มาเก็บภาษีฉันเถอะ (2) : เสียงเชียร์กฎของบัฟเฟตต์
31 มกราคม 2012
ประเด็นเรื่องการปฏิรูประบบภาษีถูกหยิบยกขึ้นมาเรียกความสนใจของผู้คนอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงใกล้ฤดูเลือกตั้ง ซึ่งนักการเมืองแต่ละฝ่ายต้องการสร้างกระแสความนิยมให้ได้มากที่สุด
อย่างกรณีของสหรัฐฯ มหาเศรษฐี "วอร์เรน บัฟเฟตต์" จุดพลุไอเดียเรื่องเก็บภาษีคนรวย ก่อนที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา จะออกมารับลูก และยืนยันแม้ในคำแถลงนโยบายประจำปี (State of the Union) ครั้งสุดท้ายก่อนเริ่มแคมเปญหาเสียง โดยเรียกร้องให้เก็บภาษีคนรวย 30%
ถ้อยแถลงของโอบามาสะเทือนถึงการเฟ้นหาแคนดิเดตในฝั่งริพับลิกัน เรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนจน "มิตต์ รอมนีย์" หนึ่งในตัวเก็งชิงชัยประธานาธิบดีต้องนำหลักฐานการเสียภาษีมาโชว์ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ยับเยินว่าเสียภาษีแค่ 3 ล้านดอลลาร์ หรือ 15% จากรายได้ 21.7 ล้านดอลลาร์ในปี 2553
เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก ชาวอเมริกันจำนวนมากต่างมีความรู้สึกร่วมกันว่า ระบบภาษีของตนนั้นสลับซับซ้อน มีการลดหย่อนและข้อยกเว้นมากมาย อีกทั้งยังมีช่องโหว่หลายจุดที่ก่อให้เกิดปัญหาและไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ อัตราภาษีในส่วนของกำไรจากการลงทุนและเงินปันผลอยู่ที่ 15% ขณะที่ชนชั้นกลางเสียภาษีเงินได้ในอัตราก้าวหน้า 10-35%
นี่ไม่ได้หมายความว่าคนรวยเป็นพวกเลวร้าย หากแต่เป็นเพราะระบบที่ไม่ดี
ผลโพลล่าสุดของ "พิว รีเสิร์ช" ซึ่งสำรวจความเห็นของชาวอเมริกัน 1,500 คน ในช่วง 7-11 ธันวาคม 2554 พบว่า คนอเมริกันต้องการระบบภาษีแบบใหม่ เพราะไม่ปลื้มกับระบบเก่าที่ใช้มานานและมีช่องโหว่
แต่ที่น่าสนใจคือ เหตุผลที่คนอเมริกันไม่อยากทนใช้ระบบภาษีแบบเก่า ไม่ใช่เพราะเม็ดเงินที่พวกเขาต้องควักจ่าย แต่เพราะห่วงกังวลว่าบรรดาคนรวยอาจไม่ได้จ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น
โดยราว 38% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามรู้สึกว่าตัวเองจ่ายภาษีมากกว่าระดับที่เป็นธรรม ส่วน 52% เชื่อว่าพวกเขาจ่ายภาษีในอัตราที่เหมาะสมแล้ว ขณะที่ราว 6 ใน 10 หรือประมาณ 59% ต้องการให้มีระบบภาษีใหม่
เมื่อถามว่าอะไรเป็นประเด็นที่รบกวนจิตใจมากที่สุด มีเพียง 11% ที่พูดถึงเม็ดเงินที่ตัวเองจ่ายไป ทว่า 57% กังวลว่าบรรดาคนรวยไม่ได้จ่ายภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรม ส่วน 28% ห่วงเรื่องความซับซ้อนของระบบภาษีมากที่สุด
หากแยกย่อยประเภทของผู้ตอบแบบสอบถามออกมาเป็น 3 กลุ่ม ปรากฏว่า ประเด็นที่ชาวเดโมแครต 73% กังวลที่สุด คือ คนฐานะร่ำรวยกลับหลีกเลี่ยงไม่ต้องจ่ายภาษีในสัดส่วนที่สมเหตุสมผล ส่วนผู้ที่นิยามตัวเองว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 57% ก็ห่วงเรื่องนี้เช่นกัน ขณะที่ฟากริพับลิกัน แม้ส่วนใหญ่ 43% จะเป็นกังวลกับความซับซ้อนของระบบภาษีมากที่สุด แต่อีก 38% ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องการจ่ายภาษีของบรรดาคนรวยที่อาจไม่เป็นธรรม
