การเมืองที่ไม่ใช่การเมืองของการล้อเลียน: ว่าด้วยหลักการของ Parodyและข้อโต้แย้ง
อธิป จิตตฤกษ์
มีการกล่าวกันว่าไม่ว่าจะเป็นอำนาจใดในโลกก็หวาดกลัวเสียงหัวเราะ เสียงหัวเราะทำให้สิ่งที่มีอำนาจไร้อำนาจลงทันใดหากไม่ทำอะไรกับมัน ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าในสังคมที่อำนาจแบบดิบๆ ยังทำงานอยู่การหัวเราะเยาะผู้มีอำนาจถึงมีโทษร้ายแรง อย่างไรก็ดีในสังคมสมัยใหม่ การลงโทษรุนแรงการหัวเราะก็ดูจะเป็นการป่าเถื่อนเกินที่จะรับได้ สิทธิในการหัวเราะจึงมีทั่วไปในหมู่ผู้คน อย่าไรก็ดีการหัวเราะในยุคสมัยใหม่ก็ดูจะต้องมีเหตุผลมารองรับความชอบบธรรมเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในสังคมสมัยใหม่ ผู้คนที่หัวเราะโดยไม่มีเหตุผลดูจะถูกจัดเป็นคนบ้าที่จำต้องถูกแยกออกไปจากสังคมในที่สุด
เหตุผลอันสมเหตุสมผลที่จะทำให้มนุษย์ในยุคสมัยใหม่คนหนึ่งหัวเราะก็คงจะไม่มีอะไรเกินกว่าการเรื่องตลก ดังนั้นในยุคสมัยใหม่เรื่องตลกจึงเป็นศัตรูตามธรรมชาติของอำนาจที่มีลักษณะขึงขังจริงจังอยู่อีกด้าน การท้าทายอำนาจของเรื่องตลกมีระดับที่แตกต่างกันออกไป เรื่องตลกที่เล่นอยู่กับความไม่เฉพาะเจาะจงดูจะท้าทายอำนาจน้อยกว่าเรื่องตลกที่มีความเฉพาะเจาะจงที่จะทำให้คนหัวเราะเยอะอำนาจ ซึ่งเรื่องตลกที่มีความเฉพาะเจาะจงในระดับที่กล่าวมาก็คงจะหนีไม่พ้น "การล้อเลียน" (parody) เป็นแน่
การล้อเลียนโดยกว้างที่สุดน่าจะกล่าวได้ว่าคือการนำตัวบทอ้างอิงมากระทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้อ่านตัวบทเกิดอารมณ์ขัน ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มมุมปากน้อยๆ หรือขำจนไปชักดิ้นชักงอกับพื้น ภายใต้นิยามแบบกว้างนี้การล้อเลียนเป็นสิ่งที่ทำให้หลายรูปแบบมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเก่าๆ แบบการล้อเลียนเสียงและท่าทาง หรือการวาดการ์ตูนล้อเลียน ไปจนถึงรูปแบบการล้อเลียนที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ตที่มีเทคนิคสารพัด เช่นการดึงคำพูดบางส่วนมาเปลี่ยนบริบทเพื่อสร้างความหมายใหม่ การตัดต่อภาพ การเปลี่ยนคำบรรยายภาพใหม่ที่อาจเป็นการล้อเลียนทั้งคำพูดที่ยกขิ้นมาและภาพไปพร้อมกัน เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้คงจะต้องสร้างอารรมณ์ขันให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ถึงสมควรจะจัดเป็นการล้อเลียน
ในแง่นี้แก่นสารของการล้อเลียนจึงอยู่ที่เสียงหัวเราะมากกว่าสิ่งอื่นใด งานล้อเลียนจะดีหรือไม่ดีมันจึงอยู่ที่ว่ามันตลกหรือไม่ตลก ทำให้คนขำได้หรือไม่ได้ มากกว่าจะอยู่ที่มันมีคุณค่าในแบบอื่นๆ หรือไม่ การบอกให้การล้อเลียนต้องไปรับใช้สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ศิลปะ หรือกระทั่งศาสนา จึงเป็นการนำกฏเกณฑ์ในอาณาบริเวณอื่นมากำหนดการล้อเลียนที่นักล้อเลียนมิสิทธิที่ชอบธรรมในการปฏิเสธอันไม่ได้ต่างจากที่ศิลปินจะมีสิทธิชอบธรรมในการปฏิเสธการผลิตงานศิลป์ที่รับใช้ธุรกิจ หรือที่นักธุรกิจมีสิทธิ์ชอบธรรมในการปฏิเสธการทำธุรกิจอย่างสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมือง หรือที่นักการเมืองจะมีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะมีกิจกรรมทางการเมืองภายใต้ร่มเงาศีลธรรมทางศาสนา เป็นต้น
