วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

คาดการณ์แนวโน้มโลกไอที ปี 2012

 

คาดการณ์แนวโน้มโลกไอที ปี 2012

ตามสัญญาครับ คอลัมน์ตอนแรกของปี 2012 มาดูแนวโน้มกันสักหน่อยว่า ปีนี้โลกไอที "น่าจะ" มีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจบ้าง...

ผมลองคัดมา 5 อันดับที่ใกล้ตัวหน่อย และน่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตบนโลกไอทีของพวกเราไม่มากก็น้อย

1. ความสามารถของสมาร์ทโฟนเริ่มตัน แต่ยอดขายยังเติบโต

iPhone รุ่นแรกเปิดตัวเมื่อปี 2007 และในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โลกของสมาร์ทโฟนก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทุกวันนี้เราเห็นมือถือที่ใช้ซีพียูเร็วกว่าพีซีของใครหลายคน (อย่างน้อยก็ในทางตัวเลข) ใช้จอสุดละเอียด สีสันสดใสกว่าทีวีรุ่นใหม่ๆ สามารถถ่ายภาพได้คุณภาพใกล้เคียงกับกล้องดิจิตอล มีเนื้อที่เก็บข้อมูลเยอะพอสำหรับภาพยนตร์หลายเรื่อง และเชื่อมต่อเครือข่ายได้สารพัดแบบ

ถ้านับช่วงเวลาที่สมาร์ทโฟนพัฒนาอย่างก้าวกระโดดที่สุด ผมยกให้ปี 2010 ที่เราได้เห็นสมาร์ทโฟนก้าวหน้าสุดๆ อย่าง iPhone 4 และ Samsung Galaxy S ออกทำตลาด ส่วนปี 2011 สมาร์ทโฟนพัฒนาขึ้นแน่ แต่อัตราการพัฒนาเริ่มช้าลง ดูได้จาก iPhone 4S และ Galaxy S II ที่พัฒนาขึ้นจากเดิม แต่ไม่เยอะมากนักเมื่อเทียบกับที่รุ่นพี่เคยทำไว้

เหตุผลที่สมาร์ทโฟนพัฒนาช้าลง เป็นเพราะมันผ่านช่วงพัฒนาเร็วมากๆ ไปแล้ว ตอนนี้มันยัดแทบทุกอย่างที่มนุษย์สามารถคิดออกมาแล้ว จนไม่รู้จะใส่อะไรเข้ามาอีก แถมยังมีข้อจำกัดเรื่องขนาดและแบตเตอรี่เป็นปัจจัยบีบอีกทางหนึ่ง

ข้อสรุปของผมคือ ปี 2012 นี้เราคงเห็นสมาร์ทโฟนพัฒนาขึ้นอีกนั่นแหละ จอละเอียดกว่าเดิม ซีพียูเร็วกว่าเดิม ระบบปฏิบัติการมีความสามารถมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ ในแง่การใช้งานจริง คงไม่ต่างอะไรจากมือถือในปี 2011 อย่างชัดเจนนัก

เมื่อความสามารถของตัวสมาร์ทโฟนเริ่มนิ่งแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือ สงครามราคาครับ เราจะได้เห็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อปๆ ของปี 2010-2011 ลดราคาลงมาต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทอย่างรวดเร็ว รุ่นต่ำสุดจะลงไปที่ไม่กี่พัน และนี่จะช่วยเปิดตลาดลูกค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนในครอบครองได้อีกมาก พูดง่ายๆ ว่าความสามารถของมือถือใกล้เคียงกับของเดิมที่มีอยู่ แต่ราคาถูกกว่าเดิมมากนั่นเอง

สมาร์ทโฟนยี่ห้อ Huawei จากจีน เครื่องละไม่ถึง 3,000 บาท เจาะตลาดประเทศกำลังพัฒนา

2. ความพยายามรอบสองของแท็บเล็ตแอนดรอยด์

อุปกรณ์ที่ขโมยซีนในปี 2011 หนีไม่พ้น iPad 2 ที่ปรับปรุงจาก iPad 1 ไปมาก ช่วยเปิดตลาดแท็บเล็ตให้กับคนจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน คู่แข่งรายอื่นๆ ก็พยายามต่อกรกับ iPad 2 ด้วย "แท็บเล็ตแอนดรอยด์" ซึ่งพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จมากนัก (บางรุ่นขายดีแต่เทียบกับ iPad 2 ก็สู้ไม่ได้จริงๆ นะ)

