วันจันทร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2555

"พระปกเกล้า" ชง กมธ. ปรองดอง พท. จะเลือก "นิรโทษกรรม" แบบไหน?

 

หลังจากทำงานมาได้  4 เดือน ในวันอังคารที่ 13 มี.ค.นี้ "คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร" ที่มี พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน  จะนัดประชุมกรรมาธิการทั้งหมดเพื่อลงมติชี้ขาดถึงแนวทางการสร้างความปรองดอง เป็นข้อเสนอ ส่งให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ว่า แนวทางไหนเหมาะที่สุดในปัจจุบัน

การลงมติครั้งนี้จะพิจารณาจากข้อเสนอของ "สถาบันพระปกเกล้า" ที่กรรมาธิการมอบหมายให้ไปศึกษาแนวทางการสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง   พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า  รายงานชิ้นนี้ มาจากการศึกษาจากทั้งเชิงทฤษฎี กรณีศึกษาปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างความปรองดองในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยเอกสารมีความหนา 100 กว่าหน้า

ข้อเสนอปรองดองของสถาบันพระปกเกล้ามี 2 ทางเลือก คือ 1.นิรโทษกรรมในทุกกรณี และ 2. นิรโทษกรรมแต่เว้นผู้ที่กระทำความผิด โดยในแต่ละทางเลือกจะมีความเห็นทั้งผลดีและผลเสียเสนอประกอบไปให้ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณา  สำหรับ  คณะกรรมาธิการวิสามัญปรองดองฯ มีจำนวน 38คน  แม้จะมาจากทุกพรรค แต่ส่วนใหญ่เป็นกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยตามสัดส่วนเสียงข้างมากในสภา

"ทีมงานปฏิรูป" คัดสาระสำคัญในงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้ามานำเสนอตามข้อมูลข้างล่าง

----
1. การจัดการกับความจริง   - จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ พบว่า ภาพรวมการจัดการกับความจริงมักมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่สอบสวนหาความจริง  ยกเว้นกรณีประเทศโบลิเวียที่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการในด้านการหาข้อเท็จจริง เนื่องจากสังคมได้ลงประชามติให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือใน อาเจะห์แม้จะมีข้อตกลงร่วมกันที่จะหาข้อเท็จจริง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่เกิดขึ้น

งานวิจัยมีข้อเสนอแนะเรื่องการจัดการกับความจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งนี้ว่า

- ควรเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อสาธารณะภายในเงื่อนเวลาที่เหมาะสม

- การกำหนดให้เปิดเผยข้อเท็จจริง ควรเป็นการศึกษาเพื่อเรียบเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต

- จะต้องไม่มีการระบุตัวบุคคลในเหตุการณ์ต่างๆ

- เพื่อให้ศึกษาปรากฎการณ์ สังคมจะได้เรียนรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในอนาคต  และเป็นการสร้างฉันทามติร่วมกันเพื่อหามาตรการป้องกัน

ไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

- สนับสนุนบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) 

ให้ค้นหาความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสียให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน

- หน่วยงานของรัฐจะต้องให้ความร่วมมือกับ คอป. ในการตรวจสอบค้นหาความจริง ต้องมีการกำหนดงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้น

2. การให้อภัย ผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย 

เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา และผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย

ทางเลือกที่หนึ่ง - ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทำความผิดตามพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน

ทางเลือกนี้ถือเอาเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดเป็นตัวตั้ง และให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยนิรโทษกรรมทั้งคดีการกระทำความผิดตามพรก.ฉุกเฉิน และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง เช่น การทำลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน ให้ถือเสมือนว่า ไม่เคยมีการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นมาก่อนเลย หากผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องระงับการสอบสวนหรือฟ้องร้องแล้วแต่กรณีนั้นเสีย แต่หากได้ถูกฟ้องร้องต่อศาลแล้ว พนักงานอัยการต้องดำเนินการถอนฟ้อง ถ้าพนักงานอัยการไม่ถอนฟ้องเมื่อจำเลยร้องขอหรือศาลเห็นเอง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องหรือจำหน่ายคดีไปและสิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปด้วย หากคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาลแล้ว ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำหรือ หากผู้กระทำความผิดกำลังรับการลงโทษก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและให้ถือเสมือนว่า ผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดมาก่อน  ศาลจะพิพากษาเพิ่มโทษโดยอ้างว่า เป็นการกระทำความผิดซ้ำไม่ได้ จะไม่รอการลงโทษหรือไม่รอลงอาญาก็ไม่ได้เช่นเดียวกันเพราะกฎหมายนิรโทษกรรมถือว่า ผู้นั้นไม่เคยกระทำความผิดใดๆมาก่อน เป็นการลบความผิดที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อให้สังคมเดินต่อไปได้

