กสทช.พลิกวงการโทรทัศน์นำประเทศก้าวสู่ทีวีดิจิตอลควบคู่ความมั่นคงของชาติ
นับเป็นเวลาร่วม 10 ปี ที่ผู้ประกอบการวิทยุ โทรทัศน์ โทรคมนาคม รวมทั้งประชาชนคนไทยทั่วไป เฝ้ารอคอยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามาจัดระเบียบคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม เพื่อนำไปสู่การใช้งานคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
จนเมื่อ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หรือ พ.ร.บ.กสทช. มีผลบังคับใช้นำไปสู่กระบวนการสรรหากรรม การจนเสร็จสิ้น หลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจำนวน 11 คน ไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
ความหวังของประเทศที่จะมีองค์กรอิสระอำนาจเต็ม ในการกำกับ ดูแล จัดระเบียบคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคม ให้เกิดประโยชน์โพดผลสูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ จึงเรืองรองส่องสว่างขึ้นอีกครั้ง
และเนื่องในโอกาสที่การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเปรียบเสมือนการเริ่มต้นขับเคลื่อนภารกิจของ กสทช. เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา
"ทีมเศรษฐกิจ" ขอถือโอกาสนี้ตามติดการเดินหน้านโยบายบริหารจัดการคลื่นความถี่ของชาติทั้งระบบจาก พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
เพื่อจับยามสามตาดูว่า ภายหลังเข้ารับตำแหน่งเป็นเวลากว่า 5 เดือนเต็มแล้ว ทิศทางการบริหารจัดการคลื่นความถี่ทั้งหมดของ กสทช.ชุดใหม่เอี่ยมถอดด้ามชุดนี้ จะเป็นเช่นไร
เริ่มต้นจาก พ.อ.นที ศุกลรัตน์ อดีตคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ชุดเก่า ซึ่งถือเป็นกรรมการเพียงคนเดียวของ กสทช.ชุดใหม่ ที่เคยผ่านการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมมาก่อน และถือเป็นคีย์แมนสำคัญในการเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3 จี ย่านคลื่นความถี่ 2.1 กิกกะเฮิตรซ์ (GHz) ซึ่งถูกศาลสั่งระงับการเปิดประมูลไปในที่สุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
"ตอนนั้นศาลสั่งยุติการเปิดประมูล 3 จี ตามคำฟ้องของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.กสทช.กำลังจะมีผลบังคับใช้ ประกอบกับไม่มีแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ทำให้ กทช.ไม่มีอำนาจที่จะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปประมูลได้"
แต่การกลับมาครั้งนี้ พ.อ.นที เลือกขอทำหน้าที่ในส่วนของการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นหลักแทน
"ผมมองว่างานสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เป็นงานที่ท้าทาย เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงมาก การเปลี่ยนวิธีคิดของคนในประเทศสามารถทำได้ 2 ทาง ทางแรกคือผ่านการศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลายาวนาน ปูพื้นฐานกันใหม่ ส่วนทางที่สองคือผ่านทางสื่อโทรทัศน์ เพราะโทรทัศน์เข้าถึงคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ เชื่อว่าถ้าเรามีสื่อโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาสาระที่ดี มีทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ประชาชน จะนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทย ได้ภายใน 3-5 ปี เพราะโทรทัศน์มีอิทธิพลครอบงำความคิดของประชาชนไทยในยุคปัจจุบันมาก"
