เสวนา: เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ?
กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน เสวนาตั้งคำถามต่องานฟุตบอลประเพณี ผู้ร่วมอภิปรายมอง งานบอลมิได้ส่งเสริมความสามัคคีระหว่างนศ.สองสถาบันตามที่พูดกันทั่วไป หากแต่ยิ่งปลูกฝังความเป็นสถาบันนิยม แนะ ควรนำเงินที่ใช้จัดไปส่งเสริมกองทุนการศึกษา
เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 17.00 น. ห้อง 107 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน จัดเสวนาในหัวข้อ "เรายังจะจัดงานบอลกันอีกหรือ" โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา คือ นายดิน บัวแดง นิสิตจากกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน นายกิตติพัฒน์ มณีใหญ่ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายรักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ อุปนายกองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และนายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักศึกษาจากกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย โดยมีนิสิตนักศึกษาและบุคคลทั่วไปร่วมวงเสวนากว่า 100 คน
นายดิน บัวแดงอธิบายประวัติความเป็นมาของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ โดยชี้ว่าเดิมทีเป็นกิจกรรมเตะฟุตบอลเล็กๆ ของเพื่อนนิสิตและนักศึกษาที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยเป็นกิจกรรมส่วนตัวของนิสิตนักศึกษาอย่างแท้จริง ส่วนรายได้จากการเก็บเงินค่าผ่านประตูนั้นทำไปบำรุงการกุศลอย่างเป็นรูปธรรมเช่น สร้างเรือนพักคนไข้วัณโรค บำรุงการศึกษาสองสถาบัน บำรุงรพ.ทหารบก ช่วยเหลืออัคคีภัยพิษณุโลก และโดยเสด็จพระราชกุศล สมทบทุน "อานันทมหิดล" เพื่อวิจัยโรคเรื้อน เป็นต้น แต่ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา รายได้จากงานฟุตบอลประเพณีฯ ก็เป็นไปเพื่อ "โดยเสด็จพระราชกุศล" แทบทั้งสิ้น
นายดินชี้ว่า กิจกรรมเตะฟุตบอลของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันในช่วง 20 ปีแรก (พ.ศ. 2477 – พ.ศ. 2500) ได้มีการพัฒนากิจกรรมต่างๆ ขึ้นมาอย่างสร้างสรรค์ เช่น การแปรอักษร เชียร์ลีดเดอร์หญิง รวมทั้งขบวนพาเหรดล้อการเมืองด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อมากิจกรรมเตะฟุตบอลได้พัฒนาจนมีขนาดใหญ่โตหรูหรามากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นงานระดับชาติ อย่างไรก็ตามช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นิสิตนักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ในช่วงนั้น จึงได้มีการเคลื่อนไหวต่อต้านงานฟุตบอลประเพณีอย่างเป็นรูปธรรมโดยนักศึกษาธรรมศาสตร์กลุ่มสภาหน้าโดม
เขาตั้งข้อสังเกตว่า ความเฟื่องฟูของงานฟุตบอลประเพณีฯ กับการตื่นตัวทางการเมืองของนิสิตนักศึกษามีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด คือ ในช่วงเวลาที่นิสิตนักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมืองมาก งานฟุตบอลประเพณีจะค่อนข้างซบเซา จะเห็นได้จากการยกเลิกงานฟุตบอลในปี 2516-2518 ซึ่งนักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น เช่น ออกสู่ชนบท จัดนิทรรศการต่างๆ เช่น นิทรรศการศิลปะเพื่อชีวิตบนถนนราชดำเนิน นิทรรศการจีนแดง ฯลฯ การรื้อฟื้นงานฟุตบอลประเพณีฯ หรือในเดือนมกราคม 2519 ที่มีการเปลี่ยนเนื้อหาสาระของงานบอลให้รับใช้ประชาชน ลดความฟุ่มเฟือยและเพิ่มการบำเพ็ญประโยชน์ การงดจัดงานฟุตบอลประเพณีในปี 2520 เนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และในปี พ.ศ. 2534 นักศึกษารุ่น "พฤษภาทมิฬ" ที่ตื่นตัวด้านการเมืองมาก ทำให้สมาชิกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ส่วนใหญ่ลงมติไม่จัดงานบอล นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกงานฟุตบอลประเพณีเนื่องด้วยความไม่สะดวกต่างๆ เช่น เหตุน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งนายดิน บัวแดงก็ตั้งคำถามว่า ปีนี้ก็มีเหตุน้ำท่วมใหญ่เช่นกัน ทำไมจึงไม่งดจัดงานฟุตบอลประเพณี