แม้ว่าการล้อเลียนจะมุ่งไปที่การสร้างอารมณ์ชัน แต่ความขำขันของการล้อเลียนนั้นไม่เคยเป็นสากล โดยทั่วไปไม่มีการล้อเลียนใดๆ ที่จะทำให้คนทุกคนหรือฝ่ายทุกฝ่ายรู้สึกขำขันไปหมดได้ เพราะอย่างน้อยที่สุดคนหรือฝ่ายที่ถูกล้อเลียนก็มักจะไม่ตลกด้วยและฝ่ายที่ไม่ตลกด้วยทั้งหลายนี้เองที่จะไล่ปราบปรามและกำกับการล้อเลียนเท่าที่จะทำได้ และนี่ก็ดูจะเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า อำนาจอันขึงขังนั้นเกลียดและกลัวการล้อเลียนและเสียงหัวเราะเพียงใด
ในสังคมที่มีการต่อสู้กันทางการเมืองอย่างเข้มข้น การล้อเลียนอาจถูกแย้งในนามของการเมือง สำหรับนักต่อสู้ทางการเมืองการล้อเลียนจะต้องรับใช้การเมือง การล้อเลียนศัตรูทางการเมืองเป็นสิ่งที่เหมาะสม แต่การล้อเลียนฝ่ายการเมืองเดียวกันเป็นสิ่งที่ไม่สมควร เมื่อเผชิญหน้ากับการโจมตีแบบนี้นักล้อเลียนก็คงจะต้องเลือกระหว่างเป็นนักเล่นตลกในขบวนการทางการเมือง หรือเป็นนักล้อเลียนที่ผลิตงานล้อเลียนได้อย่างมีอิสระจากการกำกับควบคุมจากอุดมการณ์หรือขบวนทางการเมืองใดๆ
ในโลกทุนนิยมตอนปลาย มิติทางเศรษฐกิจก็ถูกหยิบยกมาโจมตีการล้อเลียนเช่นกันโดยเฉพาะในแง่ทรัพย์สินทางปัญญา การล้อเลียนที่ทรงพลังหลายๆ ชิ้นกับโลกทุนนิยมยืนอยู่ในการเล่นล้อกับเครื่องหมายการค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของบรรษัทที่มีลิขสิทธิ์กำกับ อย่างไรก็ดีลำพังการขู่จะฟ้องของบรรษัทเหล่านี้ก็พอจะทำให้งานล้อเลียนแบบหนึ่งๆ ออกไปจากพื้นที่สาธารณะได้อย่างสบายในทางปฏิบัติ (เพราะไม่มีใครอยากสู้คดีในชั้นศาลแม้ว่าจะมีแนวโน้มที่จะชนะ) อย่างไรก็ดีสิ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่น้อยถ้าเราจะนับว่าการล้อเลียนจัดเป็น "การวิจารณ์" ชนิดหนึ่ง เพราะมันจะทำให้การใช้สิทธิทางธุรกิจมาใช้ในการระงับการล้อเลียนเป็นไปได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าสังคมนั้นๆ เห็นสิทธิทางธุรกิจอย่างทรัยย์สินทางปัญญาสำคัญว่าสิทธิทางการเมืองอย่างสิทธิในการวิจารณ์ และแนวทางแบบนี้ก็บ่อนทำลายเสรีประชาธิปไตยอย่างแทบจะอัตโนมัติ อย่างไรก็ดีนี่ก็เป็นเรื่องใหญ่เกิดกว่าจะขยายความในที่นี้
ทางด้านศิลปินก็อาจตั้งคำถามถึงคุณค่าในทางศิลปะของงานล้อเลียนชิ้นหนึ่งๆ ได้ เขาอาจตั้งคำถามถึงประเด็นที่งานต้องการจะนำเสนอ เขาอาจมองนักล้อเลียนในฐานะของศิลปินและประเมินค่างานล้อเลียนบางชิ้นเป็นงานศิลปะที่ดี อย่างไรก็ดีถึงที่สุดนักล้อเลียนกับศิลปินก็อยู่กันคนละโลก อารมณ์ขันเป็นเพียงรูปอารมณ์หนึ่งที่ศิลปินเลือกมาใช้ได้ และคุณค่าทางศิลปะก็เป็นเพียงบางคุณค่าที่งานล้อเลียนชิ้นหนึ่งๆ อาจพึงจะมีได้ ประเด็นคืองานทั้งสองแบบก็มีธรรมชาติและคุณค่าที่แตกต่างกัน งานศิลปะชั้นเลิศอาจปราศจากซึ่งอารมณ์ขัน ในขณะที่งานล้อเลียนชั้นเลิศก็อาจปราศจากซึ่งความเป็นศิลปะได้เช่นกัน
