วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง แหล่งมอญอันเข้มแข็ง ริมแม่กลอง

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง แหล่งมอญอันเข้มแข็ง ริมแม่กลอง

โดย Matichon ประชาชื่น เมื่อ 6 ธันวาคม 2012 เวลา 16:29 น. ·

วันที่ 06 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 35 ฉบับที่ 12689 มติชนรายวัน

 

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง แหล่งมอญอันเข้มแข็ง ริมแม่กลอง

 

โดย กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์

 /////////////////////////////////

ในแผ่นดินไทย ประกอบด้วยผู้คนจากหลายเชื้อชาติ มีการแต่งงาน ให้กำเนิดลูกหลานจากรุ่นสู่รุ่น กระทั่งความแตกต่างทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ถูกหลอมรวมกลายเป็นคนไทยเช่นปัจจุบัน จะเห็นความแตกต่างได้ก็เฉพาะบางเชื้อสายเท่านั้น เช่น คนไทยเชื้อสายจีน ที่ส่วนใหญ่มีดวงตาชั้นเดียวและผิวขาว

 

ส่วนอีกเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาอยู่ในแผ่นดินไทย ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายคนไทย ทว่ามีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ คงวิถีปฏิบัติ ประเพณีเฉพาะ ภาษา และการแต่งกายไว้ได้เหนียวแน่นที่สุด คือ มอญ

 

ชาวมอญ เป็นชนชาติที่เติบโตขึ้นบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวดีและสาละวินตอนล่าง ช่วง พ.ศ.1801-1900 โดยมีหงสาวดีเป็นศูนย์กลางความเจริญ

 

แม้ช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 หรือ พ.ศ.2101-2200 กษัตริย์พม่าคือพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ จากเมืองตองอูเข้ายึดหงสาวดี ตั้งตัวเป็นใหญ่ในแดนมอญ แต่ความเป็นมอญที่แสดงออกผ่านวัฒนธรรมที่ดำเนินชีวิตเคียงข้างพุทธศาสนานั้น ยังคงดำรงอยู่ อีกทั้ง พม่า ยังรับความศรัทธาในศาสนาไปเป็นของตน แล้วทำให้รุ่งเรืองมากกว่าเดิม เช่น พระมหาเจดีย์ชเวดากอง ที่นครย่างกุ้ง

 

"อย่างไรก็ตาม แม้ "มอญ" จะกลายเป็นเพียงชนกลุ่มเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนพม่า แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว มอญ ถือเป็นบรรพบุรุษของคนไทยในปัจจุบันนับแสนคน"

 

เนื่องจากชาวมอญเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามตั้งแต่อยุธยาตอนกลางและรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมแล้ว 9 ครั้ง คือ สมัยอยุธยา 6 ครั้ง ธนบุรี 1 ครั้ง และรัตนโกสินทร์ 2 ครั้ง ส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งยังตั้งถิ่นฐานที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ทั้งที่ อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี และ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

 

นอกจากนี้ ยังพบการกระจายตัวของชาวมอญในนครปฐม สมุทรสาคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี ปราจีนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ลำพูน เชียงใหม่ และนครราชสีมา เป็นต้น

 

หากจะบอกว่าที่ใดที่มีวิถีและวัฒนธรรมมอญ ที่ลูกหลานสืบทอดมาอย่างเข้มแข็งและยาวนานที่สุด คงเป็น "บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี"

 

ดังที่ ""สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์"" กล่าวไว้ในบทความวิชาการชื่อ "ลุ่มน้ำแม่กลอง" ความตอนหนึ่งว่า

 

"ระหว่างที่ทัพพม่าเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยา ระหว่างทางก็รุกรานชุมชนมอญ จนต้องหนีมายังเมืองกาญจนบุรี และมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านโป่ง และโพธาราม ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น"

 

ชาวมอญที่บ้านม่วง เมื่อเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยก็ยังไม่ละทิ้งความเชื่อและศรัทธาในพุทธศาสนาที่มีอย่างเหนียวแน่น ยังสร้างวัดม่วง รวมถึง "เจดีย์สีทอง ศิลปะมอญทรงอย่างเจดีย์ชเวดากอง มีเสาหงส์ที่บ่งบอกว่าเป็นดินแดนที่ชาวมอญอาศัยอยู่เช่นที่เห็นในหงสาวดี อดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ของรามัญ

 

"สอางค์ พรหมอินทร์" อดีตผู้ใหญ่บ้านลูกหลานชาวมอญ ที่ปัจจุบันทำหน้าที่ดูแลและเป็นมัคคุเทศก์ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เล่าว่า ชาวมอญในพื้นที่ราชบุรีนั้น ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองที่ อ.บ้านโป่ง และ อ.โพธิราม โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่บ้านม่วง เนื่องจากมี ""พระครูวรธรรมพิทักษ์"" หรือ "อาจารย์ลม" อดีตเจ้าอาวาสวัดม่วง เป็นลูกหลานชาวบ้านม่วงแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลองโดยกำเนิดในสกุล "คชเสนีย์" เป็นพระนักพัฒนาที่นำความเจริญมาสู่วัดและชุมชนในด้านต่างๆ อาทิ สร้างถนนหนทาง สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองด้านหน้าวัด ขยายอาคารเรียน

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง และโครงการจัดตั้งศูนย์มอญศึกษาให้เป็นคลังความรู้แด่อนุชนรุ่นหลัง

 