นายดิน บัวแดง ทิ้งท้ายด้วยการกล่าวถึงบทเพลงมาร์ชธรรมศาสตร์-จุฬา สามัคคี ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ประพันธ์ขึ้น เพื่อเน้นย้ำว่านิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาธรรมศาสตร์จะต้องรับใช้ประชาชนร่วมกัน
ต่อมานายนายรักษ์ชาติ์ วงศ์อธิชาติ กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของงานฟุตบอลประเพณี และความคุ้มทุน ซึ่งในอดีต ดร. สุรพล สุดารา อดีตประธานเชียร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยอ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อ "พิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นความสามัคคีระหว่างผู้ที่จะต้องไปใช้สมองร่วมกันรับใช้ประเทศชาติต่อไปในอนาคต" รักชาติ์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของงบประมาณ และชี้ให้เห็นว่า ความสามัคคีที่มักถูกอ้างนั้น เกิดจากการบีบบังคับและปลูกฝังโดยระบอบ SOTUS และกิจกรรมรับน้อง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังความคิดแบบสถาบันนิยม จนทุกวันนี้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็แข่งขันประชดประชันด่าทอกันอย่างรุนแรง
ตัวแทนจากอมธ. จึงสรุปว่า งานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่ได้ทำนิสิตนักศึกษาของสองสถาบันสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้น ดังมีผู้กล่าวอ้างตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ต่อประเด็นที่ว่างานฟุตบอลประเพณีเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าเพราะมีขบวนล้อการเมืองซึ่งสะท้อนภาพของสังคม นายรักษ์ชาติ์แย้งว่าไม่จริง เพราะนิสิตถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเสมอมา ทั้งโดยรัฐบาลเผด็จการของจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยสมาคมศิษย์เก่าในพระบรมราชูปถัมภ์ การมีประธานในพิธีเป็นราชวงศ์ นอกจากนี้ รักษ์ชาติชี้ว่า การควบคุมเสรีภาพมีทั้งในรูปแบบการเซ็นเซอร์เนื้อหา การใช้ความบันเทิงมอมเมาเยาวชน และแม้แต่ยกเลิกงานฟุตบอลประเพณี
สำหรับงานฟุตบอลประเพณีในปีนี้ นายรักษ์ชาติ์เห็นว่าเรื่อง มาตรา 112 เป็นเรื่องที่นิสิตถูกจำกัดไม่ให้แสดงความคิดเห็น ในขณะที่งานฟุตบอลประเพณีซึ่งมีถูกใช้ไปใน "การโฆษณาความศักดิ์สิทธิ์และส่งเสริมสถาบันนิยมอย่างล้นเกิน" ดังนั้นหากขบวนล้อการเมืองจะสะท้อนภาพใดได้ ก็คงเป็นภาพการเมืองและประชาธิปไตยที่ตกต่ำของประเทศไทยเท่านั้น
สุดท้ายนายรักษ์ชาติ์ได้เชิญชวนให้นิสิตนักศึกษาหันกลับมาทบทวนความถูกต้อง เหมาะสม ว่าจำเป็นที่จะต้องจัดงานให้ยิ่งใหญ่ อลังการ และฟุ่มเฟือยหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของงานฟุตบอลประเพณี โดยต้องดิ้นให้หลุดจากภาพมายาเพื่อมองความเป็นจริงของสังคม
นายกิตติพัฒน์ มณีใหญ่ ผู้ร่วมเสวนาคนที่สาม ตั้งคำถามเรื่องงบประมาณจำนวนมากที่ใช้ไปกับการจัดงานฟุตบอลประเพณี ซึ่งไม่มีตัวเลขที่สามารถตรวจสอบได้ และยังเสนอให้นำงบประมาณจำนวนดังกล่าวไปใช้ในกิจการที่ส่งเสริมด้านวิชาการมากกว่า เช่น ใช้เป็นกองทุนหนังสือเรียนสำหรับนิสิต นอกจากนี้ นายกิตติพัฒน์ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งานฟุตบอลประเพณีเป็นพื้นที่สำหรับให้คนกลุ่มหนึ่งออกมาขายหน้าตา ทำให้นิสิตให้ความสำคัญกับรุ่นพี่ที่เป็นดารานักแสดงมากกว่ารุ่นพี่ที่คำคุณประโยชน์ด้านอื่นๆ ให้แก่ประเทศชาติ
