วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Arab Spring ในตะวันออกกลาง : กรณีศึกษาซีเรีย (1)

 

Arab Spring ในตะวันออกกลาง : กรณีศึกษาซีเรีย (1)

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เวลา 23:23:21 น.

Share12

มุมมุสลิม
จรัญ มะลูลีม


ภูมิหลังของซีเรีย

ดินแดนโบราณของซีเรียนั้นแผ่ขยายออกไปทางตะวันออกของชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน ทางเหนือเชื่อมกับเมโสโปเตเมียซึ่งเป็นเส้นทางการค้าคู่ไปกับแม่น้ำยูเฟรติสและหุบเขากาบูร 

ในอดีตซีเรียเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรแอสซีเรียน ซึ่งถูกโค่นโดยฮัมมูราบีแห่งบาบิโลน

จากนั้นอาณาจักรอซีเมนิดก็เข้ามาซีเรียและปาเลสไตน์ จนกระทั่งถูกพิชิตโดยอเล็กซานเดอร์ มหาราช ในปี 333 ก่อนคริสตกาล

จากนั้นซีเรียได้ตกไปอยู่ใต้วัฒนธรรมของกรีกและในปี 64 ก่อนคริสตกาล ซีเรียถูกทำให้เป็นจังหวัดหนึ่งของโรมัน

ตอนปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ได้มีการต่อสู้กันระหว่างอาณาจักรไบแซนทีนและเปอร์เซียโดยชัยชนะเป็นของเปอร์เซีย เมื่อกองทหารอาหรับปรากฏขึ้นมาทางหิยาซ ซึ่งปัจจุบันเป็นแคว้นหนึ่งในซาอุดีอาระเบีย

ในศตวรรษที่ 7 อาณาจักรอันยิ่งใหญ่ทั้งสองก็อ่อนแรงลง ซีเรีย อิรัก และทางเหนือของเมโสโปเตเมียถูกพิชิตอย่างรวดเร็ว ราชวงศ์อุมัยยะฮ์ได้สถาปนากรุงดามัสกัสขึ้นเป็นเมืองหลวง แต่หลังจากการปฏิวัติของราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ใน ค.ศ.749 เมืองหลวงก็ถูกย้ายไปแบกแดด (บัฆดาด)

ในไม่ช้าก็มีราชวงศ์ต่างๆ เข้ามาปกครองซีเรียคือราชวงศ์ตูลูนิด (864-905) อิกฮ์ชีดิดส์ (935-69) และฟาฏิมียะฮ์ (969-1171) จากนั้นราชวงศ์เซลญูกก็เข้าครองดินแดน ส่วนราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ก็ยังคงปกครองเมืองตามชายฝั่ง กลุ่มต่างๆ ของชีอะฮ์ และคริสเตียนได้ปกครองบริเวณที่ราบสูงของเลบานอนและซีเรีย จากสงครามครูเสดครั้งแรกใน ค.ศ.1099 เป็นต้นไป ชาวครูเสดได้สร้างอาณาเขตปกครองขึ้นตามชายฝั่ง เศาะลาฮุดดิน (สาลาดิน) ได้ปกครองซีเรียตั้งแต่ ค.ศ.1183 แต่หลังจากเขาได้เสียชีวิตลงราชวงศ์อัยยูบิยะฮ์ก็ได้ครองเมืองต่างๆ ของซีเรีย

จากตอนต้นของศตวรรษที่ 16 เป็นต้นไปพวกมัมลูคของอียิปต์ และออตโตมานได้ต่อสู้กันเพื่อเข้าครองดินแดนอนาโตเลีย ในที่สุดสุลฏอนหรือสุลต่านสะลีมแห่งออตโตมานก็เข้ารุกรานซีเรียใน ค.ศ.1516

การปกครองของออตโตมานยังคงอยู่ในซีเรียต่อไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งออตโตมานพ่ายแพ้ต่อกองทหารของพันธมิตร อมีรไฟซ้อลของมักกะฮ์ได้เข้าสู่ดามัสกัสในเดือนตุลาคม 1918 รัฐที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของฝรั่งเศสอย่างซีเรียไม่พอใจการปกครองของฝรั่งเศส จนนำไปสู่การลุกฮือใน ค.ศ.1925-1927

อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสกับซีเรียสามารถบรรลุข้อตกลงระหว่างกันได้ใน ค.ศ.1936 และ 1939 นำไปสู่การได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ของซีเรียใน ค.ศ.1946



ซีเรียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2



15 ปีแรกหลังจากได้รับเอกราช ซีเรียมีชื่อเสียงในฐานะประเทศที่ไม่อาจปกครองให้สงบได้ และชุลมุนวุ่นวายที่สุดในแถบนี้ เฉพาะ ค.ศ.1949 ปีเดียวมีการรัฐประหารถึง 3 ครั้ง

ยังคงมีชาวซีเรียที่มีทรรศนะว่าดินแดนของซีเรีย คือมหาอำนาจซีเรีย (Greater Syria) ซึ่งประกอบไปด้วยเลบานอน จอร์แดน และปาเลสไตน์ ตลอดทศวรรษ 1950 อียิปต์และอิรักได้แข่งขันกันอย่างหนักเพื่อจะนำซีเรียเข้ามาอยู่ในอิทธิพลของตน มีการสนับสนุนฝ่ายต่างๆ ที่เป็นศัตรูกันในประเทศ

สงครามเย็นได้แผ่เข้ามาในดินแดนนี้ในทศวรรษ 1950 ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นอย่างลึกซึ้ง

