8 จุดต่าง 3 พิมพ์เขียวแก้รธน. ฉบับพรรคร่วมฯ-ครม.-ประชาชน
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 10:30:42 น.
Share
| (ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 13 ก.พ.2555) หมายเหตุ - ภายหลังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ..... ต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 13 กุมภาพันธ์ เตรียมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกฉบับ ซึ่งเสนอโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ก่อนนำไปประกบกับ 2 ร่างคือ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล และฉบับประชาชน ที่ค้างอยู่ในรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา "มติชน" ได้นำสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับมาเปรียบเทียบกัน โดยพบว่าภาพใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นการแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 3 ขึ้นมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อาจมีความแตกต่างในทางเทคนิคปฏิบัติบางส่วน ที่มาส.ส.ร.
-ร่างพรรคร่วมรัฐบาล : ให้มี ส.ส.ร. จำนวน 99 คน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนใน 77 จังหวัด รวม 77 คน และ 2.มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา 22 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 7 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 7 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด 8 คน -ร่าง ครม. : ให้มี ส.ส.ร.จำนวน 99 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนใน 77 จังหวัด รวม 77 คน และ 2.มาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา 22 คน ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 6 คน ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 6 คน และผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหาราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด 10 คน -ร่างประชาชน : ให้มี ส.ส.ร.จำนวน 100 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
คุณสมบัติส.ส.ร.
- ร่างพรรคร่วมรัฐบาล : กำหนดคุณสมบัติไว้ 4 ข้อคือ 1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง 3.สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า และ 4.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือเคยรับราชการ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี - ร่าง ครม. : กำหนดคุณสมบัติไว้ 3 ข้อคือ 1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง และ 3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือเคยรับราชการ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี - ร่างประชาชน : กำหนดคุณสมบัติไว้ 3 ข้อคือ 1.มีสัญชาติไทยโดยการเกิด 2.มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง และ 3.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง การได้มาส.ส.ร.เลือกตั้ง
- ร่างพรรคร่วมรัฐบาล : ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้
การกำหนดวันเลือกตั้งให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ซึ่งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด โดยอาจนำหลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เสร็จแล้ว ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ร. ของจังหวัดนั้น - ร่าง ครม. : ให้ กกต.จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 75 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้
การกำหนดวันเลือกตั้งให้กระทำโดยตราเป็น พ.ร.ฎ. ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด อาจนำหลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อได้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เสร็จแล้ว ให้ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.ร.ของจังหวัดนั้น - ร่างประชาชน : การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้คำนวณจากราษฎรต่อสมาชิก 1 คน ที่คำนวณได้ แล้วนำมาเฉลี่ยจำนวนราษฎรในจังหวัดนั้น จังหวัดใดมีราษฎรไม่ถึงเกณฑ์การคำนวณ ให้มี ส.ส.ร. ได้ 1 คน จังหวัดใดมีจำนวนราษฎรเกินเกณฑ์ ให้มี ส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน เมื่อได้จำนวน ส.ส.ร. แต่ละจังหวัดแล้ว หากยังไม่ครบ 100 คน จังหวัดใดมีเศษเหลือมากที่สุดให้มี ส.ส.ร. เพิ่มได้อีก 1 คน และไล่ไปเรื่อยๆ จนครบจำนวน 100 คน การได้มาส.ส.ร.ผู้ทรงคุณวุฒิ
- ร่างพรรคร่วมรัฐบาล : ให้สภาของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง คัดเลือกบุคคล มีคุณสมบัติจะเป็น ส.ส.ร. ทั้ง 3 ประเภท ประเภทละไม่เกิน 3 คน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อของแต่ละประเภท พร้อมทั้งรายละเอียดตามที่ประธานรัฐสภากำหนด และส่งให้ประธานรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันพ้นกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร. เลือกตั้ง ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 15 คน ซึ่งมาจาก ส.ส. 9 คน และ ส.ว. 6 คน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ส.ร. ผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน แล้วส่งผลการตรวจสอบให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับผลการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้รัฐสภาลงมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ส.ร.ต่อไป ในการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ส.ร. ให้เลือกจากบัญชีรายชื่อที่ส่งต่อประธานรัฐสภา และได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติของ กมธ.รวม 22 คน ซึ่งในการลงคะแนนดังกล่าวให้กระทำเป็นการลับ
