วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

บนทางเดิน...ไร้อิสรภาพ วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ


บนทางเดิน...ไร้อิสรภาพ วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ


ถ้าไม่ได้มองว่า ชีวิตมีแค่ขาว หรือ ดำ เรื่องราวของหมอวิสุทธิ์ ก็จะเป็นบทเรียนอีกเรื่องในสังคม

"ท่านพุทธทาสสอนเรื่องตัวกู ของกู ทันทีที่เรามีตัวกู ของกู ก็จะนำมาซึ่งความโลภ โกรธ หลง ถ้าคนสามารถลดตัวตนได้ ปัญหาทุกอย่างก็ไม่เกิด..." นายแพทย์วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ อดีตสูตินารีแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งต้องโทษมานานกว่า 9 ปีในคดีฆาตกรรม พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ขมวดปมเรื่องของเขา

เมื่อหลายปีก่อนเรื่องราวของเขาเป็นคดีดังที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เขาถูกตัดสินประหารชีวิต ถูกล่ามโซ่ตรวนอยู่ในแดนประหารเรือนจำบางขวางสองปี ซึ่งเขาสารภาพว่า ทุกข์ทรมานมาก หลังจากนั้นเขามีโอกาสทำงานบำเพ็ญประโยชน์ เป็นหมอรักษาโรคในเรือนจำ จึงได้ออกจากแดนประหารมาอยู่แดนพยาบาล รวมๆ แล้วปัจจุบันติดอยู่ 9 ปี

เพราะงานจิตอาสา ทำให้เขาหมกมุ่นกับตัวเองน้อยลง เห็นใจคนอื่นมากขึ้น และเวลาว่างที่ได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบๆ ตัว ทำให้จิตใจของเขาอ่อนโยนมากขึ้น ประกอบกับมีเวลาไตร่ตรองชีวิตและปฎิบัติธรรม รวมถึงได้ฝึกฝนการเขียนจากโครงการกำลังใจในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา โดยมี อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดี เป็นโต้โผใหญ่ในการคิดและดำเนินการโครงการ เรื่องเล่าจากแดนประหาร กระบวนการหนึ่งที่ทำให้นักโทษได้เรียนรู้การเขียนและการพัฒนาจิตจากวิทยากรหลากหลายอาชีพ

การเรียนรู้วิธีการเขียน ทำให้หมอวิสุทธิ์มีเรื่องเล่า จนมีผลงานหนังสือเล่มแรกในชีวิต กว่าจะฝ่าข้ามความตาย โดยมีอรสม สุทธิสาครเป็นบรรณาธิการ นอกจากนี้เขายังเป็นส่วนหนึ่งของกองบรรณาธิการ ข่าวจิตต์เสรี หนังสือพิมพ์เพื่อคนเรือนจำเขียนคอลัมภ์ สุขภาพดีมีที่นี่ ใช้นามปากกาว่า หมอธรรมดา

นั่นเป็นเรื่องคร่าวๆ ของหมอวิสุทธิ์ และอีกไม่เกิน 2 ปีเขาก็จะได้รับอิสรภาพ

ส่วนการพูดคุยในบรรทัดต่อไป ณ เรือนจำบางขวาง เป็นอีกบทเรียนของชีวิตในเรือนจำกับวันเวลาที่ไร้อิสระ เพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนคนที่คิดจะทำผิด...

ตอนแรกๆ ที่เข้ามาอยู่แดนประหารเป็นอย่างไรบ้าง 
ค่อนข้างลำบาก ต้องมาอยู่ร่วมกันในห้องแคบๆ ถูกใส่โซ่ตรวน ขาดอิสรภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทรมานจิตใจ ถ้าถามว่าตอนนั้นคิดอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองไหม ในช่วงปีครึ่งที่ติดคุก คิดแค่ว่า ทำอย่างไรให้ออกไปจากที่นั่น เราก็ดิ้นรนขอประกันตัว ต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ ตอนนั้นเป็นช่วงการปรับตัว ก็คิดว่าทำไมในคุกโหดแบบนี้ ทำกับเราเหมือนสัตว์ ต้องอยู่ในห้องแคบๆ ประมาณ 23 คน ห้องน้ำมีห้องเดียว มีกฎเกณฑ์เข้มงวด เวลานักโทษขยับตัว เสียงโซ่ตรวนดังตลอดเวลา เหมือนอีกโลกหนึ่ง นั่นคือ สภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก แต่เรื่องจิตใจเป็นเรื่องใหญ่กว่า วันแรกๆ ที่เข้ามาโชคดี เสมียนแดน และเจ้าหน้าที่หัวหน้าแดน ดูแลเอาใจใส่ เพราะหลายคนคิดว่า เราจะรับเหตุการณ์นี้ไม่ได้ พวกเขากลัวว่า เราจะฆ่าตัวตาย พี่ใหญ่ในแดนประหารก็มาช่วยดูแล ซึ่งผมก็ได้รับความช่วยเหลือ

