วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

ประวัติและความสำคัญของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม / พระองค์ที่ ๑๔ : สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) •

รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 


ประวัติและความสำคัญของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร 
มีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๑๐,๕๖๖ ตารางวา ๑๔ ตารางศอก 
ตั้งอยู่แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่างถนนสายใหญ่คือ 
ถนนพระรามที่ ๕ ถนนศรีอยุธยา ถนนราชดำเนินนอก และถนนพิษณุโลก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 
ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณ 
และวางแบบแปลนแผนผังแยกสัดส่วนเป็นเขตพุทธาวาส สังฆาวาส 
และที่ธรณีสงฆ์สำหรับผู้อุปัฏฐากภิกษุสามเณรอยู่อาศัย 
ในเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส มีสนามหญ้าและปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น 
กุฏิที่อยู่ของภิกษุสามเณร เป็นระเบียบ ปลอดโปร่ง 
ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่มีการวางแปลนแผนผังที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง

ประวัติเดิม 

วัดเบญจมบพิตร เดิมเป็นวัดโบราณมีชื่อว่า "วัดแหลม" หรือ "วัดไทรทอง" 
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด 
จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ 
จึงปรากฏชื่อขึ้นในประวัติศาสตร์ เมื่อเจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ 
ประเทศราชของไทย ได้ก่อการกบฎยกทัพมาตีไทย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ 
(พระองค์เจ้าพนมวัน พระเจ้าลูกยาเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย 
กับเจ้าจอมศิลา ต้นราชสกุล พนมวัน) เป็นผู้บัญชาการกองทัพในส่วนการรักษาพระนคร 
โดยทรงตั้งกองบัญชาการอยู่ในบริเวณ "วัดแหลม" หรือ "วัดไทรทอง" นี้

เมื่อเสร็จสิ้นการปราบกบฏแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ 
พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระกนิษฐภาดา 
ร่วมเจ้าจอมมารดาอีก ๔ พระองค์ ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้น 
ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๐-๒๓๗๑ 
แล้วทรงสร้างพระเจดีย์ ๕ องค์ รายด้านหน้าวัดเป็นอนุสรณ์

ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า
"วัดเบญจบพิตร" ซึ่งมีความหมายว่าเป็นวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์ 
หรือวัดที่เจ้านาย ๕ พระองค์ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น

การเริ่มสถาปนา 

ในปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
รัชกาลที่ ๕ 
มีพระราชประสงค์จะทรงสร้างพระราชอุทยาน 
เป็นที่ประทับแรมสำราญพระราชอิริยาบถในวันสุดสัปดาห์ 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่บริเวณด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง 
ระหว่างคลองสามเสนกับคลองผดุงกรุงเกษม 
ซึ่งเป็นที่สวนและทุ่งนา ตามราคาจากราษฎร 
ด้วยพระราชทรัพย์สำหรับใช้จ่ายการในพระองค์ พระราชทานนามว่า "สวนดุสิต" 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มลงมือตัดไม้ ปรับพื้นที่เพื่อสร้างสวนดุสิต 
เมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๑ และได้ทำการสืบมา
จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ จึงได้เสด็จเถลิงพลับพลาเป็นครั้งแรก

การสร้างสวนดุสิต ได้ใช้พื้นที่ของวัดดุสิต หรือวัดดุสิดาราม 
ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม มีภิกษุอยู่เพียง ๑ รูป เป็นที่สร้างพลับพลา 
และที่วัดร้างอีกวัดหนึ่งตัดเป็นถนนภายในสวนดุสิตด้วย 
ประกอบกับมี "วัดเบญจบพิตร" 
ที่ชำรุดทรุดโทรมอยู่ใกล้เขตพระราชฐานด้านทิศใต้ด้วย 
จึงมีพระราชดำริที่จะทรงทำ "ผาติกรรม" 

