วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สานเสวนา.."ภิกษุณี" พลิกรัฐธรรมนูญ ผ่าทางตันหญิงขอ"บวช" โดย ศิวพร อ่องศรี


สานเสวนา.."ภิกษุณี" พลิกรัฐธรรมนูญ ผ่าทางตันหญิงขอ"บวช" โดย ศิวพร อ่องศรี มติชน 4 ธันวาคม 2555




ประเทศไทยในช่วงก่อนศตวรรษที่ 20 ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ที่สามารถยืนยันถึงการมีอยู่ของภิกษุสงฆ์ในนิกายใดๆ แต่ในศตวรรษที่ 20 ระหว่างปี พ.ศ.2471-2473 ได้ปรากฏบันทึกกรณีการอุปสมบทเป็นภิกษุณีในประเทศไทย 

ต่อมาปี พ.ศ.2471 ประเทศไทยมีข้อห้ามภิกษุหรือสามเณรบวชผู้หญิงให้เป็นภิกษุณี สามเณรี หรือสิกขมานา จนเป็นเหตุให้ปัจจุบันโครงสร้างพุทธบริษัทในประเทศไทยมีเพียง 3 พุทธบริษัท ได้แก่ ภิกษุ อุบาสก และอุบาสิกาเท่านั้น

จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา สถานภาพของภิกษุณีเถรวาทสายศรีลังกาได้เปลี่ยนแปลงไป โดยภิกษุสงฆ์สายศรีลังกาเริ่มทำพิธีอุปสมบทภิกษุณีตามพระวินัยฝ่ายเถรวาทให้กับผู้หญิงชาวพุทธทั่วโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย และศรีลังกา โดยเป็นการร่วมมือของภิกษุและภิกษุณีมหายาน (ตามที่มีในวินัยธรรมกุปตะ) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในสงฆ์ฝ่ายมหายาน ในประเทศจีน ไต้หวัน เกาหลี และเวียดนาม

แต่สุดท้ายพระภิกษุณีเถรวาทสายศรีลังกายังถูกลิดรอนสิทธิและไม่ได้รับการรับรองสถานภาพทางกฎหมายในการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับทางราชการ อาทิ การขออนุญาตตั้งวัด การมีหนังสือราชการรับรองสถานภาพภิกษุณี เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมและขจัดการที่รัฐลิดรอนสิทธิหรือทำให้เสียประโยชน์อันควรมีควรได้ของพระภิกษุณีเถรวาทสายศรีลังกาพึงได้รับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 วรรคสอง 

คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โดยคณะอนุกรรมาธิการกฎหมายป้องกันการทุจริต และเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม ร่วมกับ มูลนิธิอีพีเอธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาเรื่อง "ภิกษุณี : จุดเปลี่ยนพุทธศักราช 2541 กับหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 37" เพื่อนำข้อสรุปที่ได้ยื่นต่อรัฐสภาและหวังให้กระบวนการรัฐช่วยผลักดันการบวชภิกษุณีสายเถรวาทในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ และถูกต้องตามกฎหมาย 

ภาพโดย ป่าน ศรนารายณ์ www.thongthailand.com



ภิกษุณีธัมมนันทา เจ้าอาวาสวัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม เล่าถึงการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทว่า หลังจากปี พ.ศ.2541 ที่มีการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทที่ประเทศศรีลังกาเป็นการอุปสมบทที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ เมื่อปี พ.ศ.2544 ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรีในประเทศศรีลังกา 

"ต่อมาในปี พ.ศ.2546 ดร.ฉัตรสุมาลย์ได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีในประเทศศรีลังกา การอุปสมบทครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกของการอุปสมบทภิกษุณีชาวไทยในฝ่ายเถรวาท ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับจากมหาเถรสมาคมของประเทศไทย เพราะได้รับการสืบสานการอุปสมบทภิกษุณีมาจากมหายาน และต่อมามีผู้หญิงไทยหลายคนเดินทางไปประเทศศรีลังกาเพื่อเข้าการอุปสมบทและเพื่อสืบสานพระธรรมวินัยของภิกษุณี" ภิกษุณีธัมมนันทาเล่า

