รายงาน: เมื่อตำรวจบุกบ้าน-ยึดคอม 2 ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต และกระบวนการที่ถูกมองข้าม
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเฟซบุ๊กของนักกิจกรรมและผู้สนใจการเมืองจำนวนมาก มีการเผยแพร่และพยายามตรวจสอบข่าว "เหยื่อ" คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรายล่าสุดว่า เป็นชาวนครปฐมและอาจถูกจับกุมอย่างเงียบเชียบ
เหตุการณ์นี้ไม่ต่างจากเมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้วที่ชายหนุ่มคอการเมืองประจำเฟซบุ๊กคนหนึ่งที่ใช้นามแฝงว่า "ไทยวรรษ สีทันดรสมุทร" จู่ๆ ก็หายตัวไปอย่างเงียบเชียบพร้อมข่าวลือว่าถูกจับกุม
ทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้นพร้อมกันเมื่อวันที่ 13 ธันวาคมปีที่แล้ว ทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัวภายในคืนนั้น หากแต่กรณีแรกเพิ่งมารับทราบกันในหมู่นักกิจกรรมเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ยังไม่มีการแจ้งข้อหาอย่างเป็นทางการกับทั้งคู่ เพียงแต่ถูกยึดคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ ไปตรวจค้น และมีการสอบปากคำที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยทั้งคู่เป็น 2 ใน 5 รายชื่อที่ถูกบุกค้นบ้านและเชิญตัวไปสอบปากคำ ส่วนอีก 3 รายเจ้าหน้าที่ไม่พบตัว
กรณีแรกที่กล่าวถึงเป็นหญิงวัยกลางคน ซึ่งประกอบอาชีพเปิดร้านค้าเล็กๆ และรับสอนพิเศษภาษาอังกฤษ อาศัยอยู่ในจังหวัดนครปฐม ติดตามการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่ไม่เคยไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มใดๆ เน้นตามอ่านข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต เธอตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่อาจติดตามเธอจากการที่เธอเป็นสมาชิกเว็บบอร์ดคนเหมือนกัน และเว็บบอร์ดอื่นๆ ด้วย แต่เธอยืนยันว่า ส่วนมากเป็นการติดตามอ่านกระทู้ต่างๆ โดยไม่เคยโพสต์ข้อความรุนแรง หมิ่นเหม่ใดๆ
ส่วนไทยวรรษ ชายหนุ่มวัยสามสิบกว่า บัณฑิตจากรั้วจุฬาฯ และเพิ่งรู้ตัวไม่นานนี้เองว่าป่วยเป็นโรค แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม (Asperger syndrome) ขณะนี้อาศัยอยู่บ้านในกรุงเทพฯ กับพ่อแม่ เขาพยายามหางานทำมาหลายปี แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ โรคดังกล่าวทำให้เขาตอบโต้สนทนาได้ช้ากว่าปกติ และพูดติดขัด แต่สำหรับกระบวนการคิดแล้วเขาดูเป็นแถวหน้าของบรรดาคอการเมือง โดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลทางการเมืองต่างๆ อย่างเป็นระบบและกว้างขวาง นอกจากประเด็นการเมืองและไอทีแล้ว เขายังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการ์ตูนตัวฉกาจ โดยมีพื้นที่ "ปล่อยของ" อยู่ในเว็บเด็กดี บล็อกส่วนตัว และเฟซบุ๊ก
เขาตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่เจ้าหน้าที่บุกค้นบ้านอาจเป็นเพราะเขามีปัญหากับสมาชิกคนหนึ่งในเว็บเด็กดี ซึ่งกล่าวหาว่าเขาสะสม "ข้อมูลล้มเจ้า" จากนั้นเว็บมาสเตอร์ได้ทำการแบนบทความของเขาเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวกับหมวด "ศักดินา" และ "พรรคประชาธิปัตย์" โดยสิ่งที่เขาจัดเก็บ สะสม คือ บทความที่นำมาจากที่อื่นทั้งสิ้น เช่น บทความทางวิชาการของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล จากบอร์ดฟ้าเดียวกัน บทความจากเว็บข่าวไทยอีนิวส์ บทความจากนักวิชาการหลายคนในเว็บไซต์ประชาไท รวมถึงจากเว็บสื่อกระแสหลักทั่วไป
"เรามั่นใจ เราวิจารณ์ตามข้อมูล ข้อเท็จจริง แบบที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และคนอื่นเขาก็ทำกัน และโดยส่วนมากเป็นการ copy-paste หลายครั้งยังตัดส่วนที่หมิ่นเหม่ออกด้วยซ้ำ" ไทยวรรษกล่าว
เกิดอะไรในวันที่ 13 ธ.ค.