สถาปนาวัดขึ้นใหม่ โดยมีพระราชประสงค์สำคัญคือ

๑. เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก 
เมื่อทรงใช้ที่วัดสร้างพระราชอุทยาน ก็ทรงทำ "ผาติกรรม" 
สร้างวัดขึ้นทดแทนตามประเพณี โดยสร้างเพียงวัดเดียว 
แต่ทำให้เป็นพิเศษ วิจิตรงดงาม สมควรที่จะเป็นวัดอยู่ใกล้เขตพระราชฐาน

๒. เป็นที่แสดงแบบอย่างทางการช่างของสยามประเทศ 
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 
ออกแบบก่อสร้างพระอุโบสถพร้อมพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงาม
ด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ

๓. เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณสมัยและปางต่างๆ 
ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้ประชาชนเห็นเป็นแบบอย่าง 
ภายในพระระเบียง ซุ้มมุขหลังพระอุโบสถ และซุ้มมุขด้านนอกพระระเบียง

๔. เป็นที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและวิชาชั้นสูงซึ่งทรงเรียกว่า 
"คอเลซ" (College) เป็นการเกื้อกูลแก่คณะสงฆ์มหานิกาย

๕. เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งพระองค์ 
โดยเมื่อสถาปนาขึ้นแล้วพระราชทานนามใหม่ว่า "วัดเบญจมบพิตร" 
ซึ่งหมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ กับได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ไว้ว่า 

เมื่อพระองค์สวรรคตและถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว 
ให้นำพระสรีรางคารไปบรรจุไว้ใต้รัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช 
ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ 
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคารตามพระราชประสงค์

เมื่อเริ่มการสถาปนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างในวัดเดิมทั้งหมด 
ปรับพื้นที่ก่อสร้าง สังฆเสนาสน์สำหรับพระสงฆ์สามเณรอยู่อาศัยได้ ๓๓ รูป 
เท่ากับปีที่ทรงครองราชสมบัติ โดยทรงมอบหมายให้ 
เจ้าพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา เมื่อครั้งเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราช) 
เป็นผู้รับผิดชอบ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถชั่วคราว 
เป็นอาคารไม้หลังคามุงจาก เพื่อทำสังฆกรรมไปพลางก่อน

วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ 
ซึ่งเป็นวันเสด็จเถลิงพลับพลาประทับแรมที่สวนดุสิตครั้งแรก 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเบญจมบพิตร 
ทรงประเคนประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่วิสุงคามสีมาแก่ 
สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) วัดสุทัศนเทพวราราม ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ 

สมเด็จพระวันรัต อ่านประกาศพระบรมราชูทิศในที่ประชุมสงฆ์ 
ซึ่งปรากฏข้อความในประกาศพระบรมราชูทิศตอนหนึ่งว่า

".....ทรงพระราชทานนามวัด วัดเบญจมบพิตร 
แสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์....." 


จึงถือได้ว่า วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นวันที่ 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 
ทรงประกาศสถาปนาวัดเบญจมบพิตรขึ้น แล้วได้ดำเนินการก่อสร้างเป็นลำดับมา

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๓ เมื่อการก่อสร้างสังฆเสนาสน์แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ในขั้นแรก 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่พระสงฆ์สามเณร ๓๓ รูป 
ซึ่งโปรดให้คัดเลือกได้แล้ว และให้รวมฝึกอบรมอยู่ที่ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ 
ไปอยู่วัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ 

และในคราวนี้เองได้พระราชทานที่วัดเพิ่มเติม 
และสร้อยนามต่อท้ายชื่อวัดว่า "ดุสิตวนาราม" 
เรียกรวมกันว่า "วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม" 

รูปภาพ
พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๕ 
เมื่อครั้งทรงผนวช องค์สถาปนาวัด 
และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์ 
องค์สถาปนิกผู้ออกแบบพระอุโบสถ 



