แนะนำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย
สายน้ำกับความเปลี่ยนแปลง แหล่งชุมชนช่างโบราณ จุดยุทธศาสตร์สามราชธานี
ที่ตั้ง
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ถนนจรัญสนิทวงศ์ เขตบางกอกน้อย
การเดินทาง
รถประจำทางที่ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ สาย 40, 42, 56, 68, 80, 175, 510, 509
มุมภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ เขตบางกอกน้อย
ภายในพิพิธภัณฑ์
บางกอกน้อย เป็นอีกหนึ่งย่านชุมชนที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพมหานคร และเป็นแหล่งรวบรวมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันงดงามที่สืบทอดกันมาแต่อดีต พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นฯ เขตบางกอกน้อย จึงทำหน้าที่สื่อสารเรื่องราวประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจผ่านทางบรรยากาศจำลองชุมชนวัฒนธรรมที่สำคัญ และชุดนิทรรศการให้ความรู้ ที่ออกแบบให้เข้ากับเอกลักษณ์อันโดดเด่นของพื้นที่ อาทิ ป้อมเมืองบางกอก ซึ่งเป็นตัวแทนของภาพรวมเมืองบางกอกในอดีต มุมจำลองขั้นตอนการทำมะตูมเชื่อมที่บ้านมะตูม เป็นต้น
การจัดแสดง
- ภาพรวมกรุงเทพมหานคร
- เมืองทณบุรีศรีมหาสมุทร
- บางกอกน้อย ชุมชนชาวสวน
- กรุงธนบุรี
- บางกอกน้อยในยุคต้นรัตนโกสินทร์
- สถานที่สำคัญของบางกอกน้อย
- บุคคลสำคัญของบางกอกน้อย
- ศิลปะและภูมิปัญญา
- ชุมชนอาชีพ
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร
จากชุมชนโบราณริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อมีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยพระไชยราชา เมืองธนบุรีกลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ คอยป้องกันข้าศึกทางทะเลและตรวจตรา จัดเก็บภาษีสินค้าที่ผ่านเข้าออก ในนามเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ต่อมาจึงกลายเป็น กรุงธนบุรี แล้วเป็น กรุงเทพฯ จนปัจจุบัน
สถาปนากรุงธนบุรี
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้น ราชธานี เสียหายย่อยยับมาก บ้านเรือนข้าวของถูกทำลายหมดสิ้น ประชาชนในเมืองถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยและล้มตายจำนวนมากเมื่อ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ กรุงเก่าเสียหาย ทรุดโทรม เกินกว่าจะบูรณะ จึงทรงสถาปนากรุงธนบุรี ขึ้นเป็นเมืองหลวง ทำพระราชพิธีปราบดาภิเษก ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ประชาชนทั่วไปนิยมเรียกท่านว่า พระเจ้าตากสิน
แหล่งชุมชนช่างฝีมือ
หลังจากพระเจ้ากรุงธนบุรีได้มาตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่เมืองธนบุรีแล้ว ทรงรวบรวมองค์ความรู้และศิลปะวัฒนธรรมของชาติ งานฝีมืองานช่างต่างๆ ตามแบบของกรุงศรีอยุธยาเดิม ไม่ให้สูญสิ้น ได้แก่ ช่างจิตรกรรม ช่างหล่อ ช่างบุ ช่างทำบาตร ช่างลงรัก บ้านขมิ้น บ้านปูน เป็นต้น ภูมิปัญญาเหล่านี้ยังคงสืบทอดกันมาจนปัจจุบัน และยังคงปรากฏร่องรอยอยู่ในย่านชุมชนเช่นบ้านช่างหล่อ บ้านบุ บ้านขมิ้น
บ้านช่างหล่อ
ชุมชนช่างโบราณ
การสร้างสังคมใหม่เพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองจากสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นต้นมา ทำให้เกิดชุมชนอาชีพต่างๆ ควบคู่ไปกับความเป็น " บ้านสวน " ของชาวสวนบางกอก บ้านช่างหล่อ เป็นอีกหนึ่งชุมชนภูมิปัญญาช่างโบราณ (หล่อพระพุทธรูป) ที่ผลิตสินค้าตามความต้องการของคนที่อพยพมาจากกรุงเก่า การผลิตจึงต้องรักษารูปแบบเดิมไว้
บ้านมะตูม
นอกจากจะเป็นผู้ชำนาญเรื่องงานสวนผลไม้ เป็นช่างฝีมือลือชื่อแล้ว ชาวบางกอกน้อยยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในเรื่องของฝีมือในการทำขนมอีกด้วย ตรอกมะตูม ที่นี่ชาวบ้านเชื่อมมะตูมกันหลายหลัง จนทางราชการมาเปลี่ยนชื่อให้เป็นตรอกมะตูม เอกลักษณ์ของมะตูมที่นี่คือ เนื้อนิ่ม รสหวาน สีแดงสวย นอกจากทำมะตูมเชื่อม ยังทำมะตูมแห้ง เปลือกส้มโอเชื่อมและฟักเชื่อม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น