ผลการสำรวจของเอซีเนลสันล่าสุด ยังบ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภครับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านโทรทัศน์ถึง 95% ของประชากรทั้งหมด ผ่านรายการวิทยุ 60% และอ่านหนังสือพิมพ์จำนวน 50% โดยการรับข้อมูลข่าวสารผ่านหนังสือพิมพ์มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ สื่อโทรทัศน์เป็นสื่อที่มีอิทธิพลและมีบทบาทมาก หากในอนาคตสามารถดูโทรทัศน์ผ่านโทรศัพท์มือถือได้สะดวก คล่องตัวมากขึ้น ก็จะเพิ่มโอกาสในการรับชมมากขึ้นด้วย
ขณะที่ในอดีต การลงทุนในธุรกิจโทรทัศน์เป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูง
เปลี่ยนระบบทีวีสู่ยุคดิจิตอล
พ.อ.นที บอกว่า ยุทธศาสตร์การกำกับกิจการกระจายเสียงโทรทัศน์และวิทยุใหม่ ซึ่งผ่านการอนุมัติจากบอร์ด กสท แล้วนั้น คือการเดินหน้าสู่ระบบทีวีดิจิตอล เพื่อให้ใช้คลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในเบื้องต้นจะนำคลื่นความถี่ที่มีอยู่และไม่ได้ใช้งาน เช่น ช่อง 2, 4, 6, 8 มาจัดสรร เพื่อทดลองออกอากาศ ซึ่งจะสามารถแบ่งซอยช่องแพร่ภาพได้มากกว่า 50 ช่อง
"กสทช.ได้กำหนดการเปลี่ยนผ่านการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล โดยได้ร่างกฎเกณฑ์เงื่อนไขการทดลองการออกอากาศทีวีดิจิตอลลงในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แล้ว มีเป้าหมายเริ่มทดลองการแพร่ภาพในอีก 6 เดือนข้างหน้าหรือภายในปีนี้ และน่าจะเริ่มเปิดประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลได้ภายในต้นปี 2556"
ในช่วงการทดลองออกอากาศนั้น จะดำเนินการร่วมกับผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ 3, 5, 7, 9, 11, ไทยพีบีเอส ปัจจุบัน รวมถึงผู้ที่สนใจจะทดลอง ด้วยการนำเนื้อหา (คอนเทนต์) ที่มีอยู่ อาทิเช่น รายการข่าว รายการบันเทิง ละคร สารคดี นำมาแพร่ภาพในระบบดิจิตอล
"และเนื่องจากระบบดิจิตอล รองรับการแบ่งซอยสถานีได้มากขึ้น ทุกคนจึงมีโอกาสเป็นเจ้าของรายการ ผลิตเนื้อหาดีๆ ได้ง่ายขึ้น มีช่องสถานีให้ผู้ชมเลือกตามความพึงพอใจ การแข่งขันจะอยู่ที่เนื้อหาของการนำเสนอมากกว่าปัจจุบัน และเมื่อเนื้อหาคุณภาพดี ประชาชนก็ย่อมได้รับแต่สิ่งที่ดีๆตามไปด้วย"
เขาอธิบายต่อว่า ทีวีดิจิตอลระบบใหม่ของ กสทช. จะทำงานผ่านอุปกรณ์ Set Top Box หรือกล่องรับสัญญาณ ซึ่งมีราคาประมาณ 2,000-2,500 บาท ติดตั้งเข้ากับทีวีระบบอนาล็อก เพื่อแปลงสัญญาณเป็นดิจิตอล และในอนาคตหากทิศทางเริ่มชัดเจน ผู้ผลิตโทรทัศน์ก็พร้อมที่จะติดตั้งอุปกรณ์รองรับเข้ากับตัวเครื่องทีวีจากโรงงานทันที โดยล่าสุดก็มีผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่เข้ามาหารือกับ กสทช.แล้ว
พ.อ.นที กล่าวว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของวงการโทรทัศน์อย่างมาก เพราะประชาชนสามารถรับชมทีวีได้กว่า 50 ช่อง และในอนาคตจะเพิ่มเป็น 100 ช่อง
"เมื่อถึงเวลา สถานีโทรทัศน์ในปัจจุบันก็จะค่อยๆปรับ ผันตัวเองสู่ระบบทีวีดิจิตอลด้วย ระบบนี้ยังรองรับการรับชมผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มยอดการเข้าถึงสื่อ กระตุ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ยอดการรับชมจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน และ 100 ล้านคนต่อไปได้"
"การเปลี่ยนผ่านธุรกิจโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบทีวีดิจิตอลจะคล้ายๆ การเปลี่ยนจากโทรทัศน์จอภาพขาวดำ เป็นโทรทัศน์จอภาพสี เพราะเป็นลักษณะค่อยๆ ปรับเปลี่ยน ผมมั่นใจว่าทีวีดิจิตอลจะทำให้ทุกคนมีโอกาสมากขึ้น ผู้ผลิตที่ไม่มีทุนสูงนัก ก็จะสามารถเข้าถึงธุรกิจได้มากขึ้น เพราะจัดสรรช่องได้เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคจะมีทางเลือกในการรับชมที่หลากหลายและชื่นชอบ"