ในส่วนพระอุโบสถถาวร และพระระเบียง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 
(พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ต้นราชสกุล จิตรพงศ์) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ 
เป็นสถาปนิกเขียนแบบแปลนแผนผัง และเริ่มการก่อสร้างต่อไป
พร้อมๆ กับการก่อสร้างเสนาสนะอื่นๆ

ส่วนการก่อสร้างนั้น พระยาราชสงคราม (กร หงสกุล บุตรพระยาราชสงคราม ทัด)
ช่างก่อสร้างฝีมือดีที่สุดในขณะนั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างมาตามลำดับ 

จนถึงวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต 
การก่อสร้างสังฆเสนาสน์อื่นๆ ยังไม่แล้วเสร็จครบถ้วน
ตามแผนผังที่ทรงวางไว้ การประดับตกแต่งพระอุโบสถบางส่วน
และสังฆเสนาสน์บางแห่ง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ตามพระราชประสงค์

ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ 
จึงทรงดำเนินการต่อมา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้ยกช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ขึ้น 
และเมื่อหินอ่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีเข้ามาถึงแล้ว 
ก็โปรดเกล้าฯ ให้ประดับในส่วนที่ยังค้างอยู่จนเรียบร้อย 
กับให้ช่างกรมศิลปากรเขียนผนังภายในพระอุโบสถด้วยสีน้ำมัน 
เป็นลายไทยเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาว ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรและพระระเบียงที่ประดับตกแต่งแล้ว 
จึงวิจิตรงดงามสมบูรณ์แบบด้วยศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ
อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ดังปรากฏสืบมาถึงปัจจุบัน

ส่วนพระอุโบสถไม้ชั่วคราวหลังเดิม 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อไปสร้างเป็นพระอุโบสถวัดวิเวกวายุพัด 
ตำบลคลองจิก อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

รูปภาพ
พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวิดติวงศ์ 
องค์สถาปนิกผู้ออกแบบพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม 


(มีต่อ ๑๓)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง
 

โพสต์ เมื่อ: 14 ม.ค. 2013, 17:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์ 
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1693


{ GIVEN }: { THANKS } 
{ RECEIVED }: { THANKS } 

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอุโบสถ อันถือเป็น "สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย" สร้างด้วย
หินอ่อนจากประเทศอิตาลี เป็นทรงจัตุรมุข หลังคาซ้อน ๔ ชั้น มีพระระเบียงรอบด้านหลัง 



วิจิตรพุทธศิลป์แห่งศาสนสถานและศาสนวัตถุภายในวัด 

พระอุโบสถ

ลักษณะทั่วไปของพระอุโบสถ เป็นแบบจตุรมุข มุขด้านตะวันออกขยายยาว 
ด้านเหนือและใต้มีมุขกระสันต่อกับพระระเบียง หลังคา ๔ ชั้น 
ด้านมุขกระสันทิศเหนือและทิศใต้ ๕ ชั้น มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง

ด้านหน้าพระอุโบสถ มีกำแพงแก้ว บนมุมกำแพงแก้วซ้าย-ขวา 
มีเสาคอนกรีตหัวเสาเป็นศิลาสลักรูปดอกบัวตูม 
คือเครื่องหมาย "สีมา" สำหรับด้านหน้า 
ส่วนสีมาด้านหลังพระอุโบสถ สลักรูปเสมาธรรมจักรที่แผ่นหินแกรนิตปูพื้น

ภายในกำแพงแก้ว ปูหินแกรนิตสีชมพูอ่อนและสีเทา

มุขตะวันออกมีเสากลมหินอ่อน ๔ ต้น 
ข้างบันไดหินอ่อนมีสิงห์สลักหินอ่อน ๒ ตัว 
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ 
เป็นผู้ปั้นแบบ ตามภาพที่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียน

ผนังรอบพระอุโบสถด้านนอกประดับด้วยแผ่นหินอ่อน ๔ เหลี่ยม
สีขาวบริสุทธิ์ หนา ๓ เซนติเมตร

