วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อีกด้านหนึ่งของ “ก.ศ.ร.กุหลาบ” ในมุมมองของราชสำนัก (1)

 

อีกด้านหนึ่งของ "ก.ศ.ร.กุหลาบ" ในมุมมองของราชสำนัก (1)

วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เวลา 14:14:40 น.

Share14

  ไกรฤกษ์ นานา     

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์

 

ประวัติศาสตร์มีมุมมองได้ ๒ ด้านเสมอ ถ้ามีด้านบวกก็ต้องมีด้านลบ ถ้ามีผู้แพ้ก็ต้องมีผู้ชนะ และถ้ามีคนถูกก็ต้องมีคนผิด บางทีอาจมีมากกว่า ๒ ด้านด้วยซ้ำ คือไม่ใช่ทั้งถูกและผิด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองประวัติศาสตร์จากแง่มุมไหน บางครั้งคนมักจะพูดว่าผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ แต่ถ้าเรามองประวัติศาสตร์จากมุมมองของผู้แพ้บ้าง ก็จะเห็นสิ่งที่ปิดบังซ่อนเร้นอยู่ก็ได้ ในกรณีของคนดังจากอดีต เช่นก.ศ.ร.กุหลาบ นั้นมีทั้งด้านบวกและลบให้พิจารณา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้น้ำหนักด้านไหนมากกว่ากัน

 

ผมมีโอกาสอ่านบทความจากปก (Cover Story) เกี่ยวกับเรื่องราวของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในวารสารอ่าน ฉบับเดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๕๔ อ่านจบเดียวไม่พอต้องอ่าน ๒ จบ จะได้เข้าใจความคิดเห็นของท่านผู้เขียนที่ตีแผ่ได้ละเอียดลออ แสดงถึงการค้นคว้าข้อมูลมาเป็นอย่างดี ด้วยความเคารพในทัศนะต่างๆ ที่ท่านนำเสนอ

เมื่ออ่านจบก็รู้ถึงความศรัทธาของผู้เขียนที่เชื่อว่านายกุหลาบถูกปรักปรำให้ตกเป็นจำเลยของสังคมโดยไม่เป็นธรรม ในยุคที่ประชาชนเดินดินไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการ

 

วิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งเขียนขึ้นโดยชนชั้นศักดินาเป็นส่วนใหญ่ งานเขียนของนายกุหลาบจึงมีแนวโน้มจะปฏิวัติแนวคิดของศักดินาโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้ทัศนะของประชาชนระดับรากหญ้าด้วยกันจึงเห็นสมควรให้น้ำหนักความชอบธรรมต่อการกระทำของนายกุหลาบว่าไม่ควรได้รับโทษใดๆ(๑)

 

แต่นั่นก็เป็นเพียงมุมมองด้านเดียวเท่านั้น ในมุมมองอีกด้านหนึ่ง พฤติกรรมชอบกลของนายกุหลาบยังไม่ได้รับการชี้แจงว่าเขาได้ทำความผิดอะไรในสายตาของสังคมในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงถูกปรามาสว่ากระทำเกินกว่าเหตุจากคณะตุลาการที่ทางการตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาความผิดของเขาโดยเฉพาะประธานคณะตุลาการเป็นพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่คนในสังคมให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ท้ายที่สุดคำตัดสินก็ได้รับความเห็นชอบจากพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรชั้นรากหญ้าทั่วทั้งแผ่นดินในเวลานั้น ซึ่งก็มิได้มีคนชั้นรากหญ้าคนใดทัดทานหรือตั้งข้อสังเกตว่าเขาถูกปรักปรำจนเกินไปในสมัยนั้น

 

