วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

ภาษาศีลธรรม/ภาษาอำนาจที่ตอบโต้นิติราษฎร์

 

ภาษาศีลธรรม/ภาษาอำนาจที่ตอบโต้นิติราษฎร์

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.

Share 




โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ 

การกล่าวหาข้อเสนอนิติราษฎร์และ ครก.112 เรื่องแก้ ม.112 และข้อเสนอเรื่องแก้รัฐธรรมนูญลบล้างรัฐประหารว่า เป็นการล้มเจ้าบ้าง เป็นการเปลี่ยนระบบการปกครองบ้าง เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมบ้าง


หรือการหยิบยกเรื่องส่วนตัวขึ้นมาโจมตี กล่าวหาว่าเนรคุณ "ทุนอานันทมหิดล" เนรคุณสถาบันกษัตริย์ ไม่รู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เข้าใจ "ลักษณะพิเศษ" ของสังคมไทย ไปจนถึง "พ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอน" กระทั่งจะหาทางใช้กฎหมายเอาผิด หรือหาช่องทางดำเนินการทางกฎหมายเพื่อหยุดการเคลื่อนไหว หรือ "ปิดปาก" นิติราษฎร์ ดังที่เป็นข่าวต่อเนื่องมากว่าสองสัปดาห์นั้น


หากพิจารณาจาก "ปฏิกิริยา" ต่อนิติราษฎร์แทบทั้งหมด จะเห็นว่าภาษาที่ตอบโต้นิติราษฎร์ยังไม่ปรากฏ "ภาษาเหตุผล" ที่หนักแน่นเพียงพอ


กล่าวคือ ขณะที่นิติราษฎร์เสนอ "อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ" ตามเจตนารมณ์ 2475 และอธิบายหลักการ เหตุผล ข้อเท็จจริง องค์ความรู้ต่างๆ ประกอบการเสนอแก้ ม.112 และการลบล้างรัฐประหาร พร้อมกับ "กวักมือเรียก" ให้ฝ่ายที่เห็นต่างมาใช้เหตุผลโต้แย้งกัน


หมายความว่า ขณะที่นิติราษฎร์ใช้ "ภาษาเหตุผล" ในการสื่อสารกับสังคมและทุกฝ่ายเสมอมา แต่ฝ่ายเห็นต่างไม่ได้ใช้ "ภาษาเหตุผล" ในการโต้แย้งอย่างหนักแน่นเพียงพอ กลับไปใช้ "ภาษาศีลธรรม" และ "ภาษาอำนาจ" ตอบโต้นิติราษฎร์


แต่ "ภาษาศีลธรรม" ที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการเปิดใจกว้างรับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย หรือไม่มี "ขันติธรรม" (tolerance) ต่อเหตุผลของฝ่ายที่มีจุดยืนต่าง คิดต่างจากตัวเอง มันก็เป็นแค่ภาษาของการประณามหยามหมิ่น หรือพิพากษาตัดสินว่า อีกฝ่ายเลวทรามต่ำช้าเท่านั้นเอง เช่นที่ตัดสินว่า เนรคุณ ล้มเจ้า สร้างความแตกแยกในสังคม กระทั่ง "พ่อแม่ไม่อบรมสั่งสอน" และที่หยาบคายอีกนับไม่ถ้วน


กลายเป็นว่า "ภาษาศีลธรรม" ที่นิยมใช้กันโดยนักวิชาการ ปัญญาชนแถวหน้า สื่อบางฝ่าย ในบ้านเราคือ "ภาษาศีลธรรมเชิงตัดสิน-สาปแช่ง" เหมือนภาษาตัดสิน สาปแช่งในนวนินายเรื่อง "คำพิพากษา" ของชาติ กอบจิตติ จึงเสมือนว่าอีกฝ่ายกำลังพยายามทำให้นิติราษฎร์กลายเป็น "ไอ้ฟัก" ในสังคมไทย


ภาษาศีลธรรมเชิงตัดสิน-สาปแช่ง ไม่ได้มี "ความยุติธรรม" (fairness) ในตัวมันเองอยู่แล้ว คือมันมีความบิดเบี้ยว ไม่ซื่อสัตย์ต่อการใช้ "มาตรฐานเดียวกัน" ในการตั้งคำถาม หรือพิพากษาตัดสิน


เช่น ไม่เคยสนใจตั้งคำถาม-ตัดสินว่า การใช้สถาบันเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง เป็นการสำนึกในบุญคุณของสถาบันอย่างไร? การอ้างสถาบันทำรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย เป็นการสำนึกในบุญคุณสถาบัน และบุญคุณของประชาชนอย่างไร? หรือการกระทำดังกล่าวนั้น เป็นการปกป้อง "ลักษณะพิเศษ" ของสังคมไทยที่มีความหมายต่อ "ความเป็นธรรม" ทางสังคม อย่างไร? เป็นต้น


ส่วน "ภาษาอำนาจ" ก็เป็น "อาวุธ" ที่ฝ่ายคัดค้านนิติราษฎร์ใช้กันอย่าง "ไร้ขีดจำกัด" มาตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่ไล่ให้ออกจากสัญชาติไทย ไล่ให้ไปอยู่ต่างประเทศ ขู่จะเอาผิดทางกฎหมาย ให้ยุติบทบาท หรือปิดปากไปเลย กระทั่งเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารอีกรอบ


มันกลายเป็นว่า ในแง่ "ภาษาศีลธรรม" ฝ่ายคัดค้านนิติราษฎร์จะประณาม หรือกระทั่งเหยียดหยาม "ความเป็นมนุษย์" ด้วยคำพูด ด้วยรูปภาพ และอื่นๆ อย่างไรก็ได้


ในแง่ "ภาษาอำนาจ" ฝ่ายคัดค้านนิติราษฎร์ ขู่จะใช้อำนาจทางกฎหมายปิดปากก็ได้ หรือกระทั่งใช้ "อำนาจนอกระบบ" ทำรัฐประหารก็ได้ ไม่ผิด


นี่คือ ภาษาศีลธรรม ภาษาอำนาจที่อิง "อุดมการณ์ประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์" หมายถึง อุดมการณ์ที่ยืนยันสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่เหนือ หรือกำหนดว่าสังคมไทยควรจะเป็นประชาธิปไตยได้แค่ไหน ซึ่งก็ให้เป็นได้ในความหมายว่า ต้องให้ประชาชนมีเสรีภาพ เสมอภาคภายใต้ขอบเขตที่ไม่กระทบต่อสถานะอันศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันเท่านั้น


ฉะนั้น ด้วยการอิงอุดมการณ์ดังกล่าว พวกเขาจึงโต้ตอบฝ่ายนิติราษฎร์ราวกับว่าพวกตนมีอภิสิทธิ์ทางศีลธรรมและทางกฎหมายเสียเอง!


นี่หมายความว่าอะไร? หมายความว่านิติราษฎร์กำลังสร้างความแตกแยกในสังคม หรือฝ่ายไหนกันแน่?


ความแตกแยกในสังคมมัน "ถูกสร้างขึ้นแล้ว" ตั้งแต่มีการประกาศแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่ายคือ "ฝ่ายเอา-ไม่เอาสถาบัน" มิใช่หรือ? มันถูกสร้างขึ้นแล้วตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา 49 มิใช่หรือ?


และมันถูกซ้ำเติมจนยากจะเยียวยาจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองที่มีคนตาย 92 ศพ และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน ในช่วง เมษา-พฤษภา 53 มิใช่หรือ? แล้วก็ซ้ำเติมมาเรื่อยๆ ด้วยการใช้ข้อกล่าวหาล้มเจ้า และ ม.112 ล่าแม่มดมิใช่หรือ?


สิ่งที่นิติราษฎร์กำลังทำ คือความพยายามหา "ทางออกที่สมเหตุสมผล" ให้กับความแตกแยกต่างหากเล่า นั่นคือการเสนอหรือยืนยัน "อุดมการณ์ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ" ตามเจตนารมณ์ 2475 ที่ประชาชนเป็น "เจ้าของอำนาจอธิปไตย" อย่างแท้จริง


โดยมีกระบวนการแก้ ม.112 และการเสนอหลักการร่างรัฐธรรมนูญลบล้างรัฐประหารเป็นแนวทางทำให้อุดมการณ์นั้นเป็นจริง ซึ่งใช้เวทีสาธารณะของภาคนักวิชาการและภาคประชาชนในการแสดงออกอย่างอารยะและสันติ ที่เป็นไปตามหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ


คำถามคือ ทำไมฝ่ายคัดค้านนิติราษฎร์ ถึงกล้าเสนอให้ทหารทำรัฐประหาร และ/หรือทำไมถึงสนับสนุนหรือยอมรับการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยอย่าง "ไม่กระดากอาย" แต่กลับคัดค้านอย่างเอาเป็นเอาตายกับการเสนอหลักการร่างรัฐธรรมนูญลบล้างรัฐประหาร?


ทั้งที่จริงเมื่อพิจารณาเหตุผล และบทบาทของนิติราษฎร์อย่างเที่ยงตรง เราจะเห็นว่า นิติราษฎร์เพียงแค่ต้องการยืนยันเจตนารมณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น "ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ" เท่านั้น ซึ่งพวกเขาและ/หรือประชาชนทุกคนย่อมมี "ความชอบธรรมอย่างเต็มที่" ในการยืนยันและสานต่อเจตนารมณ์ดังกล่าวเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็น "เจ้าของอำนาจอธิปไตย" อย่างแท้จริงให้สำเร็จ


ปรากฏการณ์ตอบโต้นิติราษฎร์จึงสะท้อนยุคสมัยแห่งการเผชิญหน้า ระหว่าง "ภาษาเหตุผลบนอุดมการณ์ประชาธิปไตย" กับ "ภาษาศีลธรรมเชิงประณามสาปแช่ง + ภาษาอำนาจ" ที่อิงอุดมการณ์ประชาธิปไตยภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการเผชิญหน้าที่ท้าทายวุฒิภาวะ และขันติธรรมทางสังคม-การเมือง อย่างยิ่ง!


http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327748659&grpid=no&catid=02&subcatid=0207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น