วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ไทยหล่นฮวบ! อันดับโลกด้านไอที เป็นรองอินโดฯ-เวียดนาม

 

ไทยหล่นฮวบ! อันดับโลกด้านไอที เป็นรองอินโดฯ-เวียดนาม

ตะลึง! ไทย ร่วงอันดับโลกด้านความพร้อมเทคโนโลยีและการใช้งาน รั้งอันดับ 57 จากเดิมอยู่ที่ 49  พบกว่า 15 ล้านครัวเรือนยังขาดแคลนอุปกรณ์ไอที ขณะที่ อนุฯคุ้มครองโทรคมนาคมระบุ USO ต้องเน้นการมีส่วนร่วม...

เมื่อเร็วๆ นี้ มีรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และกลุ่มภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. จัดการประชุม แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคมกับการมีส่วนร่วมของกลุ่ม/เครือข่ายชนเผ่า คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม 

นายศรีสะเกษ สมาน อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อระดมความคิดเห็นจากกลุ่มเครือข่าย เช่น กลุ่มชนเผ่า คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและเทคโนโลยี 

ทั้งนี้ ในร่างแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมฉบับนี้ ได้เสนอแนวทางในการปรับเปลี่ยนวิธีการในการระดมทุนจากผู้ให้บริการ จากเดิมที่ใช้วิธีให้ผู้ให้บริการเลือกได้ระหว่างการยื่นแผนการดำเนินงานต่อ กสทช. กับการให้ผู้ให้บริการต้องจัดสรรเงินร้อยละ 4 ของรายได้ ซึ่งตามแผนการจัดการฯ เดิมนั้นมีเงินกองทุนฯ ทั้งสิ้น 2,929 ล้านบาท แต่ร่างแผนการจัดการฯ ฉบับนี้เปลี่ยนจากวิธีการ ทำหรือจ่าย เป็นวิธีการประมูล 

อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวต่อว่า วิธีการนี้เป็นการระดมทุนมาไว้ที่กองกลางทั้งหมดก่อน คือ สำนักการบริการอย่างทั่วถึง (USO) สำนักงาน กสทช. จากนั้นจึงเปิดให้มีการประมูลในส่วนของการพัฒนาโครงข่าย โดยผู้ที่ประมูลราคาต่ำสุดจะเป็นผู้ได้ทำโครงการเพื่อขยายโครงข่ายการเข้าถึงบริการตามแผนงานของ USO อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้อาจดีในแง่ของการปรับปรุงพัฒนาโครงข่ายในด้านการเข้าถึง แต่งานของ USO ควรรวมถึงการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีและบริการ เพื่อตอบสนองกลุ่มคนด้อยโอกาส เช่น คนพิการทางสายตา และการเคลื่อนไหว หรือผู้สูงอายุก็ตาม 

นอกจากนี้ ยังควรรวมถึงการพัฒนาศักยภาพ ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มเครือข่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียมากขึ้น คือความร่วมมือทั้งส่วนผู้ให้บริการ USO และผู้ด้อยโอกาสในพื้นที่ เพื่ออุดช่องว่างและทำให้การทำงานเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ป้องกันปัญหาเช่นที่ผ่านมา การทำโครงการแจกบัตรโทรศัพท์ แต่ไม่มีเครื่องรองรับจึงไม่เกิดประโยชน์กับคนด้อยโอกาส ควรเปลี่ยนแนวคิดจากการให้อย่างเดียวเป็นการมีส่วนร่วมและพัฒนาศักยภาพ

นายจิรศิลป์ จรรยากุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ. กล่าวว่า การเน้นเรื่องการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ชนบทมากเกินไปเท่ากับประชาชนต้องรับภาระในการจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือ ขณะที่โทรศัพท์พื้นฐานมีราคาถูกกว่า ดังนั้นจึงควรใช้ระบบไวเลสมาช่วยแทนการลากสายเข้าบ้าน ก็จะทำให้สามารถใช้โทรศัพท์พื้นฐานได้มากขึ้น แทนที่จะต้องขยายโครงข่ายเพียงอย่างเดียว และหากเข้าสู่ระบบ 3G ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่าย 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ USO สำนักงาน กสทช. ระบุว่า สถานการณ์ในการเข้าถึงสารสนเทศของประชาชนว่า จากสถิติจำนวนครัวเรือนที่มีอุปกรณ์ไอซีทีทั่วราชอาณาจักร ปี 2553 พบว่า ยังมีครัวเรือนอีกร้อยละ 78  หรือจำนวน 15,158,000 ครัวเรือน จาก 19,644,00 ครัวเรือนที่ยังไม่มีอุปกรณ์ไอซีที และสถิติจำนวนครัวเรือนที่มีอุปกรณ์ไอซีที ในกรุงเทพฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2553 พบว่า ในกรุงเทพฯ จำนวนครัวเรือนที่ยังไม่มีอุปกรณ์ไอซีที อยู่ร้อยละ 55 หรือ 1,109,00 ครัวเรือนจาก 2,020,000 ครัวเรือน ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวนครัวเรือนที่ยังไม่มีอุปกรณ์ไอซีที อยู่ร้อยละ 87  

อีกทั้ง จากการเปรียบเทียบดัชนีความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปี 2009-2010 และปี 2010-2011 ของเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม (World Economic Forum) พบว่า ประเทศไทยตกอันดับจากอันดับที่ 47 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 59 เป็นรองประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม ส่วนดัชนีชี้วัดความพร้อมในการใช้งานไอซีที ประเทศไทยตกมาอยู่ที่อันดับที่ 75 ตามหลัง เวียดนาม อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย และเวียดนาม

มีรายงานเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 27 ม.ค.นี้ จะจัดประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการสังคม ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถ.วิภาวดีรังสิต ก่อนนำเสนอแผนให้ กสทช. พิจารณาต่อไป

โดย: ทีมข่าวไอทีออนไลน์

27 มกราคม 2555, 13:00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น