มาทางฟากนักศีลธรรมก็อาจตั้งคำถามกับงานล้อเลียนว่าเป็นการล่วงละเมิดศาสนาในบางรูปแบบและเรียกร้องให้งานล้อเลียนต้องอยู่ภายใต้คุณค่าทางศีลธรรมและจริยธรรม ซึ่งความร้ายแรงในการละเมิดก็ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าศีลธรรมและจริยธรรมทางศาสนามันได้แทรกตัวลงไปในกฏหมายระดับชาติเพียงใด น่าสนใจว่าโครงความคิดแบบนี้ก็ปรากฏในหมู่นักต่อสู้เพื่อมนุษยชาติทั้งหลายที่ทำงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชนหรือมนุษยธรรมก็ดูจะทำงานราวกับเป็นศีลธรรมรูปสากลแบบใหม่ที่ไม่ต้องใช้พระเจ้าหรือศาสดาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไปเติบใหญ่ในกระแสความคิดที่เรียกร้องความถูกต้องทางการเมือง (political correctness)
เราสามารถจะยกตัวอย่างศัตรูของการล้อเลียนไปได้เรื่อยๆ ถ้าเราพบพื้นที่ทางสังคมที่มีกฏเกณฑ์เฉพาะของตัวมันเอง เช่น ทหารก็อาจมีเหตุผลที่จะห้ามผู้อื่นล้อเลียนความเป็นทหาร นักดนตรีคลาสสิคก็อาจเรียกร้องการเคารพบทประพันธ์ดนตรีคลาสสิค เป็นต้น ในโลกที่การล้อเลียนอำนาจศูนย์กลางไม่ผิดกฎหมาย พื้นที่การล้อเลียนทำงานอยู่ก็คือการบ่อนทำลายอำนาจในอาณาบริเวณต่างๆ ในแง่นี้การล้อเลียนจึงมีธรรมชาติเป็นอาวุธทางความคิด และนี่เป็นเหตุผลที่ทุกอาณาบริเวณทีมีกฏเกณฑ์จำต้องตอบโต้การล้อเลียน
ความสามารถในการระงับยับยั้งการล้อเลียนในสังคมสมัยใหม่หนึ่งๆ นั้นก็มีหลายระดับ การคุกคามการล้อเลียนสามารถทำได้ในหลายรูปแบบตั้งแต่การใช้กลไกการควบคุมทางสังคมอย่างการประนาม ไปจนถึงการฟ้องร้องทางแพ่ง และที่หนักหน่วงที่สุดก็คือการใช้อำนาจรัฐเอาผิดทางอาญากับนักล้อเลียน รัฐและสังคมหนึ่งๆ ก็มีความอ่อนไหวกับการล้อเลียนแต่ละรูปแบบ ในระดับที่แตกต่างกัน รัฐที่เน้นเสรีภาพทางการพูดอย่างสหรัฐอเมริกาก็อาจปกป้องการล้อเลียนในฐานะของเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้รัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดีสำหรับรัฐทุนนิยมตอนปลายต่างๆ การล้อเลียนบุคคลและผลงานของบุคคลก็สามารถจะถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิและทำให้ผู้ถูกล้อเลียนเสื่อมเสียชื่อเสียงและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้ต่างจากการหมิ่นประมาทแต่อย่างใด ซึ่งในเงี่อนไขแบบนี้การล้อเลียนก็มักจะเป็นเรื่องของกรณีพิพาททางแพ่งระหว่างบุคคลที่มักจะเป็นไปในทางแพ่งที่ผู้ถูกล้อเลียนอาจถูกฟ้องได้ทั้งหมิ่นประมาทผู้ถูกล้อเลียน และละเมิดลิขสิทธิ์ของงานที่ถูกล้อเลียน ซึ่งในแง่นี้ การเล่นมีมทั้งหลายที่แพร่หลายในอินเตอร์เน็ตก็ดูจะถูกฟ้องได้ในทางทฤษฎีทั้งสิ้น ซึ่งใครจะชนะคดีก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับศาลว่าจะเห็นสิทธิส่วนบุคคลของผู้ถูกล้อเลียน หรือจะเห็นเสรีภาพในการวิจารณ์โดยสุจริตไปจนถึงสิทธิในการใช้งานโดยชอบธรรม (fair use) ของผู้ล้อเลียนจะมีน้ำหนักมากกว่ากัน
