วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

สารเคมีเข้าตา โดย แพทย์หญิง อรทัย ชาญสันติ จักษุแพทย์ประจำศูนย์แว่นตาไอซอพติก

 สารเคมีเข้าตา


โดย แพทย์หญิง อรทัย ชาญสันติ จักษุแพทย์ประจำศูนย์แว่นตาไอซอพติก

สารเคมีเข้าตาถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางตาที่ควรได้รับการรักษาเบื้องต้นโดยเร็วที่สุด แม้ว่าสารเคมีบางชนิดอาจทำให้เกิดแค่อาการระคายเคือง แต่สารเคมีอีกหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นกรด หรือด่างที่เข้มข้นอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อลูกตาของเราได้มากและนำมาสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร


โดยทั่วไปความรุนแรงของความเสียหายในลูกตาจากการสัมผัสสารเคมีขึ้นกับ ชนิดของสารเคมี ปริมาณ ความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัสสาร และความสามารถในการทะลุทะลวงของสารนั้นเข้าสู่ลูกตา อันตรายจากสารเคมีอาจมีความแตกต่างบ้างระหว่างสารที่เป็นกรด และสารที่เป็นด่าง

อัตราการเกิดภาวะสารเคมีเข้าตา

พบได้ประมาณ 10% ของผู้ป่วยโรคตา โดยมากกว่า 60% เกิดจากอุบัติเหตุจากการทำงาน และ 30% เป็นอุบัติเหตุในบ้าน สำหรับอีก 10% เกิดจากการทำร้ายร่างกายโดยเจตนา พบว่า 20% ของผู้ป่วยที่โดนสารเคมีเข้าตามีปัญหาสูญเสียการมองเห็นและทำให้เกิดความผิดปรกติบนใบหน้า

ชนิดของสารเคมีที่พบได้

สารด่าง ได้แก่สารจำพวก แอมโมเนีย  โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ปูนขาว มักพบในปุ๋ยเคมี สารทำความสะอาดทั่วไป สารทำความสะอาดห้องน้ำ สารทำความสะอาดท่อ ปูนซีเมนต์ ดอกไม้ไฟ

  

  

 

สารกรด ได้แก่สารจำพวกซัลฟูริค ไฮโดรฟูริค อะซิติดมักพบในแบตเตอรี่รถยนต์ สารขัดเงา น้ำส้มสายชู

  

 

อาการและอาการแสดง

ผู้ป่วยควรให้ประวัติแก่แพทย์ในรายละเอียดเกี่ยวกับชนิดสารที่เข้าตา ระยะเวลาที่เข้าตา การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตา เคืองตา ตาแดง สู้แสงไม่ได้ น้ำตาไหลรวมถึงตามัว แพทย์มักจะทำการล้างตาให้ในทันทีก่อนจะทำการตรวจตาอย่างละเอียด เนื่องจากหากเวลาที่สัมผัสสารยิ่งนานยิ่งก่อความเสียหายต่อลูกตาได้มาก

อาการที่พบได้มีตั้งแต่

  • ผิวกระจกตาถลอก มีตั้งแต่เป็นจุดเล็กๆ จนกระทั่งทั่วตาดำ
  • กระจกตาขุ่นขาว
  • กระจกตาทะลุ
  • ช่องหน้าลูกตาอักเสบ
  • ความดันตาสูง
  • แผลบริเวณรอบดวงตา

 

ภาพแสดงกระจกตาดำถลอก (บริเวณสีเขียว)

 

ภาพแสดงกระจกตาขาวขุ่น

 

ภาพแสดงช่องหน้าลูกตาอักเสบ

กรณีที่สารเคมีมีความรุนแรงในระยะยาวอาจทำให้กระจกขุ่นถาวร มีแผลเป็นที่ตาดำ ต้อกระจก มีแผลเป็นทั่วเยื่อบุตา และหนังตา รวมถึงลูกตาฝ่อ

 

ภาพแสดงภาวะแทรกซ้อนระยะยาว ซึ่งเกิดเป็นแผลเป็นที่เยื่อบุตา และกระจกตาดำมีการขาวขุ่น

การรักษา

  • การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการล้างตาโดยเร็วที่สุด หากเป็นไปได้ผู้ป่วยควรได้รับการล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากตั้งแต่สัมผัสสารเคมีโดยมิต้องรอจนกระทั่งมาถึงโรงพยาบาล

  • เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแพทย์ก็จะทำการล้างตาให้โดยทันทีจนกระทั่งความเป็นกรดด่างในตาหมดไป

  • การรักษาด้วยการใช้ยาขึ้นกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น แพทย์อาจให้ยาช่วยลดการอักเสบในตา ยาป้องกันการติดเชื้อ และยาที่ช่วยในการหายของแผลเปิดที่กระจกตา ยาลดความดันตา

  • การรักษาด้วยการผ่าตัด ประกอบด้วยการขูดเซลล์กระจกตาที่ตายแล้วออก และอาจมีการปลูกถ่ายเยื่อหุ้มรกเพื่อปิดแผล หรือลดการเกิดแผลเป็นตามเยื่อบุตา การปะกระจกตาที่ทะลุ หรือการเปลี่ยนกระจกตา การปลูกถ่ายเซลล์กระจกตา ซึ่งการผ่าตัดชนิดใดขึ้นกับความรุนแรงจากการโดนสารเคมีที่เกิดขึ้นและแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
  • http://www.isoptik.com/isoptik/datas/eyecare1/8-7_7.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น