5 ทางลัด เข้าถึงแก่นแท้ชีวิต
ในการประชุมสรุปและวางแผนการดำเนินการก้าวต่อไปของ DHSA (District Health System Appreciation) รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ เสนอให้ใช้ชื่อขบวนการนี้ว่า "ทศวรรษแห่งการพัฒนาเครือข่ายสุขภาพอำเภอ เพื่อระบบสุขภาพชุมชนที่ยั่งยืน" เป็นการผสมผสานทั้ง DHS ซึ่งท่านปลัดสนับสนุน กับ community health เข้าด้วยกัน และได้มอบหนังสือให้ผมเล่มหนึ่งซึ่งท่านแปลและเรียบเรียง คือ "5 ทางลัดเข้าถึงแก่นแท้ชีวิต" หรือ "How to get the Buddhahood" โดย Giulio Cesare Giacobbe ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาและนักจิตบำบัดชาวอิตาลี จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน (ผมอ่านไปสรุปไป แล้วก็เอามาโฆษณาให้ไปหาซื้อมาอ่านกันครับ)
บทนำของหนังสือเล่มนี้กล่าวว่าคำสอนของพระพุทธองค์ที่แท้นั้นไม่ใช่ทั้งหลักปรัชญาและหลักศาสนา แต่เป็นการปฏิบัติ (ฝึกฝน) ทางจิตแบบหนึ่ง ซึ่งอยู่ในวิสัยที่มนุษย์ทุกคนสามารถทำได้ การบรรลุความเป็นพุทธะ หมายถึงการมีความสงบเย็นในทุกๆ สภาพแวดล้อม มีความเบิกบานและมีความรักให้ผู้อื่น คำสอนดั้งเดิมที่ปรากฏตรงกันในพระไตรปิฎกภาษาต่างๆ
ที่มีวัฒนธรรมต่างกัน มีประเด็นหลักสองประเด็นคือ ความจริงอันประเสริฐสี่ประการ และหนทางอันประเสริฐแปดประการ
ความจริงอันประเสริฐนั้นได้แก่ ทุกข์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ต้นเหตุแห่งทุกข์มาจากความไม่รู้ในความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง
เราสามารถขจัดความทุกข์ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงได้ โดยการปฏิบัติตามหนทางอันประเสริฐแปดประการ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบหรือความรู้ชอบ คือความรู้ที่ทำให้เราเข้าใจในความเป็นจริงได้อย่างถูกต้อง นั่นก็คือกฎแห่งความจริงสองประการ คือความไม่เที่ยง (อนิจจัง) และการอิงอาศัยซึ่งกันและกัน (อิทัปปัจจยตา) ความไม่เที่ยงคือความไม่มีอยู่ของตัวตน หรือความที่สรรพสิ่งไม่มีรูปแบบที่ตายตัว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา กล่าวอีกนัยหนึ่ง ความเห็นชอบเกิดจากการมีสติระลึกรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และการอิงอาศัยซึ่งกันและกันของสรรพสิ่ง การขาดซึ่งความเห็นชอบหรือความไม่รู้ในความเป็นจริงของธรรมชาติที่แท้จริงดังกล่าวคือต้นเหตุของความทุกข์
สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ประกอบด้วยการขจัดความคิดทางลบ (ความคิดที่นำไปสู่การแยกออก) ออกไปอย่างเป็นระบบด้วยการฝึกเจริญสติเพื่อเอาชนะความสับสนและสิ่งล่อใจ และการสร้างเสริมความคิดทางบวก (ความคิดที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกัน) เข้ามาอย่างเป็นระบบด้วยการเจริญพรหมวิหารสี่
วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ คือการไม่กระทบความรุนแรงหรือเบียดเบียนต่อสิ่งมีชีวิตใดๆ
(ไม่ว่าจะเป็นคนอื่นหรือตัวเราเองก็ตาม) ทั้งทางความคิด คำพูด และการกระทำ
สัมมาวายามะ เราต้องใช้ความพยายามในการสังเกตความคิดของเรา ออกมาอยู่นอกจิตใจของเรา กลายเป็นผู้สังเกตการณ์ความคิดของเรา มิฉะนั้นเราจะถูกความคิดครอบงำสติ