ลักษณะการนิรโทษเช่นนี้มีปรากฎในประเทศที่มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง เช่น เกาหลีใต้ โมร็อคโค ซึ่งเน้นไปที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ

จากคดีการเมืองและการชุมนุมทางการเมือง

ข้อดี

- ไม่เป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นปฏิปักษ์ทางการเมือง ซึ่งการยกเลิกความผิดไปทั้งหหดจะเป็นการลด "เงื่อนไข" 

ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงทุกฝ่ายได้

- สังคมต้องการความสงบสุข และเดินหน้าต่อไปได้

ข้อสังเกต

- ลำพังแต่การนิรโทษกรรมนั้น มีผลในด้านการยุติการดำเนินคดีทางกฎหมายเท่านั้น แต่ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในทางอื่นนั้นก็ยังมีอยู่ จึงควรร่วมกับกระบวนการอื่น เช่น การเยียวยาความเสียหาย  ซึ่งการดำเนินมาตรการควบคู่ไปกับการนิรโทษกรรมนี้มีหลายประเทศ เช่น ในชิลีมีการจ่ายค่าชดเชยและมีมาตรการเยียวยา หรือ ในโมร็อคโคที่มีการตั้งคณะกรรมการรับฟังความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์

- ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงอาจยังไม่พอใจ และต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำผิด  รวมทั้งการขอโทษจากคู่กรณีเพราะการนิรโทษกรรมจะเป็นการ "ลบ" ทางของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจะเรียกร้องให้ผู้กระทำผิดมารับผิดชอบการกระทำของตัวเอง  ด้านหนึ่ง การนิรโทษกรรมเช่นนี้เป็นการปลดข้อจำกัดที่สังคมจะเดินต่อไปข้างหน้าโดยไม่ต้องพะวงกับความผิดของผู้เกี่ยวข้อง แต่ด้านหนึ่งก็เป็นการทิ้งผู้ที่ได้รับความเสียหายจากผู้ถูกกระทำในบางกรณี เพราะเขาเหล่านั้นจะไม่อาจเรียกร้องการเอาโทษต่อผู้กระทำความผิดได้อีกแล้ว

- การนิรโทษกรรมโดยเนื้อแท้คือ การ "ไม่ต้องรับผิด ในสิ่งที่ผิด" หากเลือกใช้กระบวนการนี้จะไม่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากความผิดพลาด และอาจก่อให้เกิดความเคยชิน ต่อการไม่ต้องรับโทษ  ดังนั้น หากไม่มีการบันทึกประวัติศาสตร์และทำความจริงให้ปรากฎ ก็อาจเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันได้อีกเรื่อยๆ ในหลายประเทศจึงต้องมีกระบวนการค้นหาความจริงควบคู่ไปด้วย เช่น เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร รวันดา ทางเลือกที่สอง – ออกพรบ. นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตามพรก.ฉุกเฉิน โดยความผิดอาญาอื่นซึ่งแม้มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น เช่น การทำลานทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชนข้อดี

- เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินในช่วงเวลาหลายปี โดยผู้กระทำผิดมีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากเหง้าที่สำคัญมาจากสภาพสังคมไทยอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน  การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา ที่มีเพียงมาตรการฟ้องคดีอาญาในเชิงลงโทษมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่เหมาะสมกับสภาพปัญหา