น่าสังเกตว่า ปี 2555 เป็นปีที่ประเด็นเรื่องการสังคายนาระบบภาษีจะถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง เพราะเป็นปีแห่งการเลือกตั้งประธานาธิบดี พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโอบามา มีท่าทีขานรับแนวคิดเก็บภาษีคนรวยของบัฟเฟตต์อย่างชัดเจน เห็นได้จากการตั้งชื่อแผนยกเครื่องภาษีครั้งใหม่ว่า "กฎของบัฟเฟตต์" (Buffett Rule)
ตรงข้ามกับพรรคริพับลิกันที่ยืนยันว่าไม่ควรไปโยนบาปให้คนรวย ซึ่งอาจก่อให้เกิดสงครามชนชั้นขึ้น และนี่อาจบั่นทอนบรรยากาศด้านการลงทุนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังเปราะบาง
"รูเบน นาวาร์เรตต์ จูเนียร์" จากเดโมแครต ให้ความเห็นว่า ทุกคนควรเสียภาษีในสัดส่วนที่เป็นธรรม แต่นี่ยังไม่เกิดขึ้น แม้จะเป็นเรื่องจริงที่ในระดับมหภาค คนรวยที่สุดเป็นกลุ่มที่จ่ายภาษีมากที่สุดให้แก่ประเทศ แต่ก็เป็นเรื่องจริงในระดับบุคคลที่ผู้มีรายได้มากกลับได้รับสิทธิประโยชน์ที่ทำให้จ่ายภาษีในอัตราต่ำกว่าชาวอเมริกันคนอื่นๆ
นอกเหนือจากความรู้สึกคลางแคลงว่า บรรดาเศรษฐีอาจไม่ได้ควักกระเป๋าจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนที่คนชั้นกลางต้องแบกรับภาระ ยังมีข้อมูลที่สะท้อนว่าบรรดาซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่มะกันรับผลตอบแทนมากกว่าที่บริษัทเหล่านี้ควักจ่ายภาษีให้รัฐเสียอีก
รายงาน Executive Excess 2011 ที่จัดทำโดยสถาบันเพื่อการศึกษานโยบาย (Institute for Policy Studies) ระบุว่า ในบรรดาซีอีโอที่ได้รับผลตอบแทนมากที่สุด 100 อันดับในสหรัฐเมื่อปี 2553 มี 25 รายที่ได้ค่าตอบแทนมากกว่าที่บริษัทจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลกลาง อีกทั้งไม่มีหลักฐานที่สะท้อนว่าผู้บริหารเหล่านี้บริหารงานได้มีประสิทธิภาพ กระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือสร้างงานเพิ่ม
โดยซีอีโอทั้ง 25 รายได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 16.7 ล้านดอลลาร์ มากกว่าค่าตอบแทนเฉลี่ยของซีอีโอในทำเนียบเอสแอนด์พี 500 ในปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 10.8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ที่ซีอีโอเหล่านี้กุมบังเหียนยื่นขอคืนภาษีโดยเฉลี่ยราว 304 ล้านดอลลาร์
ซีอีโอ 22 รายจาก 25 บริษัทข้างต้นได้รับค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นในปี 2553 ส่วน 3 รายได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นทั้งที่ตัวเลขภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทลดลง หรือยอดการขอคืนภาษีกลับเพิ่มขึ้น
25 บริษัทที่จ่ายค่าตอบแทนซีอีโอมากกว่าจ่ายภาษีให้รัฐยังรายงานผลกำไรทั่วโลกเฉลี่ย 1.9 พันล้านดอลลาร์ มีเพียงแห่งเดียวที่รายงานรายได้ติดลบ ขณะที่ 18 แห่งมีการดำเนินการในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษี
