วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิจัยธาตุสำคัญในเส้นผม ค้นแนวทางรักษา “โรคสมองเสื่อม”

วิจัยธาตุสำคัญในเส้นผม ค้นแนวทางรักษา "โรคสมองเสื่อม"

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2555 เวลา 00:00 น.

หากวันหนึ่งเมื่อตื่นขึ้นมาแล้วจำอะไรไม่ได้ ลืมว่าเราเป็นใคร อยู่ที่ไหน  เกิดการสูญเสียความจำบางส่วนไป อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า "โรคสมองเสื่อม" กำลังมาเยือน !!

ผศ.ดร.จารุวรรณ ศิริเทพทวี อาจารย์ประจำสาขาวิชาชีวเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมว่า ภาวะสมองเสื่อม เป็นคำที่เรียกกลุ่มคนที่มีอาการหรือมีปัญหาเกิดขึ้นกับสมอง เป็นเหตุให้ความสามารถด้านปัญญาและความสามารถด้านสังคมเสียไป รวมทั้งอาการที่รุนแรงมากขึ้นสามารถกระทบต่อการทำงานและชีวิตประจำวันได้ โดยทั่วไปสามารถพบการสูญเสียความจำในผู้ป่วยสมองเสื่อมได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการสูญเสียความจำเพียงอย่างเดียวจะบ่งชี้ว่าบุคคลผู้นั้นมีอาการสมองเสื่อม การที่บุคคลใดจะมีภาวะสมองเสื่อมได้นั้น จะต้องมีความผิดปกติในการทำงานของสมองอย่างน้อยสองอย่าง เช่น การสูญเสียความทรงจำ การสูญเสียความสามารถในการตัดสินปัญหา สูญเสียความสามารถทางด้านภาษา บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไป หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายและรวดเร็ว
 
ภาวะสมองเสื่อมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งมีทั้งที่รักษาได้และรักษาไม่ได้ โดยสมองเสื่อมที่สามารถรักษาให้หายได้ เช่น สมองเสื่อมที่เกิดจากเนื้องอกในสมอง โรคของต่อมไทรอยด์ โรคติดเชื้อในสมองบางชนิด การขาดสารอาหารจำพวกวิตามินบี การได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ หรือการได้รับยาบางชนิด เช่น ยากล่อมประสาท

ส่วนสมองเสื่อมที่รักษาไม่ได้ แต่สามารถชะลอการเสื่อมของสมองได้ หากตรวจพบได้เร็ว เช่น โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุด รองลงมา คือ สมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ ยังมีสมองเสื่อมที่มีอาการร่วมกันหลาย ๆ แบบ เช่น โรคที่มีอาการร่วมกันระหว่างอัลไซเมอร์กับพาร์กินสันหรือโรคลิววี่บอร์ดี้
ในปีพ.ศ.2553 องค์การโรคอัลไซเมอร์นานาชาติ (Alzheimer's Disease International) ได้ประเมินว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมทั่วโลกมากกว่า 35 ล้านคน สำหรับประเทศไทยจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข คาดว่ามีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอยู่ 800,000 คน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

ผศ.ดร.จารุวรรณ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้จึงได้ทำการวิจัยร่วมกับ ดร.วันวิสา พัฒนศิริวิศว นักวิจัยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ พญ.อัญชลี ศิริเทพทวี แพทย์ประจำโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ในการศึกษาธาตุสำคัญในเส้นผมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมด้วยแสงซินโครตรอนโดยใช้ เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy: XANES ) เพื่อศึกษาโครงสร้างระดับอะตอมในการวัดหาธาตุและองค์ประกอบต่างๆ ที่อยู่ในเส้นผม