สัมมาสติ การระลึกรู้ชอบ คือการมีชีวิตอยู่ในโลกของความเป็นจริง อยู่กับความเป็นจริง ไม่ใช่จดจ่อกับความคิด (โลกภายใน) ของตนเองอย่างซ้ำซาก แต่เป็นการจดจ่ออยู่กับความเป็นจริง (โลกภายนอก) การออกจากความคิดมาอยู่กับความเป็นจริงช่วยให้เราหลีกเลี่ยงความทุกข์ได้ การอยู่กับความเป็นจริงต้องไม่ทำให้จิตใจเกิดความเครียดโดยบังคับสติให้จดจ่ออยู่กับมัน
สัมมาสมาธิ ความตั้งจิตมั่นชอบ เกิดขึ้นรเมื่อเราสังเกตตัวเราและกิจกรรมที่เราทำ เป็นผู้สังเกตการณ์ด้วยใจที่เป็นกลาง
เพ่งสติไปที่ร่ายกาย ความรู้สึก ความคิดหรือจิตใจ และหลักธรรม
สรุปว่าพลัง 5 ประการที่ช่วยให้เราบรรลุความเป็นพุทธะ คือ
(1) การควบคุมจิตใจ
(2) การอยู่กับความเป็นจริง
(3) การตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงและการอิงอาศัยกันของสรรพสิ่ง
(4) การไม่เข้าครอบครอง
(5) ความรักสากล
1. การควบคุมจิตใจ ประกอบด้วย 3 ระดับ
(1) การเฝ้าดูจิตใจและจิตสำนึกที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
(2) การขจัดความคิดด้านลบและการสร้างความคิดด้านบวก
(3) การตระหนักถึงความว่างของจิตใจ
เนื้อหาของจิตใจมี 5 รูปแบบ คือ ความรู้สึก อารมณ์ ความคิด เจตจำนง และการรู้สติหรือจิตสำนึก
ความคิดที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดนั้นเป็นผลผลิตของแรงกดดันที่ถูกบันทึกอยู่ในความจำของเราโดยอัตโนมัติ
ความคิดสามารถเกิดซ้ำตัวมันเองได้
ความคิดและอารมณ์ถูกบันทึกอยู่ในความจำพร้อมกันไปด้วย และอารมณ์นั้นๆ ก็จะเรียกปลุกความคิดนั้นๆ ให้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในการควบคุมความคิดด้านลบ จะต้องกระตุ้นจิตสำนึกที่รับรู้ความคิดและอารมณ์
ความคิดด้านลบมักจะเกิดขึ้นเองโดยความไม่ตั้งใจ ส่วนความคิดด้านบวกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยความตั้งใจ ต้องการเจตจำนงที่ แน่วแน่ ต้องการความพยายาม เมื่อความคิดที่เจ็บปวดเกิดขึ้นในจิตใจของคุณ จงคิดถึงสิ่งที่งดงาม ทำอย่างนี้ให้เป็นระบบ ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น
เคล็ดลับในการฝึกเพื่อควบคุมจิตใจ คือ
(1) ต้องพยายามหยุดความคิด
(2) สังเกตความคิดโดยการใช้ประสาทรับรู้ มองเข้าไปในจิตใจ ฟังว่ามีเสียงอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ นั่นคือความคิดที่ถูกแสดงออกในรูปของภาษา การสังเกตความคิดอย่างต่อเนื่องนำไปสู่ความว่างของจิตใจ
จงสังเกตลมหายใจเพื่อบรรลุจิตว่าง หายใจลึกๆ 8 ครั้งก็เพียงพอที่จะทำให้จิตว่างได้ และอาจคงการสงบลมหายใจไว้เป็นเวลานานตามที่ต้องการ แต่ไม่สำคัญที่จะต้องคงการสงบลมหายใจไว้เป็นเวลานาน สิ่งสำคัญคือต้องหมั่นทำมันบ่อยๆ การสงบลมหายใจทำให้จิตใจสงบ จึงฝึกปฏิบัติเป็นช่วงสั้นๆ แต่บ่อยๆ แทนการสงบลมหายใจเป็นระยะเวลายาวนาน
2. การอยู่กับความเป็นจริง ความเป็นจริงของเราก็คือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานั่นเอง สิ่งใดๆ ที่ไม่ได้อยู่รอบตัวคุณจริงๆ ก็เป็นเพียงแค่ความคิด หาใช่ความจริงของคุณไม่ การถือเอาสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเราว่าเป็นสิ่งที่เป็นจริง เป็นสาเหตุของความทุกข์ใจ เราทุกข์เพราะมายาหรือภาพลวงที่อยู่ในใจเรา ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับอดีตหรืออนาคต
3. การตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง (การรู้แจ้ง) การอยู่กับความเป็นจริงเอื้อให้เรามองเห็นว่าในจักรวาลไม่มีผู้คน สิ่งของ หรือเหตุการณ์ใดๆ เลยที่จะยังคงเหมือนเดิมอยู่ตลอดไป สรรพสิ่งในจักรวาลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นผู้รู้แจ้ง ผู้รู้แจ้งไม่ใช่แค่เพียงผู้ที่ค้นพบว่าในความเป็นจริงสรรพสิ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นผู้ที่มีสติตระหนักรู้ถึงความจริงนี้อยู่เสมอ การบรรลุถึงการรู้แจ้ง เราต้องทำการค้นพบการเปลี่ยนแปลงในจิตไร้สำนึก โดยกระบวนการทางอารมณ์ ข้อมูลที่เก็บไว้ในความจำ (จิตไร้สำนึก) จะโผล่ขึ้นมาในจิตสำนึกอย่างเป็นระบบ พร้อมกับอารมณ์ที่รุนแรง เป็นสิ่งที่เรารับรู้ได้จากประสบการณ์ตรง จะต้องมองดูความเป็นจริงและค้นพบด้วยประสบการณ์ของตัวเองว่ามันไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร การสูญเสียอาจกลายเป็นโอกาสที่ดีของประสบการณ์นี้
เมื่อปลอดจากความหลงผิดว่าสรรพสิ่งยังคงอยู่เหมือนเดิมเสมอตามที่ต้องการ ก็จะค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ ว่าการยอมรับชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ทำให้คุณชื่นชมสิ่งของ ผู้คน และสถานการณ์ในความเป็นเอกลักษณ์ของมัน เหตุการณ์ทุกเหตุการณ์จะกลายเป็นความจริงที่เป็นเอกลักษณ์และไม่ซ้ำเดิมสำหรับคุณ และคุณก็จะมีสติระลึกรู้ถึงพลวัตแห่งชีวิตอันน่าอัศจรรย์
คุณจะเรียนรู้ที่จะเลิกครอบครองสิ่งของ ผู้คน และสถานการณ์ในรูปแบบที่แน่นอนและไม่เปลี่ยนแปลง
4. การไม่ครอบครอง การครอบครองเกิดจากความไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลง การไม่ครอบครองหรือการไม่ยึดมั่นถือมั่น ปรากฏอยู่ใน "พรหมวิหาร 4" คืออุเบกขา ซึ่งหมายถึงจิตใจที่เป็นกลาง ไม่ยึกมั่นถือมั่น การสละความคิดเข้าครอบครองอย่างแน่ชัดและสิ้นเชิง การที่จะเป็นอิสระจากความต้องการที่จะครอบครอง สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการมีสติรู้เท่าทันความต้องการ ฝึกพิจารณาเพื่อตระหนักรู้ในความไม่แน่นอนของทุกๆ สิ่ง เมื่อจะเอาชนะความต้องการที่จะครอบครองด้วยความเห็นแก่ตัว ก็ต้องเรียนรู้ที่จะรัก
5. ความรักสากล การเข้าถึงความสงบและเบิกบานจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความรักสากลเท่านั้น ความรักเป็นความสำราญใจที่เราจะสละให้ผู้อื่น ผู้อื่นจะเป็นศูนย์กลางแห่งความสนใจ (ในจิตใจของเรา) ความรักเป็นการยอมรับสิ่งต่างๆ และผู้คนต่างๆ ตามที่สิ่งนั้นๆ หรือผู้คนนั้นๆ เป็น เป็นการชื่นชมบุคคลหรือสิ่งของตามที่เป็นอยู่และตามทุกลักษณะที่พวกเขาหรือพวกมันเปลี่ยนแปลงไป
ความรักมาจากความเมตตา ความเมตตามาจากความเข้าใจ ความเข้าใจแปลว่าความรู้ คุณจะต้องรู้จักประวัติของผู้อื่น
การมีเมตตาต่อเขา ก็เหมือนกับการกลายเป็นตัวเขา
การรักตัวเองเป็นก้าวแรกสุดในการรักผู้อื่น เมื่อคุณได้เรียนรู้ที่จะยอมรับ ให้อภัย และมีความเมตตาต่อความทุกข์ มายา กิเลสตัณหา ความฝัน ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ และบาดแผลทางใจของคุณ คุณก็จะได้เรียนรู้ที่จะรักตัวคุณ และสามารถจะรักผู้อื่น มองเห็นตัวเราเองในผู้อื่น ขยายความรักต่อตัวเองไปสู่ผู้อื่น รู้สึกถึงความรักของผู้อื่น รู้สึกเมตตาต่อสิ่งมีชีวิตทั้งมวลในจักรวาล คุณจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ปลดปล่อยตัวเองออกจากความกลัว และความต้องการแห่งอีโก้
การมีจิตที่มีความรักสากล เป็นวิวัฒนการทางจิตวิญญาณอันสูงสุดของมนุษย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น