ต่อประเด็นเรื่องการสร้างความสามัคคีระหว่างนิสิตนักศึกษาโดยใช้งานฟุตบอลประเพณี นายกิตติพัฒน์ชี้ให้เห็นว่าตัวกิจกรรมเตะฟุตบอลที่จริงแล้วไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร เนื่องจากนิสิตนักศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้จัดกิจกรรมให้ความสำคัญกับการแสดงบนเวทีและการแปรเพลทบนแสตนด์มากกว่า และกิจกรรมอื่นๆ ก็ไม่ได้ส่งเสริมความสามัคคี เช่น หลังจากการเตะฟุตบอลจบแล้ว ก็เวทีคอนเสิร์ตของสองมหาวิทยาลัยแยกกันอยู่ โดยนายกิตติพัฒน์เสนอให้รวมเวที และให้วงดนตรีของทั้งสองมหาวิทยาลัยแสดงร่วมกัน
นายกิตติพัฒน์ฝากคำถามที่ตนมองว่าสำคัญที่สุด คือหน้าที่ของสถาบันการศึกษาซึ่งควรจะผลิตบุคคลากรออกมารับใช้ประเทศชาติประชาชน แต่นิสิตนักศึกษากลับแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน และคิดแต่ว่าจะเรียนจบเพื่อไปปกครองคนอื่น
ต่อมานายปราบ เลาหะโรจนพันธ์ ได้วิเคราะห์งานฟุตบอลประเพณีโดยใช้มุมมองในกรอบเศรษฐศาสตร์ โดยชี้ให้เห็นว่าการจัดงานฟุตบอลประเพณีไม่ใช่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หากแต่ค่าใช้จ่ายจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้เงินเดินสะพัด เกิดการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง ช่างตัดชุดเชียร์ลีดเดอร์เป็นต้น
นายปราบยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่าเป็นเรื่องปรกติที่งานฟุตบอลในปัจจุบันนี้จะมีลักษณะดังเช่นที่เห็น กล่าวคืองานฟุตบอลประเพณีเป็นภาพสะท้อนของค่านิยมทางการเมืองนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาจากชนชั้นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนพาเหรดซึ่งแสดงให้เห็นว่านิสิตนักศึกษาไม่ค่อยสนใจการเมืองเท่าไรนัก ทั้งนี้ก็เพราะนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางซึ่งไม่ค่อยตระหนักถึงความสำคัญของการเมือง ในขณะที่เด็กต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มาจากชนชั้นล่างจะตระหนักดีว่าการเมืองมีความสำคัญเพราะเกี่ยวกับปากท้องของครอบครัวโดยตรง
นอกจากนี้นายปราบยังเสนอด้วยว่างานฟุตบอลประเพณีฯ ได้ทำให้อัตลักษณ์ของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นสินค้าซึ่งซื้อขายได้ บริโภคง่าย โดยการสวมใส่อัตลักษณ์นั้นๆ คือ เพียงแค่มาร่วมงานฟุตบอลประเพณี ใส่เสื้องานฟุตบอลประเพณี ก็จะมีความเป็นนิสิตนักศึกษาของสถาบันนั้นๆ ขึ้นมาทันที
หลังจากวิทยากรทั้งสี่ท่านพูดจบแล้ว ผู้ที่มาร่วมฟังการเสวนาได้ร่วมตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอกันอย่างหลากหลาย เช่น การชื่นชมนิสิตที่ชูป้ายประท้วงงานฟุตบอลประเพณีในงานแถลงข่าว "การแข่งขันฟุตบอลประเพณี จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์" ครั้งที่ 68 เมื่อ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่อาคารจัตุรัส จามจุรี การเสนอให้รวมแสตนด์เชียร์ของสองมหาวิทยาลัย การให้นำงบประมาณไปสนับสนุนนิสิตนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมไปถึงการเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาสามารถรวมกรณีมาตรา 112 เข้าในขบวนพาเหรดได้ด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานเสวนา ยังมีกลุ่มอดีตสมาชิกองค์การบริการสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ในฐานะผู้จัดงานฟุตบอลประเพณีได้เข้าร่วมรับฟัง และชี้แจงว่าตัวเลขงบประมาณของงานฟุตบอลประเพณีปีนี้ถูกลดเหลือเพียง 2 ล้าน 6 แสนบาทเท่านั้น และค่าใช้จ่ายของงานฟุตบอลประเพณีในปีที่ผ่านๆ มาก็มีเก็บไว้เป็นเอกสารอยู่ที่ห้องของอบจ. ซึ่งเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปดูได้ อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าฟังเสวนาบางส่วนแสดงความคิดเห็นว่าอบจ. ควรนำตัวเลขดังกล่าวออกมาสู่ที่สาธารณะ
ภาพทั้งหมด จากเฟซบุ๊กกลุ่มประชาคมจุฬาฯ เพื่อประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น