"ที่เลือกเส้นผมในการศึกษา เพราะสามารถเก็บได้ง่ายมีความคงทนและมีการสะสมของธาตุอยู่มาก ไม่เลือกศึกษาจากเลือดหรือสารคัดหลั่งจากร่างกายอื่น ๆ เพราะระดับหรือองค์ประกอบของธาตุที่อยู่ในเลือดหรือสารคัดหลั่งสามารถมีระดับขึ้นลงในแต่ละช่วงเวลาและแต่ละวันไม่แน่นอน แต่สำหรับตัวอย่างผมนั้นเป็นตัวอย่างที่ได้จากการสะสมของธาตุที่ผู้ป่วยได้รับทั้งจากอาหารหรือจากกระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายเอง ซึ่งทำให้สามารถได้ข้อมูลของธาตุที่เป็นองค์ประกอบที่สามารถพบได้ในร่างกายของแต่ละบุคคล"
 
การวิจัยดังกล่าวทำโดยเลือกตัวอย่างเส้นผมของคนที่ปราศจากการย้อมหรือทำสีผม ขนาดความยาว 10 ซม. กว้าง 2 มม.จากอาสาสมัครจำนวน 30 คน อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการวินิจฉัยจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ว่าเป็นคนปกติ จำนวน 15 ราย และผู้ป่วยที่เป็นโรคสมองเสื่อมชนิดต่าง ๆ จำนวน 15 ราย มาวิเคราะห์ 
 
ผลการทดลอง เมื่อวัดปริมาณธาตุที่เป็นองค์ประกอบในเส้นผมด้วยเทคนิค wavelength dispersive X-ray fluorescence spectrometry (WDXRFS) พบว่า เส้นผมจากคนทั้งสองกลุ่มมีธาตุสำคัญ คือ ออกซิเจน ซัลเฟอร์ คลอรีน ซิลิกอน แมกเนเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส แต่เส้นผมของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้นจะมีสัดส่วนของธาตุ แคลเซียม คลอรีน และฟอสฟอรัส สูงกว่าคนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
  
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์ด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ ณ สถานีทดลอง Beamline 8 (BL8) ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ยังพบว่า ภาวะสมองเสื่อมที่สัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน จะมีองค์ประกอบของซัลเฟตอยู่ในระดับที่สูงกว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง โดยการทดลองครั้งนี้เป็นการทดลองเบื้องต้น ที่ใช้องค์ประกอบของธาตุในเส้นผมเป็นตัวบ่งชี้หรือวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมได้ ซึ่งแนวทางต่อไป ทีมวิจัยกำลังศึกษาข้อมูล เพื่อที่จะเลือกแนวทางการวิจัยว่าจะเป็นการรักษา หรือแนวทางการป้องกันเนื่องจากโรคสมองเสื่อมเกิดได้หลายสาเหตุดังกล่าวข้างต้น และสมุนไพรที่เลือกใช้น่าจะเป็นสมุนไพรที่หาได้ในแถบเอเชีย โดยเน้นที่ประเทศไทย

ผศ. ดร.จารุวรรณ  แนะนำว่า สมองเสื่อมอาจเป็นแล้วไม่หายแต่สามารถป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของสมองได้ โดยการฝึกฝนสมอง เช่น การอ่านหนังสือ คิดเลข หลีกเลี่ยงสารเคมีหรือยาที่ทำอันตรายต่อสมอง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ และตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อลดอัตราเสี่ยงและป้องกันสมองเสื่อม รวมทั้ง หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุหรือการกระทบกระเทือนต่อสมอง การทำสมาธิทำจิตใจให้สงบและมีสติในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันก็อาจเป็นแนวทางหนึ่งในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้

เล่นกับลูกถูกวิธี ช่วยกระตุ้นพัฒนาการที่ดีในทุกด้าน - เคล็ดลับสุขภาพดี

การเล่นของเด็กๆ เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติและมีคุณค่าสำหรับเด็ก เพราะการเล่นถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในวัยเด็กเลยก็ว่าได้ ซึ่งเด็กจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการเล่นอย่างสนุกสนาน และขณะเล่นเด็กก็จะเกิดความรู้สึกมีความสุข เนื่องจากได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว รู้จักตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาการในด้านต่างๆ ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกๆ มีทักษะที่ดีควรส่งเสริมให้ลูกเล่นอย่างถูกต้องเหมาะสมกับวัย