น่าสังเกตว่า ในบรรดา 25 บริษัทที่จ่ายค่าแรงให้ซีอีโอมากกว่าภาษี มี 20 แห่งที่ยอมควักเงินจ่ายล็อบบี้เหล่าผู้กำหนดกฎหมายมากกว่าจ่ายภาษี อย่างกรณีของ "เจนเนอรัล อิเล็กทริก" (จีอี) ที่ทำรายได้ก่อนหักภาษี 5.1 พันล้านดอลลาร์ กลับยอมจ่ายเงินล็อบบี้มากถึง 41.8 ล้านดอลลาร์ ส่วน "โบอิ้ง" จ่ายเงินล็อบบี้และสนับสนุนแคมเปญทางการเมือง 20.8 ล้านดอลลาร์ มากกว่าที่จ่ายภาษีให้รัฐร่วม 60%
ขณะที่ช่องว่างระหว่างผลตอบแทนของซีอีโอกับพนักงานก็ห่างกันมากขึ้น โดยในปี 2553 ซีอีโอในทำเนียบเอสแอนด์พี 500 ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ย 10.8 ล้านดอลลาร์ รวมถึงมูลค่าหุ้นใหม่และออปชั่น (สิทธิอนุพันธ์) ที่ให้เป็นรางวัลในการทำงาน เพิ่มขึ้นราว 27.8% เมื่อเทียบกับปี 2552 ผิดกับพนักงานที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นแค่ 3.3% ทำให้ช่องว่างระหว่างเงินค่าเหนื่อยของซีอีโอและพนักงานมีสัดส่วนที่ 325 ต่อ 1 ห่างเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 263 ต่อ 1
รายงานฉบับนี้ตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่างซีอีโอและบริษัทที่ยอมจ่ายค่าตอบแทนแพงๆ เพราะยังมีช่องโหว่ในระบบที่เอื้อให้บริษัทสามารถลดหย่อนตัวเลขการจ่ายภาษีได้มากกว่าที่ควรจะเป็น
อย่างกรณีของการออกออปชั่นให้กับผู้บริหาร บริษัทจะรายงานค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ณ วันที่ออกออปชั่นตามสมมติฐานที่บริษัทประเมินราคาหุ้นในอนาคต และวันที่ผู้บริหารจะใช้สิทธิตามออปชั่นที่ได้รับ
ทว่าในความเป็นจริง ราคาหุ้นและวันที่ผู้บริหารใช้สิทธิออปชั่นอาจไม่ได้เป็นไปตามสมมติฐาน โดยอาจทำกำไรจากการใช้สิทธิได้มากกว่าที่บริษัทรายงานไว้ก่อนหน้านี้ บริษัทจะนำค่าใช้จ่ายล่าสุดที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นฐานในการขอหักลดหย่อนภาษี ไม่ได้ปรับจากตัวเลขที่รายงานไป ณ วันที่ออกออปชั่น เพื่อให้สะท้อนค่าใช้จ่ายจริง หมายความว่า บริษัทสามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น ขณะที่รัฐสามารถเก็บภาษีได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
หากสหรัฐออกกฎระเบียบกำหนดเพดานการขอลดหย่อนภาษีในส่วนนี้ ก็อาจลดการสูญเสียจากช่องว่างที่บริษัทขอหักลดหย่อนเกินจากที่รายงานไว้ ซึ่งอาจช่วยเติมเงินในกำปั่นของรัฐบาลมะกันได้ราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ ยังใช้วิธีดำเนินธุรกรรมในพื้นที่ที่เอื้อต่อการหลีกเลี่ยงภาษี ประเมินกันว่าต้นทุนที่สหรัฐต้องสูญเสียไปกับแหล่งหลบเลี่ยงภาษีนอกประเทศอาจสูงถึง 1 แสนล้านดอลลาร์
หนึ่งในเทคนิคสุดคลาสสิกคือ การกำหนดราคาโอน (transfer pricing) ซึ่งจะใช้วิธีเปิดบริษัทเอาไว้ในพื้นที่ที่เอื้อต่อการเลี่ยงภาษี เพื่อถือลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา จากนั้น บริษัทที่มีฐานในสหรัฐก็จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์เหล่านี้ ต้นทุนส่วนนี้จะนำไปขอลดหย่อนภาษีในสหรัฐได้ ส่วนกำไรในบริษัทที่อยู่ในประเทศแหล่งหลบเลี่ยงก็อาจจ่ายภาษีในจำนวนน้อยหรือไม่ต้องจ่ายเลย