อนึ่ง คดีของนายกุหลาบเป็นคดีที่โด่งดังมากในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ สมัยรัชกาลที่ ๕ โน่น เพราะบทความที่เขาเขียนขึ้นกระทบกระเทือนสถาบันเบื้องสูง เป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้วและโปรดให้มีการไต่สวนเพื่อพิจารณาโทษ ซึ่งคดีนี้ก็หมดอายุความไปแล้วถึง ๑๑๑ ปี นับถึงปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นี้ แต่ก็ยังอุตส่าห์มีคนในสมัยปัจจุบันที่คิดว่าเขาไม่สมควรได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น และต้องการรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาอีก(๑)

 

ผมจึงเห็นความจำเป็นต้องนำข้อมูลการไต่สวนของทางการที่ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในบทความนั้นมาเปิดเผยอีกครั้งเพื่อให้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งที่ถูกปิดบังไว้

 

         การที่คนสมัยปัจจุบันเขียนวิจารณ์ในทำนองให้ท้ายนายกุหลาบว่าเขาถูกกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรม อาจสร้างความสับสนให้เข้าใจผิดว่าเขาถูกกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริง ดังนั้นควรที่เราจะกลับมาพินิจพิจารณาใหม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่อีกฝ่ายหนึ่งด้วย ตรงนี้ต่างหากที่สำคัญ เพราะคู่กรณีของนายกุหลาบไม่ได้อยู่ในสถานที่ปกป้องตนเองได้

 

ก่อนอื่น ประเด็นใหม่ที่นายกุหลาบถูกมองว่าเป็น "ไพร่" โดยแฟนพันธุ์แท้นั้นเป็นการหลงประเด็น การอุปโลกน์ว่า "นายกุหลาบเป็นไพร่ จึงผิดแหงๆ" นั้นเป็นการปรักปรำโดยปริยาย ในสมัยที่ไพร่ถูกมองว่าเป็นชนชั้น (ใหม่) ที่ควรได้รับการยอมรับอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๕๓-๕๔ และถูกนำมาเชื่อมโยงกับการเมืองของชนชั้นรากหญ้าในปัจจุบัน ที่เรียกตัวเองว่าไพร่โดยไม่จำเป็นก็เพื่อให้เห็นว่านายกุหลาบอยู่คนละขั้วกับอำมาตย์ ทั้งที่สถานะนี้ถูกยกเลิกไปนานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕(๑)

 

กุหลาบไม่ใช่ไพร่

แต่เป็นนักวิชาการนอกรีต

ทว่า ในความเป็นจริงแล้วนายกุหลาบไม่ใช่ไพร่ เขาเป็นลูกผู้ดี เป็นคนมีการศึกษา  พูดภาษาอังกฤษได้ และเป็นคนมีรากฐานมาจากครอบครัวอำมาตย์  จึงคบค้ากับชาวต่างชาติซึ่งเป็นชาวไฮโซในสังคมชั้นสูงของคนมีระดับในกรุงเทพฯ ดังเช่นที่ได้รับการยืนยันว่านายกุหลาบมีลูกค้า เช่น นายเยรินี และบรรดาฝรั่งในยุคนั้นที่ไหว้วานให้นายกุหลาบกว้านซื้อหนังสือเก่าเพื่อจัดหาส่งออกไปไว้ตามห้องสมุดในต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายของนายกุหลาบ ซึ่งมีทั้งพระ พราหมณ์ และข้าราชการทุกระดับชั้น(๑)

 

นายกุหลาบจึงมีภาพลักษณ์ที่ห่างไกลจากชนชั้นไพร่แบบลิบลับ เขามีพื้นเพมาจากครอบครัวขุนนางชั้นอำมาตย์มาแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยต้นตระกูลของเขามีนามว่า พระทุกขราษฎร์ มีตำแหน่งเป็นกรมการเมืองนครราชสีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พระทุกขราษฎร์มีลูกหลานต่อมาลงมาถึงนางตรุศ ซึ่งเป็นชั้นที่ ๕ นางตรุศได้แต่งงานกับนายเสง มีบุตรคนสุดท้องชื่อนายกุหลาบ