เมื่อดิ้นรนที่จะออกไปแล้ว แต่ไม่เป็นอย่างที่คิด คุณหมอปรับตัวอย่างไร
เวลาเดินไปไหนก็มีโซ่ตรวนติดอยู่ อาบน้ำ ใส่กางเกง ลำบากหมด นอนในห้องแคบๆ คนเยอะ กลางคืนเปิดไฟตลอด แออัด ร้อนมาก แรกๆ รู้สึกมาก เมื่ออยู่ไปนานๆ ความรู้สึกทรมานก็น้อยลง เริ่มชิน ในที่สุดเราก็ยอมรับได้ เราเป็นนักโทษ ถ้าเราไม่ยอมรับก็ยิ่งดิ้นรน เหมือนหนูติดจั่น เมื่อเรายอมรับก็คิดว่า เราจะทำอย่างไรให้ดีกว่านี้ ต้องก้าวเดินจากจุดที่คิดวนเวียน ไม่อย่างนั้นก้าวเดินต่อไปไม่ได้

ในปีแรกๆ ที่เป็นผู้ต้องขังไม่ได้ใช้วิชาความรู้ช่วยเหลือคนเลย เพราะวนเวียนอยู่กับความคิด ?
วนเวียนอยู่กับเรื่องตัวเอง มองไม่เห็นคนอื่น แต่เมื่อคิดได้ มีโอกาสไปช่วยงานสถานพยาบาล ทางผู้อำนวยการก็มอบหมายให้ดูแลผู้ป่วย ตอนนั้นเราไม่ถนัดในการรักษาโรคทั่วไป ต้องดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิต ฯลฯ จึงต้องอ่านศึกษาเพิ่มเติม เพราะไม่เชี่ยวชาญ ที่หนักกว่านั้นคือ การรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์และวัณโรค เราต้องมาฟื้นฟูความรู้ ในยุคนั้นมีข้อมูลใหม่ๆอยู่ตลอด เราก็ได้หมอฝรั่งไร้พรมแดนมาช่วยดูแล ได้เรียนรู้จากพวกเขา และพวกเขาก็เต็มใจสอนเรา อ่านหนังสือเยอะมาก เหมือนเป็นนักศึกษาแพทย์และได้เรียนรู้จากผู้ป่วย ตอนนั้นได้ผู้ช่วยที่เป็นเพื่อนผู้ต้องขังที่มีจิตอาสา ตัวเราก็เรียนรู้และสอนพวกเขา ทำให้การดูแลผู้ป่วยดีขึ้น

สัมพันธภาพระหว่างเพื่อนผู้ต้องขังเป็นอย่างไรบ้าง
ไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งกับใคร ไม่ได้อยากได้อะไรจากใคร ไม่มีผลประโยชน์กับใคร เพราะในคุกยังมีเรื่องผลประโยชน์ เราก็เลยไม่มีปัญหา และเราเป็นหมอมีประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ใครไม่สบายก็มาปรึกษา เราก็ทำตัวเป็นประโยชน์

ทำให้หมกมุ่นกับตัวเองน้อยลง ?
เมื่อมาทำงานสาธารณะ ทำให้เราเห็นว่า คนอื่นลำบากกว่าเราเยอะ ตอนมาทำงานสถานพยาบาล ผู้ป่วยสอนเรา เขาน่าสงสารกว่าเรา ต้องมาป่วยในยามที่ไม่มีญาติพี่น้องดูแลเหมือนคนป่วยทั่วไป ผู้ป่วยที่นี่จึงต้องสู้ชีวิต เข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้ป่วยเอดส์ ผมเต็มที่กับการดูแลผู้ป่วย เพราะอยู่ที่นี่ 24 ชั่วโมง นอนในตึกผู้ป่วย แดนพยาบาล
การมารักษาโรคที่ต่างจากที่เคยทำ ทำให้คุณหมอมีความถนัดในการรักษาโรคมากขึ้น ?
ได้ความรู้เพิ่มเติมในมุมกว้าง แต่ไม่ใช่มุมลึก ต้องดูแลผู้ป่วยเอดส์ วัณโรค เบาหวาน ฯลฯ

การเป็นหมอในเรือนจำมีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง
เหมือนเราอยู่อีกโลก เป็นโลกที่ขาดแคลน ผู้ป่วยก็ด้อยโอกาสในทุกเรื่อง โอกาสที่จะไปรักษาที่อื่นก็จำกัด เครื่องมือจำกัดด้วยระบบของเรือนจำ แต่ถ้าผู้ป่วยรายไหน มีความจำเป็นต้องออกไปรักษาข้างนอก เราก็ทำเรื่องขออนุญาตได้

การทำงานในแดนพยาบาล ทำให้คุณหมอค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร
ทำให้เห็นใจคนอื่นและเมตตาคนอื่นมากขึ้น ต่างจากสมัยเป็นหมอข้างนอก ยังมีเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญมาเกี่ยวข้อง แต่อยู่ที่นี่ไม่มีแบบนั้นแล้ว ใจเรามีอิสรภาพมากขึ้น เราทำด้วยความอยากทำ ซึ่งมันก็ดีต่อตัวเรา ในแง่การพัฒนาจิตใจ

การเป็นหมอรักษาโรคในแดนพยาบาล มันท้าทายอย่างไร
ช่วงแรกๆ ท้าทายมาก ทำให้เรามุมานะในการศึกษาเพิ่มเติม เพราะเราไม่มีความรู้หลายเรื่อง ก็ต้องเรียนรู้จากตำราและคนมีประสบการณ์ เพราะต้องดูแลผู้ป่วยให้เร็วที่สุด เพื่อนฝูงในวงการแพทย์ก็ส่งหนังสือที่เป็นความรู้ใหม่ๆ มาให้ การได้ช่วยคนอื่นทำให้เราได้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น

นอกจากหนังสือทางการแพทย์ คุณหมออ่านหนังสือประเภทไหนอีก
ตอนที่อยู่แดนประหาร หนังสือที่เข้ามาทุกอย่าง อ่านหมด ไม่ว่านิตยสาร หนังสือแปล หนังสือธรรมะ หนังสือการ์ตูน เพราะมีเวลาและทำให้ไม่หมกมุ่น แต่เป็นนิสัยของผม ชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว

ถ้าให้มองย้อนหลังอีกนิด คุณหมอเห็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองตอนไหน
ค่อยๆ ดีขึ้นทีละนิด แต่ผมไม่รู้สึกตัว ผมมาประเมินได้ตอนได้นั่งทบทวนตอนเขียนหนังสือ แต่การเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่ว่า พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

ความรู้สึกผิดในใจ คุณหมอจัดการอย่างไร
ตอนมาทำงานแดนพยาบาล ผมได้คิด ถ้าเราไม่สามารถให้อภัยตัวเองหรือคนรอบข้าง เราก็วนเวียนอยู่ที่เดิม ถ้าเราเริ่มให้อภัย ก็จะก้าวเดินต่อไปได้ เพราะก่อนหน้านี้ผมก็โทษไปหมด ไม่ว่าตัวเราหรือคนรอบข้าง ทำให้เราต้องอยู่ในสภาพนี้

มีอะไรที่สะกิดใจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวเอง
แม้ผมจะอ่านหนังสือธรรมะและเข้าใจ แต่ยังไม่สามารถเคาะความรู้สึก มีอยู่วันหนึ่งผมออกมารับพัสดุด้านนอก ได้เห็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง กำลังจะเดินออกจากเรือนจำ ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่า มีพระสงฆ์เข้ามาในเรือนจำ วันนั้นทำให้นึกขึ้นได้ว่า เราต้องเอาอย่างพระคือ ปล่อยวาง ทำให้ผมคิดถึงคำที่เคยอ่านในหนังสือ ถึงแม้เราไม่ได้บวช ก็น่าจะทำตัวอย่างพระ เหมือนที่ท่านพุทธทาสสอนว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็บวชได้เสมอ ไม่จำเป็นต้องเป็นพระ เราก็คิดว่า น่าจะตั้งใจปฎิบัติธรรม ต้องปล่อยวางให้ได้ พอทำอย่างนั้นได้ ก็เบาลง