- ร่าง ครม. : ให้สภาของสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาคเศรษฐกิจสังคม และองค์กรภาคเอกชนแต่ละแห่ง คัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็น ส.ส.ร. ทั้ง 3 ประเภท ประเภทละไม่เกิน 3 คน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อของแต่ละประเภท พร้อมทั้งรายละเอียดตามที่ประธานรัฐสภากำหนด และส่งให้ประธานรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่วันพ้นกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ร. เลือกตั้ง ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการ 15 คน ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด โดยหลักเกณฑ์นี้ให้รวมถึงการประชุม การลงมติ และการดำเนินการของคณะกรรมการ เงิน และประโยชน์ตอบแทนของคณะกรรมการด้วย เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ส.ส.ร. ผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน และส่งผลการตรวจสอบให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการส่งมา แยกเป็นประเภทแต่ละบัญชี โดยให้เรียงตามลำดับตัวอักษรภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับผลการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้รัฐสภาลงมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ส.ร.ต่อไป ในการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ส.ร. ให้เลือกจากบัญชีรายชื่อที่ส่งต่อประธานรัฐสภา และได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติของ กมธ.รวม 22 คน ซึ่งในการลงคะแนนดังกล่าวให้กระทำเป็นการลับ
- ร่างประชาชน : (ไม่มี)
กรอบการทำหน้าที่ของ ส.ส.ร.
- ร่างพรรคร่วมรัฐบาล : ส.ส.ร. ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 180 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศรายชื่อ ส.ส.ร.ในราชกิจจานุเบกษา
- ร่าง ครม. : ส.ส.ร.จะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 180 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศรายชื่อ ส.ส.ร.ในราชกิจจานุเบกษา - ร่างประชาชน : ส.ส.ร.จะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศรายชื่อ ส.ส.ร. ครบจำนวน
กรอบการทำประชามติ - ร่างพรรคร่วมรัฐบาล : เมื่อ ส.ส.ร.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา เมื่อประธานรัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยัง กกต. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นจาก ส.ส.ร. เพื่อให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่ ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติภายใน 45-60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา วันออกเสียงประชามติให้กำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันออกเสียงประชามติ หากคะแนนการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
- ร่างครม. : เมื่อ ส.ส.ร.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา เมื่อประธานรัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยัง กกต. ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นจาก ส.ส.ร. เพื่อให้ กกต. ดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่ ให้ กกต.ประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติภายใน 45-60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา วันออกเสียงประชามติให้กำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันออกเสียงประชามติ หากคะแนนการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
- ร่างประชาชน : เมื่อ ส.ส.ร.ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำไปลงประชามติ โดย กกต.ต้องจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติภายใน 60 วัน นับแต่ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ การลงประชามติจะต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงมาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 จึงจะนับว่าเป็นการลงประชามติเป็นผลใช้ได้ และจะต้องได้รับคะแนนเสียงรับรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของผู้มาลงคะแนนเสียง จึงจะนับว่าได้รับการรับรอง ไม่เช่นนั้นให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป แผนสำรองกรณีถูกคว่ำร่าง
- ร่างพรรคร่วมรัฐบาล : ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไป ครม. หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ - ร่าง ครม. : ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไป ครม. หรือส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบต้องได้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ ทั้งนี้ห้ามบุคคลที่เคยเป็น ส.ส.ร. ชุดเดิมเป็น ส.ส.ร.ชุดใหม่อีก - ร่างประชาชน : ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไป ครม. หรือ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือ ส.ส. และ ส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของ ส.ส.ร.
- ร่างพรรคร่วมรัฐบาล : ในวาระเริ่มแรก ให้ตรา พ.ร.ฎ. กำหนดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้มี ส.ส.ร. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ - ร่าง ครม. : ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกา พ.ร.ฎ. กำหนดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้มี ส.ส.ร. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
- ร่างประชาชน : ในวาระเริ่มแรก ให้ตรา พ.ร.ฎ. กำหนดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้มี ส.ส.ร. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น