 

เมื่อท่านตรุศมารดาคลอดแล้วจึงได้พาทารกกุหลาบลงเรือชะล่ากลับไปยังบ้านของตน มีบ่าวไพร่พายเรือติดตามมาหลายลำ แต่ยังไม่ทันจะถึงบ้านก็มีนกแร้งตัวหนึ่งบินโผลงมาเกาะที่กราบเรือตรงที่วางเบาะทารกนั้น แร้งนั้นก้มหัวลงมาดมที่ทารกแล้วก็ผละบินออกไปจากเรือ ทั้งมารดาและญาติมิตรพากันตกตะลึงทำอะไรไม่ถูกตามๆ กัน

 

เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้กันในหมู่ญาติใกล้ชิด โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ต่างพากันลงความเห็นว่าทารกนั้นเป็นบุตรอุบาทว์ ซึ่งบิดามารดาจะเลี้ยงดูไว้ไม่ได้ เว้นเสียแต่ท่านผู้มีบุญบารมีและมีบรรดาศักดิ์สูงเท่านั้นจึงจะเลี้ยงได้(๘)

 

และนี่คือต้นเหตุที่นายกุหลาบจะได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในรั้วในวังเหตุเพราะเป็นบุตรอุบาทว์ คนธรรมดาจะเลี้ยงไว้ก็จะเป็นกาลกิณี จึงถูกส่งเข้าไปถวายตัวอยู่ในอุปการะของพระราชธิดาของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินในเวลาต่อมา

 

พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ ที่ทรงรับเลี้ยงนายกุหลาบ มีพระนามว่าพระองค์เจ้ากินรี ประทานพระเมตตากรุณาแก่นายกุหลาบอย่างหาที่เปรียบมิได้ เริ่มตั้งแต่ทรงสั่งสอนให้อ่านเขียนจนนายกุหลาบมีอายุได้ ๑๑ ปี จึงมีรับสั่งให้เจ้าพนักงานนำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กไล่กาในรัชกาลที่ ๓

 

นายกุหลาบได้รับการอบรมสั่งสอนเฉกเช่นลูกขุนนางทั่วไป ได้เรียนหนังสือบาลี สันสกฤต และขอม กับพระราชมุนี (เอี่ยม) แล้วจึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ได้รับพระราชทานนามว่าสามเณรเกศะโร (ต่อมาใช้เป็นอักษรย่อนำหน้าชื่อว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ - ผู้เขียน)

 

ต่อมานายกุหลาบก็หันมาเอาดีทางโลกโดยสึกออกมาพักอาศัยที่ตำหนักหม่อมเจ้าหญิงน้อยหน่า บริเวณป้อมพระสุเมรุ บางลำพู แต่พระองค์เจ้ากินรีผู้ทรงชุบเลี้ยงนายกุหลาบดั่งบุตรบุญธรรมก็ยังประทานข้าวของและอุปการะนายกุหลาบมาโดยตลอด นายกุหลาบเคยทำบัญชีให้เห็นของมีค่าที่ได้รับประทานมามีเพชรพลอย ทอง นาค เงิน และของแปลกๆ เช่น หีบเสียงของฝรั่ง เป็นต้น

 

พระเมตตาของพระองค์เจ้ากินรีดำเนินต่อมา แม้เมื่อนายกุหลาบออกเรือนแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๐๒  เมื่อนายกุหลาบอายุ ๒๕ ปี ก็ประทานเงินซื้อบ้าน เรือกสวนไร่นา และจัดหาผู้ใหญ่ไปสู่ขอสตรีชื่อหุ่นมาเป็นภรรยา หุ่นเป็นลูกพระพี่เลี้ยงของพระองค์เจ้ากินรีเอง และยังดูเหมือนว่าเจ้านายฝ่ายในมีพระเมตตานายกุหลาบเหมือนลูกหลานแท้ๆ โดยเมื่อนายกุหลาบมีลูกสาวคนแรก พระองค์เจ้ากินรีก็โปรดส่งคนเฝ้าทารกถึง ๓ คนมาเลี้ยงดู ทรงเย็บมุ้งและเบาะประทาน ทรงทำบายศรีเอง และทรงทำขวัญทารกน้อยเป็นทองคำถึง ๕ ตำลึง(๘)