มุขตะวันตกด้านนอก มีเสาและสิงห์เช่นเดียวกับด้านหน้า และที่ซุ้มจรนำ 
ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณ เป็นพระยืนทรงเครื่องสมัยลพบุรี ปางห้ามญาติ 
ถวายพระนามว่า "พระธรรมจักร" เพราะที่ฝ่าพระหัตถ์สลักเป็นรูปพระธรรมจักร 

กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระอังคาร
สมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร 
(พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าละม่อม ซึ่งทรงอภิบาลเลี้ยงดู
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แต่พระเยาว์มา 
ประหนึ่งสมเด็จพระราชชนนี) ใต้ฐานพระด้วย

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลำยอง ลงรักปิดทองทึบ อ่อนช้อย
รับกันทุกชิ้นมีคันทวยรับเชิงชายเป็นระยะๆ

หลังคาพระอุโบสถมุงกระเบื้องเคลือบสีเหลือง เรียกว่ากระเบื้องกาบู 
ซึ่งมีลักษณะเป็นกาบโค้งครอบแผ่นรอง เชิงชายเป็นแผ่นเทพนม 
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำกระเบื้องวัดกัลยาณมิตร 
ส่งไปเป็นตัวอย่างทำสีจากเมืองจีน

หน้าบันพระอุโบสถโปรดเกล้าฯ ให้ผูกลายประกอบพระราชลัญจกรต่างๆ คือ

๑. หน้าบันมุขตะวันออก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นพระนารายณ์ทรงครุฑ 
ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "พระครุฑพาห์" 
ในลายมีหมู่เทวดาอัญเชิญเครื่องสูงประกอบซ้ายขวาด้วย

๒. มุขตะวันตก จำหลักไม้ ผูกลายประกอบตราเป็นอุณาโลมในบุษบก 
ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "มหาอุณาโลม" หรือ "มหาโองการ" 

๓. มุขเหนือ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นช้างสามเศียร บนหลังมีบุษบก 
ซึ่งถอดจากพระราชลัญจกร "ไอยราพต" 

๔. มุขใต้ ปั้นปูน ผูกลายประกอบตราเป็นรูปจักรรถ 
ซึ่งถอดมาจากพระราชลัญจกร "จักรรถ" 
แต่เพราะพระราชลัญจกรจักรรถเหมือนกับ "พระธรรมจักร" 
จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "พระธรรมจักร" 

รูปภาพ
บานประตูพระอุโบสถ ด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพทวารบาล 
ด้านในเขียนภาพลายรดน้ำเหมือนด้านนอก 



อนึ่ง ในการผูกลายประกอบพระราชลัญจกร 
นอกจาก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ แล้ว 
ส่วนหนึ่ง พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นวรวัฒน์ศุภากร 
(พระองค์เจ้าเฉลิมลักษณวงศ์ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) 
ช่วยเขียนแบบ และอยูในกำกับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย

บานประตูด้านนอกติดแผ่นโลหะนูน ภาพเทวดารักษาประตู (ทวารบาล) 
ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนกับด้านนอก 
บานหน้าต่างด้านนอกติดแผ่นโลหะนูนภาพมาร (ยักษ์) แบก 
ด้านในเขียนลายรดน้ำภาพเหมือนด้านนอก

ภายในพระอุโบสถ มุขตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธชินราช 
ด้านหน้าพระพุทธชินราชเป็นรั้วหินอ่อนกลมสีเขียวหยก

พระแท่นรัตนบัลลังก์พระพุทธชินราช ผนังเสมอกรอบหน้าต่าง 
และพื้นพระอุโบสถ ประดับหินอ่อนหลากสี

ณ พระแท่นรัตนบัลลังก์นั้น 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระสรีรางคาร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงสถาปนาวัด

ผนังเหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไปซึ่งเป็นส่วนถือปูน 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ช่างกรมศิลปากรเขียนลายไทยเทพนมทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
สีเหลืองบนพื้นขาวอมเหลืองอ่อน ตลอดถึงเพดาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ 

