วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หนังสือกฏแห่งทาน

*** สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล ***
ศีลแปลได้ ๓ อย่างคือ :-
๑) ศีล แปลว่า " ปกติ " 
๒) ศีล แปลว่า " เย็น "
๓) ศีล แปลว่า " เกษม "

*** ศีลมีหลายประเภท คือ :-
๑) ศีล ๕ หรือศีลกรรมบถ สำหรับคนทั่วไป
๒) ศีล ๘ หรือศีลอุโบสถ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา
๓) ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร
๔) ศีล ๒๒๗ หรือปาริสุทธิศีล ๔ สำหรับพระภิกษุ

*** การรักษาศีลต้องมีเจตนาจึงจะเป็นศีลได้ ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้น หรือจะรักษาศีลแล้ว แม้ผู้นั้นไม่ทำความชั่ว เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ หรือไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ไม่มีศีล เหมือนเด็กที่นอนแบเบาะ แม้ไม่ทำความชั่วก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น หรือเหมือนอย่างวัวควาย แม้มันจะไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น.

*** วิรัติ ๓ ***
การที่จะมีศีลได้ต้องมีวิรัติ คือ :- มีเจตนาที่จะงดเว้นจากโทษนั้น ๆ วิรัติ แปลว่า การงดเว้น มี ๓ อย่าง คือ 
๑) สมาทานวิรัติ -> งดเว้นด้วยการสมาทาน เป็นวิรัติของปุถุชนทั่วไป เช่น สมาทานศีล ๕ สมาทานศีล ๘ เป็นต้น

๒) สัมปัตตวิรัติ -> งดเว้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเพราะหน้า เป็นวิรัติของผู้ที่ไม่ตั้งใจจะรักษาศีลมาก่อน คือ :-
บางคนไม่ตั้งใจว่าจะรักษาศีล แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจำเพราะหน้า อันอาจจะให้ล่วงศีลได้ แต่ไม่ยอมล่วงศีล เกิดงดเว้นขึ้นมาในขณะนั้น เช่น มีโอกาสจะฆ่าสัตว์ หรือฆ่าคนได้ แต่ไม่ฆ่า หรือมีโอกาสจะลักของของคนอื่นได้แต่ไม่ลัก หรือมีโอกาสจะประพฤติผิดในกามได้ แต่ไม่ยอมประพฤติผิดในกาม โดยคำนึงว่า การกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะ ไม่ควรแก่ฐานะและสกุลของคนอย่างตนเอง จึงงดเว้นเสียในขณะนั้น การงดเว้นอย่างนี้ ท่านเรียกว่า สัมปัตตวิรัติ.

๓) สมุจเฉทวิรัติ -> งดเว้นได้เด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป คือ :-
พระอริยบุคคลทุกจำพวกมีศีล ๕ บริบูรณ์ที่สุด ท่านงดเว้นจากเวร ๕ ได้เด็ดขาด โดยไม่ต้องสมทานหรือคอยพะวงรักษา เพราะท่านเห็นโทษ ของการประพฤติล่วงศีลอย่างแท้จริง แม้ใครจะมาบังให้ท่านประพฤติผิดศีล ๕ ท่านยอมตายดีกว่า ที่จะประพฤติล่วง การละความชั่วในขั้นนี้ของท่าน จึงเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ละได้เด็ดขาด หรือเป็น สมุจเฉทวิรัติ คืองดเว้นได้เด็ดขาด.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น