 

หลังสึกจากพระแล้ว นายกุหลาบก็เข้ารับราชการเป็นสมุห์บัญชีในพระองค์เจ้าหญิงกินรีระยะหนึ่ง จากนั้นจึงไปเป็นเสมียนอยู่กับโรงสีไฟของฝรั่งถึง ๕ แห่ง ในจำนวนนี้มีห้างฝรั่งที่เก่าแก่และดังที่สุดของรัตนโกสินทร์ ชื่อห้างมากัว (A. Markwald Co., Ltd) จนคนเรียกติดปากว่า "เสมียนกุหลาบ" การประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างฝรั่งนานถึง ๒๕ ปี ได้พลิกผันชีวิตของนายกุหลาบสู่โลกกว้าง เขามีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ เช่น อินเดีย จีน ญวน มลายู และชวา บางตำราว่าได้ไปถึงอังกฤษและทวีปยุโรป ส่งเสริมให้นายกุหลาบมีรสนิยมไปในทางฝรั่งตะวันตก เช่น นั่งโต๊ะยาวรับประทานอาหาร ชอบจัดเลี้ยงเพื่อนฝูงตามแบบตะวันตก รวมไปถึงการชอบคบค้าสมาคมกับชาวตะวันตก(๒) และ(๘)

 

การที่นายกุหลาบคลุกคลีกับฝรั่งนานหลายทศวรรษ เขาจึงเข้าสังคมกับพวกฝรั่งได้ดีและสามารถพูดภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว แถมยังโชคดีได้ครูฝรั่งบาทหลวงคนเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ คือ บาทหลวงปาลเลอกัวซ์ เขาจึงไม่ใช่ชาวบ้านชั้นธรรมดาอย่างแน่นอน แต่มีชีวิตอยู่ในแวดวงชนชั้นอำมาตย์มาตลอด(๗)

 

ดังนั้น หากมีผู้เข้าใจผิดโดยเขียนบรรยายว่าเมื่อนายกุหลาบหาญกล้าดัดแปลงประวัติศาสตร์ของโบราณ เป็นความผิดเพราะเขาเป็นไพร่ แต่กลับอวดรู้ในสิ่งที่เขาไม่สมควรจะรู้ อวดรู้ในเรื่องที่เป็นสมบัติของชนชั้นอำมาตย์ จึงถูกดูแคลนจากวงวิชาการอำมาตย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๓ และปี พ.ศ. ๒๔๔๙ จึงเป็นการหลงประเด็น "ประการแรก" และเป็นการประเมินภาพลักษณ์ของนายกุหลาบต่ำกว่าความจริง(๑)

 

ถ้าจะอธิบายคุณสมบัติส่วนตัวของนายกุหลาบ ก็พอจะอนุมานได้ว่าเขาเป็นนักวิชาการนอกรีต ที่อวดรู้ อวดเก่ง และเย่อหยิ่งในความรอบรู้ของตนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติของพระราชวงศ์ต่างๆ ในอดีตอย่างหาตัวจับยาก แต่มีความคิดฟุ้งซ่านที่จะขยายความตามเบาะแสที่ตนรู้มาอย่างไม่มีขอบเขตโดยใช้ชั้นเชิงทางวิชาชีพและช่องทางที่ตนมีอยู่ ได้แก่ หนังสือพิมพ์และใบปลิวโฆษณาต่างๆ ที่เอกชนทั่วไปไม่มีในยุคนั้น


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1322464598&grpid=&catid=53&subcatid=5300

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น