การแยกส่วนของมูลเหตุจูงใจทางการเมืองออกจากคดีอาญาปกติที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ย่อมเป็นการรักษาคุณธรรมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่มีอยู่แล้ว ไม่ให้ปะปนกับความรับผิดกชอบที่มีมูลเหตุทางการเมือง ลักษณะเช่นนี้จึงคล้ายกับปรากฎการณ์ในการแก้ปัญหาในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง และผู้ถูกคุมขังที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมกกลุ่มก่อการร้ายโดยมีคำสั่งปล่อยโดยประธานาธิบดี แต่ไม่รวมถึงคดีที่เป็นอาชญากรรมทั่วไป

- สิทธิของผู้ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นองค์ประกอบอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นเจตนาพิเศษที่ควรได้รับการเคารพตามแนวทางเสรีประชาธิปไตย เป็นการตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวขเองกับการทำผิดที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมออกไป

- สิทธิของประชาชนที่มาชุมนุมโดยสงบได้รับการคุ้มครอง

ข้อสังเกต

- เป็นอุปสรรคต่อการสร้างบรรยากาศความปรองดอง เพราะเป็นเพียงการลดปริมาณของความขัดแย้งลง โดยยังคงมีผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากการกระทำทั้งของตนเองและผู้อื่นอยู่

- การกำหนดแยกฐานความผิดที่ยึดโยงกับเรื่องการเมืองนั้น ในทางปฏิบัติทำได้ยาก เพราะต้องมีการพิสูจน์เจตนาพิเศษว่าเป็นการกระทำเพราะการเมือง ผลที่ตามมาของการแยกเจตนาทางการเมืองออกจากเจตนากระทำผิดอาญาปกติไม่ชัดเจน อาจทำให้คนที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมยังต้องถูกลงโทษอยู่บ้าง

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ทั้งสองทางเลือกควรไม่ให้มีการนิรโทษกรรมกรณีความที่เกียวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกง่ายต่อการเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งในอนาคต นอกจากนี้จากการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหมด เห็นควรว่า ไม่ควรรวมกรณีการดำเนินคดีความผิดเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ต้องอยู่ในกระบวนนิรโทษกรรมโดยให้กรณีดังกล่วเข้าสู่กระบวนยุติธรรมตามปกติ

3. การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของคตส.

ทางเลือกที่หนึ่ง – ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้ผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลงและโอนคดีทั้งหมดให้ ปปช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่สิ้นสุดแล้ว

ข้อดี 
- กระบวนการยุติธรรมเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคมที่มีความขัดแย้งรุนแรง

- สังคมไม่รู้สึกว่า เป็นความยุติธรรมของผู้ชนะเท่านั้น เพราะคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีทั้งยกฟ้องและพิพากษาว่า มีความผิดตามข้อกล่าวหา

- สร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการ

- สิ่งที่ดำเนินการไปแล้วในกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ดำเนินต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องมีการยกเลิก เพิกถอนใดๆ

ข้อสังเกต

การยึดหลักการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด (ประกาศคมช.มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย) โดยไม่คำนึงถึงความชอบธรรม จะมีผลต่อความเป็นธรรมของสังคม

ทางเลือกที่สอง  - ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดยคตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติ โดยให้ถือว่า คดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ข้อดี 
- คืนความเป็นธรรมให้กับสังคมโดยกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม

- ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบกลับคืนมา

- ผู้ถูกตัดสินตามคำพิพากษา และมวลชนผู้สนับสนุนรู้สึกได้ว่า ได้รับความเป็นธรรม (คืนมา)

- สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับความถูกต้องชอบธรรมในกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย 

ข้อสังเกต

- บางคดีผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีสองครั้ง

- พยานหลักฐานในคดีอาจไม่ครบถ้วน ซึ่งมีผลต่อคำพิพากษาของศาล

ทางเลือกที่สาม – ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้ว

มาพิจารณาใหม่อีกครั้ง 
   

ข้อดี

- ขจัดความเคลือบแคลงและไม่เชื่อมั่นในจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขาดความชอบธรรมในด้านที่มาของอำนาจ

- สถาบันตุลาการถูกกันออกจากจุดที่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย ทำให้ดำรงรักษาความเป็นกรรมการกลางที่เป็นอิสระได้

- สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับความถูกต้องชอบธรรมในกระบวนการมากกว่าเป้าหมาย 

