลักการ หรือ ความรู้ทางประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นใหม่ แต่คนที่อยู่ร่วมสมัยทุกวันนี้ คุ้นเคยกับสิ่งนี้ จนรู้สึกว่า สิ่งนี้ เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ หรือเป็นสิ่งที่เป็นปกติ ธรรมดา


@ อาจารย์มองว่า มีอะไรที่น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดของสังคมไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้จากความคุ้นเคย เพราะขณะนี้มีการปะทะทางความคิด ระหว่างคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับคนที่ไม่เห็นด้วย อาจารย์คิดว่าอะไรที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์


ผมคิดว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาตรานี้ก็ไม่ได้ถูกยกเลิกไป เพียงแต่ปรับให้อ่อนลง เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย หรือระบอบใหม่ แต่ว่าการเพิ่มโทษเกิดขึ้นหลังจากเกิดการรัฐประหาร โดยเฉพาะปี 2519 ปัญหาสำคัญก็คือ การเพิ่มโทษ ซึ่งก่อนหน้านั้น สาเหตุที่ คณะราษฎร ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายนี้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เพราะเขามองว่า เมื่อระบอบเปลี่ยนแล้ว การดำเนินกิจการใดๆ จะต้องเป็นอำนาจของรัฐบาล การจะวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ก็ให้วิจารณ์ที่รัฐบาลโดยตรง ไม่ให้วิจารณ์ที่ตัวสถาบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ สถานการณ์ทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไป ก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินจะทำการแก้ไขเพิ่มโทษ อย่างหนักจนถึงทุกวันนี้


แต่สิ่งที่ดำรงอยู่คู่กันขณะนี้  ก็คือกฎหมาย "ห้ามวิพากษ์วิจารณ์" กับ "การวิพากษ์วิจารณ์" เพราะหลัง 2500 เป็นต้นมา เกิดเหตุการณ์บางอย่าง ซึ่งทำให้บางคนมองสภาพแวดล้อมทางสังคมที่แตกต่างกัน คือบางคนก็เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย ซึ่งนำไปสู่ "การวิพากษ์วิจารณ์" ในที่สุด


@ สถานการณ์ทางการเมืองภายนอกและภายในประเทศเมื่อปี 2519 อาจเป็นปัจจัยให้ ประเทศไทยเพิ่มโทษมาตรา 112 แต่ในยุคนี้ ปัจจัยสถานการณ์ต่างๆ แตกต่างจากปี 2519 ไปแล้วหรือไม่ จึงควรแก้ไขมาตรานี้หรือเปล่า


ผมคิดว่าช่วงเวลานี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป คือในระดับโลก แนวโน้มหรือกระแสประชาธิปไตยมีเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้นการให้เสรีภาพในการให้เสรีภาพแสดงออกความคิดเห็นเป็นสิ่งที่เหมาะสม


@ สถานะของมาตรา 112


มาตรา 112 ที่เป็นผลมาจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อปี 2519  ผมคิดว่า การเพิ่มโทษมาตรานี้ เป็นมรดกของรัฐบาลเผด็จการ ก็คือ เผด็จการทหารที่สร้างขึ้นมา ซึ่งผมคิดว่าเป็นการสวนทางกับระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เนื่องจากทรงเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง ไม่ทรงกระทำการใดๆ ทางการเมืองด้วยพระองค์เอง เพราะหากทำก็จะนำไปสู่ความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมได้


ดังนั้น เราควรพิจารณาปัญหานี้ได้ 2 แง่มุม ประกอบด้วย ปัญหาการมีอยู่ของมาตรานี้ ว่าควรจะมีอยู่หรือไม่ และอันที่ 2 คือ อะไรเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดการวิพากษ์เรื่องดังกล่าวในสังคม ดังนั้น ควรต้องแก้อย่างใดอย่างหนึ่ง คือถ้าจะมองว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นปัญหา เราก็ต้องยุติสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหา แต่ถ้าเรามองว่า ไม่มีสาเหตุเรื่องนี้ในทางสังคม กฎหมายนี้ก็อาจจะไม่มีปัญหาก็ได้ แต่ปรากฎว่าขณะนี้มีความลักลั่นในสังคมไทย คือมีกฎหมายห้าม ในขณะเดียวกันก็มี เงื่อนไขที่ทำให้เกิดการพูดถึง หรือมีเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ขึ้นในทางสังคม ดังนั้น สังคมไทย ควรจะต้อง พิจารณาทั้ง 2 มิตินี้ว่าอะไรเป็นปัญหากันแน่ 

 

คลิกอ่านบทความล่าสุดในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมของ "ณัฐพล ใจจริง"หัวข้อ สยามบน "ทางสองแพร่ง" : ๑ ศตวรรษของความพยายามปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ที่นี่




 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น