กรณีที่เกิดขึ้นที่นครปฐม เจ้าตัวเล่าว่า ช่วงเย็นของวันที่ 13 ธ.ค.54 เจ้าหน้าที่ 14 คนจากกองปราบฯ และปอท. จู่โจมเข้ามาที่บ้าน ในขณะที่เธออยู่บ้านเพียงลำพัง
จากนั้นได้นำตัวเธอไปสอบปากคำที่สำนักงาน ปอท. ราวชั่วโมงกว่า ก่อนนำตัวกลับมาส่งบ้านในช่วงกลางดึก ส่วนอุปกรณ์ต่างๆ รวม 15 รายการนั้นถูกยึดไว้ตรวจสอบ และเพิ่งได้คืนมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ปฏิเสธที่จะให้สำเนาการสอบปากคำ หรือหมายค้น โดยให้เพียงสำเนาบัญชีอุปกรณ์ต่างๆ ที่ยึดไปตรวจ
เธอระบุว่า เท่าที่ได้อ่านหมายค้นเพียงคร่าวๆ เนื้อหาในหมายชี้ว่าเธอเป็นสมาชิกในเว็บบอร์ดคนเหมือนกัน ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามอ่านนิยายของ Hi s และเป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมให้กระทู้นี้ขึ้นหน้าแรก และยังใช้สัญลักษณ์ "คุณซาบซึ้ง" ซึ่งตำรวจระบุว่าในหมู่คนเสื้อแดงเป็นที่ทราบกันว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวเป็นการเสียดสีสถาบัน
สิ่งที่สร้างความกังวลใจให้เธอคือ เมื่อได้รับของต่างๆ กลับคืนมา พบว่า external hard disk มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลชื่อ drive ซึ่งเดิมทีเธอได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้ชื่อว่า entertainment สำหรับเก็บเอกสาร บทความทางการเมือง และส่วนที่สองใช้ชื่อว่า knowledge สำหรับเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการทำงาน เมื่อเจ้าหน้าที่ส่งมันกลับมา ปรากฏว่าส่วนแรกถูกเปลี่ยนชื่อจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยว่า "ดิสก์ที่อยู่ในเครื่อง"
"เราไม่ได้เฝ้าตอนเขาทำสำเนา เพราะเรามั่นใจว่าเราไม่ใช่คนโพสต์ ไม่ได้ทำอะไรสุ่มเสี่ยง ไม่ได้หลบซ่อน เราแสดงความเห็นส่วนตัวตามปกติ แต่พอมาเห็นแบบนี้ เราก็สงสัยว่าคุณดัดแปลงข้อมูลอะไรเราหรือเปล่า" หญิงสาวจากนครปฐมกล่าว
เช่นเดียวกับไทยวรรษที่ได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน โดยในวันรุ่งขึ้นซึ่งมีการทำสำเนาข้อมูลที่ ปอท. ทั้งคู่ปฏิเสธที่จะเฝ้าอยู่ตลอดกระบวนการเนื่องจากใช้เวลายาวนาน
"พอเห็นเจ้าหน้าที่มาที่บ้าน ผมก็ดักคอเขาก่อนเลยว่า อ๋อ พวกคุณมาล่าแม่มดออนไลน์สินะ ตำรวจก็ไม่เถียงอะไรผม...ตอนเขาโคลนข้อมูล ผมรอไม่ไหว มันเสียเวลาตั้ง 3-4 ชั่วโมง" ไทยวรรษกล่าว
กระบวนการที่ไม่ควรมองข้าม
แม้ทั้งคู่จะยังไม่ตกอยู่ในสถานะ "ผู้ต้องหา" แต่การยึดอุปกรณ์ต่างๆ ไปตรวจสอบก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องให้ความสำคัญ
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล จากเครือข่ายพลเมืองเน็ต หรือ Thai Netizen Network ระบุว่า ข้อมูลดิจิทัลเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลง (temper) ได้ง่ายมาก ดังนั้นเพื่อจะให้มันมีความน่าเชื่อถือเพียงพอสำหรับใช้เป็นหลักฐานในศาล (admissible) จำเป็นจะต้องมีกระบวนการ
บางอย่างมารองรับ เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวมีที่มาอย่างไร ระหว่างทางผ่านอะไรมาบ้าง เรียกว่า chain of custody หรือห่วงโซ่แห่งการถือครองพยานหลักฐาน
พูดง่ายๆ ว่าต้องตอบให้ได้ว่า ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นี้บันทึกมาอย่างไร หรือฮาร์ดดิสก์นี้เอามาได้อย่างไร ใครเป็นผู้นำมา ระหว่างจุดเกิดเหตุไปยังที่ทำการตรวจวิเคราะห์มีพยานหรือไม่ การตรวจวิเคราะห์ทำด้วยเครื่องมืออะไร สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้หรือไม่ เป็นต้น
อาทิตย์บอกว่า ที่ผ่านมาในการเก็บหลักฐานเหล่านี้จากผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้น ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นทุกครั้ง กรณีเดียวที่ปฏิบัติได้ค่อนข้างสมบูรณ์คือ กรณีของจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเป็นกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศมักนำไปใช้เป็นตัวอย่างเพื่อตอบคำถามกับต่างประเทศ
ถึงมาตรฐานในกระบวนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่ากระทำโดยเคร่งครัด
