วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

ภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม (Vitreous degeneration) และโรคจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก (Retinal detachment)

ภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม (Vitreous degeneration) และโรคจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก (Retinal detachment)

อาการน้ำวุ้นตาเสื่อม

น้ำวุ้นตา(vitreous) เป็นสารใสคล้ายเจลบรรจุอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน ให้สารอาหารแก่จอประสาทตาและเซลผนังลูกตาชั้นใน และเป็นตัวพยุงลูกตาให้คงรูปเป็นทรงกลมอยู่ได้ถ้ามีภาวะใดก็ตามที่ทำให้บางส่วนของน้ำวุ้นตาขุ่นไป เราจะรู้สึกเห็นเหมือนมีเงาลอยไปมา อาจมีรูปร่างแตกต่างกันได้หลายแบบ เช่น เป็นจุดเล็กๆคล้ายลูกน้ำ เป็นวงกลม หรือเป็นเส้น จะรู้สึกและสังเกตได้ง่ายขึ้นเวลามองไปยังพื้นผิวที่เรียบและเป็นสีอ่อน เช่น ผนังห้อง กระดาษสีขาว หรือท้องฟ้า ลักษณะอาการแบบนี้เราเรียกว่า floater
 

การเกิดน้ำวุ้นตาเสื่อมมีอันตรายหรือไม่

โดยทั่วไปเมื่อคนเราอายุมากขึ้นและเข้าสู่วัยกลางคน น้ำวุ้นตาจะมีการหดตัวและหนาตัวเป็นจุดหรือเป็นเส้นภายในลูกตา การหดตัวของน้ำวุ้นตานี้จะทำให้น้ำวุ้นตาแยกห่างออกจากจอประสาทตา รวมกันเป็นกลุ่มก้อนที่มีลักษณะทึบแสง ทำให้เห็นเป็นเงาเกิดขึ้น ถ้าการหดตัวนี้มีแรงดึงมาก อาจเกิดการดึงรั้งจอประสาทตาจนเกิดการฉีกขาด หรือเส้นเลือดที่จอประสาทตาฉีกขาดจนมีเลือดออกในน้ำวุ้นตาได้ อาจมีการหลุดลอกของจอประสาทตาตามมา ทำให้การมองเห็นในตำแหน่งที่จอประสาทตาหลุดลอกมืดไป และถ้าทิ้งไว้นานจอประสาทตาบริเวณนั้นจะตาย ทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรและมักจะลุกลามจนทำให้ตาข้างนั้นบอดได้


ดังนั้นถ้ารู้สึกว่ามีอาการมองเห็นเงาลอยไปมา หรือ floater ควรพบจักษุแพทย์เพื่อทำการตรวจจอประสาทตาอย่างละเอียดว่า น้ำวุ้นตาที่เสื่อมนี้เป็นชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือไม่ ส่วนความรู้สึกที่มีเงาลอยไปมาจะค่อยๆลดลงไปเองเมื่อเวลาผ่านไป และก่อให้เกิดความรำคาญน้อยมาก แม้ว่าในบางคนอาจยังรู้สึกอยู่ได้นานเป็นปี ไม่จำเป็นต้องให้การรักษา เนื่องจากภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อมโดยลักษณะแล้วไม่ได้ถือว่าเป็นโรค แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงตามปรกติของร่างกายเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งแตกต่างจากโรคจอประสาทตาเสื่อมที่ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง
    ข้อแนะนำสำหรับคนที่มีภาวะน้ำวุ้นตาเสื่อม
    ควรพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจจอประสาทตา เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้
  • รู้สึกว่ามีเงาดำ หรือ floater ใหม่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด
  • รู้สึกมีแสงสว่าง (flashing) คล้ายฟ้าแลบ หรือไฟแฟลชกล้องถ่ายรูปเกิดขึ้นในลูกตา
  • รู้สึกว่ามีลานสายตาผิดปรกติหรือแคบลง อาจเกิดจากมีจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก เพราะเวลาเกิดจอประสาทตาฉีกขาดจากการดึงรั้งของน้ำวุ้นตาจะเกิดที่บริเวณขอบจอประสาทตาก่อนเสมอ ทำให้ขอบภาพหายไป หรือมีลานสายตาแคบลง
เราสามารถตรวจเช็คลานสายตาได้ด้วยตนเอง โดยการใช้มือบังตาทีละข้าง ตาที่ทดสอบมองตรงไปข้างหน้า หาจุดมองที่สังเกตได้ในระยะ 3-4 เมตร ให้มองไปตรงๆ ตรงกลาง ตาไม่กลอก แล้วสังเกตว่าถ้าเรามองไปตรงๆ โดยตาไม่กลอกไปมา เราจะมองเห็นขอบเขตของภาพได้กว้างไกลแค่ไหน ขอบเขตของภาพที่เราสามารถมองเห็นได้นี้เรียกว่า ลานสายตา ถ้ามีการฉีกขาดและหลุดลอกของจอประสาทตา ขอบภาพจะมืดหายไป หรือเห็นภาพได้แคบลง ควรมองที่ตำแหน่งเดิมซ้ำทุกครั้ง เพื่อให้สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย

การฉายแสงเลเซอร์รอบรอยฉีกขาดที่จอประสาทตา (Laser-retinoplexy)


จี้ความเย็นบริเวณรูขาด (Cryo-retinoplexy)       ฉีดก๊าซกดปิดรอยขาด (Pneumoretinoplexy)


การทำ scleral buckling ช่วยลดแรงดึงของน้ำวุ้นตาที่จอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาราบติดกลับเข้าที่ได้

การรักษาจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก

หลักการรักษาคือ จะต้องปิดรอยขาด และทำให้จอประสาทกลับติดไปเหมือนเดิม ซึ่งทำได้หลายวิธีขึ้นกับความรุนแรงของโรค ตำแหน่งที่ฉีกขาดและลักษณะของลูกตา เช่น การฉายแสงเลเซอร์ที่ก่อความร้อน (photocoagulation) การจี้ด้วยความเย็น (cryocoagulation) อาจร่วมกับการฉีดก๊าซเข้าในน้ำวุ้นตาเพื่อกดจอประสาทตาที่หลุดให้ราบ (pneumoretinoplexy) หรือทำการผ่าตัดหนุนผนังลูกตาจากด้านนอก (scleral buckling) หรือผ่าตัดน้ำวุ้นตา (vitrectomy)


การผ่าตัดรักษาจอประสาทตาที่หลุดลอกให้กลับติดเข้าที่ จะสามารถช่วยลดการสูญเสียการมองเห็น และทำให้การมองเห็นฟื้นตัวได้ แต่การมองเห็นหลังผ่าตัดจะดีมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของรอยโรค ระยะเวลาและตำแหน่งที่จอประสาทตาหลุดลอก สภาพเดิมของจอประสาทตา ตลอดจนสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วยเองด้วย แพทย์จึงไม่สามารถให้การยืนยันได้ว่าหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะมองเห็นขึ้นได้ดีแค่ไหน แต่ควรจะดีกว่าก่อนผ่าตัด และถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะตาบอดในที่สุด





source : jirehdesign.com

การทำผ่าตัดน้ำวุ้นตา (Vitrectomy) รักษาจอประสาทตาฉีกขาด ให้ผลการรักษาดี และไม่ทำให้ค่าสายตาเปลี่ยนหลังผ่าตัด


ดูภาพเคลื่อนไหว

<< หน้าแรก ©๒๕๕๑ นพ.ยุทธนา สุคนธทรัพย์
http://dr.yutthana.com/retina.html
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น