อย่างไรก็ดี ในระดับที่สูงกว่านั้นรัฐที่ไม่ได้เป็นรัฐสมัยใหม่เต็มที่บางรัฐก็มีการตรากฏหมายเพื่อป้องกันการละเมิดสถาบันอันเป็นที่เคารพของสังคม เช่น สถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ในเงื่อนไขแบบนี้ การล้อเลียนสถาบันที่เคารพรักของสังคมเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงในแบบที่น่าจะควรมาป้ายเตือนว่า "Parodize at Your Own Risk" เนื่องจากความผิดที่เกิดจากการล้อเลียนเหล่านี้ดูจะเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงที่รัฐพร้อมจะใช้ทรัพยากรในการขจัดการล้อเลียนเหล่านี้
และนี่ก็คงจะนำเรากลับมาสู่ประเด็นแรกสุดเกี่ยวกับการล้อเลียนกับอำนาจที่ว่าคงไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคมสมัยใหม่ที่ต้องการจะถูกล้อเลียน คงไม่มีอำนาจใดๆ ที่จะต้องการถูกหัวเราะเยาะ อย่างไรก็ดีหากจะคิดในอีกตลบแล้ว การผลิตงานล้อเลียนในปัจจุบัน มันไม่ได้ทำให้อำนาจถูกคนหัวเราะเยาะเสมอไป อย่างน้อยที่สุดก็คงจะไม่มีคนสติดีที่ไม่บ้าบิ่นที่ไหนจะไปหัวเราะใส่อำนาจที่ดิบเถื่อนต่อหน้า จริงๆ แล้วในสายตาของอำนาจ อำนาจไม่เคยถูกหัวเราะเยาะ
แต่สิ่งที่งานล้อเลียนทำก็คือ สร้าง "คนที่ควรจะหัวเราะ" (subject-supposed-to-laugh) หรือคนที่จะหัวเราะกับงานล้อเลียนในจินตภาพขึ้น คนเหล่านี้จะมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวพันกับการตื่นตระหนกของอำนาจ เพราะความน่ากลัวของการล้อเลียนที่แท้จริงต่ออำนาจก็คือ การสร้างเสียงหัวเราะในจินตนาการขึ้นมาเป็นเชื้อร้ายที่กัดกินจิตใจของอำนาจ และอำนาจก็ต้องทำอะไรกับมันสักอย่างถ้าไม่ต้องการจะแสดงความไร้น้ำยามาให้เกิดเสียงหัวเราะในจินตนาการขึ้นมาอีกระลอก
ปัญหาของอำนาจในสมัยใหม่ที่ไม่ดิบจนเกินไปก็คือ มันไม่มีหลักกฎหมายใดๆ ที่จะเอาผิดงานล้อเลียนโดยตัวมันเองได้ ดังนั้นอำนาจจึงต้องใช้กฎหมายอื่นๆ มาปราบปรามการล้อเลียนแทน อย่างไรก็ดี ถ้าการล้อเลียนนั้นรัดกุมพอมันก็จะเป็นดั่งการตั้งโปรแกรมเสียงหัวเราะด้วยข้อความที่งานล้อเลียนไม่ได้กล่าวแต่ทำให้เกิดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในความคิดของผู้เสพงานล้อเลียน (นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การล้อเลียนการเปลี่ยนบริบทข้อความของผู้อื่นและรูปภาพนั้นเป็นการล้อเลียนที่ทรงพลังมาก)
ในเงื่อนไขนี้กฎหมายใดๆ ก็ดูยากที่จะทำอะไรมันได้ ดังนั้นการต่อสู้ของนักล้อเลียน VS อำนาจจึงเป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายแรกที่จะผลิตงานอย่างรัดกุมพอที่ฝ่ายหลังจะเอาผิดไม่ได้ ในขณะที่ฝ่ายหลังก็ต้องพยายามใช้กลไกทางกฏหมายอย่างมีเหตุผลผลิกแพลงในการจัดการกับการล้อเลียนให้ได้ อย่างไรก็ดีก็ต้องไม่ลืมว่าในหลายๆ ครั้งนักล้อเลียนก็อาจไม่ใช่นักอุดมการณ์อะไรแบบที่ฝ่ายอื่นๆ เอามาครอบ พวกเขาแค่อาจเป็นพวกที่อยากเล่นล้อกับอำนาจ เพียงเพราะพวกเขาการยียวนกับอำนาจโดยที่อำนาจทำอะไรไม่ได้มันช่างเย้ายวนเท่านั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น