ชี้ชะตาอนาคตทีวี ดาวเทียม
เขายังกล่าวถึงการจัดระเบียบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างสูง รวมทั้งโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิ้ลหรือเคเบิ้ลทีวีว่า กสทช.กำลังร่างกฎเกณฑ์การออกใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการโทรทัศน์ทั้ง 2 ประเภทเช่นกัน
โดยเฉพาะทีวีดาวเทียม ณ ปัจจุบันเปิดบริการแล้วกว่า 100 ช่อง มีครัวเรือนมีการติดตั้งจานดาวเทียม 11 ล้านครัวเรือน หรือ 50% ของจำนวนประชากร ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มเป็น 70% และปีหน้าเพิ่มเป็น 90% ที่รับชมโทรทัศน์ผ่านจานดาวเทียม แทนเสาก้างปลาเช่นในอดีต
แต่ดาวเทียมก็มีข้อจำกัดเรื่องคุณภาพของสัญญาณที่มักติดๆ ดับๆ หากอากาศไม่ดี มีพายุหรือฝนตกฟ้าคะนอง และยังไม่รองรับการรับชมผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งถือเป็นเทรนด์ในอนาคต
ที่สำคัญต้องยอมรับว่าทีวีดาวเทียม ควบคุมค่อนข้างยาก โดยเฉพาะด้านเนื้อหาสาระ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงในประเทศได้ง่าย เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถเช่าดาวเทียมในต่างประเทศและแพร่ภาพสู่ผู้ชมในไทยได้ และยังมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์รายการ ที่ควบคุมลำบาก
อย่างไรก็ตาม กสทช.ไม่ได้มีนโยบายที่จะปิดกั้นผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม เพราะที่สุดก็เป็นธุรกิจที่อาจสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ชมเฉพาะกลุ่มได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับทีวีดิจิตอล
แล้ว ก็เป็นเหมือนกับมือถือสมาร์ทโฟนกับพีซีที เพราะคุณภาพแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คุณภาพการรับชมของทีวีดิจิตอลจะมีความคมชัดสูง
"ที่สุดแล้ว ระบบการแพร่ภาพโทรทัศน์จากภาคพื้นดินจะถือเป็นระบบหลักของธุรกิจ สถานีทั่วโลกก็ใช้ระบบนี้เพราะคุณภาพเสียงและภาพที่ดีกว่า ส่งสัญญาณได้เสถียรกว่า"
ที่สำคัญระบบบนทีวีดิจิตอล เอื้อต่อการเผยแพร่ระบบเตือนภัยพิบัติ เพื่อประกาศให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูล โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ซึ่งจะเผยแพร่ได้แม่นยำ เที่ยงตรง เข้าถึงทุกครัวเรือน โดยเรื่องของการเตือนภัยนั้น จะกำหนดไว้ในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ใบอนุญาตที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ทุกรายจะต้องปฏิบัติ
สำหรับในส่วนของผู้บริโภคนั้น หากต้องการรับชมทีวีดิจิตอล ก็สามารถทำได้เพียงติดตั้ง set top box เพื่อปรับสัญญาณภาพจากอนาล็อกเป็นดิจิตอล โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่องรับ
ซึ่งในเบื้องต้น กสทช.กำลังศึกษาอยู่ว่าจะสามารถอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งได้อย่างไร ในเบื้องต้น เพราะในอนาคต หากเทคโนโลยีมีความชัดเจน ผู้ผลิตก็พร้อมผลิตโทรทัศน์ดิจิตอลรองรับได้ทันที
กำหนดเกณฑ์จัดระเบียบทีวี–วิทยุ
พ.อ.นที อธิบายด้วยว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอล อยู่ภายใต้หลักการแบ่งประเภทสถานีใน 3 รูปแบบ คือ ทีวีชุมชน ทีวีสาธารณะ และทีวีเชิงธุรกิจ
ในส่วนของทีวีเพื่อชุมชนและสาธารณะนั้น จะเป็นการจัดสรรให้โดยไม่ต้องประมูล เพราะไม่อนุญาตให้โฆษณา ประชาสัมพันธ์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้น กำลังให้ตอบสนองต่อชุมชนและสาธารณะเท่านั้น