แต่ดูเหมือนนั่นจะเป็นกรณีเดียวที่มีคำสั่งศาลในการทำสำเนาข้อมูลโดยเฉพาะ, มีผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์เป็นพยานตลอดกระบวนการทำสำเนา (โคลน) ข้อมูล, มีการทำสำเนาข้อมูล 2 ชุดและเซ็นชื่อรับรอง โดยชุดหนึ่งนำส่งตรวจพิสูจน์หลักฐาน อีกชุดหนึ่งปิดผนึกเก็บไว้, ได้เครื่องคอมพิวเตอร์คืนทันทีเมื่อเสร็จสิ้นการโคลน โดยใช้เวลาโคลนข้อมูลราว 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะไม่นานหลังการเข้าค้นได้มีการกระจายข่าวออกไป ทำให้สาธารณะและสื่อมวลชนติดตามอยู่ตลอด
"เคยถามทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่ไอซีที เขาบอกว่าปกติจะโคลนข้อมูลแค่ชุดเดียว เพราะไม่มีงบ ฮาร์ดดิสก์แพง หรือบางครั้งก็ใช้วิธีส่งฮาร์ดดิสก์ทางไปรษณีย์เข้ามายังส่วนกลาง" อาทิตย์กล่าว
แม้ถึงที่สุด จะมีวิธีที่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลดิจิทัลดังกล่าวถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่อาทิตย์บอกว่า หากทำสำเนาไว้เพียงชุดเดียว (ชุดที่เจ้าหน้าที่นำไปตรวจวิเคราะห์) เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเดิมมันเคยเป็นอะไร เพราะไม่มีสำเนาชุดที่สองที่ปิดผนึกไว้มายืนยัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าข้อมูลที่ยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขนี้ อาจเป็นประโยชน์กับผู้ถูกกล่าวหา
เขาระบุด้วยว่า ปัญหาการเข้าถึงข้อมูล ทั้งในกรณีข้างต้นและในกรณีอื่นๆ เช่นการที่ทนายฝ่ายจำเลยไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการจราจรย้อนหลังที่ต้องการได้ (เนื่องจากกว่าที่เจ้าหน้าที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ก็เกินเวลา 90 วันตามกฎหมายไปแล้ว) ประกอบกับข้อจำกัดของทนายฝ่ายจำเลยที่จะเข้าถึงเครื่องมือในการตรวจวิเคราะห์หลักฐานอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ผ่านมาเราจึงพบว่า เมื่อคดีถึงชั้นศาล สิ่งที่ฝ่ายจำเลยทำได้จึงมีเพียงการทำให้เห็นว่าหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐหรืออัยการนั้นไม่น่าเชื่อถือ แต่ไม่สามารถท้าทายไปจนถึงขั้นให้แสดงว่าแล้วที่น่าเชื่อถือนั้นคืออะไร ทำให้ฝ่ายอัยการได้เปรียบโดยปริยาย โดยเฉพาะใน "วัฒนธรรม" ของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ผู้ถูกฟ้องต้องรับภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง แทนที่จะเป็นผู้ฟ้องที่ต้องรับภาระในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกฟ้อง ในกรณีของคดีหมิ่นฯและคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ทุกวันนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าของกรณีดังกล่าว และไม่มีใครยืนยันได้ว่ามีผู้ที่ถูกตรวจค้นเช่นนี้อีกกี่มากน้อย แต่เชื่อได้ว่าโดยส่วนใหญ่ยังดูเบา ไม่รู้ หรือไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียกร้องมาตรฐานในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่การตั้งข้อหาที่ร้ายแรงได้
"ผมเฉยๆ ไม่ได้กลัวอะไร เพราะผมจนป่านนี้ก็ยังว่างงาน ถึงจะถูกล่าแม่มดต้องไปอยู่ในคุกตารางก็ไม่ได้กระทบอะไรกับตัวผมมากอยู่แล้ว อย่างมากก็อยู่ในคุกจนถึงเวลาที่สังคมไทยยอมรับความจริง พูดความจริง และพร้อมรับผิดชอบกับมัน" ไทยวรรษกล่าว
"นี่ผมว่าจะโทรไปถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จะขอก็อปปี้ข้อมูลที่เขาทำสำเนาไว้ได้ไหม เพราะฮาร์ดดิสก์ผมที่เอากลับมามันดันเจ๊ง ถ้าจะกู้ข้อมูลต้องเสียหลายพันเลย" เหมือนไทยวรรษจะกล่าวติดตลก แต่เขาหมายความเช่นนั้นจริงๆ
Tags:
- รายงานพิเศษ
- การเมือง
- สิทธิมนุษยชน
- ไอซีที
- กระบวนการยุติธรรม
- กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
- การล่าแม่มด
- ปอท.
- พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
- พ.ร.บ.ว่าด้วยกากระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
- มาตรา 112
- ยายไฮ
- ล่าแม่มด
- สงครามไซเบอร์
- อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล
- เฟซบุ๊ก
- เว็บบอร์ดคนเหมือนกัน
- เว็บเด็กดี
- เสรีภาพอินเทอร์เน็ต
- ไทยวรรษ สีทันดรสมุทร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น