ข้อสังเกต

- ข้อกล่าวหาการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบไม่ได้รับการพิสูจน์โดยกระบวนการยุติธรรม

- ความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมบางฝ่ายยังดำรงอยู่

- การสร้างความปรองดองเป็นไปได้ยาก เพราะบางกลุ่มเห็นว่า  ผู้กระทำผิดยังลอยนวล ไม่มีการพิสูจน์ข้อกล่าวหาว่า กระทำผิดหรือไม่

4. การกำหนดกติกาทางการเมืองซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหลัก/รัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ควรแก้ไข

- การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และ องค์กรอิสระ

ปัญหาการจัดระบบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายต่างๆ ที่เป็นกลไกหลักของการปกครองประเทศ ก็เป็นปัญหาสำคัญที่นำมาสู่ความขัดแย้งในปัจจุบัน เช่น  การที่รัฐธรรมนูญ 2540 มีเจตนารมณ์ที่จะแบ่งแยกอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติออกจากกัน โดยให้ สส.ที่เป็นฝ่ายบริหารต้องลาออกจากตำแหน่ง และ การที่ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ สส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทำให้ สส.หลายคนต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของนายกรัฐมนตรี เพราะเมื่อ สส.คนใด ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในสภาได้อีก ทำให้รัฐมนตรีไม่กล้าตัดสินใจในวิถีทางที่ผิดจากแนวทางของนายกรัฐมนตรี

ผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านยังเห็นว่า กติกาทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่อาจแก้ปัญหาการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายบริหารหรือปัญหาการที่ฝ่ายบริหารถูกตรวจสอบจากฝ่ายนิติบัญญัติและองค์กรอิสระได้น้อย อันเป็นปัญหาเผด็จการรัฐสภา หรือเผด็จการเสียงข้างมาก รวมทั้งการที่องค์กรอิสระต่างๆ ถูกมองว่ามีการแทรกแซงการทำงานและถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายคู่ขัดแย้งต่างๆอยู่ จึงควรมีการระดมความคิดเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปรับกติกาที่จะลดปัญหาดังกล่าว

- การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และการตรวจสอบองค์กรสรรหาองค์กรอิสระ

ปัญหาการได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าสู่การดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น มีปัญหาว่า องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐถูกแทรกแซง และล้มเหลวในการทำงาน ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ได้กำหนดให้บุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญบางส่วน มีที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ทำหน้าที่สรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหามาจากตัวแทนองค์กรตุลาการเป็นส่วนใหญ่

แม้ชื่อเสียงของกรรมการสรรหาจะเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยเฉพาะตัวแทนจากฝ่ายตุลาการ แต่ก็มีข้อถกเถียงว่า ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยไม่ได้มีส่วนร่วมในการสรรหาบุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะระบบได้มาซึ่งผู้พิพากษา  ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของคณะกรรมการสรรหาองค์กรเป็นระบบปิด ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการได้มาซึ่งผู้ใช้อำนาจตุลาการ ดังนั้น เมื่อคนเหล่านี้ไปเป็นกรรมการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ จึงเท่ากับประชาชนไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา และไม่มีช่องทางตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจในการคัดเลือกได้  จึงมีข้อถกเถียงกันว่า กระบวนการคัดเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในด้านที่มา และกระบวนการทำงานขององค์กรที่จะให้มีองค์กรอิสระนั้น ตรวจสอบได้ยากและมีการยึดโยงกับประชาชนน้อยมาก

- การยุบพรรคการเมืองโดยง่าย

จากการยื่นเสนอให้มีการยุบพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา ทำให้โอกาสที่พรรคการเมืองจะพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบันในระบบการเมืองได้ถูกทำลายลง ซึ่งการยุบพรรคโดยเฉพาะพรรคที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนให้มีผู้แทนในสภา เพียงเพราะเหตุกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ทำหน้าที่บางอย่าง

5. การสร้างการยอมรับต่อมุมมองประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน

กรณีนี้เป็นการจัดการด้านกระบวนทัศน์ของสังคมโดยเฉพาะในเรื่องความเห็นร่วมกันในคุณลักษณะของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการพิจารณาถึงกติกาการเมืองที่เป็นธรรม ผ่านการพิจารณาสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในฐานะกฎหมายแม่บททางการเมืองไทย ซึ่งจะต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นร่วมกันผ่านกลไกหลักในระดับชาติ ด้วยความร่วมมือจากคนไทยทั้งชาติ  หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อค้นหาจุดร่วมกันของสังคม ซึ่งจะกลายเป็นค่านิยมร่วมกันของสังคม

6. การวางรากฐานประเทศเพื่อความเป็นธรรม

ในการแก้ไขความไม่เป็นธรรมในสังคมนั้น คณะผู้วิจัยมีความเห็นสอดคล้องกับแนวทางของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่เสนอว่า "ความล้มเหลว" ของประเทศไทย เกิดจาก ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วในทุกมิติ ได้แก่ ด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจ และด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแกนนำหลักที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ด้วยเหตุนี่จึงต้องมีการปรับ "ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้มากขึ้นและมีความเท่าเทียมกัน  ทั้งทรัพยากรในรูปแบบกายภาพ และ ทรัพยากรทางอำนาจ โดยคณะกรรมการปฏิรูปได้แบ่งทรัพยากรออกเป็น 4 ประเภท คือทรัพยากรทางธรรมชาติ ทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรทางสังคม ทรัพยากรทางการเมือง อันนำไปสู่การเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ตามทรัพยากรแต่ละประเภท

ข้อเสนอของ คปร. เน้นไปที่เครื่องมือหลักๆ สองเครื่องมือ  ได้แก่ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น เช่น การปฏิรูปที่ดิน การจำกัดการถือครองที่ดิน การบริหารทรัพยากรแร่โดยหลักการความเป็นหุ้นส่วนสาธารณะ การกระจายการบริหารจัดการน้ำ ทะเล และชายฝั่งให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น การปรับโครงสร้างการบริหารการเมือง การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจรัฐ การกระจายอำนาจ การลดการรวมศูนย์และการมุ่งเน้นการกระจายผลประโยชน์ การกระจายความเป็นธรรมเพื่อแก้ปัญหาในการชดเชยโอกาสที่ผู้ขาดแคลนโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ อย่างไม่เป็นธรรม  การสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง

แนวทางการสร้างความปรองดอง จะต้องเป็นแนวทางที่ถูกผลักดันโดยรัฐบาล  ในฐานะเป็นเจ้าภาพหลักในการสื่อสารสังคมเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง  เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้สร้างให้เกิดบาดแผลและความเจ็บช้ำให้กับสังคมจึงต้องพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในรูปของตัวเงินและความรู้สึก เช่น การยกย่องให้เกียรติผู้สูญเสีย หรือการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงบทเรียนต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย เช่นเดียวกับกรณีของโคลอมเบีย โมรอคโค รวันดา แอฟริกาใต้ ชิลี เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ซึ่งได้สร้างบรรยากาศใหม่ที่มุ่งเน้นให้คนชาติมองถึงอนาคตร่วมกัน

นอกจากนี้สังคมจะต้องร่วมมือในการงดเว้นการกระทำใดๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ  เช่น การใช้มวลชนกดดันองค์กรต่างๆ ไม่ว่า องค์กรตุลาการ การปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยราชการ หรือ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีการอันผิดกฎหมาย  การยกเลิกการก่อตั้งหมู่บ้านมวลชน เนื่องจากเป็นปมขัดแย้งหลักที่สำคัญในสังคม ทั้งนี้เพื่อลดความกดดันต่อหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มบุคคลที่มีความเห็นต่างกันเพื่อให้ระบบของความยุติธรรมสามารถดำเนินการต่อไปโดยปราศจากความตรึงเครียดเพื่อให้เกิดความถูกต้องชอบธรรมตามกระบวนการยุติธรรม

ทุกฝ่ายควรลดความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมโดยยุติความเคลื่อนไหวใดๆที่อาจถูกตีความได้ว่า เป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันที่อยู่ในความเชื่อ ความศรัทธา และเป็นที่รักหวงแหนยิ่งของประชาชนคนไทย

http://www.isranews.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น