ส่วนทีวีเชิงธุรกิจ จะจัดสรรผ่านวิธีการประมูลใบอนุญาต ผู้ประกอบการสามารถหารายได้จากค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์
สำหรับในส่วนของการลงทุนนั้น กสทช.ได้วางแผนการลงทุนแบ่งเป็น 3 รูปแบบ เน้นไม่ให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน คือ 1.การลงทุนสร้างโครงข่ายโทรทัศน์หรือการลงทุนสร้างเสาส่งสัญญาณ ซึ่งจะมีผู้ลงทุนเพียง 1-2 รายเท่านั้น 2.ลงทุนสถานีรับส่งสัญญาณ ซึ่งจะมีผู้ลงทุนไม่เกิน 10 ราย และ 3. ลงทุนคลื่นและช่องสัญญาณ ที่จะเปิดโอกาสผู้ผลิตรายการทุกคน ได้นำเสนอผลงานและรายการของตัวเอง
"หากจะอธิบายให้เห็นภาพ ก็คือ ผู้ลงทุนรายที่ 3 ใช้อุปกรณ์ของรายที่ 2 ซึ่งใช้อุปกรณ์ของรายที่ 1 วิธีนี้จะช่วยประหยัดการลงทุนไปได้มาก
หากคุณมีเนื้อหาดีๆ หรือเรื่องที่ต้องการนำเสนอ เพียงแค่ซื้อหรือเช่าช่องสัญญาณ ก็สามารถเปิดสถานีออกอากาศได้ เพราะผู้ประกอบการที่สร้างเสาส่งสัญญาณและรับส่งสัญญาณ จะไม่สามารถปิดกั้นผู้ที่จะมาเช่าใช้ โดย กสทช.จะออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลให้รัดกุม ไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบกัน"
ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรทัศน์ร่วมกัน และส่งเสริมให้ประชาชนได้รับชมทีวีดิจิตอลได้อย่างทั่วถึง การลงทุนสร้างโครงข่ายอาจเป็นการร่วมลงทุนกัน แล้วนำบริษัทไปกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์ดังกล่าวจะกำหนดเฉพาะการให้บริการทีวีระบบดิจิตอลเท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการเดิมที่มีอยู่ ทั้งฟรีทีวี ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ต่างมีฐานคนดูและให้บริการอยู่แล้ว การเข้าไปจัดการใดๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย
"ทีวีในปัจจุบันไม่ว่าเป็นระบบใด ก็ยังสามารถให้บริการกันได้ต่อไป ยังอยากเป็นอนาล็อกก็เป็นต่อไปได้ แต่ที่สุด เชื่อว่าทุกรายต้องการเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอล เพียงแต่รอระยะเวลาที่เหมาะสม และต้องรอผลทดลองการออกอากาศทีวีดิจิตอลในปลายปีนี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเราได้เตรียมดึงฟรีทีวีเข้ามามีส่วนร่วมในการทดลองด้วย และเชื่อว่าไม่เกิน 4 ปี
ข้างหน้าระบบทีวีของประเทศ จะเปลี่ยนเป็นดิจิตอลเกือบทั้งหมด"
เพราะจุดเด่นของทีวีดิจิตอล คือ ดูฟรี ถ้ารับสัญญาณได้ ภาพจะคมชัด แต่ถ้าไม่มีสัญญาณก็จะไม่เห็นภาพใดๆ ในช่วงแรกจะต้องหาซื้อ Set top box เพื่อมาแปรสัญญาณ แต่เชื่อว่าเมื่อมีการเปิดส่งสัญญาณทีวีดิจิตอลภายในปีนี้ ทิศทางต่างๆชัดเจนขึ้น ราคาอุปกรณ์ก็จะปรับลดลงทันที
นับจากนี้ ตลาดทีวีก็จะแบ่งกลุ่มผู้ชมอย่างชัดเจน ผู้บริโภคจะเลือกรับชมสิ่งที่ชื่นชอบบนทางเลือกที่หลากหลาย ส่วนคลื่นวิทยุนั้น มีนโยบายที่ชัดเจนแล้วว่า จะผลักดันสู่ระบบดิจิตอลเช่นกัน โดยจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับสถานีที่มีอยู่เดิม นอกจากการออกใบอนุญาตให้ เพราะการจัดระเบียบสถานีที่มีอยู่เป็นจำนวนมากขัดแย้งกลุ่มผลประโยชน์ จะทำให้ที่สุดงานไม่สำเร็จ
แก้ปัญหาสัญญาณขัดข้อง
เปิดประมูลคลื่นฮัลโหล 3 จีไตรมาส 3
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าระบบโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยนั้นประสบปัญหาสัญญาณโทรศัพท์ขัดข้องมาระยะหนึ่งแล้ว
