คุยเปิดอก รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผอ.คนแรก รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
โรงพยาบาลมิติใหม่ ของ การบริการทางการแพทย์
เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตากันอย่างดี สำหรับแพทย์ประจำพระองค์ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัย โปรดเกล้าฯให้เป็นผู้ถวายงานในการเข็นพระเก้าอี้เลื่อน ทุกครั้งที่เสด็จฯลงจากที่ประทับชั้น 16 ตึกเฉลิมพระเกียรติ รพ.ศิริราช "รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน" อดีตหัวหน้าศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปัจจุบันได้รับหน้าที่ใหม่อันท้าทายในตำแหน่ง ผู้อำนวยการคนแรก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลรัฐแห่งแรกที่มีรูปแบบบริหารจัดการแบบเอกชน ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการในปลายเดือนเมษายนศกนี้
นอกจากจะทำงานด้านบริหารแล้ว รศ.นพ.ประดิษฐ์ หรือ "อาจารย์หมอประดิษฐ์" ยังคงปฏิบัติหน้าที่ทั้งในด้านการรักษาผู้ป่วยทั่วไป, งานด้านการสอนและงานวิจัยที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช พยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเริ่มเข้ารับราชการสังกัดสาขาวิชาหทัยวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา ทั้งยังได้รับการยกย่องและรางวัลบุคลากรดีเด่น จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ถึง 2 ครั้งในปี 2544 และ 2550
อาจารย์ได้เข้าเฝ้าฯถวายการรักษาพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
"เมื่อ 17 ปีที่แล้ว คือปี 2538 ผมอยู่ในทีมถวายการรักษาพระหทัยครับ"
ตอนนั้นรู้สึกอย่างไรคะ
"การได้รักษาพยาบาลพ่อกับแม่ของเรา เราก็ภูมิใจมากแล้ว แต่เรามีโอกาสได้ถวายการรักษาพระองค์ท่าน ก็ต้องยิ่งกว่า เรียกว่าเป็นความภูมิใจที่สุดแล้ว ส่วนในความตื่นเต้นก็มีบ้าง แต่มีคนสอนผมว่า พยายามรักษาคนไข้ทุกคนให้เหมือนกัน ไม่คิดว่าเป็นใคร จะได้ไม่ผิดพลาด ความตื่นเต้นก็จะไม่มี"
ขอเรียนถามอาจารย์ถึงพระอาการพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวบ้าง คิดว่าประชาชนทุกคนคงอยากทราบ
"ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงดี และทรงมีวินัยมาก จะทรงพระดำเนินฝึกซ้อมเดิน และทรงจักรยานเป็นประจำ อีกทั้งยังทรงงานอยู่เป็นประจำ งานของพระองค์ท่านเยอะมาก"
ในส่วนงานตำแหน่งใหม่ของอาจารย์ตอนนี้เป็นที่จับตามองของสังคม!
"คงเป็นเพราะโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นมิติใหม่แห่งการบริการทางแพทย์ ที่ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เปิดรูปแบบการบริหารโรงพยาบาลแนวใหม่ ที่มีแนวคิดเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ คือ ผู้ป่วยเป็นผู้รับบริการทางการแพทย์แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลดำรงเจตนารมณ์ในด้านการพัฒนาแพทย์และการดูแลสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"
แนวคิดในการก่อตั้งโรงพยาบาลมาจากอะไรคะ
"ต้องย้อนไปในช่วงปี 2545-2546 ที่รัฐบาลอยากให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ออกนอกระบบ และเลี้ยงตัวเองได้ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นหนึ่งองค์กรที่ถูกบังคับให้ออกนอกระบบราชการ ผู้บริหารขณะนั้นคิดว่าถ้าเราต้องเลี้ยงตัวเอง ต้องทำอย่างไร จะเพิ่มค่าหน่วยกิตคงไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เป็นระบบการค้า จะเลือกขึ้นราคาการบริการทางการแพทย์ก็ไม่ได้ จึงเป็นที่มาที่ไปที่เราน่าจะมีอะไรให้บริการทางการแพทย์อีกรูปแบบหนึ่งมารองรับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย จะได้ไม่มีปัญหาในเรื่องการเลี้ยงตัวเอง เราจึงทำโครงการนำร่องขนาดเล็ก ด้วยการคิดที่จะเปิดศูนย์โรคหัวใจสมเด็จ พระบรมราชินีนาถ หรือ The Heart by Siriraj คิดในปี 2546 เปิดดำเนินการในปี 2549 เป็นโมเดลนำร่อง 20 เตียง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงในรอบ 120 ปีของศิริราชจากระบบราชการมาสู่การบริหารแบบเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างดี
