ภาพทรงศีล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
(หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเถระ) การฟื้นฟูพระพุทธศาสนาครั้งสำคัญ เนื่องมาจากการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยของ
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ครั้งนั้น
ได้ก่อให้เกิดการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ที่นับว่าสำคัญครั้งหนึ่ง
ในประวัติการณ์ของพระพุทธศาสนาในประเทศไทยในเวลาต่อมา
กล่าวคือ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เสด็จกลับมาประทับทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ณ
วัดมหาธาตุ จนทรงรอบรู้ในภาษาบาลีและเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกแล้ว
ก็ทรงพิจารณาเห็นความบกพร่องในวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในยุคนั้น
ดังพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า
"ผลแห่งการที่ทรงศึกษาและพิจารณาทั่วถึงละเอียดเข้า
ก็ให้เกิดความสลดพระราชหฤทัยไปว่าวัตรปฏิบัติแลอาจาริยสมัย
ซึ่งได้นำสั่งสอนกันสืบๆ มานี้ เคลื่อนคลาดห่างเหิน แลหยาบหย่อนไปเป็นอันมาก
ดูประหนึ่งว่าจะมีรากเง่าเค้ามูลอันเน่าผุไปเสียแล้ว" ด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ดังที่ได้ทรงศึกษาจากท่าน ผู้รู้และพิจารณาสอบสวนกับพระไตรปิฏก
ที่ได้ทรงศึกษาจนเชี่ยวชาญแตกฉาน โดยพระองค์เองทรงประพฤตินำขึ้นก่อน
แล้วภิกษุสามเณรอื่นๆ ที่นิยมเลื่อมใสก็ประพฤติตาม
ในระยะแรกที่ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ดังกล่าวนั้น
ยังเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุ จึงทรงรู้สึกไม่สะดวกพระราชหฤทัย
เพราะวัดพระมหาธาตุเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช
ทั้งทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระองค์ด้วย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงย้ายไปประทับ
ณ
วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) อันเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงพระนคร
ทั้งนี้ก็คงเพราะความที่ทรงเคารพในสมเด็จพระสังฆราช
และเพื่อจะได้ไม่เป็นที่ขัดข้องพระทัยของสมเด็จพระสังฆราช
เกี่ยวกับการปฏิบัติของพระองค์นั่นเอง
เมื่อเสด็จไปประทับ
ณ วัดสมอราย แล้ว ก็ทรงปรับปรุงแก้ไข
วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ตามแนวแห่งพระราชดำริได้สะดวกนั้น
กระทั่งมีผู้ปฏิบัติตามเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นพระสงฆ์หมู่ใหญ่
ซึ่งได้รับการขนานนามในเวลาภายหลังต่อมาว่า
คณะธรรมยุติกนิกาย หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า
พระสงฆ์ธรรมยุต พระราชดำริในการปรับปรุงแก้ไขพระศาสนาของ
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะ
เรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการศึกษาพระปริยัติธรรม
และการเทศนาสั่งสอนพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัทด้วย
จึงนับเป็นช่วงแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทะนุบำรุงพระศาสนา จัดสมณทูตไทยไปลังกา สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ทรงพระชนม์สืบมาถึงรัชกาลที่ ๓
และในปีสุดท้ายแห่งพระชนมชีพของ
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ในขณะนั้นว่า
การพระศาสนาในลังกาจะเป็นอย่างไร
ไม่ได้ไปสืบสวนให้ทราบความช้านานหลายปีมาแล้ว
อีกประการหนึ่ง หนังสือพระไตรปิฏกที่ฉบับของไทยยังบกพร่อง
ควรจะสอบสวนกับฉบับลังกามีอยู่หลายคัมภีร์
ถ้าแต่งพระภิกษุสงฆ์ไทยเป็นสมณทูตไปลังกาอีกสักครั้งหนึ่ง เห็นจะเป็นการดี
ทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันเช่นนี้
จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเลือกสรรพระภิกษุที่จะส่งไปลังกา
และมีสมณลิขิตไปถึงสังฆนายกตามพระราชประสงค์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกได้พระภิกษุสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูป
พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรชาวลังกาอีก ๕ รูป
ซึ่งเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อ ๒ ปีก่อน
และเดินทางกลับบ้านเมืองของตนในคราวนี้ด้วยได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ
โดยเรือหลวง ชื่อจินดาดวงแก้ว เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีขาล
ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๕ สมณทูตชุดนี้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ
ในเดือน ๖ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๘๖ พร้อมทั้งได้ยืมคัมภีร์พระไตรปิฎกมาด้วย ๔๐ คัมภีร์
ตามเรื่องราวที่ปรากฏแสดงว่า
การสมณทูตไทยไปลังกาครั้งนี้ยังประโยชน์แก่
พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
เพราะทำให้คณะสงฆ์ไทยมีโอกาสได้คัมภีร์พระไตรปิฎกจากลังกา
มาสอบสวนกับพระไตรปิฏกของไทยในส่วนที่บกพร่องสงสัย
ให้สมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พุทธศาสนิกชนชาวไทย
ได้คัมภีร์พระไตรปิฎกที่เป็นหลักฐานสำคัญ
ของพระพุทธศาสนาครบถ้วนสมบูรณ์สืบมาดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันชำระความพระสงฆ์ครั้งใหญ่ ในตอนปลายสมัยของ
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) นี้
ได้มีการชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารครั้งใหญ่
ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้
"เมื่อ ณ เดือน ๑ เดือน ๒ เดือน ๓ เกิด
ชำระความพระสงฆ์ที่ประพฤติอนาจารมิควร
ได้ตัวชำระสึกเสียก็มาก ประมาณ ๕๐๐ เศษ ที่หนีไปก็มาก
พระราชาคณะเป็นปาราชิกก็หลายรูป" นับเป็นการชำระสะสางอลัชชีในคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ที่สุด
เท่าที่ปรากฏในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
ทั้งเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของคณะสงฆ์ในยุคนั้น
ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึง
ความเอาพระทัยในการคณะสงฆ์ของ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอย่างจริงจัง
ที่ทรงอุตสาหะชำระสะสางการพระศาสนา
และการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิบริบูรณ์อย่างเต็มพระกำลังสติปัญญาอยู่เสมอ
พระอวสานกาล สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลานานถึง ๑๙ ปี ๖ เดือน
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๕ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๘๕
ตรงกับวันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล ในรัชกาลที่ ๓
มีพระชนม์มายุได้ ๘๑ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวแล้วพระราชทานเพลิงพระศพ
เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๖
(มีต่อ ๓)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น