นั่นเป็นเพราะความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้งานอินเตอร์เน็ตบนมือถือ (ดาต้า) ทำให้ช่องสัญญาณที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการ
เปรียบเทียบได้กับถนน เดิมมีอยู่ 2 เลน ทุกคนวิ่งรถได้คล่องไม่ติดขัด เพราะมีผู้ใช้น้อยราย ใช้รถประเภทเดียวกัน แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้มากขึ้น และยังมีรถพ่วงมาร่วมใช้ด้วย ทำให้การจราจรการสื่อสารติดขัด ขณะที่ถนนที่มีอยู่ก็ไม่ได้ขยาย ยังคงเท่าเดิม
เช่นเดียวกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ มีคลื่นความถี่อยู่อย่างจำกัด แต่จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้น และยังขยายการให้บริการอินเตอร์เน็ตบนมือถือเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้สัญญาณขัดข้อง บางครั้งต้องต่อสายโทรศัพท์ถึง 5 ครั้ง จึงจะสามารถติดต่อสื่อสารได้
ฉะนั้น สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาสัญญาณโทรศัพท์มือถือขัดข้องได้ คือ การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 จี บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) เพราะเป็นคลื่นที่รองรับการให้บริการอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้อย่างมีประสิทธิภาพ คลื่นความถี่ดังกล่าวมีจำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เป็นคลื่นรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 หรือ IMT-Advanced อันสามารถพัฒนาความเร็วในการให้บริการไปถึงยุค 3.9 จี หรือที่ความเร็วสูงสุด 100 Mbps
เดินหน้าสู่การประมูล 3 จี
พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวว่า หลังรับตำแหน่งมาได้ 5 เดือนเศษ กสทช.กำลังเร่งกระบวนการต่างๆตามที่ พ.ร.บ.กสทช.กำหนด เพื่อนำไปสู่การเปิดประมูลใบอนุญาต 3 จี โดยเร็วที่สุด โดยตามเป้าหมายจะต้องเปิดประมูลให้ได้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2555 นี้
โดยแม้จะทำงานอย่างเร่งด่วน แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด จึงต้องรับฟังความเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม การปรับปรุงและทบทวนประกาศต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการประมูล 3 จี ซึ่งเป็นการนำสิ่งที่กรรมการ กทช.ชุดเดิมได้ดำเนินการไว้แล้วมาทบทวนปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวต่อด้วยว่า สิ่งที่เป็นข้อกังวลของทุกฝ่าย โดยเฉพาะนักลงทุน คือ ประกาศ กสทช.ว่าด้วยเรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2554 ซึ่ง กสทช.กำลังเร่งทบทวนประกาศดังกล่าว เพื่อให้มีความชัดเจนมากที่สุด
"เราต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยยังไม่เข้มแข็ง และบุคลากรก็ยังไม่เข้มแข็งพอ ทำให้ต้องอาศัยพึ่งพาทั้งเม็ดเงินจากต่างประเทศ เทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะ ฉะนั้น การปรับกฎเกณฑ์ต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน เป็นสิ่งที่ต้องพึงกระทำ"
แต่โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงสุดนั้น ควรจะเป็นคนไทย เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้ ได้เติบโตมีความก้าวหน้า แต่ผู้บริหารระดับรองๆก็ควรเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพราะส่วนใหญ่ทำงานกันเป็นทีม
ส่วนเรื่องสิทธิ์การถือหุ้นนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ส่วนการจะแต่งตั้งตัวแทนหรือนอมินี ก็ต้องพิสูจน์ทราบ รวมถึงการโหวตสิทธิ์ของผู้ถือหุ้น ก็ต้องมาพิจารณาในรายละเอียดว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไรให้เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
