ผู้บริโภคอ่วม! บีทีเอสจ่อขึ้นค่าโดยสาร
บีทีเอส จ่อขึ้นค่าโดยสาร อ้างค่าครองชีพประชาชนเพิ่ม และเปิดบริการ 12 ปีไม่เคยปรับ ระบุ ราคาเดิมต่ำกว่ารัฐกำหนด พร้อมตั้งเป้าผู้โดยสารปีนี้โตขึ้นเฉลี่ย 6 แสนคนต่อวัน
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า ปริมาณผู้โดยสารในปีนี้คาดว่าจะสูงขึ้นเฉลี่ยเป็น 600,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมามีปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ย 570,000 คนต่อวัน เนื่องจากบริษัทได้เพิ่มจำนวนตู้โดยสารและเริ่มเปิดให้บริการส่วนต่อขยายเส้นทางฝั่งธนบุรีด้วย หลังเปิดบริการเส้นทางอ่อนนุช-แบริ่งแล้ว ดังนั้นจึงคาดว่ารายได้งวดปี 55/56 (เม.ย.55-มี.ค.56) จะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 15% ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในงวดปี 55/56 นี้จะมีการเพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟฟ้าใหม่เข้ามา 35 ตู้ ที่จะทยอยรับมอบตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป และจะมีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 5 ขบวนในปีถัดไป รวมทั้งปลายปีนี้ส่วนต่อขยายวงเวียนใหญ่-บางหว้า จะเปิดสถานีเพิ่มได้ 2-3 สถานี
สำหรับการปรับขึ้นค่าโดยสารนั้น นายคีรี กล่าวว่า ตั้งแต่บริษัทเปิดให้บริการมา 12 ปี ยังไม่เคยปรับขึ้นค่าโดยสารเลย แม้ว่าค่าครองชีพและต้นทุนค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันราคาค่าโดยสารอยู่ที่ 15-40 บาท/เที่ยว ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 15-45 บาท/เที่ยว ซึ่งตามสัญญาเราสามารถปรับขึ้นค่าโดยสารได้ตั้งนานแล้ว และสามารถเก็บค่าโดยสารได้ในอัตราสูงสุดถึง 65 บาท แม้สถานการณ์ปัจจุบันมีปัจจัยที่เอื้อให้บริษัทปรับขึ้นค่าโดยสาร ทั้งรายได้เงินเดือนของประชาชนที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัทที่เพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่จะขอปรับขึ้นราคา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา ต้องรอจังหวะที่เหมาะสมด้วย
"ปีนี้มีโอกาสที่จะพิจารณาปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร แต่ยังไม่ได้พิจารณาตอนนี้ โดยบริษัทจะพยายามดึงราคาค่าโดยสารเดิมให้นานที่สุด เพราะกรุงเทพมหานครอาจเริ่มคิดค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายอ่อนนุช-แบริ่ง 15 บาท จากปัจจุบันให้บริการฟรี ก็จะทำให้ผู้โดยสารรับภาระมากขึ้นอยู่แล้ว"
ส่วนกรณีตั๋วร่วมระหว่างบีทีเอสกับรถไฟฟ้าใต้ดินนั้นคาดว่าจะเปิดตัวได้ใน เดือนเม.ย.นี้ ซึ่งเลื่อนจากกำหนดการเดิมจากปลายปี 2554 เพราะติดปัญหาน้ำท่วม ซึ่งการเปิดบริการตั๋วร่วมนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร
นายคีรี กล่าวถึงการรุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการเดินรถไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลัก ส่วนอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นธุรกิจเสริม ดังนั้นการลงทุนหรือขยายโครงการคอนโดมิเนียมเพิ่มเติมจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากปัญหาสินค้าล้นตลาดจนเกิดวิกฤติเหมือนในอดีต แม้บริษัทจะมีที่ดินทำเลดีเกาะติดเส้นทางรถไฟฟ้าซึ่งตีมูลค่าได้มากกว่าหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นตามเส้นทางรถไฟฟ้าจำนวนมาก เราจึงไม่ต้องการเร่งออกโครงการใหม่ๆ ขึ้น ทั้งนี้ ขณะนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทมี 1 โครงการ คือ โครงการ Abstracts ลาดพร้าว ที่จะรับรู้รายได้อย่างมีนัยสำคัญในงวดปี 55-56
สำหรับ ผลการดำเนินงวดไตรมาส 3 ของบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง มีรายได้รวม 6,985 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,746 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างรายได้ของบริษัท มาจากธุรกิจรถไฟฟ้า 65-70% ของรายได้รวม ธุรกิจสื่อโฆษณา 20-25% ที่เหลือเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ ซึ่งบริษัทฯรับจ้างบริหารจัดการโรงแรมโดยผ่านการดำเนินงานของบริษัท แอ๊บโซลูท โฮเต็ล เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่บีทีเอสถือหุ้นอยู่ 50% โดยบริษัท แอ๊บโซลูทฯ ดำเนินการบริหารจัดการโรงแรมภายใต้เครือ ยู โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ทั้งในและต่างประเทศรวม 87 แห่ง และล่าสุดมองโอกาสเข้าไปบริหารจัดการโรงแรมที่พม่าด้วย
โดย: ทีมข่าวเศรษฐกิจ
1 มีนาคม 2555, 20:28 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น