ภิกษุณีธัมมนันทายังบอกอีกว่า ปัจจุบันมีภิกษุณีเถรวาทสายศรีลังกาในประเทศไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 20 รูป และสามเณรีเถรวาทสายศรีลังกาไม่ต่ำกว่า 30 รูปที่บวชจากศรีลังกาและได้กลับมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่ประเทศไทย อีกทั้งเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2555 ที่ผ่านมาที่ประเทศเวียดนาม ได้มีการบวชภิกษุณีสายเถรวาทนานาชาติเป็นครั้งแรกที่สมบูรณ์พร้อมโดยทำตามทุกขั้นตอนตามขนบธรรมเนียมประเพณี จากนาคินีได้บรรพชาเป็นสามเณรีและบวชเป็นภิกษุณีในที่สุด จึงเกิดคำถามว่าผ่านมาแล้ว 10 กว่าปี ประเทศไทยในฐานะที่นับถือพุทธสายเถรวาทเช่นกัน กลับไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ และมองว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงจะมีสิทธิใฝ่รู้พระธรรมได้เท่าเทียมกับผู้ชาย 



ในขณะที่ รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า การที่ผู้หญิงอยากบวชเป็นภิกษุณีนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และการดำรงอยู่ในรูปของนักบวชนั้นเป็นการเอื้อต่อการปฏิบัติธรรมให้สามารถทำได้อย่างเข้มข้น เพียงแต่ที่ประเทศไทยยังทำไม่ได้เพราะมีความขัดแย้งด้านกฎหมายทางโลกอยู่

"ไม่ว่ากฎหมายฉบับอื่นๆ จะระบุไว้อย่างไร แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 มีความชัดเจนในเรื่องการยอมรับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม โดยมีมาตราพิเศษให้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับชายหลายประการด้วยกัน จุดนี้จึงอยากให้รัฐเข้ามาดูแลให้ข้อกำหนดที่เขียนเป็นกฎขึ้นมาเพื่อให้เกิดเป็นผลอย่างแท้จริง ด้วยการออกเป็นกฎหมายบัญญัติ มีการรับรองโดยรัฐ และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเหมือนกับฝ่ายภิกษุ ไม่เช่นนั้นสังคมไทยคงเป็นสังคมที่แปลก เพราะมอบโอกาสให้แค่ผู้ชายแต่ผู้หญิงกลับถูกกีดกัน" รศ.มาลีบอก

ส่วนทางด้านพระภิกษุสงฆ์ พระดุษฎี เมธังกุโร เจ้าอาวาสวัดทุ่งไผ่ จ.ชุมพร บอกถึงหนทางที่ประเทศไทยจะมีภิกษุณีว่า จะต้องตั้งให้เป็นคณะสงฆ์อื่นตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.สงฆ์ หรืออาจจะยกเลิก พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับปัจจุบัน แล้วจึงตั้ง พ.ร.บ.ขึ้นมาใหม่ โดยแบ่งเป็น พ.ร.บ.ฝ่ายสงฆ์ชายและสงฆ์หญิง ที่พร้อมด้วยบทบัญญัติและเงินสวัสดิการอย่างเท่าเทียมจากรัฐ

"อาตมาไม่แน่ใจว่าที่หลายฝ่ายมีอคติกับการนำภิกษุณีกลับมาสู่ประเทศไทยนั้น เป็นเพราะผลประโยชน์และความอยากมีอำนาจ รวมถึงเม็ดเงินที่สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติได้รับจากรัฐที่เพิ่มจาก 2,000 ล้านบาทต่อปี เป็น 4,000 ล้านบาทต่อปี หรือไม่ ตรงนี้อยากให้สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติได้ชี้แจงและเปิดใจมากขึ้น" พระดุษฎี เมธังกุโร บอก

ในขณะที่ ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมแห่งประเทศไทย บอกว่า การไม่ยอมรับภิกษุณีสายเถรวาทในประเทศไทย ไม่ได้เกิดมาจากพระสังฆราชไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีข้อความพระบัญชาใดระบุว่าพระชั้นผู้ใหญ่คัดค้านในเรื่องนี้ แต่เป็นเพราะอคติที่อยู่ในใจ และไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมายฉบับใด เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสไว้ให้แล้ว ส่วนตัวคิดว่าแก้ความคิดที่กรมศาสนาก็น่าจะจบได้ ซึ่งทางกรมศาสนาก็ควรจะชี้แจงให้ได้ด้วย มีอะไรปกปิดซ่อนเร้นหรือไม่ จนทำให้ภิกษุณีถูกเอาเปรียบอยู่อย่างนี้

ภิกษุณี จะได้รับมีสิทธิเท่าเทียมกับพระภิกษุสงฆ์หรือไม่ 
คงต้องติดตามกันต่อไป!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น