"มอญบ้านโป่ง-โพธาราม อพยพมาตั้งชุมชนเรียงรายอยู่สองฟากลุ่มแม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวมอญแถบนี้มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย เคร่งครัดในจารีต เรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษ และที่สำคัญยังศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง เห็นได้จากปัจจุบัน ตามชุมชนต่างๆ จะมีวิถีมอญเป็นศูนย์กลาง เช่น วัดนครชุมน์ วัดคงคาราม วัดโพธิ์โสภาราม วัดมะขาม และวัดม่วง เป็นต้น"

 

"ปัจจุบัน พี่น้องชาวมอญยังคงเดินทางไปถิ่นเกิดคือ ย่างกุ้งและหงสาวดี เพื่อสักการะโบราณสถานอันศักดิ์สิทธิ์ คือ พระมหาเจดีย์ชเวดากองที่ย่างกุ้ง และพระเจดีย์ชเวมอดอหรือพระธาตุมุเตาที่หงสาวดี"

 

ถึงกระนั้น ยังมีสิ่งที่ลูกหลานมอญอย่างสอางค์เป็นห่วงคือ เด็กมอญรุ่นใหม่ รู้สึกอายในความเป็นมอญ บางคนไม่พูดภาษามอญ บ้างก็พูดไม่ได้เลย

 

"เราคิดจะเปิดวิชาสอนภาษามอญ โดยใช้ปราชญ์ชาวมอญเป็นอาจารย์สอนการอ่าน การเขียน การพูด และการฟัง คิดมาหลายปีเพิ่งสำเร็จเมื่อต้นปี และเริ่มสอนแก่นักเรียนชั้น ป.4-6 ของโรงเรียนวัดม่วงก่อน ตั้งแต่ภาคการเรียนแรกของปี 2555"

 

"จากนั้นจนถึงวันนี้นานราว 5 เดือน เด็กๆ เหล่านั้นก็เข้าใจตัวตนและวัฒนธรรมของมอญมากขึ้น สื่อสารภาษามอญในที่สาธารณะ โดยไม่รู้สึกอาย เพราะเพื่อนๆ ที่ไม่มีเชื้อสายมอญก็ได้เรียนและสื่อสารได้เหมือนกัน" สอางค์ พรหมอินทร์ กล่าว

 

"หากจะบอกว่า คนมอญปัจจุบัน สิ้นแผ่นดิน ไม่สิ้นชาติ ก็คงไม่ผิดนัก เพราะแม้จะทิ้งหลักแหล่งที่ใด สำนึกในความเป็นมอญที่ยังดำรงอยู่ สิ่งนั้นคือความเชื่อมั่นและศรัทธาในพุทธศาสนาเถรวาท ที่ใช้ภาษาและอักษรมอญบันทึกและถ่ายทอดขนบ ประเพณี พิธีกรรม ความรู้ และจริยธรรมสืบมาแต่อดีตจนปัจจุบัน"

 

ดังหลักฐานในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง ที่ส่วนใหญ่เป็นข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย หรือศาสนวัตถุอย่างธรรมาสน์ของสงฆ์ และพุทธคัมภีร์อย่างชาวมอญ เป็นต้น โดยแทบทั้งหมดชาวมอญบ้านโป่งและมอญโพธารามนำมามอบเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

 

"ทุกวันนี้ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เป็นแหล่งความรู้เรื่องมอญศึกษา ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับวัดม่วง ริมแม่น้ำแม่กลอง เปิดบริการเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. หากต้องการเข้าชมในวันธรรมดา ก็สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ รับจัดอาหารพื้นบ้านแบบมอญ เช่น แกงบอน น้ำปลายำ แกงมะตาด หรือปลากริมเผือก ในราคาชาวบ้าน"

 

นักเรียนนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจ สามารถใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเรื่อง "มอญ" ในมิติต่างๆ ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษา ขนบธรรมเนียบประเพณี วิถีชีวิต และยังเป็นสถานที่รวบรวมศิลปวัตถุที่มีคุณค่าจำนวนมาก สามารถบอกเล่าเรื่องราวชาวมอญได้เป็นอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

 

นอกจากนี้ ยังเป็นแบบอย่างของการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมโดยชุมชนท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างดี จนทำให้พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแวะเวียนมาศึกษาหาความรู้ไม่ขาดสาย

 

"แม้ว่าวัฒนธรรม ขนบประเพณีมอญกำลังเผชิญหน้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมรุนแรง แต่เมื่อถึงเทศกาลงานบุญ ชาวบ้านจะรวมตัวกันพร้อมหน้า อันมีส่วนทำให้ประเพณีและวัฒนธรรมมอญ สามารถดำรงอยู่ในสังคม"

 

 

"จุดกำเนิดพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง"

 

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดม่วง จัดตั้งขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลสมัย เฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม 2535 โดยได้รับพระราชทานคำแนะนำจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

โดยชาวบ้านวัดม่วง อ.บ้านโป่ง ร่วมมือร่วมใจกับมหาวิทยาลัยศิลปากร รวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่พระสงฆ์วัดม่วงได้รวบรวมไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นใหม่ สมเด็จพระเทพรัตนฯเสด็จเปิดเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536

 

คณะกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) โดยขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ เล็งเห็นคุณค่าของแหล่งเรียนรู้ จึงสนับสนุนด้วยการทอดกฐินสามัคคี หาทุนมาปรับปรุงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แล้วจัดตั้ง "ศูนย์มอญศึกษา" ขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2546 มีผู้บริจาคทั้งสิ้น 1,017,171.99 บาท แล้วมอบให้วัดม่วง ร่วมกับอาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

หน้า 20

 


http://goo.gl/bb8mv

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น