แสดงว่า เคยมองตัวเองน่าเกลียด ?
ใช่ครับ

คุณหมอเคยคิดจะฆ่าตัวตายไหม
ไม่เคยครับ แต่ผมมาทราบภายหลังว่า คนที่มาช่วยดูแลผม เพราะเป็นห่วงว่า เราจะฆ่าตัวตาย

ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำแค่ไหน
ต้องรับสิครับ ไม่อย่างนั้นก็ให้อภัยตัวเองไม่ได้ แต่ตอนอยู่แดนประหาร ผมไม่ยอมรับ พยายามดิ้นรนเพื่อออกไป แต่ในที่สุดผมต้องยอมรับที่เราไม่ดูแลใจตัวเองให้ดี เพราะชีวิตคนเราคงไม่ใช่ขาวหรือดำ

ในเรือนจำ เพื่อนสนิทที่คุยกันบ่อย ? 
มีเพื่อนทุกรูปแบบ ทำให้ผมเข้าใจชีวิตคนอื่นมากขึ้น ได้เรียนรู้เรื่องสังคมศาสตร์มากขึ้น อย่างผมไม่เคยรู้ว่า ชีวิตมือปืนเป็นอย่างไร ผมก็ได้รู้ เพราะมีเพื่อนเป็นมือปืนหลายคน หรือเพื่อนพ่อค้ายา เพื่อนที่สนิทด้วย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร และชาวเขา เพราะพวกเขาไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ตรงไปตรงมา ง่ายๆ มีน้ำใจ

แล้วการเรียนเขียนสารคดีเป็นอย่างไรบ้าง
ก็ช่วยให้เข้าใจการเขียน เพราะผมติดค้างเพื่อนฝูง ไม่ว่าใครมาเยี่ยม ก็มักบอกว่า หมอเขียนหนังสือสิ ผมก็ไม่รู้จะเขียนหรือเล่าอย่างไร พอมาเรียนก็เริ่มเห็นทางจากโครงการเรื่องเล่าจากแดนประหาร 
ซึ่งตอนนั้นเปิดรับสมัครคนที่เคยผ่านแดนประหารมาแล้ว การสมัครต้องเขียนเรียงความส่ง ผมเขียนเรื่องความฝันของข้าพเจ้า ตอนนั้นเราฝันอยากออกไปข้างนอกโดยเร็ว ฝันว่าจะทำประโยชน์ให้สังคมอย่างไร ฝันว่า ถ้าตายไปแล้ว ขอให้เกิดในแผ่นดินนี้อีก

นอกจากเรียนเขียนสารคดี ยังได้เรียนรู้เรื่องชีวิตจากวิทยากรที่หลากหลาย ?
เป็นเทคนิคของครูอรสม สุทธิสาคร ไม่ใช่แค่หลักการเขียน เรื่องของจิตอาสาก็พัฒนาเราด้วย ทำให้จิตใจเราอ่อนโยน มีมุมมองที่สวยงาม ในช่วงสองปีนี้ ผมค่อยๆ เปลี่ยนตัวเอง ทำให้ผมเห็นความสวยงามของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราสามารถหาความสุขเล็กๆ ง่ายๆ มากขึ้น อย่างดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิทยาศาสตร์ที่ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ มาสอนเราดูเมฆ แค่แหงนหน้ามองดูเมฆ ก็มีความสุขแล้ว ช่วงหลังๆ ชีวิตเปิดรับความสุขได้ง่ายขึ้น ทั้งๆ ที่คนรอบข้างในคุกเป็นคนเดิมๆ แต่เราสามารถเห็นความงดงามของเขามากขึ้น

อะไรทำให้คุณเขียนประสบการณ์ในเรือนจำออกมาเป็นหนังสือ 
หลังจากเรียนมาแล้ว 14 สัปดาห์ สัปดาห์ละครั้ง ทำให้เราเริ่มเห็นความท้าทาย เมื่อจบคอร์สทำให้เรามั่นใจว่า คงเขียนได้ระดับหนึ่ง เพราะเราก็อยากฝึกเขียน โดยมีครูช่วยตรวจแก้ ผมมองว่า มันเป็นโอกาสที่ดี เพราะได้ครูแนะนำ ไม่อย่างนั้นคงไม่สามารถพัฒนาได้ เพราะเวลามีคนมาเยี่ยมเรา ประโยคที่ต้องตอบเสมอคือ แต่ละวันทำอะไร