เกมซ่อนหาภาษีเช่นนี้ ส่งผลให้รายได้ของรัฐที่มาจากบริษัทเอกชนลดลงอย่างมาก จากเดิมในปี 2488 ภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทอเมริกันมีสัดส่วนราว 35% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล ขณะที่ในปี 2554 สัดส่วนของภาษีเงินได้จากบริษัทที่จ่ายให้รัฐมีสัดส่วนเพียงประมาณ 9%
ขณะที่รัฐบาลสหรัฐมีหนี้สาธารณะก้อนโต และขาดดุลงบประมาณมหาศาลในแต่ละปี เม็ดเงินจากภาษีที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้รัฐมีเงินในกระเป๋าไว้ใช้จ่ายในส่วนต่างๆ มากขึ้น และสอดคล้องกับการที่คนรวยเหล่านี้ถือครองทรัพยากรของประเทศมากกว่าคนอื่น
แนวคิดการขึ้นภาษีคนรวยยังเป็นวิธีที่จะตอบสนองระบบเศรษฐกิจแบบผู้ชนะได้ทั้งหมด (winner-take-all economy) เพราะถึงแม้ 1% ของเศรษฐีอันดับท็อปจะจ่ายภาษีคิดเป็นสัดส่วน 28.3% ของภาษีทั้งหมดในปี 2549 เพิ่มจากสัดส่วน 15% ในปี 2522 แต่ข้อมูลจากสำนักงบประมาณสภาคองเกรสระบุว่า สัดส่วนความมั่งคั่งของคนรวยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 9% เป็น 19% ในช่วงเดียวกัน
ที่สำคัญ ปัญหานี้มีแนวโน้มหนักหนาสาหัสขึ้น เพราะในระหว่างปี 2536-2551 บรรดาเศรษฐีระดับท็อป 1% เหล่านี้ถือสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด
ขณะที่ข้อมูลของสถาบันบรูกกิงส์และพิว แชริเทเบิล ทรัสต์ พบว่า รายได้หลังเสียภาษีของคนอเมริกันฐานะยากจนที่สุด 1 ใน 5 เพิ่มขึ้นเพียง 9% เมื่อเทียบกับรายได้ของคนรวยสุด 1 ใน 5 ที่เพิ่มขึ้น 69% และมหาเศรษฐีระดับท็อป 1% เพิ่มมากถึง 176%
ระบบเศรษฐกิจแบบผู้ชนะกินรวบที่หนักหนาขึ้นนี้ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขในระยะยาว และหนึ่งในนั้นคือการปรับระบบภาษี เพื่อให้ซูเปอร์ริชจ่ายในสัดส่วนที่สอดคล้องกับความรวยที่ได้มา
แม้ว่าแนวทางนี้อาจไม่ใช่ยาสารพัดนึกที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐที่หยั่งรากลึก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่มีเหตุมีผลเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยต้องมองไกลไปถึงเรื่องทรัพย์สมบัติด้วย ในปี 2549-2550 ซูเปอร์ริชอเมริกัน 1% มีทรัพย์สมบัติคิดเป็นสัดส่วน 35% ของทั้งหมด เทียบกับสัดส่วนรายได้ที่อยู่ที่ 21% ดังนั้น การเก็บภาษีทรัพย์สินเฉพาะจากคนรวยเหล่านี้จะช่วยเพิ่มเงินในคลังได้ไม่น้อย
ยกตัวอย่างที่มีผู้เสนอให้จัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอัตรา 2% จากครัวเรือนที่มีทรัพย์สินสุทธิ 7.2 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป วิธีนี้จะช่วยให้รัฐมีรายได้อย่างน้อย 7 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี และในระยะ 10 ปีข้างหน้า จะจัดเก็บภาษีทรัพย์สินได้ราวครึ่งหนึ่งของเป้าหมายการเก็บภาษีคนรวยที่ตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ตามแผนลดการขาดดุลงบประมาณระยะ 10 ปี
หมายเหตุ : รวบรวมข้อมูลจากเอ็มเอสเอ็น มันนี่, ซีเอ็นเอ็น, ฮัฟฟิงตัน โพสต์, เอพี, เอ็มเอสเอ็นบีซี, รายงาน Executive Excess 2011 โดย ซาราห์ แอนเดอร์สัน, ชัค คอลลินส์, สก็อตต์ คลิงเกอร์ และแซม พิซซิกาติ
http://thaipublica.org/2012/01/please-tax-me-2/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น