"เราต้องเข้าใจ เหมือนเอาใจเขามาใส่ใจเรา เมื่อนำเงินกว่า 10,000 ล้านบาท มาลงทุนแล้ว ก็ต้องการกำกับดูแลและสร้างรายได้ กำไรจากการลงทุน ต้องการคุมการลงทุนด้วยตัวเอง ซึ่ง กสทช.ก็เข้าใจ แต่จะต้องกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งเชื่อว่าทำได้"
เอกชนมีเฮลั่นดาล N-1
พ.อ.เศรษฐพงค์กล่าวต่อว่า สำหรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล 3 จี นั้น กำลังอยู่ระหว่างการทบทวนรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการประมูลว่าควรเป็นรูปแบบใด จากเดิมมีการกำหนดเงื่อนไข N-1 นั่นคือ หากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย จะให้ใบอนุญาต 2 ราย หากมีผู้เข้าประมูล 4 ราย จะให้ใบอนุญาต 3 ราย เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเต็มที่
"ส่วนตัวผมคิดว่า N-1 ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาฮั้วประมูล เมื่อไม่แก้แล้วจะมีทำไม แต่เนื่องจากมีข้อท้วงติง ก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะการตัดสินใจเป็นของคณะกรรมการทั้งชุด ไม่ใช่ผมคนเดียว"
ส่วนราคาเริ่มต้นประมูลนั้น จากเดิมกำหนดไว้ที่ 12,800 ล้านบาท บางรายบอกเป็นราคาที่สูงเกินจริง บางรายบอกเป็นราคาที่ต่ำเกินไป ซึ่งคณะทำงานด้านเศรษฐศาสตร์จะเป็นผู้วิเคราะห์ว่าราคาเริ่มต้นประมูล ณ ปัจจุบันควรเป็นเท่าไร โดยจะนำตัวอย่างการเปิดประมูลคลื่นความถี่ในหลายๆประเทศ มาศึกษาเปรียบเทียบด้วย เพราะหลายประเทศประมูลคลื่นความถี่ในราคาที่สูงมาก จนที่สุดทำให้ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และต้องล้มละลาย ทำให้ประเทศเสียหาย ประชาชนเสียโอกาสในการใช้ 3 จี
"ไม่มีใครรู้ว่าราคาที่แท้จริงเป็นเท่าใด ทั้งราคาคลื่น ราคาเทคโนโลยี ต้องรอให้คณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ศึกษาก่อน จึงจะนำเสนอบอร์ด กสทช.ขอเป็นมติ โดยก่อนที่จะประกาศ
กฎเกณฑ์เงื่อนไขการประมูลนั้น ต้องรับฟังความเห็นสาธารณะอีกครั้งก่อนประกาศบังคับใช้ ซึ่งคาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอย่างแน่นอน"
ส่วนการใช้โครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายร่วมกันนั้น ต้องกำหนดให้ชัดเจนไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตและการประมูลว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องให้ผู้ประกอบรายอื่นๆ เช่าใช้เสาโทรคมนาคมร่วมกันได้ (Tower Co) โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่สามารถใช้เสาร่วมกันได้ ทำให้มีเสาโทรคมนาคมเกิดขึ้นอย่างมากมาย และส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้น กสทช.จะต้องกำหนดเกณฑ์การห้ามปฏิเสธการใช้เสาร่วม และจะกำหนดค่าธรรมเนียมการเช่าเสา เพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
"เราก็ได้แต่หวังว่าการเปิดประมูลใบอนุญาต จะทำได้ตามกำหนดและปลอดโปร่งไร้อุปสรรค ส่วนการฟ้องร้องนั้นคาดว่าจะต้องมีอยู่แล้ว แต่น่าจะไม่เป็นอุปสรรคเหมือนครั้งก่อน เนื่องจาก กสทช.ชุดนี้มีอำนาจเต็มตามกฎหมายในการเดินหน้าเปิดประมูล ส่วนคดีฟ้องร้องเก่าถือว่าจบไปแล้ว เพราะเป็นการฟ้องคณะกรรมการชุดเดิม จึงไม่คิดว่าจะมีอะไรฉุดรั้งเราได้อีก".
ทีมเศรษฐกิจ
โดย: ทีมเศรษฐกิจ
13 กุมภาพันธ์ 2555, 05:01 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น