เหตุผลสำคัญที่แท็บเล็ตแอนดรอยด์สู้ iPad 2 ไม่ได้ หลักๆ เป็นเพราะตัวซอฟต์แวร์ครับ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์สำหรับแท็บเล็ตรุ่นแรกที่เรียกว่า Honeycomb ยังมีข้อจำกัดหลายๆ จุด ซึ่งกูเกิลกลับไปทำการบ้านมาใหม่ในปี 2012 นี้ และกองทัพแท็บเล็ตแอนดรอยด์รุ่นที่สองจะกลับมาแก้มือในเร็วๆ นี้



สำหรับคนที่รู้จักมือถือตระกูล Nexus คงรู้ว่านี่เป็นความพยายามของกูเกิลในการออก "มือถือ" แบรนด์กูเกิลเองที่สร้าง "มาตรฐาน" ให้กับผู้ผลิตรายอื่นต้องปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมามือถือตระกูล Nexus ทั้งสามตัว (Nexus One, Nexus S, Galaxy Nexus) ประสบความสำเร็จในแง่นี้เป็นอย่างดี

ปีนี้สิ่งที่กูเกิลเปรยๆ ว่าจะทำคือแท็บเล็ตตระกูล Nexus ที่มีจุดหมายแบบเดียวกัน ผมคิดว่าหลังจากแท็บเล็ตตัวนี้ออกมาแล้ว โลกของแท็บเล็ตแอนดรอยด์จะเข้าที่มากขึ้น แต่ถึงขนาดโค่น iPad ได้ไหม ก็ยังไม่ได้แน่นอน แค่สู้ได้แบบพอฟัดเหวี่ยงเท่านั้น

ผมมองว่าตอนนี้ตลาดแท็บเล็ตคอนซูเมอร์ส่วนใหญ่โดน iPad ยึดครองไปเยอะแล้ว (ปีนี้เราน่าจะได้เห็น iPad 3 แต่ก็น่าจะต่างจากเดิมไม่เยอะมาก) ทำให้แท็บเล็ตแอนดรอยด์มีที่ว่างให้เล่นอีก 2 จุดคือ ราคาถูก (แท็บเล็ตคุณภาพโอเคในราคาต่ำหมื่น) และตลาดองค์กร (ซื้อใช้ยกองค์กรเป็นจำนวนมากๆ และปรับแต่งแอพให้เหมาะกับแต่ละองค์กร) ต้องรอดูว่าจะเป็นจริงแค่ไหนครับ

3. สมาร์ททีวี

สืบเนื่องมาจากสองข้อแรก ทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจะเริ่มตันในแง่นวัตกรรม ทำให้ผู้ผลิตสินค้าไอทีต้องพยายามบุกไปเปิดตลาดใหม่ๆ แทน

ตลาดต่อไปจากสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตคือ "สมาร์ททีวี" ครับ ตอนนี้เราเริ่มเห็นผู้ผลิตทีวีหลายค่ายเริ่มขายสมาร์ททีวี หรืออินเทอร์เน็ตทีวีแล้ว รวมไปถึง Apple TV และ Google TV (ทีวีสามมิติเป็นแค่กระแสวูบวาบ) แต่มันยังไม่ "สมาร์ท" เท่าที่ควร และยังเจาะตลาดไม่ได้มากนัก

ทีวีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่พัฒนาวิธีใช้งานมานานมาก ถึงแม้เราจะมีทีวีภาพชัดขึ้น จอใหญ่ขึ้นทุกปี แต่สุดท้ายแล้วเรายังหนีแนวคิดของ "ช่อง" ไม่พ้น เรายังไม่สามารถเลือกดูรายการได้ตามใจชอบในเวลาที่ต้องการ (เป็นเหตุให้การดูคลิปใน YouTube ได้รับความนิยม) ดังนั้น ทีวีจึงพัฒนา ปฏิรูป ปฏิวัติได้อีกเยอะ

ปีนี้ 2012 จะเป็นปีแห่งการลองผิดลองถูกของทีวีแบบใหม่ๆ อย่างเต็มที่ รูปแบบของทีวีที่ผมคิดว่าเริ่มเค้าเข้ามีสองราย ได้แก่ เครื่องเกม Xbox Kinect ของไมโครซอฟท์ (วางขายแล้ว) และเครื่องเล่นเกมตัวใหม่ Wii U ของนินเทนโด (ขายกลางปีนี้) หน้าตาเป็นอย่างไร ดูได้ตามคลิปครับ

ไมโครซอฟท์ : http://www.youtube.com/watch?v=EwI0nmQEwTU

นินเทนโด : http://www.youtube.com/watch?v=4e3qaPg_keg

4. จับตา Windows 8

อีกวงการนึงที่ตันมาสักพักแล้วคือ "พีซี" (ในที่นี้ นับรวมทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ก) เราเห็นพีซีแรงขึ้นเรื่อยๆ บางขึ้น เบาขึ้น ราคาถูกลง แต่รูปแบบการใช้งานของมันก็ยังเหมือนเดิม ใช้เข้าเน็ต ท่องเว็บ พิมพ์งาน แต่งภาพ ฯลฯ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าไรนัก