ส่วนโครงการใหญ่นี้เกิดจากรัฐบาลคุณทักษิณ เล็งเห็นว่าโรงพยาบาลศิริราชมีพื้นที่แออัด จึงมีโครงการที่จะสร้างเป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ ให้ศิริราชกลายเป็นศูนย์การแพทย์ในเอเชีย โดยขยายพื้นที่ด้านติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือ SiPH เป็นส่วนหนึ่งในนั้น นอกจากนี้ ยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ที่สมบูรณ์แห่งแรกในประเทศไทย และมีสถาบันวิจัย รวมทั้งยังจะมีสวนสมุนไพรไทย พืชพรรณโบราณทั้งหมด"
รูปแบบโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ต่างจากโรงพยาบาลศิริราชอย่างไรคะ
"SiPH จะเป็นการบริหารใหม่ที่มีประสิทธิภาพและคล่องตัว รวมทั้งสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ในลักษณะเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน ในอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ผู้ป่วยสามารถรองรับค่าบริการทางการแพทย์ด้วยตนเองได้ในระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการของภาครัฐ SiPH เป็นโรงพยาบาลที่ไม่หวังผลกำไร เพราะกำไรจะกลับคืนสู่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันและรักษาบุคลากรให้อยู่ในระบบ กันสมองไหลได้ส่วนหนึ่ง"
นับเป็นการสร้างมิติใหม่ให้ศิริราชเลยนะคะ แล้วกระแสตอบรับเป็นอย่างไรบ้างคะ
"ตอนเราเริ่มโครงการนำร่อง The Heart เราไม่เคยถูกกระแสสังคมต่อต้านเลย เพราะเราไม่ได้เปิดตัวเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง ไม่ได้เน้นผลกำไร และเป็นโครงการเล็ก เลยไม่มีอะไร แต่ SiPH เป็นโครงการใหญ่ เราเชื่อมั่นในวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ซึ่งคนที่มาร่วมงานกับเราก็ได้ทราบถึงหลักการทำงานและวัฒนธรรมของศิริราช ยึดมั่นจริยธรรม โจทย์เรามีชัดเจน แต่ในความรู้สึกของคนจะถูกใจหรือไม่ ต้องอาศัยทีมงาน ทำงานให้ได้ประโยชน์ต่อสังคมโดยภาพรวม สำหรับในส่วนของคนศิริราช เราได้ทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่นี้หลายสิบรอบ ให้มีความเข้าใจมากขึ้น จนคนศิริราชเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร แต่จะเห็นด้วยหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง"
บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลจะมาจากโรงพยาบาลศิริราชทั้งหมดไหมคะ
"เราอยากได้วัฒนธรรมศิริราช ในส่วนของพยาบาลชุดแรกจะมีการยืมตัวจากโรงพยาบาลศิริราชจำนวนหนึ่งมา ช่วยเป็นแกนหลัก เพื่อพัฒนาบุคลากรใหม่ที่เราเปิดรับ ช่วงปีแรก เป็น ช่วงเปลี่ยนถ่าย ต้องมีการยืมตัว แต่เปลี่ยนถ่ายกัน ไม่มาก และไม่กระทบกับโรงพยาบาลศิริราช เพราะเรามีพยาบาลกว่า 3,000 คน เรายืมมาเพียง 10% ส่วนแพทย์เราได้เปิดลงชื่อ ตามความสมัคร ใจไม่บังคับ ขึ้นอยู่กับความสนใจ ซึ่งการทำงานก็จะมีผลกระทบต่อโรงพยาบาลศิริราชน้อยมาก จะเป็นข้อดีมากกว่าเสีย ตามตัวคุณหมอได้ใกล้ ขึ้น"
ชื่อโรงพยาบาลนี้ เป็นชื่อพระราชทานด้วยใช่ไหมคะ
"ครับ คือเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2551 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม ราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารโครงการพัฒนาศิริราช สู่สถาบันการแพทย์ชั้นเลิศในเอเชียอาคเนย์ ที่บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี บางกอกน้อย และพระราชทานนามอาคารโรงพยาบาลว่า "อาคารปิยมหาราชการุณย์" จากนั้นวันที่ 6 ก.ค.ปี 2553 คณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ เลยได้มีมติให้นำชื่อพระราชทานนี้เป็นชื่อโรงพยาบาลด้วยครับ"
ในฐานะที่อาจารย์เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์คนแรก อยากทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นอย่างไรคะ
"ในเมื่อศิริราชพยาบาลเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลที่ดีที่สุดก็อยากให้โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เป็นโรงพยาบาลรัฐที่มีความคล่องตัวแบบเอกชน และดำรงเจตนารมณ์ในด้านการพัฒนาแพทย์และการดูแลสังคมไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสืบทอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อย่างยั่งยืน"
นับเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ท้าทาย ในการสร้างมิติใหม่ให้แก่การบริการทางการแพทย์ของเมืองไทย.
ทีมข่าวน้าสตรี
โดย: ทีมข่าวหน้าสตรี
26 กุมภาพันธ์ 2555, 05:45 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น