รูปภาพ
กระจกรับแสง เขียนสีลายไทยเทพพนมอย่างงดงาม เหนือช่องหน้าต่าง 


เหนือหน้าต่าง ๑๐ ช่อง เป็นช่องกระจกรับแสง 
เขียนสีลายไทยเทพนม โดยช่างกรมศิลปากร 
ออกแบบสั่งทำจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ประเทศอิตาลี 
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงรับเป็นเจ้าภาพ

ด้านบน ขื่อในและขื่อนอก ๓ ชั้น ลงรักปิดทองลายรดน้ำ 
เพดานในล่องชาด ประดับดาวกระจาย ๒๓๒ ดวง ดาวใหญ่ ๑๑ ดวง 
มีโคมไฟระย้าแก้วขาวอย่างดี ตราเลข ๕ ซึ่งเป็น ตราวัดเบญจมบพิตร 
๖ โคม พร้อมสายบรอนซ์ ซึ่งสั่งทำจากประเทศเยอรมนี

ช่องคูหาทั้ง ๘ เขียนภาพสถูปเจดีย์ที่สำคัญทุกภาค 
จัดเป็น "จอมเจดีย์" ในประเทศไทย 
โดยว่าจ้างให้กรมศิลปากรออกแบบและเขียน 
แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ คือ 

พระมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี, 
พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม, 
พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช, 
พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดนครศรีอยุธยา, 
พระมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย, 
พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม, 
พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน, 
พระศรีรัตนธาตุ จังหวัดสุโขทัย

อนึ่ง เฉพาะช่อง "พระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช" นั้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับเป็นเจ้าภาพ 
ส่วน ช่อง "พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม" 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงรับเป็นเจ้าภาพ 
นอกจากนี้มีพระบรมวงศานุวงศ์ และผู้มีจิตศรัทธารับเป็นเจ้าภาพ

สำหรับหินอ่อนที่ประดับตกแต่งพระอุโบสถ พระระเบียง 
ตลอดจนสถานที่อื่นๆ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 
ทรงวัดขนาดทำแบบส่งไปเป็นตัวอย่าง 
โดยเรียกประกวดราคาโดยตรงจากบริษัทขายหินอ่อน ประเทศอิตาลี

และในการออกแบบประดับหินอ่อน มีวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียน 
จากกรมโยธาธิการ ร่วมดำเนินการด้วยคือ วิศวกร อัลเลกริ (Carlo Allegri) 
ประสานงานสั่งซื้อหินอ่อน, สถาปนิก ตะมาโย (Mario Tamagno) 
เป็นผู้ช่วยเขียนแบบบางส่วน 

สำหรับหินอ่อนทั้งหมดนั้น ได้มีการสั่งซื้อและเรียกประกวดราคาไปหลายแห่ง 
ส่วนหนึ่งเป็นหินอ่อนจาก ห้างโนวี ยัวเสปเป้ (Novi Guiseppe) เมืองเยนัว 
กับหินอ่อนจาก เมืองคาร์รารา (Carrara) ประเทศอิตาลี 
ที่ถือว่าเป็นเมืองที่มีหินอ่อนมากและดีที่สุด 

มีเอกสารหลักฐานการสั่งซื้อมากมายเป็นหลักฐาน 
มิใช่เป็นหินอ่อนที่เหลือจากสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
ดังที่นักเขียนหลายๆ คนเข้าใจและเขียนเผยแพร่อยู่ในหนังสือต่างๆ แต่อย่างใด 
โดยในช่วงแรกมี มิสเตอร์ มูโซ่ (Mr. L. Mosso) ซึ่งเป็นช่างจากบริษัทขายหินอ่อน 
เป็นนายช่างประดับหินอ่อน มีช่างคนไทยเป็นลูกมือ

รูปภาพ
สิงห์สลักหินอ่อนนั่งเฝ้าพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า 

(มีต่อ ๑๔)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง
 

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=20023

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น