แต่ช่วงกลางถึงปลายปีนี้ เราจะเห็นจุดเปลี่ยนสำคัญคือ Windows 8 ตัวจริง ซึ่งจับตลาดอุปกรณ์ชนิดใหม่ที่เป็นลูกผสมระหว่างโน้ตบุ๊กกับแท็บเล็ต จอภาพเป็นจอสัมผัส ใช้งานด้วยนิ้วเหมือนกับแท็บเล็ตทั่วไป แต่เมื่อต้องการพิมพ์งาน หรือทำงานที่ซับซ้อน ก็ต่อคีย์บอร์ด เสียบเมาส์ มันจะกลายเป็นโน้ตบุ๊กที่ใช้งานโปรแกรมที่เราคุ้นเคยได้ทันที

"ภาพใหญ่" ของอุปกรณ์ตัวนี้ (และ Windows 8) คือเราจะเห็นการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน พีซี แท็บเล็ต ทีวี โน้ตบุ๊ก กล้องดิจิทัล เครื่องอ่านอีบุ๊ก ฯลฯ มันจะเริ่มส่งต่อข้อมูลระหว่างกันได้ และเก็บข้อมูลสำรองอีกชุดไว้บนอินเทอร์เน็ตให้เรียกใช้จากที่ไหนก็ได้ ซึ่งในปี 2011 เราก็เริ่มเห็นบ้างแล้วใน iCloud ของแอปเปิล หรือ SkyDrive ของไมโครซอฟท์ แต่ปีนี้จะเด่นชัดขึ้นมาก

วิดีโอสาธิต Windows 8 รุ่นทดสอบ: http://www.youtube.com/watch?v=p92QfWOw88I

5. เฟซบุ๊กรุกหนัก

สิ่งที่น่าจะได้เห็นแน่ๆ ในปีนี้คือ เฟซบุ๊กจะเริ่มขายหุ้น IPO ในตลาดหุ้นของสหรัฐ และน่าจะประสบความสำเร็จตามรอยรุ่นพี่ๆ ทั้งหลาย (โดยเฉพาะกูเกิล)

การขายหุ้นของเฟซบุ๊กเป็นเรื่องของนักลงทุนและนักการเงิน แต่สิ่งที่กระทบผู้ใช้คือเฟซบุ๊กจะถูกบีบให้หารายได้มากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ถือหุ้น เพราะตอนนี้เฟซบุ๊กมีคนใช้เยอะมากแต่รายได้กลับไม่เยอะเท่าที่ควร (คือเยอะแต่ยังมีศักยภาพทำเงินอีกมหาศาล) ดังนั้น ปีนี้เราจะเห็นความพยายามสารพัดแบบของเฟซบุ๊กที่มาหาเงินจากเราครับ ที่แน่ๆ คือโฆษณาต้องเด่นชัดขึ้นแน่นอน

ปีที่ผ่านมา เราเห็นแอพ Facebook Messenger บนสมาร์ทโฟนยี่ห้อต่างๆ สำหรับพูดคุยกับเพื่อนบนเฟซบุ๊กแล้ว ในปีนี้เราคงเห็นมันถูกพัฒนาไปมาก เพื่อเป็นทางเลือกหลักในการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ (แทนอีเมล หรือ MSN) และเฟซบุ๊กอาจทำเวอร์ชั่นเก็บเงินที่มีความสามารถเพิ่มจากปกติ


สุดท้ายผมคิดว่า เราน่าจะได้เห็นสมาร์ทโฟนแปะตราเฟซบุ๊ก หรือ Facebook Phone ค่อนข้างแน่ มือถือตัวนี้น่าจะราคาไม่แพงมาก ความสามารถไม่ต้องเยอะ แต่เล่นเฟซบุ๊กได้ดีมาก (ถือเป็นจุดขาย เพราะสำหรับหลายๆ คนแค่นี้ก็พอแล้ว) และสามารถรันแอพของแอนดรอยด์ได้ ไม่ให้เหงาหงอยจนเกินไปด้วย 

ทั้งหมดนี่คือ แนวโน้มของวงการเทคโนโลยีในปี 2012 ที่กำลังเริ่มต้นขึ้นครับ ถ้าดูกันในรายละเอียด ผมคงทายผิดบ้างถูกบ้างตามปกติ แต่ในภาพรวมๆ แล้วน่าจะพอให้ทิศทางกว้างๆ ได้ว่าโลกไอทีจะหมุนไปทางไหนในปีนี้.


มาร์ค Blognone

 

โดย: มาร์ค Blognone

5 มกราคม 2555, 05:30 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น