ชามาภัทร สิทธิอำนวย กรรมการผู้จัดการบริษัทเพลย์ แอนด์ มิวสิค จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์จิมโบรี (Gymboree) แนะนำว่า มีผลวิจัยมากมายที่ระบุว่าการเล่นของเด็กนั้นช่วยให้เด็กได้รับพัฒนาการที่ดีทั้งร่างกาย อารมณ์ การสื่อสาร สังคม รวมถึงสติปัญญา ทำให้พ่อแม่ทั่วโลกต่างก็สนับสนุนการ "เล่นกับลูก" โดยเฉพาะที่อเมริกายังออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิเด็กในปี 1959 เด็กต้องได้รับการเล่นอย่างเหมาะสมเช่นเดียวกับการได้รับอาหารที่ถูกสุขลักษณะ มียารักษาโรค เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย

การเล่นที่ถูกต้องจะกระตุ้นพัฒนาการรอบด้านของเด็กแต่ละช่วงวัย ทั้งในเรื่องทักษะทางร่างกาย อารมณ์ ปลูกฝังพัฒนาการที่ดีด้านสังคม สติปัญญา คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น ทำให้มีระเบียบขึ้น และการเล่นยังเป็นต้นทางจินตนาการไม่รู้จบ ซึ่งพ่อแม่ควรเสริมตั้งแต่เด็ก และพ่อแม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นของลูกด้วย เพื่อช่วยกระตุ้นให้ทุกกระบวนการเรียนรู้ของเด็กมีความหมายยิ่งขึ้น เพราะถึงอย่างไรพ่อแม่ก็คือคนสำคัญที่สุดในสายตาลูกและรู้จักลูกดีที่สุด และช่วยดึงความสามารถของเขาออกมาได้ง่าย

เด็กแต่ละคนมีสิทธิที่จะเลือกเล่นในสิ่งที่เขาอยากรู้และมีความสุขกับมันโดยไม่ต้องซ้ำกับเพื่อนร่วมห้องก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เขาคิดอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่จิมโบรี มีห้องเล่นสีสันสดใสเต็มไปด้วยของเล่นและอุปกรณ์สร้างสรรค์มากมาย เด็กจะได้เรียนรู้ในแต่ละวัยตามช่วงวัย เริ่มจากหนูน้อยนักสังเกต นักปฏิบัติ นักสื่อสาร นักแก้ปัญหา นักคิดสร้างสรรค์ จนเข้าใจความเป็นไปต่างๆ ของสังคมรอบตัว ประกอบกับนำเทคนิคดนตรีและศิลปะเข้ามาเสริม ซึ่งใช้เวลาเพียง 45 นาที ผลลัพธ์ที่ได้คือ เด็กๆ จะได้ทักษะการควบคุมอารมณ์ มีความสัมพันธ์เชิงบวกขึ้นมา รวมทั้งร่างกายทำให้ข้อต่อและโครงสร้างต่างๆ ในร่างกายทำงานอย่างคล่องแคล่ว เซลล์สมองแข็งแรง

เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้แบบนี้แล้ว อย่าลืมปรับเปลี่ยนทัศนคติการเล่นของลูกเสียใหม่และพยายามจัดสรรเวลาให้ได้เล่นกับลูก ซึ่งการเล่นอย่างสร้างสรรค์นั้นไม่ยากเพียงแค่เอาใจใส่และให้เวลากับลูกน้อยมากขึ้น แค่นี้เขาก็มีความสุขแล้ว และตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็จะสุขยิ่งกว่าหลายเท่าถ้าลูกเติบโตขึ้นเป็นเด็กดีและฉลาด

http://www.dailynews.co.th/article/224/164516

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น