ความเป็นกลางของซีเรียและการซื้ออาวุธจากค่ายตะวันออกก่อให้เกิดความหวาดระแวงจากสหรัฐอเมริกา และก่อให้เกิดการเข้ามายุ่งเกี่ยวจากภายนอกจนในที่สุดซีเรียก็แตกสลายจากการต่อสู้เพื่อแย่งอำนาจกัน

เป็นผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างนิกาย ชนชั้นและช่องแยกทางอุดมการณ์ภายในประเทศ

ที่สำคัญคือระหว่างผู้มีที่ดินและผู้นำทางการค้าพาณิชย์ในเมือง ชนชั้นที่เติบโตกว่าก็เห็นความจำเป็นของการปฏิรูปและการทำให้ทันสมัย

ลัทธิผนึกกำลังอาหรับ (Pan-Arab) ฝ่ายซ้าย ฝ่ายนิยมทางโลก (เช็กคิวล่าร์) และพรรคสังคมนิยมบาธ (Baath) เป็นองค์กรที่จัดการได้ดีที่สุดและมีพลังมากที่สุดที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนายทหาร ชนกลุ่มน้อยและชาวนา



การเมือง

การรวมกับอียิปต์ 

อันเนื่องมาจากปัญหาความรุนแรงภายใน การรวมกับอียิปต์ใน ค.ศ.1958 ซึ่งพรรคบาธเป็นตัวจักรอยู่นี้ดูเหมือนจะเป็นทางแก้ทางเดียว ซึ่งซีเรียก็สมัครใจที่จะหยุดตัวเองลง อย่างไรก็ตาม การรวมกับอียิปต์ไม่อาจสนองตอบความคาดหวังได้ ในไม่ช้าการควบคุมโดยอียิปต์และการปกครองที่ผิดพลาดของอียิปต์ก็ก่อให้เกิดความโกรธแค้นของชาวซีเรียตามมา

การปฏิรูปแบบสังคมนิยม แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหลายกลุ่ม แต่ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านจากชนชั้นธุรกิจของซีเรีย

ใน ค.ศ.1961 ซีเรียจึงถอนตัวออกมาจากสาธารณรัฐอาหรับ (United Arab Republic) หลังจากได้เกิดการรัฐประหารซึ่งฟื้นฟูอำนาจดั้งเดิมกลับมาอีกครั้ง



พรรคบาธและสถานภาพทางการเมืองของซีเรีย

พรรคบาธ (Baath) ได้ขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ.1963 เมื่อมีการรัฐประหารนำโดยทหาร และนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ การปฏิรูปที่ดินและการทำให้หน่วยสำคัญทางเศรษฐกิจมาเป็นของรัฐ ทำให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงด้านการกระจายความมั่งคั่ง และทำให้ชนชั้นปกครองเก่าไม่อาจท้าทายต่อแบบแผนใหม่นี้ได้

ฝ่ายชีอะฮ์อะลาวีและชนกลุ่มน้อยเข้าไปมีอำนาจกันมากมายจนทำให้ชาวซุนนีจากดามัสกัสและอเล็ปโปซึ่งผูกขาดอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอดเกิดความไม่พอใจต่อผู้ที่เข้ามามีอำนาจใหม่อย่างมาก

ในเวลาไม่นานนักพรรคการเมืองที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จพรรคเดียวก็ถือกำเนิดขึ้นโดยอำนาจที่แท้จริงอยู่กับทหาร



ภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ 

ภูมิประเทศของซีเรียแตกต่างกันไป ทางตอนเหนือมีภูเขามาก ที่สูงทีสุดของประเทศคือ ภูเขาเฮอร์มอน ที่มีความสูง 2,814 เมตร ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนดินแดนที่เหลือของประเทศตะวันออกของภูเขาเหล่านี้ประกอบไปด้วยที่ราบ ซึ่งโดยทั่วไปจะสูงกว่าระดับน้ำทะเล 300 ถึง 800 เมตร

ชายฝั่งของซีเรียมีอากาศอุ่นพอสบาย แต่มีอากาศชื้นในหน้าร้อนโดยได้รับอิทธิพลจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีอากาศชื้นซึ่งนำลมมาจากตะวันตก ซึ่งทำให้มีฝนตกหนักระหว่างเดือนพฤศจิกายน และมีนาคม

ทางเหนือของซีเรียติดกับตุรกี ทางใต้ติดกับอิสราเอลและจอร์แดน ทางตะวันตกติดกับเลบานอน ส่วนทางตะวันออกติดกับอิรัก

เป็นศูนย์กลางการเดินเรือแห่งตะวันออกกลางอันเป็นที่ติดต่อระหว่างประเทศในแถบตะวันออกกลางที่สำคัญมาก



ประชาชน 

ซีเรียมีประชากรเพิ่มอย่างรวดเร็ว ชาวซีเรียร้อยละ 48 มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ตัวเมืองได้ขยายเป็นอันมากเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชาชน และการอพยพของประชาชนจากชนบท

ตามประวัติศาสตร์แล้วซีเรียเป็นดินแดนยุทธศาสตร์ ติดต่อระหว่างยุโรปเอเชียและแอฟริกา

กองทัพอาหรับได้นำเอาศาสนาอิสลามเข้าสู่ดินแดนแถบนี้ในศตวรรษที่ 7 จากนั้นซีเรียก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปถือศาสนาอิสลามและรับเอาภาษาอาหรับมาใช้

ร้อยละ 85-90 ของประชาชนซีเรียใช้ภาษาอาหรับเป็นภาษาแรก

ชาวคูร์ดเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีมากที่สุด คือมีอยู่ร้อยละ 9 ของประชาชนทั้งหมด

ภาษาของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ใช้ก็มีอาร์เมเนี่ยน (ร้อยละ 2-3) เตอร์โกมาน และเซอร์คาสเซี่ยนส์


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1324808630&grpid=no&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น