แล้วแต่ละวัน คุณทำอะไรบ้าง
ชีวิตที่นี่เหมือนเดิมทุกวัน ไม่มีเสาร์-อาทิตย์ เช้ามาก็รอให้ผู้คุมมาปล่อยตัวออกไปทำกิจวัตรส่วนตัว เพราะถูกขังอยู่บนตึก จากนั้นก็วิ่งออกกำลังกาย มาดูแลผู้ป่วย แต่ละวันผมมีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้น ที่สำคัญคือ ได้ทบทวนตัวเอง ดูแลจิตใจตัวเองมากขึ้น ตอนนี้มีอิสระภายในมากขึ้น ไม่ได้มีความทุกข์ทรมานเหมือนช่วงแรก ทำให้เรามีความมั่นใจในการดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาทมากขึ้น

มีวันพิเศษที่รอคอยไหม
ตอนนั้นทุกวันจันทร์ที่ถูกปล่อยให้มาเรียนเขียนสารคดี เป็นวันที่รอคอย หรือวันที่มีกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งเป็นวันพิเศษที่เราตื่นเต้นสักนิด ได้ทำกิจกรรมที่เราพอใจ อย่างตอนนี้ก็รอคอยวันศุกร์ เรียนวาดรูป

"กว่าจะฝ่าข้ามความตาย" คุณต้องการสื่ออะไร
ผมมองจากประสบการณ์ที่เจอในเรือนจำ ที่นี่เป็นสังคมปิด อยากให้สังคมภายนอกรับรู้ หวังว่าจะสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างสองสังคม ผมไม่อยากให้ใครเข้ามาอยู่ในนี้ แม้ผมจะเขียนด้วยคำพูดตลกๆ แต่อ่านแล้วอย่าเข้ามาเลย อย่าเอาชีวิตมาทิ้งในนี้ หลายคนเอาชีวิตและโอกาสมาทิ้งในนี้

เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว คุณหมอจะทำอะไร
ผมยังไม่ได้วาดโครงการไว้ เพราะอยู่ในนี้นาน ไม่รู้ว่า โลกภายนอกเป็นอย่างไร เพราะที่นี่ไม่มีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน ผมอยู่เหมือนคนเกษียณ ทำงานสาธารณะประโยชน์ แต่ผมก็อยากได้อิสระภาพ ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนฝูง

ณ เวลานี้ คุณหมอได้รับบทเรียนอะไรบ้าง
ถ้าคนเราสามารถลดตัวตนได้ ปัญหาทุกอย่างก็ไม่เกิด เพราะเรามีโลภ โกรธ หลง และตัวตนมาก เหมือนที่ท่านพุทธทาสสอนเรื่องตัวกูของกู ทันทีที่เรามีตัวกูของกู ก็นำมาซึ่งความโกรธ ดังนั้นต้องดูแลจิตใจตัวเอง อย่าใช้ชีวิตด้วยความประมาท ถ้าเป็นไปได้ เข้าวัดฝึกปฎิบัติธรรม คนเราควรปฎิบัติตั้งแต่หนุ่มสาว ไม่ต้องรอให้แก่ ตอนนี้ผมก็ปฎิบัติธรรม ตั้งแต่สวดมนต์และนั่งสมาธิ เมื่อก่อนผมก็ปฎิบัติ แต่ไม่จริงจังเหมือนวันนี้ ผมโชคดีที่มีญาติมิตรเอาหนังสือธรรมะมาให้อ่านเยอะมาก ผมอ่านหมดทุกเล่ม มันช่วยได้ ที่สำคัญคือ เราต้องปฎิบัติธรรม ทั้งสมาธิและวิปัสสนา แต่ไม่ได้มีวิธีเดียวนะ แม้กระทั่งการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ รวมถึงการทำงานจิตอาสา ทุกอย่างเสริมกัน

.....................
ครู...ผู้เปิดโอกาสให้คนคุก

อรสม สุทธิสาคร ในฐานะหัวเรือใหญ่โครงการอบรม เรื่องเล่าจากแดนประหาร หนึ่งในโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เริ่มดำเนินการกิจกรรมสอนเขียนสารคดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553-มีนาคม 2554 เธอไม่ใช่แค่สอนการเขียน แต่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาจิต

เธอเรียกตัวเองสั้นๆ ว่า ครู ซึ่งครูคนนี้เคยมีความฝันมานานกว่าสิบปี อยากสอนเขียนสารคดีผู้ต้องขัง เพื่อให้พวกเขาเขียนหนังสือเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ได้ทบทวนตัวเองและมอบบทเรียนให้สังคม และโอกาสก็มาถึง

"โครงการกำลังใจเปิดโอกาสให้เราได้ทำตรงนี้ ตอนนั้นสอนทุกวันจันทร์ประมาณ 14 สัปดาห์ คัดผู้ต้องขังมาเรียน 30 คน เราออกแบบโครงการ ชวนเพื่อนนักเขียน พระและวิทยากรด้านการพัฒนาจิตมาช่วย เราไม่อยากแค่สอนอย่างเดียว อยากให้วิทยากรช่วยปลุกพลังชีวิต เพื่อให้พวกเขาได้เห็นแง่มุมของโลกที่งดงาม มีความหวัง มีศรัทธาต่อชีวิต" 
หลังจากเสร็จสิ้นโครงการแรก ครูเช่นเธอ รู้สึกว่ายังส่งลูกศิษย์ไม่ถึงฝั่ง จึงเสนอโครงการสอง จิตอาสาจากแดนประหาร โดยใช้นักเรียนรุ่นเดิม(ผู้ต้องขัง) มาร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาจิต อาทิ ทำหนังสืออักษรเบรลให้คนตาบอด ถักผ้าพันคอ ทำหุ่นมือให้นักเรียนชนบท ฯลฯ

"เป็นภาพที่น่ารัก พวกเขาได้ทำตรงนี้ ทำให้ได้สมาธิ และทำให้รู้ว่ามือของเขามีคุณค่า อย่างบางคนถักผ้าพันคอได้ 128 ผืน บางคนถักหมวกได้ร้อยกว่าใบ"

พอจบโครงการสอง เธอรู้สึกอีกว่า ควรดูแลพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ก็เข้ามาช่วยทำโครงการพัฒนาจิตอีกเดือนละครั้ง จัดกิจกรรมสร้างคุณค่าทางใจ นอกจากนี้เธอยังทำโครงการจิตอาสาในแดนพยาบาล เดือนละสองครั้ง และโครงการทำหนังสือพิมพ์ จิตต์เสรี โดยมีผู้ต้องขังเป็นกองบรรณาธิการ และผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศได้อ่าน

"ถามว่าทำไมยังเข้า-ออกเรือนจำ เพราะเรารู้สึกว่า การทำกิจกรรมแบบนี้ ทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้น ก็เลยรู้สึกว่า ไม่อยากทิ้งกัน อยากดูแลกันยาวๆ เพราะความทุกข์มีทุกวัน และเราทำแบบนี้ ทำให้คนรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นการให้กำลังใจกัน เวลาไปไหนก็ส่งโปสการ์ดถึงลูกศิษย์ในเรือนจำอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นความรักความเมตตาดูแลกัน

เรามองว่าการทำกิจกรรมพัฒนาจิต ต้องมีความรักความเมตตาเป็นพื้นฐานและเข้าใจกระบวนกร ถ้าเราเข้ามาก่อนหน้านี้ 5 ปี อาจทำได้ไม่เหมือนตอนนี้ เพราะเรามีความสุกงอมกับชีวิต ด้วยวัยและประสบการณ์ ได้สัมผัสความทุกข์ของคน ซึ่งการจะทำงานตรงนี้ ต้องดูแลจิตใจของตัวเองให้ดี เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะบางคนเข้ามารับไม่ได้ อาจจะรู้สึกทุกข์และเครียด แต่เราเข้ามาด้วยความเบิกบาน ได้ความสุขกลับไป เป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน"

.........................
นั่นเป็นมุมพัฒนาจิตในโครงการกำลังใจ ส่วนในมุมบรรณาธิการหนังสือ กว่าจะฝ่าข้ามความตาย เธอก็มีมุมมองชวนคิดในแบบของเธอ

