วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

"ฝ่ากรงขัง:ร้องหาความเป็นธรรม" ชี้จุดอ่อนกระบวนการยุติธรรมไทย

 

"ฝ่ากรงขัง:ร้องหาความเป็นธรรม" ชี้จุดอ่อนกระบวนการยุติธรรมไทย

วันที่ 08 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 17:09:10 น.

Share 







 

คณะกรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เผยแพร่งานประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 1 เมษายน 2555 และมีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ฝ่ากรงขัง : ร้องหาความเป็นธรรม " โดยมีผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมเสวนาเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

 

 

 


นางจินตนา แก้วขาว แกนนำอนุกรักษ์บ้านกรูด  กล่าวถึง ประสบการณ์ในการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนยุติธรรมให้ผู้ร่วมเสวนาฟังว่า  เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมของรัฐในการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา 6 เดือน เป็นความโหดร้ายของกระบวนการยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่แจ้งจับตนด้วยข้อหาที่ไม่ได้มีความผิด ซึ่งการฟ้องร้องเกิดขึ้นจากการที่ตนได้เข้าไปห้ามไม่ให้มีการทะเลาะวิวาทกันระหว่างผู้ชุมนุมฝ่ายต้าน และฝ่ายหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกหินกรูด   โดยตนคิดว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือชาวบ้านจะต้องได้รับสิทธิในที่ดินทำกินและมีสิทธิในการรักษาทรัพยากรในท้องที่ของตนเอง และควรจะมีสิทธิในการได้รับความเป็นธรรมในกระบวรการยุติธรรมด้วย

 

ตนได้พยายามในการเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของภาครัฐทั้งการทำงาน EIA เพื่อร่วมหาทางออก แต่ได้พบแล้วว่ากระบวนการต่างๆเหล่านั้นเป็นแค่การสร้างภาพและเป็นแค่คำวาทกรรมที่ไม่เคยมีความจริงใจ ภาคประชาชนก็เลยจะต้องออกมาต่อสู้ในแนวทางของตนเองเหมือนที่เคยทำมา

 

"ตอนที่ติดคุก เราก็คิอว่าเราชดใช้ให้กับบ้านเกิดของเรา เราแลกการติดคุกของเรากับการได้ทรัพยากรคืนมาก็ถือว่ามันคุ้ม เราคิดเลยว่าโรงไฟฟ้าสร้างไม่ได้ เขาเสียเงินในการสร้างโรงไฟฟ้า6 หมื่นล้านบาท ถือซะว่าเราชดใช้ให้กับโรงานเดือนละ 1 หมื่นล้านบาทซึ่งถือว่าคุ้มที่จะได้อะไรเพื่อรักษาท้องถิ่นของตนเองไว้"แกนนำอนุกรักษ์บ้านกรูดระบุ

 

นายกฤษกร ศิลารักษ์ ตัวแทนจากกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวว่า เป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมเมื่อครั้งที่นำชาวบ้านไปเรียกร้องเรื่องเขื่อนราษีไศลที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน การต่อสู้ในครั้งนั้นได้มีเหตุการณ์บุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการ และครั้งนั้นถูกสั่งฟ้องในข้อหาทำน็อตของประตูเขื่อนงอและทำโซ่ของประตูเขื่อนขาดคิดเป็นจำนวนเงิน 800 บาท และคดีถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา 2 ปี แต่เมื่อถึงชั้นอุทธรณ์ศาลลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน แต่พอต่อสู้มาถึงศาลฎีกา ศาลก็ปราณีตัดสินให้รอลงอาญาเป็นระยะเวลา 2 ปี เห็นว่ากรณีการต่อสู้ของคุณจินตนาในการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมอาจจะส่งผลถึงคดีของตนด้วยก็เป็นได้ ทั้งนี้ไม่ได้มีเฉพาะตนที่กำลังถูกรอพิจารณาคดี แต่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากที่กำลังถูกสั่งฟ้องในกรณีเช่นเดียวกัน

 

"สิ่งที่พวกเราต่อสู้อาจจะทำให้เกิดความกลัวได้บ้าง แต่เมื่อเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรและธรรมชาติของเราไว้ก็จำเป็นที่จะต้องทำ และผมอยากเสนอให้มีการยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมเพราะทุกวันนี้ถ้าตำรวจไม่ชอบใครก็สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ ตำรวจไม่เคยจับคนผิดเพราะทุกคนที่ตำรวจจับนั้นต้องผิดเสมอ นอกจากนี้แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการในการผลิตบุคลากรที่จะออกมาทำงานในกระบวนการด้านยุติธรรมจะต้องมีคุณภาพ และนำความเป็นธรรมมาสู่ประชาชน" นายกฤษกรกล่าว

 

นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า "ในกรณีของคุณจินตนาที่ศาลสั่งตัดสินจำคุกเป็นเพราะเทคนิคในการต่อสู้คดี ที่ต่อสู้ว่าตนไม่ผิดตั้งแต่แรก ทำให้การพิจารณาคดีส่งผลให้ถูกตัดสินจำคุก หากแต่กรณีของคุณกฤษกรต่อสู้คดีในลักษณะของการกระทำความผิด แต่ขอให้ศาลบรรเทาโทษ จึงทำให้ศาลปราณีโดยการรอลงอาญา ทั้งนี้ประเด็นสำคัญอยู่ที่คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ระบุในตอนท้ายว่า เนื่องจากมูลเหตุที่ก่อให้เกิดการกระทำผิด สืบเนื่องมากจากการที่จำเลยและกลุ่มชาวบ้านจำนวนมากได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากโครงการของรัฐบาล และได้ทำการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐช่วยเหลือความเดือดร้อน และจำเลยไม่มีประวัติเคยทำความผิดมาก่อน

 

จึงเห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยโดยรอการลงอาญาไว้สักครั้งหนึ่งก่อน ซึ่งคำพิพากษาของศาลฎีกาที่มีออกมาในลักษณะเช่นนี้ ศาลกำลังหาแนวทางที่จะลงมาช่วยบรรเทาความทุกข์ให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการต่อสู้ของประชาชน อย่างไรก็ตามประชาชนเองก็จะต้องคำนึงถึงสิทธิของตนเองด้วย

 

"ชาวบ้านจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยแนวทางใหม่ๆ เช่นรู้จักเรื่องการทำ EIA ภาคประชาชน หรือเข้าไปเป็นคณะกรรมการร่วมอย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ภาคประชาชนเองก็ยังสามารถใช้กระบวนการและกลไกของสมัชชาเพื่อต่อสู้ได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมที่ถูกสร้างโดยภาคประชาชนเปรียบเสมือนไม้ซีกที่มีพลังมากและสามารถงัดไม้ซุงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นระบบได้" รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333876441&grpid=03&catid=03&subcatid=0305

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น