อยากให้เล่าถึงลูกศิษย์ (คุณหมอวิสุทธิ์) ? 
สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นในตัวหมอ คือ เป็นคนมีวินัย มีความมุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนละเอียดอ่อนและอารมณ์ขัน เพราะฉะนั้นงานเขียนของเขา อ่านแล้วก็จะทำให้คนอ่านยิ้มและหัวเราะได้ บางตอนอ่านแล้วให้พลังกับผู้อ่าน เป็นงานที่ครบทุกรส อ่านสนุก ได้กำลังใจ

นั่นเป็นมุมการเขียน ส่วนมุมชีวิต เอาง่ายๆ เลย แววตาหมอตอนแรกที่เจอกัน กับตอนนี้ไม่เหมือนกัน เวลามาเรียน เขาจะนั่งอยู่หลังห้อง แรกๆ ที่เห็น แม้เขาจะยิ้มแต่ไม่ผ่อนคลาย มีทีท่าระมัดระวัง ต่างจากตอนนี้ค่อนข้างผ่อนคลาย เรามองว่า เขาเป็นนักเรียนรู้ คนแบบนี้ไม่ว่าจะปล่อยไว้ตรงไหน เขาจะมีความสุขเล็กๆ ของตัวเอง บางคนอาจมองไม่เห็นมุมนี้ของเขา เขาชอบปลูกต้นไม้ มีความสุขกับธรรมชาติ เป็นคนช่างสังเกต แม้เขาจะบอกว่า เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ละเอียดอ่อน แต่เรามองเห็นส่วนนี้

อีกอย่างเขาเป็นนักคิด นักวิเคราะห์ ในช่วงแรกๆ ไม่ปล่อยวางมากนัก แต่เราเชื่อว่า กระบวนการเขียน ทำให้เขาได้ทบทวนตัวเอง กิจกรรมที่นำเข้ามาให้ทำในคุก ทำให้เขาได้เห็นบางมุมของชีวิตที่สวยงาม โดยเฉพาะเรื่องการหาความสุขเล็กๆ ในใจ จากที่เรามาทำงานตรงนี้สองปี เราได้เห็นว่า ใจหมอเปิดรับมากขึ้น แม้คนส่วนใหญ่จะบอกว่า ไม่รู้ว่าหมอคิดอะไร เป็นคนมีกำแพง แต่ตอนนี้เรามองเห็นว่า หมอได้ทำลายกำแพงตรงนี้ลงไปเยอะแล้ว

ทำไมอยากให้คนอ่านหนังสือเล่มนี้
ในส่วนของคนอ่าน เราเชื่อว่า มันจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการมองชีวิต ปกติหนังสือที่เขียนจากโลกหลังกำแพง คนจะคิดว่า ต้องหดหู่ ไม่ก็ดุเดือด เผ็ด มัน แต่เล่มนี้ มันไม่ใช่ มีบางเรื่องอ่านแล้วยิ้มได้ สิ่งที่มองเห็นคือ อ่านแล้วให้พลังชีวิต สำหรับคนอ่านที่อยู่ในโลกอิสระ เวลารู้สึกแย่ๆ หรือทุกข์กับชีวิต ก็จะได้เห็นว่า แม้โลกที่ทุกข์ที่สุดในคุก ก็ยังมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คุณคิดเห็นอย่างไรต่อผู้ต้องขัง
เรารู้สึกว่า บางทีสังคมไม่ค่อยให้โอกาสคน ถ้ามืด ก็คือมืด สว่างก็คือสว่าง ทั้งๆ ที่มนุษย์ทุกคนก็เคยทำผิดพลาด มากบ้าง น้อยบ้าง และนี่คือความผิดพลาดที่นำมาเป็นบทเรียน ดังนั้นคงไม่ยุติธรรมนัก ถ้าคนเราทำผิดพลาด แล้วคุณจะกาหัว...จบเลย งานเขียนจึงเป็นการเปิดโอกาส อยากบอกว่า ลองเปิดใจให้โอกาสตัวเองในการมองคน คนเราทุกคนผิดพลาดได้ ในขณะเดียวกัน คนเราสามารถก้าวขึ้นมาใหม่ได้และพัฒนาการได้ เปลี่ยนมุมมองของคุณใหม่ คุณก็จะเห็นโลกใบใหม่ อย่ามองอะไรแบบเดิม หรือปิดกั้นตัวเอง คุณควรให้โอกาส เพราะในที่สุด ชีวิตคือ การเรียนรู้

Tags : หมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ


http://goo.gl/t3Tfr

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น